ภาพลักษณ์ที่บิดเบี้ยวต่อล็อบบี้อเมริกัน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผู้เขียนมองว่าการมุ่งโจมตีใคร องค์กรใด เช่น พรรคการเมืองไทยบางพรรค เกี่ยวกับการล็อบบี้ใครหรือองค์กรใดในอเมริกา เป็นเรื่องของความไม่รู้ในเรื่องกลไกการทำงานในด้านการเมืองและด้านธุรกิจ รวมถึงด้านกฎหมาย เพราะการล็อบบี้เป็นงานหรือธุรกิจอย่างหนึ่งที่ดำเนินการอย่างเปิดเผยและถูก ต้องตามกฎหมายอเมริกัน ที่มีมาเป็นเวลาเนิ่นนาน หลายทศวรรษ อย่างน้อยก็ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา

ไม่แปลกที่ในช่วงประมาณ 10 กว่าปีมานี้ งานล็อบบี้ของรัฐบาลไทยในอเมริกาหลายด้าน เช่น ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ด้านความมั่นคง ประสบความล้มเหลวอย่างแทบสิ้นเชิง เพราะไม่มีหน่วยใดเห็นคุณค่าและความสำคัญของเรื่องนี้มากนัก มีเพียงเอกชนไทยไม่กี่รายที่เห็นว่างานล็อบบี้มีประโยชน์ต่อธุรกิจการเมืองของพวกเขา

ทั้งๆที่ล็อบบี้ เป็นงานอย่างหนึ่งที่ถูกกฎหมายอเมริกัน เป็นงานบนดิน ไม่ใช่งานใต้ดินตามความเข้าใจของคนไทยจำนวนไม่น้อย ที่รู้สึกว่าการล็อบบี้ เป็นงานน่ารังเกียจและมีเงื่อนงำ

หากแท้ที่จริงแล้ว งานล็อบบี้ ที่อาศัยผู้ล็อบบี้ หรือที่เรียกกันว่า "ล็อบบี้ยิสต์" นั้นอาศัยศิลปะการเจรจาต่อรองผลประโยชน์อย่างยิ่งยวด, ล็อบบี้ยิสต์แต่เดิมนั้น หมายถึง ผู้ทำการแนะนำชักชวนสมาชิกรัฐสภาให้เห็นด้วยกับร่างกฎหมายต่างๆที่นำเสนอใน สภา แต่ต่อมาภายหลังการล็อบบี้ไม่ได้ถูกจำกัด เพียงแต่ประเด็นทางด้านกฎหมายหรือด้านการเมืองเท่านั้น การล็อบบี้ ได้ขยายออกสู่เรื่องทางด้านเศรษฐกิจและเรื่องอื่นอีกด้วย

การไม่สามารถแยกการเมืองกับ เศรษฐกิจ ออกจากกันได้ เพราะเป็นเรื่องว่าด้วยผลประโยชน์ด้วยกันทั้งคู่ ในอเมริกานั้น แต่เดิมการออกกฎหมายแต่ละฉบับจะต้องผ่านการเจรจาต่อรอง ระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ซึ่งกลุ่มผลประโยชน์ดังกล่าวโยงไปถึงกลุ่มทุน ที่ได้หรือเสียผลประโยชน์ กลุ่มเหล่านี้จึงต้องกระโดดออกมาปกป้องตัวเองผ่านการเจรจาต่อรองในลักษณะ ต่างๆ เพราะแน่นอนว่า ในทางการเมืองหรือในทางเศรษฐกิจก็ตาม ไม่มีใครได้หรือเสียทั้งหมด แต่จะต้องมีฝ่ายได้บ้างเสียบ้าง ดังนั้น ความสำคัญของงานล็อบบี้ จึงอยู่การเจรจาเพื่อให้ฝ่ายของตนเองได้ประโยชน์จากช่องทางกฎหมายที่มีอยู่ในขณะนั้น

ชีวิตนักนักการเมืองอเมริกันจำเป็นต้องแสวงหาความสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของกลุ่มต่างๆ กับคะแนนเสียงจากประชาชนส่วนใหญ่ให้ได้ ไม่เช่นนั้นก็ยังไม่ได้ชื่อว่า เป็นนักการเมืองอาชีพ ความหมายก็คือ ในแง่ผลประโยชน์ของกลุ่มต่างๆนักการเมืองก็ทิ้งไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันในแง่ของคะแนนเสียงของประชาชนก็มีความสำคัญที่จะต้องคำนึง ถึง 

เมื่อไม่ทิ้งกลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มผลประโยชน์ดังกล่าวก็จะสนับสนุนนักการเมือง เพื่อให้มีกำลังเข้าถึงประชาชน ซึ่งนั่นก็หมายถึงทุนสนับสนุนในการหาเสียงเลือกตั้งนั่นเอง หากไม่มีกลุ่มประโยชน์คอยจุนเจือนักการเมืองก็ "ต้องจอด" เหมือนกัน ไปไหนไม่รอด ธรรมนูญทางการเมืองของอเมริกัน จึงระบุให้ล็อบบี้ยิสต์ เป็นอาชีพสุจริตตามกฎหมายอาชีพหนึ่ง

อาชีพล็อบบี้ในอเมริกา สามารถทำได้ทุกรัฐ แต่อย่างที่รู้กัน บริเวณที่มีผู้ทำอาชีพนี้หนาแน่นมากที่สุดได้แก่ ดีซีแอเรีย หรือพื้นที่ 3 รัฐ ได้แก่ เวอร์จิเนีย แมรี่แลนด์และวอชิงตัน ดี.ซี. แต่นักล็อบบี้ที่ทรงอิทธิพลกลับมีมากที่สุดในรัฐแคลิฟอร์เนีย เพราะเป็นรัฐใหญ่และมีกลุ่มผลประโยชน์จำนวนมากในหลายด้าน หลายอาชีพ โดยผู้ที่ทำอาชีพนี้สามารถดำเนินธุรกิจทั้งในรูปบุคคลและองค์กร อดีตนักการเมืองจำนวนไม่น้อย ที่พลิกผันตัวเองมาทำธุรกิจล็อบบี้ จนประสบผลสำเร็จ เช่น Dick Gepthardt อดีต สส.พรรคเดโมแครต ที่ทำเงินนับล้านดอลลาร์จากลูกค้าอย่าง Goldman Sachs ซึ่งเป็นบริษัทการเงินใหญ่ในอเมริกา แม้แต่ John Breaux ก็ผันตัวเองจากสมาชิกวุฒิสภา (ซีเนเตอร์) มาเป็นล็อบบี้ยิสต์เช่นกัน

ในปี 2011 ปรากฎว่า มีการใช้เงินล็อบบี้ในอเมริกามากกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ในปีก่อนหน้านั้นการใช้เงินล็อบบี้สูงถึง 3,500 ล้านดอลลาร์ เฉพาะในเขตดี.ซี.แอเรียแห่งเดียว

จนถึงปัจจุบันธุรกิจล็อบบี้ ได้ขยายออกไปในธุรกิจหลายประเภท เช่น ธุรกิจการเงินการธนาคาร และอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจด้านสุขภาพ ธุรกิจด้านการสื่อสารโทรคมนาคม ธุรกิจด้านการคมนาคม ธุรกิจด้านพลังงาน ธุรกิจด้านการเกษตร ธุรกิจด้านการทหาร ฯลฯ โดยธุรกิจล็อบบี้ที่มีเงินไหลเวียนมากที่สุด ได้แก่ ธุรกิจด้านเงิน การประกันและอสังหาริมทรัพย์ คู่กับธุรกิจด้านสุขภาพ (ตัวเลขระหว่างปี 1998-2010) 

ตัวเลขเงินไหลเวียนดังกล่าวขึ้น กับสถานการณ์ทางการเมืองของอเมริกาด้วยว่า มีประเด็นใดที่มีการขับเคี่ยวผลประโยชน์กัน โดยเฉพาะในประเด็นสาธารณะบางประเด็น ที่ต้องผ่านการอนุมัติจากทั้ง 2 สภา คือ สภาบนและสภาล่าง ก็อาจต้องอาศัยการล็อบบี้กันหนักหน่วงหน่อย นอกเหนือไปจากการล็อบบี้ ยังรวมถึงการทำแคมเปญ ทำโฆษณา เพื่อให้ประชาชนหรือกลุ่มผลประโยชน์ได้เข้าใจร่วมกัน พร้อมทั้งให้การสนับสนุนนโยบายหรือกฎหมายต่างๆ ที่ต้องการผลักดัน

นอกจากนี้ในปัจจุบันยังพบว่า มีหลายบริษัทและแม้กระทั่งรัฐบาลต่างประเทศ จ้างบริษัทล็อบบี้อเมริกันให้ทำงานให้ตน ส่วนใหญ่เป็นการทำงานล็อบบี้ในเชิงธุรกิจการค้าและการลงทุน รวมถึงการคงหรือขยายตลาดสินค้าเข้าไปยังตลาดอเมริกัน อย่างไรก็ตามมีหลายบริษัทล็อบบี้ที่ดำเนินการอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งสามารถต้องโทษตามที่กฎหมายระบุไว้ ถึงขั้นจำคุก

ประเทศในเอเชียที่มีชื่อ ในการว่าจ้างนักล็อบบี้ หรือล็อบบี้ยิสต์ในปัจจุบัน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ แม้ตอนหลังรัฐบาลพม่า โดยประธานาธิบดีเต็ง เส่ง เอง ก็มีการว่าจ้าง ล็อบบี้ยิสต์ที่วอชิงตันดี.ซี. เช่นกัน จนกระทั่งพม่าได้รับการยอมรับจากรัฐบาลอเมริกันยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจในที่สุด ยุทธศาสตร์ที่ล็อบบี้ยิสต์วางไว้ในกรณีของพม่า ได้แก่ การวางแผนให้สมาชิกสภาฝ่ายอเมริกันพบปะกับคนของรัฐบาลพม่า มีการจัดงานเลี้ยงในโรงแรมแห่หนึ่งย่านดี.ซี.แอเรีย โดยฝ่ายตัวแทนของรัฐบาลพม่า รวมถึงการเจรจาเพื่อให้มีการเดินทางของสมาชิกคองเกรสและสมาชิกซีเนตทั้งสอง พรรคเดินทางไปพม่า จนประสบผลสำเร็จ ปรากฏว่ามีสส.และ สว.อเมริกันเดินทางไปพม่าอยู่หลายเที่ยว ก่อนที่รัฐบาลอเมริกันจะยกเลิกการคว่ำบาตรรัฐบาลเนปิดอว์ในที่สุด

ทั้งนี้ ในส่วนของการคืนความสัมพันธ์กับพม่านี้ ส่วนหนึ่งได้รับการผลักดันจากกลุ่มธุรกิจบางกลุ่มร่วมด้วย เช่น กลุ่มธุรกิจพลังงานในอเมริกา  (ที่ปรากฎชื่อในสารบบธุรกิจพลังงานอเมริกัน ได้แก่ API – American Petroleum Institute , Chevron,Total S.A., Royal Dutch Shell )  แม้แต่บริษัทเครื่องดื่มอย่างโคคาโคล่า เพื่อให้นักลงทุนอเมริกันมีโอกาสเข้าไปลงทุนในพม่า หลังจากที่พวกเขาต้องเสียโอกาสให้กับชาติอื่นไปมาก ขณะที่ธุรกิจอุตสาหกรรมด้านทหารอยู่ระหว่างการเจรจา(ดีล) เหมือนกับบริษัทของสหภาพยุโรป ที่ปากว่าตาขยิบ ปากก็พร่ำบ่นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า แต่บริษัทของยุโรปบางรายกลับไปลงในพม่า โดยเฉพาะกิจการพลังงานและแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ

เมื่อคราวไปเยี่ยมแคปปิตัลฮิล หรือสภาคองเกรส ที่วอชิงตันดี.ซี. ผู้ที่พาผู้เขียนเข้าไปยังสำนักงานของนักการเมืองระดับชาติของอเมริกัน มีอาชีพเป็นล็อบบี้ยิสต์อเมริกัน เขาทำงานด้านนี้มานานหลายปี รวมทั้งเคยทำงานกับอดีตนักการเมืองไทยบางคน ที่เข้าใจระบบการล็อบบี้ของอเมริกันว่า การล็อบบี้เป็นธุรกิจอย่างหนึ่ง และเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวก คุณลักษณะของเขา ก็คือเป็นผู้ที่รู้จักนักการเมืองจำนวนหลากหลาย ทั้งสองฝั่งไม่ว่าจะเป็นฝั่งรีพับลิกันหรือเดโมแครต เขาบอกว่า ไม่ว่าเรื่องใดล้วน ต้องอาศัยเทคนิคการล็อบบี้ทั้งนั้น แต่ต้องเป็นการทำงานที่อยู่ในบริบทของ กฎหมายอเมริกัน จนเมื่อผู้เขียนกลับมาถึงลาสเวกัส เขายังส่งเพื่อนของเขาที่เป็นล็อบบี้ยิสต์จากเท็กซัส มาหาเพื่อกิจกรรมรื่นรมย์ในเมืองนี้ การมาลาสเวกัสของเขามเป้าหมายเพื่องานล็อบบี้บางอย่าง เราพบกันที่ร้านอาหาร อิตาเลียนแห่งหนึ่ง บนถนนพาราไดซ์ เยื้องลาสเวกัสคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์

ล็อบบี้ยิสต์เล่าว่า นักธุรกิจและนักการเมืองไทยเข้าใจเรื่องการล็อบบี้ในอเมริกาน้อยมาก ที่ผ่านมามีการดำเนินการว่าจ้างล็อบบี้ยิสต์ค่อนข้างน้อย มีแค่บริษัทใหญ่ของไทยบางรายซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติที่สนใจเรื่องนี้ จนทำให้ก่อนหน้านี้มีคดีความเรื่องเงินบริจาคเข้าพรรคการเมืองอเมริกันบาง พรรค ผ่านการประสานงานโดยคนไทยบางคนในเขตแมรี่แลนด์ แต่อย่างไรก็ตามถึงตอนนี้บริษัทแห่งนี้ก็ไม่ได้ละความพยายามในการล็อบบี้ ผ่านบริษัทล็อบบี้ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการลงทุนในอเมริกา

ในส่วนของรัฐบาลไทย เขาบอกว่า หลายปีมาแล้วรัฐบาลไทยไม่ได้สนใจหรือมีความพยายามที่จะใช้ล็อบบี้ยิสต์ และไม่รู้ว่าจะใช้ประโยชน์อย่างไร เจ้าหน้าที่ด้านการทูตของไทยส่วนใหญ่ไม่สนใจงานล็อบบี้ ไม่เหมือนกับเจ้าหน้าที่ด้านการทูตของประเทศอาเซียนบางประเทศ เช่น กัมพูชา พม่า มาเลเซีย ลาว ฟิลิปปินส์ ซึ่งมักมีการเชิญและพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลกับค่ายล็อบบี้ยิสต์ต่างๆอยู่เป็น ประจำ ทำให้มีโอกาสทราบความเคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะการออกกฎหมายของรัฐสภา และนโยบายของรัฐบาลอเมริกันที่มีผลกระทบกับประเทศเหล่านั้น  ในประเด็นสิทธิด้านการค้าการลงทุนในอเมริกา หรือแม้แต่ประเด็นความมั่นคงในภูมิภาค

หากมองถึงสายสัมพันธ์และความใกล้ ชิดระหว่างนักการเมืองอเมริกันกับเจ้าหน้าที่ทูตของไทยและรัฐบาลไทย หรือกระทั่งนักการเมืองของไทย เรายังตกเป็นรองในแง่ของการเข้าถึงข้อมูลและสายสัมพันธ์อยู่มาก ด้วยเหตุที่ไทยไม่มีการลงทุนด้านงานล็อบบี้เอาเลย เป็นอาการหวัง "ค้าฟรี" อยากได้กำไร แต่ไม่ยอมลงทุน

ฉะนั้น หากใครใช้บริการล็อบบี้อเมริกันแสดงว่า เขาเข้าใจกติกาข้อนี้ของอเมริกัน รวมถึงเข้าถึงหัวใจของการล็อบบี้ รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ใครเป็นใคร  ที่สำคัญมันเป็นระบบและกติกาของที่นี่ 

คนใดหรือพรรคการเมืองใดก็ตามที่ออกมาโวย เป็นเพราะตัวเองเข้าไม่ถึง หรือไม่รู้เรื่องงานล็อบบี้ในอเมริกามากกว่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท