Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

โดยทั่วไปว่า เรามักเข้าใจว่าเกษตรกรรมเป็นสิ่งที่คู่กับชนบท แต่พูดตามความจริงแล้ว เกษตรกรรมที่ทำในเมือง (Urban agriculture) มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานย้อนไปไกลถึงศตวรรษที่ 19 ในสหรัฐอเมริกา เกษตรกรรมในเมืองมีจุดกำเนิดจากแรงบันดาลใจหลากหลาย นับตั้งแต่ความต้องการผลิตอาหารกินเอง ความต้องการให้การศึกษาแก่คนในเมือง ความต้องการพัฒนาสังคม ไปจนถึงความต้องการสร้างชุมชนโดยผ่านการเกษตรกรรรม และความต้องสร้างความมั่นคงทางอาหาร

เกษตรกรรมในเมืองมีรูปแบบหลากหลาย นับตั้งแต่สวนขนาดใหญ่ของชุมชน ไปจนถึงสวนหลังบ้านของครอบครัว ที่ต้องการผลิตอาหารเพื่อบริโภคในครัวเรือน และฟาร์มขนาดเล็ก โครงการให้การศึกษาแก่เยาวชน รวมถึงการทำฟาร์มเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ นอกจากนี้ เกษตรกรรมในเมืองยังครอบคลุมกิจกรรมทั้งในด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาดอีกด้วย

ส่วนการที่ผู้นำของการริเริ่มเกษตรกรรมในเมืองมักจะมีบทบาททางสังคมอื่นๆ ด้วย เช่น การต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ การส่งเสริมสุขภาวะของสังคม การรณรงค์ปัญหาโรคร้อน ความเป็นธรรมทางอาหาร และนิเวศวิทยาในเขตเมือง เป็นต้น ทำให้มีคำพูดว่า เกษตรกรรมในเมืองจึงถูกมองว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคม (Urban agriculture as a social movement) ในสังคมสมัยใหม่ การที่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบนี้เอื้อประโยชน์หลากหลาย ทำให้เห็นว่าเกษตรกรรมในเมืองสามารถนำไปเชื่อมโยงกับประเด็นทางสังคมอย่างกว้างขวาง ความต้องการใช้เกษตรกรรมเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงสังคมเรื่องต่างๆ ทำให้เกษตรกรรมในเมืองมีภาพลักษณ์ของการปฏิวัติในแบบที่ Michael Ableman เกษตรกรและนักเขียนเรียกว่า “การปฏิวัติเงียบ” (A Quiet revolution) ซึ่งเป็นการปฏิวัติการผลิตอาหารและการตลาด และเป็นเครื่องสะท้อนความต้องการที่จะใช้เกษตรกรรมเพื่อช่วยให้บรรลุอุดมคติที่ต้องการและสร้างความยั่งยืน อย่างไรก็ดี เกษตรกรรมในเมืองอาจนับเป็นส่วนหนึ่งของกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ หรืออาจเป็นแค่การทำสวนธรรมดาๆ หรือทางเลือกในการดำรงชีวิตของคนในเมืองก็ได้ เกษตรกรรมในเมืองจะมีความหมายอย่างไรก็ขึ้นกับเงื่อนไขทางสังคมและวัฒนธรรมของการทำเกษตรกรรมในเมืองแต่ละโครงการเป็นสำคัญ

ในระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับทุนสนับสนุนจาก US Department of State ภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนชื่อ Economic Empowerment Program Exchanged Fellow Program ที่ให้ผ่าน The Maureen and Mike Mansfield Center มหาวิทยาลัยมอนทาท่า สหรัฐอเมริกา เพื่อไปเรียนรู้และเยี่ยมชมโครงการหลายแห่งในมลรัฐมอนทาน่า ซึ่งทำงานเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรรมในเมือง สหกรณ์ผู้ผลิตและผู้ค้าผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่น และผู้ประกอบการด้านแปรรูปสินค้าเกษตรกรรม รวมถึงธุรกิจการเกษตรเกี่ยวกับการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าเกษตร

ผู้เขียนได้ไปเยี่ยมชมโครงการ Garden City Harvest ในเมืองมิสซูล่า มลรัฐมอนทาน่า ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งสร้างความเป็นชุมชนผ่านการทำเกษตรกรรม โครงการนี้สร้างโอกาสให้คนในเมืองสามารถเป็นผู้ผลิตอาหาร ซึ่งเท่ากับช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหาร นอกจากนั้นโครงการยังมีเป้าหมายชัดเจนในเรื่องการพัฒนาสังคม ดังจะเห็นได้จากการมุ่งผลิตอาหารเพื่อช่วยเหลือคนจน ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหาร และผู้ที่ด้อยโอกาสในสังคม การให้ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ในที่นี้ ไม่ได้เน้นการผลิตเพื่อการค้า แต่ต้องการส่งเสริมระบบเกษตรกรรมที่มีสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถผลิตอาหารอย่างยั่งยืนทั้งในปัจจุบันและอนาคต ที่น่าสนใจยิ่งขึ้นคือการเชื่อมโยงเกษตรกรกับผู้บริโภคในเมือง ผ่านระบบตลาดทางเลือกรูปแบบใหม่ๆ  


 เครดิตภาพ พยงค์ ศรีทอง: เยาวชนทำงานร่วมกันใน PEAS FARM

ประวัติศาสตร์ของเกษตรกรรมในเมืองสหรัฐอเมริกา

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง การทำสวนครัวมีเป้าหมายเพื่อผลิตอาหารให้พอเลี้ยงประชากร และเป็นวิธีที่รัฐบาลส่งเสริมให้พลเมืองมีส่วนร่วมในสงคราม ผ่านการผลิตอาหารส่งไปเลี้ยงกองกำลังทหารในสนามรบ ในนามโครงการชื่อ “The Victory Garden Campaign” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงต่างๆ ของสหรัฐสี่กระทรวง หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

เกษตรกรรมในเมืองได้เปลี่ยนสถานะเป็นกิจกรรมเพื่อการพักผ่อน ส่วนสวนเกษตรภายใต้โครงการ The Victory Garden Campaign ถูกปรับเปลี่ยนเป็นแปลงเกษตรของชุมชนในเมือง (Urban community gardens) แต่ก็ยังไม่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแนวใหม่จนกระทั่งปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 รัฐบาลสหรัฐมีบทบาทในการส่งเสริมเกษตรกรรมในเมืองมาตั้งแต่ต้น ผ่านการออกกฎหมายและการดำเนินโครงการต่างๆ ซึ่งรัฐบาลให้การสนับสนุน รัฐบาลใช้เกษตรกรรมเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยเหลือชาวเมืองผู้มีรายได้น้อยให้มีอาหารพอกิน เช่น กฎหมายของมลรัฐแมสซาชูเซส อนุญาตให้ผู้มีรายได้น้อยทำการเกษตรบนผืนดินว่างเปล่าเพื่อยังชีพ โครงการสวนในเมือง (Urban Garden Program) ของ USDA จำนวนมากก็เริ่มดำเนินการในช่วงนี้ เน้นให้ความช่วยเหลือเชิงเทคนิคด้านการเกษตรแก่กลุ่มเป้าหมายต่างๆ ในปีแรกของการดำเนินการ โครงการนี้ให้การสนับสนุนเกษตรกรรมใน 6 เมือง เช่น นิวยอร์ค ชิคาโก ลอสแองเจลิส ฟิลาเดลเฟีย ดีทรอย และฮุสตัน แต่การขยายการสนับสนุนหน่วยงานรัฐท้องถิ่นในหลายมลรัฐทั่วประเทศ ส่งผลให้โครงการนี้ต้องยุติการดำเนินการลงเนื่องจากขาดงบประมาณ

ราวต้นคริสต์ทศวรรษ 1970 เริ่มมีกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมหลายกลุ่มหันมาสนใจเกษตรกรรมในเมือง เช่น กลุ่มผู้หญิง กลุ่มเรียกร้องสิทธิพลเมือง กลุ่มเรียกร้องสันติภาพ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กลุ่ม Back-to-the-city กลุ่มเกษตรกรรมทางเลือก ฯลฯ เกษตรกรรมในเมืองเหล่านี้อยู่ภายใต้การดูแลโดยชุมชนในเขตเมือง ไม่ได้จัดการโดยองค์กรภายนอกเช่นที่ผ่านมา บางองค์กรให้ความสนใจกับการสร้างชุมชนเกษตรกรขึ้นมาใหม่โดยผ่านการทำเกษตร สำหรับเกษตรกรส่วนหนึ่งเข้าร่วมกับขบวนการเกษตรกรรมทางเลือกในช่วงนี้ พวกเขาแสวงหาวิธีการทำเกษตรกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมองหาระบบตลาดที่เกษตรกรจะสามารถนำผลผลิตไปขายให้ผู้บริโภคในเมืองโดยตรง ส่วนผู้บริโภคในเมืองก็มีโอกาสช่วยสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย


เกษตรกรรมในเมืองปัจจุบัน

นับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1980 จนถึงปัจจุบัน กระแสความตื่นตัวเรื่องเกษตรกรรมในเมืองในสหรัฐอเมริกาได้เปลี่ยนจากโครงการภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาล มาสู่การเป็นกิจกรรมของชุมชน ในปัจจุบัน เกษตรกรรมในเมืองทำภายใต้จุดประสงค์ที่เคยเป็นมาในอดีต เช่น การให้ศึกษา การฝึกทักษะชีวิตให้เยาวชนและผู้ใหญ่ การรื้อฟื้นความสนใจโครงการ The Victory Garden Campaign ขึ้นมาใหม่ การรื้อฟื้นความเป็นชุมชนขึ้นมาใหม่ การสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในเมือง ตลอดจนการสร้างความเป็นธรรมและความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม

เกษตรกรรมในเมืองในสหรัฐอเมริกามีรูปแบบที่หลากหลาย เช่น สวนชุมชน (Community garden) สวนหลังบ้าน โครงการเข้าถึงอาหาร โครงการของผู้ประกอบการ มีการก่อตั้งเครือข่ายของผู้ทำเกษตรกรรมในเมืองในปี 1992 มุ่งเน้นเรื่องการผลิตอาหาร การพัฒนาเศรษฐกิจ และการสร้างความก้าวหน้าด้านสิ่งแวดล้อม ต่อมามีการตั้งเครือข่ายต่างๆ เช่น The Community Food Security Coalition (CFSC) The MetroAg Alliance Growing Food and Justice for All กล่าวได้ว่า เกษตรกรรมในเมืองกลายเป็นที่สนใจของหน่วยงานรัฐหลายแห่ง

งานวิจัยที่ศึกษาเกษตรกรรมในเมืองในสหรัฐอเมริกามักจะให้ความสนใจสวนชุมชนและสวนของผู้ประกอบการ เนื่องจากมองว่าเกษตรกรรมในเมืองมีศักยภาพที่จะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ให้การศึกษาและสร้างความเป็นชุมชนให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในเขตเมือง เกษตรกรรมในเมืองมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น ช่วยให้คนจนเมืองและคนที่มีข้อจำกัดในการเดินทางสามารถเข้าถึงอาหารสดและสะอาด ช่วยประหยัดเงินที่ต้องจ่ายเป็นค่าอาหาร ช่วยให้ได้ออกกำลังกาย ฝึกทักษะอาชีพ และช่วยสร้างงานสำหรับคนชายขอบ เช่น เยาวชนกลุ่มเสี่ยง คนไร้บ้าน ผู้ต้องขังที่พ้นโทษ ผู้หญิงที่ไม่มีงานทำ เป็นต้น  

ในแง่ประโยชน์ทางด้านจิตวิทยา เกษตรกรรมในเมืองช่วยให้ประชากรในเมืองและเพื่อนบ้านสามารถเข้าถึง ควบคุมและจัดการที่ดินสาธารณะได้ ทำให้คนในเมืองได้ชื่นชมความงามของธรรมชาติที่มีอยู่ในเขตเมือง และทำให้พื้นที่สาธารณะมีความปลอดภัยน่าอยู่ มีงานวิจัยที่ศึกษาเกษตรกรรมในสามเมืองใหญ่ของสหรัฐอเมริกา พบว่าเกษตรกรรมในเมืองสามารถตอบสนองความต้องการทางจิตวิทยาแก่คนในเมืองในสังคมอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี เกษตรกรรมในเมืองมีความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนในเมืองเช่นกัน เพราะมีการใช้ยาฆ่าแมลงและการกำจัดขยะปนเปื้อนสารเคมีอย่างไม่เหมาะสม นอกจากนี้ การเข้าไปใช้พื้นที่สาธารณะที่ถูกทิ้งร้างก็มักจะมีปัญหาในเรื่องการปนเปื้อนของสารเคมี โดยเฉพาะโลหะหนักที่มีอันตราย

ในแง่ข้อจำกัดและสิ่งท้าทายสำหรับเกษตรกรรมในเมือง มีงานวิจัย (Kaufman and Baikey 2000: 56-29 อ้างใน Reynolds  2010: 32) กล่าวถึงข้อจำกัดและสิ่งท้าทายสำหรับเกษตรกรรมในเมือง 4 ด้าน ได้แก่ หนึ่ง ด้านพื้นที่ทำเกษตรกรรม เช่น การปนเปื้อนสารพิษ ความมั่นคง ระบบกรรมสิทธิ์ สอง ด้านบทบาทของรัฐ เช่น การออกกฎหมายควบคุมของรัฐ การขาดการสนับสนุนของรัฐ สาม ด้านกระบวนการผลิต เช่น การขาดแหล่งเงินทุนสนับสนุน การขาดการวางแผนทางธุรกิจที่เหมาะสม การสูญเสียเป้าหมายที่วางไว้ในระยะเริ่มต้นของการดำเนินงาน สี่ ด้านวิสัยทัศน์ เช่น มุมมองด้านลบต่อการทำเกษตรในเมือง การทำแปลงเกษตรร่วมกันของคนอเมริกันกับคนผิวสี นอกจากนี้ การบูรณาการเป้าหมายทางสังคมเข้ากับเกษตรกรรมในเมืองก็เป็นสิ่งท้าทายเช่นเดียวกัน รวมถึงทัศนคติที่เชื่อว่าเกษตรกรรมเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะอยู่ในเมือง ก็นับเป็นประเด็นท้าทายสำหรับการทำเกษตรกรรมในเมืองในสหรัฐด้วยเช่นกัน จากเหตุผลดังกล่าว การส่งเสริมเกษตรกรรมในเมืองจึงต้องอาศัยวิธีการเชิงบูรณาการ เพื่อให้สามารถนำเสนอประเด็นที่ท้าทายเหล่านี้ เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเกษตรกรรมในเมือง การขยายความช่วยเหลือและสนับสนุนแก่ผู้ทำเกษตรกรรมในเมือง การให้การศึกษาเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการทำเกษตรกรรมในเมือง การส่งเสริมการวิจัยเกี่ยวกับระบบเกษตรกรรมในเมือง การประยุกต์ใช้งานวิจัยกับระบบนิเวศในเมืองและการเกษตร การหารูปแบบของการทำเกษตรกรรมในเมืองที่เหมาะสมเพื่อทำการขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ และเป็นแนวทางของการพัฒนาต่อไปในอนาคต


 เครดิตภาพ พยงค์ ศรีทอง: เยาวชนทำงานร่วมกันใน PEAS FARM

ประสบการณ์จากการเยี่ยมชมโครงการเกษตรกรรมในเมืองในสหรัฐอเมริกา

มูลนิธิ Garden City Harvest ในเมืองมิสซูล่า มีการดำเนินโครงการต่างๆ ที่น่าสนใจหลายโครงการ ได้แก่ หนึ่ง โครงการส่งเสริมเกษตรกรรมในโรงเรียน (Farm to School) ให้การอบรมความรู้ด้านการเกษตร จัดทำหลักสูตรการเกษตรในโรงเรียน การฝึกภาคสนามในฟาร์มภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยมอนทาน่า (PEAS FARM) การบรรยายในห้องเรียน การออกค่ายภาคฤดูร้อน การสอนทำอาหาร ทำสวนครัวและทำฟาร์ม โครงการนี้ให้การศึกษาแก่ชาวเมืองมิสซูล่าในเรื่องอาหารและแหล่งผลิตอาหาร โดยผ่านการลงมือทำงานจริงในฟาร์ม ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนและผู้ใหญ่เกิดความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอาหาร การเกษตร วิทยาศาสตร์ และชีวิตประจำวัน

สอง โครงการสวนชุมชน (Community garden) โครงการนี้ทำแปลงรวมของชุมชนในละแวกใกล้ที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยทั่วเมืองมิสซูล่า พื้นที่ทำสวนชุมชนอาจเป็นของเทศบาล โบสถ์ หรือองค์กรเอกชนที่นำมาแบ่งสรรเป็นแปลงย่อยเล็กๆ แล้วให้ผู้สนใจเช่าสำหรับทำสวนปลูกพืชผัก ไม้ดอก สมุนไพร เพื่อบริโภค เพื่อขาย หรือเพื่อสันทนาการ สวนชุมชนแต่ละแห่งจัดหาที่ดินทำการเกษตรให้แก่สมาชิกขนาดกว้าง 15 ฟุต และยาว 15 ฟุต พร้อมอุปกรณ์ในการทำเกษตร น้ำ ปุ๋ย ฟาง ความรู้ นอกจากนี้สมาชิกยังได้รับคำแนะนำจากผู้ประสานงานโครงการ

นอกจากนั้น โครงการยังจัดอบรมผู้ทำสวนมือใหม่เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ในเรื่องวิธีการทำสวน พฤกษศาสตร์ แหล่งอาหารและการทำอาหาร ในสวนชุมชน สมาชิกเก่าที่ทำเกษตรมานานจะทำงานร่วมกับสมาชิกใหม่ เรียนรู้จากกันและกัน และแบ่งปันทรัพยากรกัน สมาชิกสามารถมีอาหารพอกิน และประหยัดงบประมาณในการซื้ออาหาร เกิดความภาคภูมิใจ ได้ลิ้มรสชาติอาหารสดใหม่ที่ปลูกจากสวน นอกจากผู้มีรายได้น้อยแล้ว ประชาชนทั่วไปยังได้รับการเชิญชวนให้เข้าร่วมกับโครงการนี้ ผ่านการเช่าที่ดินทำเกษตร การกินอาหารร่วมกัน การอ่านหนังสือใต้ร่มไม้ และการช่วยสนับสนุนเงินทุนสำหรับครัวเรือนที่ขาดแคลน โครงการสวนชุมชนบริจาคอาหารให้กับธนาคารอาหาร (Food Bank) ซึ่งเป็นมูลนิธิที่บริจาคอาหารให้แก่คนจนที่เข้าไม่ถึงอาหาร ผู้ขาดแคลน บ้านพักเยาวชน และหน่วยงานอื่นๆ ในเมืองมิสซูล่า



เครดิตภาพ พยงค์ ศรีทอง: แปลงเกษตรใน Neighborhood Farm

สาม สวนแห่งเพื่อนบ้าน (Neighborhood farm) เป็นพื้นที่ของเอกชนที่เปิดโอกาสให้ประชาชน ซึ่งมักจะในนามของโครงการหรือองค์กร เช่น กลุ่มผู้มีรายได้น้อยเข้ามาใช้ประโยชน์ โดยอาจจ่าย หรือไม่จ่ายค่าเช่าก็แล้วแต่ตกลงกัน เพื่อให้ผู้ที่อาศัยในย่านใกล้เคียงเข้ามาทำสวนพืชผักกินหรือขาย ฟาร์มใกล้บ้านผลิตพืชผักและอาหารสำหรับคนที่ขาดแคลน ร่วมกับโครงการอื่นๆ เช่น PEAS FARM ฟาร์มสำหรับเยาวชน สวนผลไม้ (Orchard garden)

สี่ โครงการช่วยเหลือเยาวชนกลุ่มเสี่ยง (Youth development) ให้การสนับสนุนทางด้านการฟื้นฟูสภาพจิตใจ และการทำงานสำหรับเยาวชนที่มีปัญหาต้องคดี ติดยาเสพติดและไร้บ้าน โดยเยาวชนจะได้ทำงานในฟาร์ม (PEAS FARM) สัปดาห์ละสี่วัน ทำงานร่วมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยมอนทาน่า ซึ่งมาเรียนรู้เรื่องการเกษตรในรายวิชาที่ลงทะเบียนเรียน และทำงานร่วมกับอาสาสมัคร ซึ่งเป็นชาวเมืองมิสซูล่าที่อาสาช่วยทำงานในฟาร์ม นอกจากนั้น เยาวชนกลุ่มเสี่ยงยังรับผิดชอบโครงการตลาดเคลื่อนที่ พวกเขาจะช่วยกันเก็บเกี่ยวผลผลิตสดๆ นำไปขายราคาถูกในชุมชนการเคหะและชุมชนที่อยู่อาศัยของคนพิการ นอกจากนั้น โครงการยังจัดส่งอาหารสดไปให้ธนาคารอาหารในเมืองมิสซูล่าด้วย รวมถึงขายผลผลิตในระบบผู้บริโภคสนับสนุนเกษตรกรผู้ผลิต (Community Supported Agricuture-CSA)

ระบบซีเอสเอเชื่อมต่อเกษตรกรผู้ผลิตกับผู้บริโภคโดยตรง เกษตรกรได้ประโยชน์จากการมีผู้ซื้อผลผลิตที่แน่นอนและสม่ำเสมอ ในขณะที่ผู้บริโภคก็ได้กินอาหารที่สด อร่อย และราคาถูกกว่าพืชผักที่ขายในร้านค้าปลีก นอกจากนั้น เกษตรกรผู้ผลิตกับผู้บริโภคยังสามารถสร้างความสัมพันธ์กันด้วย เกษตรกรได้รู้จักผู้บริโภค ส่วนผู้บริโภคก็ได้รู้จักเกษตรกรและรู้ว่าอาหารผลิตจากไหนและผลิตอย่างไร Garden City Harvest ดำเนินการระบบซีเอสเอ 3 ระบบ ซึ่งมีเป้าหมายหลักคล้ายกันคือการเชื่อมโยงผู้บริโภคเข้ากับอาหาร การเกษตรและแหล่งผลิต แต่ช่วงฤดูกาลของการผลิต ราคาผลผลิตและปริมาณผลผลิตของแต่ละระบบมีรายละเอียดแตกต่างกัน


เครดิตภาพ เนตรดาว เถาถวิล : เยาวชนทำงานร่วมกันใน PEAS FARM

โครงการนี้ไม่เพียงช่วยให้เยาวชนมีความรู้ในการทำเกษตรอินทรีย์ แต่ยังทำให้พวกเขามีความมั่นใจในตนเอง สร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ได้ และมองเห็นโอกาสในชีวิตอื่นๆ อีกด้วย เห็นได้จากการที่เยาวชนกลุ่มเสี่ยงบางคนที่ผ่านการร่วมโครงการได้รับการจ้างเป็นพนักงานของโครงการ บางคนริเริ่มทำฟาร์มของตัวเอง และบางคนมีโอกาสในการทำงานที่ดีขึ้น

(ยังมีต่อ)

 

 

เอกสารประกอบการเขียน

Kristin Arfi  Reynolds. 2010. Urban Agriculture as Revolution: An Action Research and Social

          Movement Analysis of Food Production in Alameda County, California. Ph.D.

            Dissertation, University Of California.

Craig J. Pearson, Sarah Pilgrim, Jules Pretty OBE (Eds.). 2010. Urban Agriculture: Diverse

            Activities and Benefits for City Society. International Journal of Agricultural

          Sustainability. Vol. 8 Vol.1-2.

Jeremy N. Smith. 2010. Growing a Garden City. China: Skyhorse Publishing.

 

 

           

           

           

             

           

             

             

            

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net