Skip to main content
sharethis
 
19 ก.ค. 56 - แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลออกแถลงการณ์ตั้งคำถามกับรัฐบาลพม่า หลังจากที่ประธานาธิบดีเต็งเส่งได้แสดงพันธกิจเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าจะปล่อยนักโทษทางความคิดทุกคนจากคุกในพม่าภายในสิ้นปีนี้ แต่ในวันเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจในรัฐยะไข่ของพม่าได้ควบคุมตัวนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญาวัย 74 ปีโดยพลการ
                
ในการแสดงปาฐกถาต่อหน่วยงาน Chatham House ซึ่งเป็นสถาบันด้านนโยบายอิสระที่กรุงลอนดอนเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2556 ประธานาธิบดีเต็งเส่งกล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอรับประกันกับท่านว่าภายในสิ้นปีนี้ จะไม่มีนักโทษทางความคิดหลงเหลืออยู่อีกในพม่า” นายเต็งเส่งยังกล่าวเสริมว่า เมื่อต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาคดีต่าง ๆ ทุกกรณี “ทั้งนี้เพื่อประกันว่าจะไม่มีบุคคลใดถูกคุมขังด้วยเหตุผลด้านความเชื่อทางการเมืองของตนเองอีกต่อไป” 
                
เอมี่ สมิธ (Amy Smith) นักวิจัยประจำพม่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดเผยว่า รัฐบาลพม่ายังคงอาศัยกฎหมายที่กดขี่เพื่อปราบปรามเสียงหรือความคิดเห็นที่ต่างออกไป และจับกุมคุมขังผู้ประท้วงอย่างสันติในพม่า ดังนั้นเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในประเทศพม่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าต้องต้องยุติการปฏิบัติดังกล่าว และต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ
                 
“เราหวังว่าประธานาธิบดีเต็งเส่งจะปฏิบัติตามคำมั่นสัญญานี้ ท่านอาจเริ่มจากการหลีกเลี่ยงไม่ทำให้เกิดนักโทษทางความคิดใหม่ ๆ โดยต้องยุติการจับกุมและควบคุมตัวนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและผู้ประท้วงอย่างสันติ” เอมี่กล่าว
                
วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา อู จอลาอ่อง (U Kyaw Hla Aung) ทนายความคนสำคัญชาวโรฮิงญาวัย 74 ปีและอดีตเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานหมอไร้พรมแดน (Médecins Sans Frontières) ซึ่งเป็นหน่วยงานเอกชนด้านมนุษยธรรม ได้ถูกตำรวจควบคุมตัวไว้ในรัฐยะไข่
                
อู จอลาอ่องเคยติดคุกในพม่ากว่า 16 ปีเนื่องจากการเคลื่อนไหวอย่างสงบ และยังคงถูกทางการเฝ้าติดตามและคุกคามมาตลอด ล่าสุดเขาถูกจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการเมื่อเดือนมิถุนายน 2555 พร้อมกับเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมชาวโรฮิงญาอีกหลายคน ภายหลังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างชุมชนพุทธและมุสลิมในรัฐยะไข่ เขาได้รับการปล่อยตัวเมื่อเดือนสิงหาคม 2555 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่าในปัจจุบันเขายังตกเป็นเป้าคุกคาม เนื่องจากเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีบทบาทสำคัญและมีความเชื่อมโยงกับสมาชิกประชาคมนานาชาติ
                
“อู จอลาอ่องเป็นหนึ่งในผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนอีกหลายคนที่ถูกจับกุมเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการตั้งข้อหาหรือไม่ก็ควบคุมตัวพวกเขาฐานเกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมอย่างสงบ ทางการควรยกเลิกข้อหาทั้งหมดต่อนักกิจกรรมเหล่านี้ และควรปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวโดยทันที” เอมี่กล่าว
                
เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2556 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ออกแถลงการณ์เน้นย้ำรายละเอียดการจับกุมนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและผู้ประท้วงอย่างสันติในพม่า ทางการได้ใช้อำนาจตามกฎหมายในประเทศหลายฉบับเพื่อเอาผิดกับบุคคลที่ใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุม และการสมาคม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเหล่านี้ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
                
นับตั้งแต่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ออกแถลงการณ์ฉบับดังกล่าว ยังคงมีนักกิจกรรมที่ถูกจับกุมคุมขัง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2556 ตำรวจที่เมืองพะเย (Pyay) เขตพะโค (Bago Region) จับกุมไวพะโย (Wai Phyo) นักกิจกรรมที่จัดโครงการรณรงค์ภาพโปสเตอร์เรียกร้องให้ “ปล่อยตัวนักโทษการเมือง” เมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ในปัจจุบันเขาถูกตั้งข้อหาละเมิดพระราชบัญญัติการพิมพ์และสิ่งพิมพ์ พ.ศ. 2505 (1962 Printing and Publications Registrations Act) ไวพะโยเป็นเลขาธิการของกลุ่ม Generation Wave ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนที่สนับสนุนประชาธิปไตยในพม่า
                
“เป็นเรื่องดีและเป็นประโยชน์อย่างมากที่นายเต็งเส่งสัญญาว่าจะไม่ให้มีนักโทษทางความคิดอีกต่อไป แต่จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ดูเหมือนหนทางดังกล่าวยังอยู่อีกยาวไกล” เอมี่กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net