Skip to main content
sharethis

แค่สัปดาห์แรกเดือนรอมฎอน เกิดแล้ว 10 เหตุการณ์ ยิงครูตาดีกา-บึ้มทหาร สถานการณ์สวนทางข้อตกลงลดความรุนแรง ย้อนดูสถิติ 4 ปี ความสูญเสียในเดือนอันประเสริฐ

สถิติเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงเดือนรอมฎอนปี 2552-2555

 

สถิติเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงเดือนรอมฎอน
และอีก 10 วัน หลังจากเดือนรอมฏอน ปี 2552-2555

 

หลังจากดาโต๊ะอัฮหมัด ซัมซามิน ฮุสเซน ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกของการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับขบวนการ BRN แถลงข่าว กรณีข้อตกลงที่จะลดความรุนแรงในเดือนรอมฎอนและ 10 วันของเดือนเชาวาลปีนี้ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2556 ผ่านไปเพียง 4 วัน ก็เกิดเหตุรุนแรงแล้ว 9 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บ 8 คน

นั่นจึงน่าเป็นห่วงว่า เดือนรอมฎอนปีนี้อาจเกิดเหตุรุนแรงเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะจากสถิติพบว่า เป็นช่วงหนึ่งที่มีเหตุรุนแรงมากที่สุดช่วงหนึ่งของปี

เหตุที่ 1 วันที่ 13 กรกฎาคม พบศพชายไม่ทราบชื่อบริเวณริมแม่น้ำโก-ลก บ้านลูโบ๊ะฆง หมู่ 3 ต.ปาเสมัส อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส สภาพศพถูกยิงบริเวณศีรษะ และมีบาดแผลถลอกที่แขนกับข้อมือ

เหตุที่ 2 วันที่ 14 กรกฎาคม เวลา 20.30 น.คนร้ายขับรถยนต์เก๋งยิงใส่รถนายอิสมะแอ บาเหะ อายุ 35 ปี อยู่บ้านเลขที่ 110 บ้านรือเปาะ หมู่ 4 ต.ดุซงญอ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส บนทางหลวงหมายเลข 4057 บ้านกวาลอมาแด หมู่ 4 ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ได้รับบาดเจ็บ นางมารียะ หะมะ อายุ 51 ปี อยู่บ้านเลขที่ 140/1 หมู่ 5 ต.กาลิซา อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ซึ่งนั่งมาในรถด้วยได้รับบาดเจ็บเช่นกัน เจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นเรื่องส่วนตัว

เหตุที่ 3 วันที่ 15 กรกฎาคม เวลา 13.50 น.คนร้ายดักยิงนายตอเหล็บ สะแปอิง อายุ 44 ปี อยู่บ้านเลขที่ 73 หมู่ 1 ต.สะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา ขณะขับรถจักรยานยนต์ไปทำสวน ได้รับบาดเจ็บสาหัส เหตุเกิดที่สะพานข้ามคลองลิเง๊ะ ม.13 ต.ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา จ.ยะลา โดยนายตอเหล็บถูกดำเนินคดีความมั่นคง 5 คดี ศาลยกฟ้องไปแล้ว 1 คดี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการประกันตัว

เหตุที่ 4 วันที่15 กรกฎาคม กลางดึกคนร้ายดักยิงนายอับดุลรอฮิม งอเล็ง อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 17/1 หมู่ 5 ต.ปากล่อ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ขณะเดินหาปลาจนเสียชีวิต เหตุเกิดหลังโรงเรียนสาลาลุสดินวิทยา ม.11 ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา เจ้าหน้าที่ระบุว่า นายอับดุลรอฮิมมีพฤติกรรมลักเล็กขโมยน้อย ชอบขโมยของชาวบ้าน

เหตุที่ 5 วันที่ 16 กรกฎาคม เช้า คนร้ายดักยิงนายมะยาหะลี อาลี อายุ 44 ปี ชาวบ้านหมู่ 4 บ้านบันนังกูแว อ.บันนังสตา จ.ยะลา เป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านและครูตาดีกา มีอาชีพกรีดยาง เสียชีวิต เหตุเกิดที่บ้านบาโงแจเกาะ หมู่ 10 ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา ขณะออกไปกรีดยาง

เหตุที่ 6 วันที่ 16 กรกฎาคม เวลา 15.00 น. คนร้ายใช้รถยนต์กระบะตามประกบยิงนายปรเมศวร์ วงศ์บุตรรอด อายุ 57 ปี เจ้าของหนังสื่อพิมพ์ท้องถิ่น “อาชญากรรม” ขณะขับรถยนต์บนถนนสาย 418 หมู่ 7 ต.คอลอตันหยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยถูกยิงเข้าลำตัวบาดเจ็บ นายปรเมศ ระบุว่า สาเหตุน่าจะเป็นเรื่องการเสนอข่าวบ่อนการพนันใน จ.ยะลา 2 แห่ง ที่อาจสร้างความไม่พอใจให้กลุ่มอิทธิพลและผู้ที่เสียผลประโยชน์

เหตุที่ 7 วันที่ 16 กรกฎาคม เวลา 23.30 น. คนร้าย 2 คน ลอบยิงนายสุชัล คงขวัญ อายุ 28 ปี ขณะนอนในขนำกลางสวนยางพารา ม.4 ต.ป่าไร่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี เข้ากลางหลัง 1 นัด ได้รับบาดเจ็บ

เหตุที่ 8 วันที่ 17 กรกฎาคม 2556 เวลา 07.35 น. ลอบวางระเบิดทหารพรานชุดลาดตระเวนรักษาความปลอดภัยครู บนถนนสายบ้านกาโสด – เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา ทำให้ทหารพรานบาดเจ็บ 1 นาย เบื้องต้นเจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือของกลุ่มคนร้ายในพื้นที่

เหตุที่ 9 วันที่ 17 กรกฎาคม 2556 ลอบวางระเบิดและโจมตีซ้ำทหารพราน ฉก.ทพ.4807 บริเวณสะพานบ้านปะเระลูโบะ ม.9 ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ขณะลาดตระเวนด้วยรถวีว่า ทำให้ทหารพรานบาดเจ็บ 2 นาย

เมื่อเปรียบเทียบกับสถิติการเกิดเหตุรุนแรงในเดือนรอมฎอนย้อนหลัง ตั้งแต่ปี 2552 - 2555 จากการรวบรวมของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มีสถิติ ดังนี้

ปี 2552 เกิดเหตุการณ์ 83 ครั้ง เสียชีวิต 41 ราย บาดเจ็บ 177 ราย

ปี 2553 เกิดเหตุการณ์ 88 ครั้ง เสียชีวิต 33 ราย บาดเจ็บ 50 ราย

ปี 2554  เกิดเหตุการณ์ 71 ครั้ง เสียชีวิต 37 ราย บาดเจ็บ 58 ราย

ปี 2555 เกิดเหตุการณ์ 62 ครั้ง เสียชีวิต 29 ราย บาดเจ็บ 86 ราย

จากสถิติดังกล่าว จะพบว่า ในช่วงปี 2552 มีผู้บาดเจ็บที่สูงมากถึง 177 คน เฉลี่ยวันละ 5-6 คน จากนั้นในปี 2553 – 2555 มีจำนวนผู้บาดเจ็บที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่จำนวนเหตุการณ์เฉลี่ยมากกว่าวันละ 2 เหตุการณ์ แต่มีแนวโน้มลดลงโดยในปี 2553 มีจำนวน 88 เหตุการณ์ ปี 2554 มี 71 เหตุการณ์ และปี 2555 ลดลงเหลือ 62 เหตุการณ์ ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตในแต่ละปีไม่แตกต่างมากนัก โดยปี 2555 มีจำนวนผู้เสียชีวิตในเดือนรอมฎอนน้อยที่สุดเพียง 29 คน

ส่วนเดือนรอมฎอนปีนี้ หากนับรวมเหตุลอบวางระเบิดรถทหารหน่วยเฉพาะกิจยะลาที่ 12 บนถนนเลียบทางรถไฟ บ้านบาลอ หมู่ที่ 1 ต.บาลอ อ.รามัน จ.ยะลา จนได้รับบาดเจ็บ 8 นาย เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2556 ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิมด้วยแล้ว ทำให้มียอดรวมเหตุการณ์ทั้งหมด 10 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิตรวม 3 คน บาดเจ็บ 12 คน เฉลี่ยในรอบ 8 วันของการถือศีลอดมีเหตุรุนแรงวันละ 1 เหตุการณ์

แม้ว่าเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ยกเว้นลอบวางระบิดทหารเมื่อเช้านี้ เจ้าหน้ายังไม่ได้สรุปว่าเป็นการกระทำของกลุ่มใด แต่ในช่วงที่ผ่านมา มีผู้พยายามตั้งคำถามถึงถานการณ์ที่เกิดขึ้นใน 3 ประเด็นหลักๆ ได้แก่

1.ความสามารถของขบวนการบีอาร์เอ็นในการควบคุมกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่มีจริงหรือไม่

2.อาจมีกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ได้สังกัดขบวนการบีอาร์เอ็นพยายามก่อเหตุเพื่อฉวยโอกาสแสดงบทบาทหรือตัวตนออกมา และ

3.มีการตั้งคำถามถึงความสามารถของเจ้าหน้าที่รัฐด้วยว่า จะสามารถป้องไม่ให้มีเหตุรุนแรงได้อย่างไร

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ต้องจับตาดูกันว่า ในช่วงเดือนรอมฎอน 2556 ปีนี้ และอีก 10 วันหลังจากนั้น จะเกิดเหตุรุนแรงมากน้อยแค่ไหน และจะส่งผลอย่างไรต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่จะดำเนินต่อเนื่องไปหลังจากนี้

 

หวังว่าในเดือนรอมฎอนอันประเสริฐปีนี้ สถิติจะไม่ทะลุมากไปกว่านี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net