Skip to main content
sharethis
 
19 ก.ค. 56 - ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดระบบการจ้างแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง มีมติให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และ กัมพูชา จำนวนกว่า 200,000 คน ที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว สามารถอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นการชั่วคราวในระยะเวลา 1 ปี เพื่อให้แรงงานต่างด้าวที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยสามารถทำงานต่อได้ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานเนื่องจากปัจจุบันคนไทยไม่นิยมทำงานในโรงงานและกิจการประมงทะเล 
 
โดยกระทรวงจะพิจารณาแนวทางการจัดระบบแรงงานต่างด้าว หลังวันที่ 11 ส.ค.นี้ เพราะคาดว่ายังมีแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ได้พิสูจน์สัญชาติอีกกว่า 200,000 คน แต่ประเทศต้นทางยังไม่ดำเนินการเรื่องเอกสารให้แล้วเสร็จ
 
นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงประเด็นการตรวจลงตรา (วีซ่า) แก่บุตรแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่อยู่นอกเหนือมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 มกราคม 56 ว่า เรื่องดังกล่าวได้มอบหมายให้กรมการจัดหางานนำข้อสังเกตจากนักวิชาการ ที่เกรงว่าหากไทยเปิดช่องทางใหม่ดังกล่าวในระยะยาวอาจเกิดปัญหาด้านสังคม และความมั่นคงของประเทศ เพราะที่ผ่านมาหลายประเทศในแถบยุโรปจะไม่เปิดช่องทางดังกล่าวให้คนต่างชาติเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศโดยผิดกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีเด็กสัญชาติพม่า ลาว และ กัมพูชา ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 100,000 คน ซึ่งนับวันปัญหาดังกล่าวอาจทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีการจดทะเบียนเพิ่มขึ้นทุกวันจนกลายเป็นปัญหาสังคมของไทยในระยะยาว ซึ่งกรมการจัดหางานจะต้องศึกษารายละเอียด และรายงานให้ที่ประชุมทราบในครั้งต่อไป
 
ส่วนผลการดำเนินการตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2556 และวันที่ 9 เมษายน 2556 พบว่า จากข้อมูลเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2556 พบว่า นายจ้างยื่นแบบแจ้งความต้องการแรงงานต่างด้าว และบัญชีรายชื่อแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา จำนวน 651,143 คน พม่า 462,162 คน ลาว 66,082 คน กัมพูชา 122,899 คน แรงงานที่ได้รับการปรับเปลี่ยนสถานะ และได้รับอนุญาตให้ทำงานอย่างถูกต้อง จำนวน 358,908 คน คงเหลือแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ได้รับการตรวจลงตรา และยังไม่ได้ขออนุญาตทำงานกับกรมการจัดหางาน จำนวน 292,235 คน พม่า 112,250 คน ลาว 62,896 คน กัมพูชา 117,089 คน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net