ศอ.บต.ระดมมือดีตั้งศูนย์สันติภาพ ติดตามเหตุรุนแรงในเดือนรอมฎอน

ศอ.บต.ระดมมือดีจากทุกหน่วยพร้อมตัวแทนประชาสังคม ตั้งศูนย์ประสานงานส่งเสริมสันติภาพรอมฎอน รวมทั้งนายสมเกียรติ บุญชู อดีตเลขสมช. สมัยนายถวิล เปลี่ยนศรีร่วมทีม ติดตามเหตุรุนแรงในเดือนรอมฎอน รวม 60 วัน สภาประชาสังคมใต้ หนุนการยกระดับข้อตกลงร่วม เสนอข้อเรียกร้องทั้งต่อไทยและบีอาร์เอ็น

ระดมมือดีติดตามเหตุรุนแรงในเดือนรอมฎอน
ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานส่งเสริมสันติภาพในช่วงเดือนรอมพ.ศ.2556 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีคณะทำงานที่มาจากทุกภาคส่วน จำนวน 42 คน พร้อมตั้งเป็น “ศูนย์ประสานงานและส่งเสริมสันติภาพในช่วงเดือนรอมฎอนจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปร)” ที่ศอ.บต.

คณะทำงานดังกล่าว มีหน้าที่หลัก 2 ข้อ คือ สังเกตการณ์และติดตามผลการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสันติภาพในช่วงเดือนรอมฎอน อีกข้อ คือการติดตามและตรวจสอบเบื้องต้นเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่เฉพาะเดือนรอมฎอนและหลังเดือนรอมฎอน รวมเวลา 60 วัน รวมทั้งรวบรวมข้อมูล ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง

เป็นที่น่าสังเกตว่า การตั้งคณะทำงานชุดนี้ มีชื่อของนายสมเกียรติ บุญชู ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีมาเป็นที่ปรึกษา โดยนายสมเกียรติ เป็นอดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และเป็นคนหนึ่งที่มีเคยบทบาทสำคัญในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับขบวนการต่อต้านรัฐไทยในสมัยที่นายถวิล เปลี่ยนศรี เป็นเลขาธิการ สมช.

แหล่งข่าววงในระบุว่า การที่นายสมเกียรติได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาครั้งนี้ด้วย เพราะมาจากความต้องการดึงคนที่มีบทบาทและเคยมีบทบาทในกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะบุคคลที่เข้าใจถึงกระบวนการพูดคุยสันติภาพจากส่วนต่างๆ เข้าร่วมทำงาน เนื่องจากประเทศไทยมีคนที่เข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพไม่กี่คน จึงจำเป็นที่จะต้องดึงเข้ามาทำงาน โดยไม่คำนึงมาจากฝ่ายใด

ตั้งศูนย์ประสานงานและส่งเสริมสันติภาพ
หนังสือแต่งตั้งดังกล่าว มีเนื้อหาระบุว่า ตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีหนังสือขอคำแนะนำแนวทางการปฏิบัติสำหรับส่วนราชการในเดือนรอมฎอนประจำปี ฮ.ศ.1434 (พ.ศ.2556) จากสำนักจุฬาราชมนตรีเพื่อให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ วัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อดำเนินการตามยุทธศาสตร์การสร้างพื้นที่และสภาพแวดล้อมเพื่อแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี รวมทั้งการสื่อสาร สร้างความเข้าใจที่ดีต่อกัน

ดังนั้น เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2556 ศอ.บต. จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานส่งเสริมสันติภาพในช่วงเดือนรอม พ.ศ.2556 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีคณะทำงานที่มาจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้แทนจาก ตำรวจ ทหาร พลเรือน ภาคประชาสังคมตลอดจนฝ่ายปกครอง และภาคประชาชน จำนวน 42 คน จัดตั้งเป็น “ศูนย์ประสานงานและส่งเสริมสันติภาพในช่วงเดือนรอมฎอนจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปร)” ที่สำนักประสานงานเครือข่ายภาคประชาสังคมและการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี ศอ.บต. หมายเลขโทรศัพท์ 0-7320-3887 หมายเลขโทรสาร 0-7327-4374

คำสั่งดังกล่าวลงนามโดยเลขาธิการ ศอ.บต. ให้มีอำนาจหน้าที่คือ

1. สังเกตการณ์และติดตามผลการดำเนินงานของหน่วยงานราชการและหน่วยงานองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสันติภาพในช่วงเดือนรอมฎอนประจำปี พ.ศ.2556 ตามคำแนะนำของสำนักจุฬาราชมนตรีและนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
2. ติดตามและตรวจสอบเบื้องต้นเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่เฉพาะเดือนรอมฎอนและหลังเดือนรอมฎอน รวมเวลา 60 วัน (ตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2556 ถึงวันที่ 7 กันยายน 2556) รวมทั้งรวบรวมข้อมูล ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากประชาชน ผู้นำ และหน่วยงานพื้นที่ ที่เกี่ยวข้องกรณีเกิดหรือไม่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ในช่วงเดือนรอมฎอน
3. รายงานผลการปฏิบัติตามข้อ 1 และข้อ 2 พร้อมข้อเสนอแนะเพื่ออำนวยการและประสานงานตามกระบวนการส่งเสริมสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้
4. สนับสนุนช่วยเหลือการดำเนินการส่งเสริมสันติภาพตาที่ได้รับมอบหมายจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือต้นสังกัด

สภาประชาสังคมใต้ หนุนการยกระดับข้อตกลงร่วม
ขณะเดียวกันสภาประชาสังคมชายแดนใต้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 11/2556 เรื่อง สนับสนุนการยกระดับข้อตกลงร่วม ความริเริ่มสันติรอมฎอน 2013 โดยระบุว่า จากข้อตกลงร่วมที่จะหยุดก่อเหตุร้ายรายวันในเดือนรอมฎอนเริ่มปรากฏผลเป็นรูปธรรม ดังนั้นเพื่อให้เกิดความมั่นคงและพัฒนาความไว้วางใจของทั้ง 2 ฝ่ายมากยิ่งขึ้น จึงเสนอให้ฝ่ายรัฐบาลไทยเริ่มพิจารณาข้อเรียกร้อง 5 ข้อ และคำประกาศ 7 ข้อของกลุ่มB.R.N. ส่วนฝ่าย B.R.N.ควรเร่งสื่อสารกับกองกำลังในพื้นที่ให้ยุติการปฏิบัติการทางทหารทันที เพื่อพิสูจน์ว่า มีอำนาจในการบังคับบัญชากองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ได้จริง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท