Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เมื่อชาวอียิปต์พร้อมใจกันออกมาเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ต่อประธานาธิบดีอียิปต์ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ทศวรรษ  กองทัพจึงสนองโดยการทำรัฐประหารโค่นนายโมฮัมเหม็ด มอร์ซีหลังจากดำรงตำแหน่งไปเป็นเพียง 1 ปีอย่างง่ายดายดุจพลิกฝ่ามือ เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่รัฐบาลทั่วโลกไม่ว่าประชาธิปไตย ประชาธิปไตยเทียมหรือเผด็จการอำนาจนิยมเข้าสู่ภาวะเปราะบางคือมีเสถียรภาพน้อยกว่าเดิมเพราะการตื่นตัวอย่างรวดเร็วทางการเมืองของประชาชนอันเป็นผลกระทบจากอาหรับสปริงเมื่อสองปีก่อน (ดังที่เรียกว่าการเมืองแบบโลกาภิวัฒน์แบบยุคหลังอาหรับสปริงหรือ  Post-Arab spring Global Politics)                แต่ผลกระทบจาการเมืองอียิปต์ดังที่ว่านี้คือผู้ที่มี (หรืออ้างว่าไม่มี) ความชื่นชอบในรถถังและปลายประบอกปืนได้พยายามฟื้นความถูกต้องชอบธรรมของการทำรัฐประหารขึ้นมาว่าสามารถช่วยในการปฏิวัติของประชาชนต่อรัฐบาลพลเรือนที่เผด็จการแสนฉ้อฉลแม้ว่ามีการยอมรับว่าการทำรัฐประหารคือการทดถอยของประชาธิปไตยอยู่บ้าง แต่ทหารจะเอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านของประชาธิปไตยตามอุดมคติในไม่ช้า 

ผู้เขียนไม่เคยเห็นด้วยกับการทำรัฐประหารและความคิดเช่นนี้ ดังนั้นในบทความนี้ต้องการวิเคราะห์บทบาทของกองทัพต่อการเมืองอียิปต์เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าการทำรัฐประหารไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่แท้จริงได้ดังต่อไปนี้

กองทัพอียิปต์เช่นเดียวกับกองทัพไทยถือได้ว่าเป็นสถาบันที่ยิ่งใหญ่มีอิทธิพลทางการเมืองนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์เมื่อปี 1952 มาเป็นสาธารณรัฐโดยกลุ่มนายทหารซึ่งต่อมาสมาชิกจำนวน 2 คนก็ได้เป็นประธานาธิบดีอย่างเช่น คามัล อับเดล นัสเซอร์ที่นำเอาคลองสุเอซกลับมาเป็นของอียิปต์และสามารถหลอกให้มหาอำนาจปะทะกันเองในช่วงสงครามเย็นเมื่อปี 1957  และอดีตนายทหารอีกคนคือนายอัลวาร์ ซาดัตขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแทนก็ได้ทำสัญญาสันติภาพกับอิสราเอลเมื่อปี 1979  จนในปี 1981 เขาก็ถึงแก่อสัญกรรมเพราะถูกสังหารโดยพวกมุสลิมหัวรุนแรง สำหรับฮุสนี มูบารัคประธานาธิบดีคนถัดมาก็เคยเป็นนายทหารอีกเช่นกัน ชาวอียิปต์จึงคุ้นชินกับระบอบการเมืองแบบบุรุษเหล็ก (Strongman Politics) ที่ปกครองประเทศด้วยเผด็จการทหาร อันเป็นสาเหตุว่าทำไมจึงยอมรับหรือทนทานกับการปกครองของมูบารัคจนถึงปี 2011  ที่ถูกกระแสโลกาภิวัฒน์เล่นงานเช่นความเจริญทางเทคโนโลยีสื่อสารที่ทำให้ประชาชนมีสำนึกประชาธิปไตยมากขึ้นและมีการนัดแนะในการชุมนุมประท้วงกันได้จำนวนทั่วเพราะความโกรธแค้นต่อปัญหาทางเศรษฐกิจที่หนักหนา แต่ปัจจัยหลักที่ทำให้มูบารัคต้องพ้นจากตำแหน่งอย่างง่ายดายเพราะทหารเป็นตัวแปรที่หันไปเข้าข้างประชาชน

นอกจากการเป็นบุรุษเหล็กของอดีตประธานาธิบดีทั้ง 3 คนที่ทำให้ได้รับการชื่นชอบจากชาวอียิปต์โดยเฉพาะรุ่นเก่าแล้ว ความสามารถของพวกเขาในการทำให้เกิดดุลภาพระหว่างสังคมอียิปต์และกลุ่มผลประโยชน์อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มเคร่งศาสนาก็ยังทำให้คนอียิปต์รุ่นใหม่(ก่อนจะเกิดสำนึกประชาธิปไตยในช่วงอาหรับสปริง) จำนวนมากยอมรับเพราะคุ้นเคยกับการดำรงชีวิตโดยปราศจาการครอบงำของศาสนาอิสลาม  สำหรับกลุ่มเคร่งศาสนาในอียิปต์แล้วก็มีความหลากหลายอยู่ไม่น้อยในเรื่องทางอุดมการณ์และการปฏิบัติ ในช่วงมูบารัคแม้จะให้กลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) เป็นกลุ่มผิดกฎหมายแต่ก็เปิดพื้นที่ทางการเมืองและสังคมให้กับกลุ่มนี้ในระดับหนึ่งเพราะต้องการให้มาถ่วงอำนาจกับกลุ่มเคร่งศาสนากลุ่มอื่นที่ความคิดสุดโต่งเหมือนกันหรือยิ่งกว่า

อย่างไรก็ตามเมื่อกลุ่มภราดรภาพมุสลิมขึ้นมามีอำนาจในยุคหลังมูบารัค ชาวอียิปต์ก็หวาดระแวงว่ามอร์ซี สมาชิกของกลุ่มที่มักสร้างภาพว่าเป็นพวกหัวไม่รุนแรง (แต่เคยพยายามลอบสังหารประธานาธิบดีคนก่อนคือนัสเซอร์มาแล้ว) จะนำอียิปต์ไปสู่การเป็นรัฐศาสนาเช่นเดียวกับอิหร่าน  ตัวอย่างที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้าการโค่นนายมอร์ซีคือการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งถูกโจมตีโดยชาวอียิปต์โดยเฉพาะผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายคอปติกซึ่งมีจำนวน 10 % ของพลเมืองอียิปต์และผู้หญิงว่ามีอิทธิพลของศาสนาอิสลามเข้ามาแอบแฝงมากเกินไป[i] นอกจากนี้มอร์ซียังถูกมองว่าประสบความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจประกอบกับการที่เขายอมให้กลุ่มภราดรภาพมุสลิมเข้ามาก้าวก่ายในการบริหารงานมากเกินไปอันเป็นการผิดรูปแบบของประชาธิปไตย ผสมกับแนวโน้มของตัวมอร์ซีเองที่กลายเป็นเผด็จการขึ้นเรื่อยๆ   เช่นมีการดำเนินคดีผู้ดูหมิ่นประธานาธิบดีอย่างจริงจังแทนที่จะเปิดเสรีภาพในการแสดงออกโดยเฉพาะของสื่อมวลชนตามระบอบประชาธิปไตย

ปัจจัยเหล่านี้ย่อมทำให้ชาวอียิปต์ทั้งหลายหันกลับมามองทหารในด้านดีเป็นอัศวินขี่ม้าขาวที่ขับไล่ผู้นำที่ตนเองเลือกมากับมือได้ถึงแม้ทหารจะมีอำนาจเป็นกลุ่มผลประโยชน์และองค์กรธุรกิจที่มั่งคั่งแต่กองทัพยังคงได้รับความนิยมเพราะระบบการศึกษาและค่านิยมของสังคมอียิปต์ที่ถ่ายทอดให้คนรุ่นใหม่ได้ซาบซึ้งกับวีรกรรมที่ได้กล่าวมาข้างต้น ความน่าสะพรึงกลัวของมอร์ซีและภราดรภาพมุสลิมทำให้พวกเขาลืมไปว่าตัวเองเคยออกมาประท้วงอิทธิพลของทหารที่จตุรัสทาห์รีร์มาแล้วครั้งหนึ่ง  ที่สำคัญชาวอียิปต์ส่วนใหญ่ก็อาจลืมไปว่าไม่มีใครทำรัฐประหารโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของตัวเอง เช่นการที่ทหารเข้าข้างประชาชนครั้งแรกในยุคมูบารัคคือต้องการให้อำนาจของกองทัพดำรงอยู่ต่อไปและครั้งที่  2  ต้องการล้างแค้นมอร์ซี ที่ทำการลิดรอนอำนาจของกองทัพถึงแม้อดีตประธานาธิบดีพยายามแก้เกมก่อนหน้านี้โดยแต่งตั้งให้อับเดลฟาต์ตาห์ เอล ซิสซีซึ่งเคร่งศาสนาเป็นผู้นำของกองทัพแต่ผลประโยชน์ย่อมอยู่เหนือเรื่องศาสนา

ผู้เขียนไม่เชื่อว่าชนชั้นปกครองอียิปต์ซึ่งเคยร่วมงานและสานผลประโยชน์กับทั้งมูบารัคและมอร์ซีมาอย่างลึกซึ้งจะมีความศรัทธาในประชาธิปไตย ความวุ่นวายจากกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ อาจเป็นข้ออ้างให้รัฐบาลเฉพาะกาลคงอำนาจเอาไว้เรื่อยๆ   ส่วนการจัดให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แม้จะมีการให้ลงประชาชนลงประชามติในตอนท้ายแต่ก็คงเต็มไปด้วยเล่ห์กลซ่อนเร้นภายในเพื่อรักษาผลประโยชน์ของพวกเขาไว้ เช่นทำลายอิทธิพลของกลุ่มเคร่งอิสลามเพื่อให้ประชาชนไม่ใส่ใจต่อการคงอำนาจของทหารไว้เหมือนเดิมหรืออาจเพิ่มมากกว่าเดิม แม้ในปีหน้าจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีซึ่งใครก็มาดำรงตำแหน่งก็ตามต้องพบกับหนทางอันแสนยากลำบาก ถ้าหากเขามาจากการสนับสนุนทางอ้อมของกองทัพก็อาจถูกโจมตีโดยประชาชนบางกลุ่มที่ไม่นิยมทหารอันนำไปสู่ความขัดแย้งที่บานปลายกว่าเดิมแต่ถ้าประธานาธิบดีมาจากการเลือกโดยประชาชนอย่างแท้จริง ก็อาจจะมีความขัดแย้งกับกองทัพและพันธมิตรที่ดีของกองทัพคือฝ่ายตุลาการ(ที่ออกมาให้ความร่วมมือกับทหารจนหัวหน้าศาลรัฐธรรมนูญได้เป็นประธานาธิบดีเฉพาะกาล) เพราะศักดิ์ศรีของผู้นำที่มาจากปวงชนย่อมไม่ยอมเป็นหุ่นเชิดจากทหารหรือฝ่ายตุลาการ นอกจากนี้การปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองเศรษฐกิจและสังคมของผู้นำสูงสุดอาจถูกสกัดกั้นเพราะหลีกไม่พ้นที่จะลดทอนผลประโยชน์ของกองทัพและตุลาการที่เห็นว่ามีประชาชนอียิปต์และรัฐบาลชุดใหม่ควรสำนึกในบุญคุณของตนจากการขับไล่นายมอร์ซีออกไป   การยอมรับการทำรัฐประหารไม่ว่ากรณีใดๆ คือการตกอยู่ในร่างแหแห่งอำนาจอันท้าทายไม่ได้ของกองทัพดังคติพจน์ที่ว่า “ไม่มีของฟรีในโลก”

ถึงแม้ทั้ง 2 ฝ่ายอาจหันมาประนีประนอมหรือ "เกี้ยะเซี้ยะ " กันได้แต่ก็ใช่ว่าจะมีโอกาสำเร็จเสมอไปเพราะเศรษฐกิจย่ำแย่อันเป็นผลมาจากอาหรับสปริงทำให้อียิปต์ต้องเข้าไปพึ่งองค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นเงินกว่า 4.8 พันล้านเหรียญกลายเป็นตัวบังคับให้ผู้นำคนใหม่ต้องดำเนินนโยบายเหมือนหลายประเทศในยุโรปคือมีนโยบายรัดเข็มขัด ทำให้เขาต้องเลือกเอาระหว่างกองทัพหรือประชาชน หากรัฐบาลตัดงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนแทนเช่นเลิกอุ้มค่าเชื้อเพลิงก็จะทำให้ชาวอียิปต์ไม่พอใจต่อทั้งรัฐบาลและกองทัพแล้วออกมาเดินขบวนประท้วงอีก  ดังนั้นวิธีการอีกวิธีการหนึ่งคือการลดทอนผลประโยชน์โดยเฉพาะงบประมาณของกองทัพที่มีอยู่อย่างมหาศาลเป็นวิธีทางเลือกที่รัฐบาลใหม่จะต้องตกลงกับกองทัพให้ดีแต่เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักกับกลุ่มบุคคลที่คุ้นเคยกับอภิสิทธิและผลประโยชน์มานาน

นอกจากนี้ผู้นำคนใหม่ต้องเผชิญกับระบบการเมืองสกปรกที่เป็นมรดกมาตั้งแต่ยุคมูบารัคเช่นเดียวกับระบบราชการที่เทอะทะเต็มไปด้วยการฉ้อราษฎรบังหลวงและหน่วยตำรวจที่ถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงวัฒนธรรมทางการเมืองที่นิยมแก้ไขปัญหาด้วยความรุนแรงและความไม่ยอมรับสิทธิของชนชายขอบเช่นผู้หญิง พวกรักร่วมเพศหรือชาวคริสต์ ฯลฯ ผสมกับแรงกดดันจากกลุ่มผลประโยชน์เก่าไม่ว่าภราดรภาพมุสลิม พวกนิยมมูบารัคหรือแม้แต่กลุ่มมุสลิมอื่นที่หัวรุนแรงยิ่งกว่าที่พร้อมจะก่อการร้ายให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ทำรายได้มหาศาลให้กับอียิปต์ต้องพังพินาศ  การที่รัฐบาลจะสามารถตอบสนองความต้องการอันหลากหลายของกลุ่มผลประโยชน์เหล่านี้ไปพร้อมๆ กับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของชาติที่อยู่ในอาการสาหัสเปรียบได้ว่าเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขาเลยทีเดียว   จึงเป็นไปได้ว่าประธานาธิบดีคนใหม่จะมีแนวโน้มจะมีพฤติกรรมเป็นเผด็จการแบบมอร์ซีเพราะต้องการทำให้เก้าอี้ของตัวเองแข็งแกร่งอันเป็นเรื่องง่ายกว่าการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ  ได้ ซึ่งอาจส่งผลให้ประชาชนไม่พอใจและต้องมาประท้วงอีกแต่อาจแตกต่างจากช่วงอาหรับสปริงคือมีแบ่งพรรคแบ่งพวกกันทำให้มีการนองเลือดและทหารก็เคลื่อนรถถังออกมาทำรัฐประหารอีก เป็นวงจรเช่นนี้ไปเรื่อยๆ 

รัฐประหารครั้งนี้จึงสะท้อนว่าอียิปต์มีลักษณะคล้ายประเทศอดีตคอมมิวนิสต์ทั้งหลายที่รับเอารูปแบบใหม่ของประชาธิปไตย (เช่นการเลือกตั้งและการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชน) แบบฉับพลันอันจากผลของอาหรับสปริงจนรับไม่ทัน [ii] และยังได้ลดคุณค่าของวีรกรรมของชาวอียิปต์ที่เรียกว่าเป็นการปฏิวัติให้กลายเป็นวิธีแก้ไขปัญหาแบบขอไปทีของชาวอียิปต์คือการใช้ความรุนแรงแบบมักง่ายอย่างเช่นการประท้วงเป็นครั้ง ๆไป[iii] เพื่อปูทางกลุ่มผลประโยชน์ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเข้ามามีอำนาจแทนอันเป็นการคงไว้ซึ่งโครงสร้างทางการเมืองเศรษฐกิจและสังคมแบบเดิมที่เต็มไปด้วยปัญหาและความฉ้อฉล ขาดความยืดหยุ่นไม่สามารถตอบรับสำนึกใหม่ของชาวอียิปต์  ก่อนหน้านี้ 1  ปีคงจะมีชาวอียิปต์ไม่น้อยที่มีความคิดเสรีนิยมหาทางกดดันนายมอร์ซีให้มีการปฏิรูปโครงสร้างเหล่านั้นโดยวิธีเคลื่อนไหวทาง           ประชาสังคมหรือพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคมหรือวัฒนธรรมทางการเมืองแบบละมุนละม่อมหรือค่อยเป็นค่อยไปแต่ก็คงสู้กระแสความใจร้อนและความคุ้นชินกับตำนานวีรบุรุษขี่ม้าขาวของชาวอียิปต์ซึ่งมีจำนวนมากกว่าไม่ได้ อันสะท้อนว่าชาวอียิปต์ “สอบตก” วิชาการทดลองระบอบประชาธิปไตย สิ่งนี้อาจจะนำไปสู่โศกนาฏกรรมครั้งใหม่ของการเมืองอียิปต์คือการกลับไปเดินบนหนทางที่ซ้ำรอยยุคมูบารัคหรืออาจลุกลามใหญ่โตไปมีชะตากรรมแบบเดียวกับซีเรียหรือไม่นั้น อนาคตอันอยู่ไม่ไกลน่าจะมีคำตอบให้




   

     [i]  อาจเป็นเรื่องตลกที่ขันไม่ออกว่าในขณะที่มูบารัคมีอำนาจ ภรรยาของเขาได้พยายามเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีสิทธิและเสรีภาพ รวมไปถึงมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น แต่เมื่อกลุ่มภราดรภาพมุสลิมมีอำนาจก็พยายามยุติความพยายามเช่นนี้  อันสะท้อนให้เห็นว่าระบบประชาธิปไตยเองก็มีปัญหา หากมีเรื่องของความเชื่อทางศาสนาหรือคุณค่าบางอย่างของประเทศนั้นแอบแฝงมาด้วย

 

     [ii] ความวุ่นวายของอียิปต์และประเทศตะวันออกกลางในรอบ 2 ปีเป็นอาการที่บ่งบอกว่าอาหรับสปริงเป็นเหรียญ 2 ด้านคือในขณะที่โค่นล้มผู้นำเผด็จการไปได้ แต่ก็ทำให้กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่ถูกกดทับอำนาจไว้หันมามีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงจนไม่น่าเชื่อว่าจะสามารถสมานฉันท์กันได้ อันเป็นอุปสรรค์สำคัญในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย หากประเทศเหล่านั้นยังคงดำรงภาวะรัฐล้มเหลว (Failed State) อยู่เช่นนี้นานตาปี

 

     [iii] ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่ทำให้เห็นว่าการประท้วงของชาวอียิปต์ไม่ว่าครั้งไหนมีตรรกะที่ขัดแย้งกับประชาธิปไตยแบบตะวันตกเช่นสิทธิสตรี คือการที่ผู้หญิงอียิปต์พบกับภาวะอันตรายขณะที่เข้าร่วมเดินขบวนทางการเมืองหรือแม้แต่การปรากฏตัวในที่สาธารณะตามลำพังเช่นถูกล่วงละเมิดทางเพศเล็กๆ น้อยๆ จนไปถึงถูกข่มขืนหมู่

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net