Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ประเด็นว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน,นักศึกษา เป็นประเด็นที่มีการพูดถึงกันทุกปี
เพียงแต่ในหลายปีมานี้ วิวาทะดังกล่าวมีเสียงดังขึ้นเรื่อยๆไปพร้อมๆกับสังคมที่เปิดกว้างต่อความคิดเห็นด้านสิทธิเสรีภาพมากขึ้น

....................

แต่น่าเสียดายที่สุด
น้องๆ นักเรียนกลุ่มที่ออกมาแสดงความคิดเห็นนั้นกลับโดนด่าเสียๆหายๆกลับไป

เพราะฉะนั้น ก่อนที่ประเด็นนี้จะจบเพียงแค่ว่าเป็นความขัดแย้งระหว่าง
ความบ้าเห่อในหลักสิทธิเสรีภาพของเด็กกลุ่มหนึ่ง
กับวัฒนธรรมที่กระทำต่อๆกันมาที่คนจำนวนมากก็เห็นว่าทำต่อกันไปไม่เสียหาย

ลองมาส่องกระจกชะโงกดูเงาตัวเองกันอีกที

เพราะประเด็นหนึ่งที่เสียงไม่ค่อยดังนักเกี่ยวกับเครื่องแบบนักเรียนนี้
คือการชี้วัดศักยภาพหรือความสามารถของระบบการศึกษา ครูบาอาจารย์ และสังคมโดยรวมด้วยเครื่องแบบนักเรียน

……

หนึ่งในสิ่งที่ผู้หลักผู้ใหญ่สอนเราอยู่เสมอ
คือ "เสรีภาพต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ"

การไม่ใส่ชุดนักเรียนของเรานั้นย่อมมาพร้อมกับความรับผิดชอบหลายอย่าง เราต้องเลือกเสื้อผ้าเอง ต้องแต่งหน้าทำผมของเราเอง ซึ่งเราจะแต่งตัวดีเหมาะกับเรา เข้ากับเราหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราเข้าใจในความเป็นตัวของเราเองมากแค่ไหน

ส่วนการแต่งตัวได้ถูกต้องตามกาลเทศะ ประสบการณ์และการเรียนรู้จากคนที่โตกว่าเป็นสิ่งที่จะบอกเราว่าการแต่งตัวของเราถูกต้องตามกาลเทศะหรือไม่

ด้วยเหตุนี้
ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องเรื่องทรงผม
เครื่องแบบนักเรียนหรืออะไรที่เป็นสิทธิส่วนบุคคลก็ตาม

จึงจบอยู่เพียงเหตุผลง่ายๆว่า "เด็กๆ ยังมีความรับผิดชอบไม่ดีพอ" ไปเสียหมด

....

แต่เด็กทุกคนเกิดมาไม่ได้มีความรับผิดชอบติดตัวมาด้วยไม่ใช่หรือ?
และประเทศไทยก็ไม่ใช่ประเทศมีกรรมที่เด็กที่เกิดที่นี่มีแต่เด็กคุณภาพต่ำ

พวกเราเกิดมาจาก 0
สังคมและคนที่สั่งสอนเราต่างหากเล่าที่มีหน้าที่ปลูกฝังเรื่องของความรับผิดชอบ

ลูกไม่ดีเพราะพ่อแม่ไม่สั่งสอน ฉันใด
ฉันนั้น การยกเหตุผลว่า "เด็กไทยยังไม่พร้อม" "เด็กไทยยังไม่มีความรับผิดชอบเพียงพอ" ก็มีแต่จะย้อนกลับมาสะท้อนภาวะหมดปัญญาของบุคลากรทางการศึกษาและสังคมทั้งสังคมที่ขาดความสามารถในการปลูกฝังเลี้ยงดูให้พวกเรา "พร้อม" หรือมีความรับผิดชอบด้วยวัยที่เร็วที่สุดได้

แม้บางคนจะอธิบายว่า เหตุที่ในหลายประเทศโดยเฉพาะในทวีปเอเชีย (เช่น ญี่ปุ่น) ยังคงใช้เครื่องแบบนักเรียน อาจเป็นเพราะค่านิยมทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันระหว่างตะวันตก-ตะวันออก ที่คนเอเชียจะปล่อยให้ลูกให้เผชิญโลกภายนอกช้ากว่าคนตะวันตก

แต่ประเทศญี่ปุ่นหรือแม้แต่เวียดนามก็ยังใช้เครื่องแบบนักเรียนเพื่อดูแลพวกเขาในฐานะ "เด็ก"เพียงแค่อายุ 18 เท่านั้น ก่อนจะให้แต่งกายและเรียนรู้การเป็นผู้ใหญ่ได้เต็มที่ในชีวิตมหาวิทยาลัย

ชุดนักศึกษาจึงเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่ตอกย้ำการด้อยความสามารถของบุคลากรทางการศึกษาและสังคมไทยทั้งหมดว่าเราไม่สามารถผลิตเยาวชนให้เป็นผู้ใหญ่ได้แม้อายุจะเลย 18 แล้วก็ตามนั่นเอง

เอาละ มาย้อนดูตัวเองกันอีกครั้ง
ประเทศไทยมีความสามารถที่จะสร้างคนรุ่นใหม่ให้เป็นผู้ใหญ่ได้ตอนอายุเท่าไหร่กัน?

22 ปีเชียวหรือ?
ขึ้น "เลขสอง"กันเลยทีเดียว

สุดท้ายนี้ คงไม่มีประโยคไหนที่จะ sum up ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้ดีไปกว่าเสียงบ่นปนน้อยใจของนักเรียนคนหนึ่งที่พูดถึงกฎทรงผมนักเรียนในโรงเรียนของตนเอง

ว่าในขณะที่โรงเรียนพยายามอย่างมากที่จะดูแลทรงผมนักเรียนให้เป็นไปตามกฎอย่างเคร่งครัด แต่โรงเรียนกลับละเมิดกฎของกระทรวงศึกษาตั้งแต่ปี 2518 ว่าห้ามตัดทรงผมเกรียนมาเกือบ 40 ปี และพอมาปีนี้ที่กระทรวงฯออกหนังสือเวียนย้ำถึงกฎข้อนี้อีกครั้ง โรงเรียนหลายโรงเรียนก็พยายามที่จะใช้สิทธิตั้งกฎของตัวเองขึ้นมาบังคับให้เด็กตัดผมเกรียนอยู่ดี

เรามีตัวอย่างที่ "ไม่ดี" ของการ "เคารพกฎ" ตั้งแต่ "โรงเรียน" เสียแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net