Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เกริ่นนำ

“การตราหน้า” (Label) ทฤษฎีที่ถูกเสนอโดย Becker  [1] เป็นคำอธิบายสิ่งที่ผู้คนในสังคมปฏิบัติในฐานะผู้เฝ้ามองเหตุการณ์ (Audience) ซึ่งคือการกำหนดภาพพจน์และชุดคำอธิบายของผู้มีพฤติกรรมนอกรีตนอกรอย (Deviant Behavior) “อันเป็นการตราหน้าเพื่อการสร้างบรรทัดฐานของสังคม (Norm) ผ่านการมีอยู่จริง (Existence) ของสิ่งที่ไม่ใช่ตัวมัน” [2]  ยกตัวอย่างเช่น ถ้าการฉ้อโกงเป็นพฤติกรรมนอกรีตนอกรอยสำหรับสังคมพุทธศาสนา ดังนั้น ใครก็ตามที่ถูกตราหน้าว่าเป็นคนฉ้อโกงย่อมได้รับภาพพจน์และชุดคำอธิบายในแง่ร้ายมากกว่าแง่ดี ซึ่งการมีอยู่ของการฉ้อโกงนี้เองยังเป็นการแสดงให้เห็นว่า สังคมดังกล่าวยังมีความซื่อสัตย์สุจริตอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งอีกด้วย ฉะนั้น ความซื่อสัตย์สุจริตจะถูกสมอ้างให้เป็นบรรทัดฐานหนึ่งในสังคมเพื่อเป็นรากฐานสำหรับการอ้างอิงในครั้งต่อไป ยิ่งกว่านั้น  ลักษณะเชิงอุดมคติที่พิสูจน์ได้ยากของนามธรรมเหล่านี้ยังเข้ากันได้ดีกับสังคมยุคบริโภค (สัญญะ)  เพราะการผลิตซ้ำและโฆษณาชวนเชื่อเพื่อเปลี่ยนเรื่องสีดำเป็นเรื่องสีขาวที่มากพอ ย่อมทำให้ผู้เสพสัญญะถูกทำให้เข้าใจว่าเรื่องสีดำกลายเป็นสีขาวได้จริงๆ ตามเงื่อนไขการก่อรูปของความจริงเสมือน ตามข้อเสนอของ Baudrillard [3] จึงทำให้เห็นทันทีว่า “การตราหน้า” ยึดโยงอย่างไม่อาจแยกได้กับผู้ที่ครอบครองอำนาจในการสถาปนาความจริงและวาทกรรมอยู่ตลอดเวลา นั่นคือ “ผู้ถูกตราหน้า” (Labeler) ย่อมไม่มีสิทธิ์และจะถูกปฏิบัติเสมือนหนึ่งเป็นมนุษย์ที่ไม่เท่าเทียมกับคนในรีตในรอย  ปัญหาคือมีข้อน่าสงสัยอะไรบ้างหรือไม่? ในความยั่งยืนของการตราหน้าแห่งรัฐและศาสนา เพราะท่ามกลางความพยายามที่จะทำให้เป็นมาตรฐาน (Standardize) และเป็นหนึ่งเดียวกัน (Unity) จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องใช้วิธีตราหน้า? เพราะตามประวัติศาสตร์ของรัฐและศาสนายังไม่เคยพบความสำเร็จของวิธีนี้ในเลยแม้แต่น้อย และหลายครั้งวิธีเหล่านี้กลับก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อโครงสร้างทางสังคมอีกด้วย

เนื้อหา
ในประวัติศาสตร์ของการใช้อำนาจ เราสังเกตว่า “การตราหน้า” ช่วยสร้างมายาคติ (Myth) เมื่อมีความต่อเนื่องของการผลิตซ้ำที่มากพอ เช่น คำอธิบายเกี่ยวกับมายาคติทางสายตาเพื่อการเหยียดสีผิวที่คนขาวสร้างขึ้นสำหรับเหยียดคนดำของ Fanon [4] และวาทกรรมดังกล่าวก็ยังทำงานอยู่จนถึงทุกวันนี้ด้วยซ้ำ ในฐานะภาพพจน์และชุดคำอธิบายของคนขาว ไม่ว่าจะเป็นโลกทัศน์หรือสำนวนที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ที่จริงพลังแห่งการกดบังคับนี้มากจนถึงกับคนผิวสีบางคนก็สยบยอมไปตามการผลิตซ้ำนั้นด้วย คือ การกลายเป็นอย่างที่คนขาวตราหน้าไปเรียบร้อยแล้วโดยไม่รู้ตัว แง่นี้ คนเหล่านี้มักเป็น Subaltern (หมายถึง เป็นคนนอกโอกาสทางเศรษฐกิจ) เพราะว่าเป็นผู้ถูกกระทำและถูกจำกัดสิทธิ์อย่างต่อเนื่องนานพอและมากเสียจน หลงลืมหรือไม่รู้จักความเป็นองค์ประธานของตนเองเสียแล้ว นั่นคือ “ยิ่งพูดยิ่งแสดงออกกลับกลายเป็นการบอกโดยนัยว่าตนถูกกำหนดหรือตราหน้าไว้อย่างไร?” เพราะภาคปฏิบัติการของวาทกรรมแบ่งแยกเช่นนี้ จะจำกัดสิทธิ์ “ผู้ถูกตราหน้า” ให้ไม่สามารถติดต่อกับโลกปกติที่ชอบธรรมได้ ดังนั้น ทางเลือกเดียวที่เป็นไปได้ คือ สมาคมกันแต่เฉพาะพวกที่ถูกตราหน้าด้วยกัน บ่อยครั้ง การปล่อยให้ผู้ถูกตราหน้ารวมหมู่อยู่ด้วยกันเป็นผลเสียอย่างร้ายแรงต่อรัฐ เช่น ความห่างเหินระหว่างชนชั้นปกครองและชนชั้นกรรมาชีพซึ่งก่อกำเนิดวิวัฒนาการแห่งการอภิวัฒน์ฝรั่งเศส ที่สุดเมื่อผู้ถูกตราหน้าสะสมจำนวนได้มากพอจนมีพลังงานศักย์ผ่านปัจจัยกระตุ้นมากพอ พวกเขาย่อมเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปลดปล่อยและจะกลายเป็นการสถาปนาวาทกรรมใหม่อีกต่อหนึ่งด้วยตรรกะต่างตอบแทน นั่นคือเบียดแทรกวาทกรรมแห่งอำนาจเดิมและสถาปนาวาทกรรมของตนเป็นอำนาจใหม่ นั่นคือ บทพิสูจน์ผ่านเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ว่า ความพยายามของกระแสหลัก (Meta narrative) ในอันที่จะคืนทุกสิ่งกลับไปสู่ความเป็นระเบียบนั้น ในลักษณะที่มีภาพพจน์จากวิทยาศาสตร์นั้น ไม่เคยเป็นไปได้ ดูเหมือนว่ายิ่งทำเท่าไรก็จะยิ่งเกิดทางเลือกใหม่ (Alternative way) หรือ ภาวะปราศจากบรรทัดฐานไปเสียทุกครั้งไป (Normless)

หากมองแบบหลังสมัยใหม่สายเข้ม (Radical) ปรากฏการณ์นี้เป็นข้อพิสูจน์ว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะมีสูตรสำเร็จหรือสูตรการแก้ปัญหาทั่วไป ประเภท Grand theory เพราะความจริงทางสังคมศาสตร์แตกต่างจากวิทยาศาสตร์มาก เนื่องจากมีการเลื่อนไหลไปเรื่อยๆ อย่างสัมพัทธ์ ไม่มีความหมายที่แน่นอนถาวร (Intrinsic meaning) หากแต่มองแบบหลังสมัยใหม่สายกลาง (Moderate) ปรากฏการณ์นี้จะเป็นข้อพิสูจน์ว่า ชุดเครื่องมือแบบเดิมๆ เป็นต้น โลกทัศน์แบบเดิม ไม่อาจใช้แก้ปัญหาและอธิบายความได้ จำเป็นต้องสร้างสรรค์และตีความตัวบทขึ้นมาเสียใหม่อย่างระมัดระวัง เป็นต้น ผ่านกระบวนการวิภาษหรือตั้งคำถาม เช่น การศึกษาแบบย้อนกลับ (Retrospective) เพื่อกระจายสิ่งที่ถูกรวมไว้ให้มีหลายเหลี่ยมจนง่ายต่อการพิจารณาและสร้างสรรค์ใหม่ยิ่งขึ้น ทั้งนี้ จำเป็นต้องระมัดระวังการเป็นผู้สถาปนาวาทกรรมขึ้นใหม่เสียเอง ฉะนั้น ลักษณะที่กำกวมและไม่ลงข้อสรุป-สูตรทั่วไปที่แน่ชัดย่อมช่วยคุ้มครองความหลากหลายที่ว่า เนื่องจากลักษณะที่กำกวม (Obscure) หรือไม่เป็นทางการ (Informal) ทำให้วาทกรรมยากจะถูกปรุงแต่งผ่านพิธีกรรมสถาปนาเป็นอำนาจ เพราะไร้ความเป็นมาตรฐานสากล และมายาคติแบบโครงสร้างนิยมก็ยังหนาแน่นอยู่มากในศตวรรษนี้

ศาสตร์เทียม (Pseudo-Science) เป็นเครื่องมือพื้นฐานสำหรับการ “ตราหน้า” เพราะจะช่วยทำให้รู้สึกมีน้ำหนักในผู้รับสาร จึงเป็นที่ใช้กันแพร่หลายในแวดวงธุรกิจ เป็นต้น  MLM พุทธพาณิชย์ บุญนิยม มนุษย์พลังพิเศษ-ต่างดาว เพราะการเที่ยวแปะป้ายผ่านวาทศิลป์ว่า คนนั้นเป็นอย่างนั้นเพราะแบบนี้ เป็นอย่างนี้เพราะแบบนั้น ด้วยการสมอ้างอำนาจที่ตนมีและตรวจสอบไม่ได้ ดูเผินๆเป็นหลักเหตุผลที่รับสารเข้ามาแบบไม่คิดอะไรมากแล้วก็ดูมีน้ำหนัก ที่จริงโลกสมัยใหม่ได้พัฒนาศาสตร์เทียมออกมาในรูปแบบของทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory) ซึ่งให้น้ำหนักกับการผลิตซ้ำที่มากพอ (เรื่องเล่าจะเหนือจริงอย่างไรก็ได้) ดังนั้น ในศตวรรษที่ 21 เราจะได้เห็น การผลิตชุดการสื่อสารอย่างซ้ำๆ ที่มีนัยสำคัญบนอินเตอร์เน็ต เป็นขั้นเป็นตอน และมีผู้ร่วมสมคบคิดหลายคน ประเด็นคือ ทฤษฏีสมคบคิดหลายข้อถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางการเมืองด้วย เช่น การตราหน้าหรือใส่ร้ายป้ายสีกลุ่มการเมืองคู่ตรงข้ามอย่างมีนัยสำคัญ โดยมากแล้ว หลักการเกี่ยวกับตรรกะวิบัติ (Fallacies Logic) ช่วยจัดจำแนกความสมเหตุสมผลของตรรกะได้ในระดับหนึ่ง แต่สำหรับบางเรื่องที่มีการสร้างภาพกันมาอย่างยาวนานเป็น 10 ปี หรือ 20 ปีแล้ว การแกะรอยความเป็นศาสตร์เทียม (Pseudo-Science) ยิ่งทำได้ยาก แม้ว่า เราจะสมมติฐานไปแล้วว่าน่าจะเป็นศาสตร์เทียมก็ตาม หากแต่การทิ้งเหตุผลข้อมูลเชิงประจักษ์แล้วด่วนสรุปเอา ก็จัดเป็นวังวนแห่งตรรกะวิบัติอีกเช่นกัน

โดยที่ไม่ต้องมีเป้าหมายหรือเจาะจงไปที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เราพบศาสตร์เทียมได้ทั่วไป เป็นต้น ศาสตร์เทียมซึ่งรัฐเป็นผู้อนุญาตให้มีการประกอบสร้าง เช่น การเหยียดพวกลาว พวกเขมร, การเหยียดชาวเขาชนกลุ่มน้อย, การเหยียดอำมาตย์กับไพร่ [5] เหล่านี้เป็นลักษณะของการตราหน้าแบบหนึ่งทั้งสิ้น ปฏิเสธเลยไม่ได้เลยว่าก่อให้เกิดพลังงานศักย์เพื่อปลดปล่อยกลุ่มผู้ถูกตราหน้าให้พ้นจากอำนาจวาทกรรมนี้เช่นกัน เป็นต้น การสร้างวาทกรรมตอบโต้ เช่น การเหยียดไทย การเหยียดอำมาตย์ และนั่นไม่ได้หมายถึงความชอบธรรมแบบต่างตอบแทนแต่ประการใด เพราะที่จริงอยู่ในวังวนเดียวกัน ใครก็ตามที่จะฉกฉวยความขัดแย้งคู่ตรงข้ามให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองก็มักจะใช้เหตุการณ์ทำนองนี้ ประกอบสร้างตนเองขึ้นมาเป็นบุคคลสำคัญ เป็นต้น กรณีพระชาวพม่าที่เคลื่อนไหวเชิงอนุรักษนิยมต่อพลเมืองอิสลามในประเทศ บทพิสูจน์อย่างง่ายๆ คือ เราจะพบการได้รับผลประโยชน์อย่างมหาศาลเป็นตัวเงินหรืออำนาจเบื้องหลังศาสตร์เทียมที่นำมาอ้างอิงนั้นเสมอ อาศัยกระบวนการตราหน้าคนอื่นว่าเป็นผู้ไม่สมควรด้วยประการต่างๆ

“ผลประโยชน์และอำนาจ” เป็นที่สิ่งรัฐและศาสนาแสวงหามากที่สุดในศตวรรษที่ 21 เพราะความหมายดั้งเดิมของรัฐและศาสนาถูกทำให้เลื่อนไหลไปมากแล้วในกระแสหลัก ทั้งที่จริงมีตัวอย่างค้าน (Counter example) อยู่ตลอดในประวัติศาสตร์กระแสทางเลือก ทว่า การคัดค้านมักเป็นไปโดยปราศจากความรอบคอบเสียอีก จึงกลายเป็นว่า ผู้เคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านอำนาจเก่า และสถาปนาอำนาจใหม่ขึ้นมามักกลายเป็น ผู้รับผลประโยชน์รายใหม่ โดยปริยาย เช่น ความวุ่นวายเกี่ยวกับการแย่งชิงอำนาจระหว่างสายสกุลเจ้าผู้ปกครองที่เกิดขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ตอนกลางถึงตอนปลาย ต่อเนื่องกันยาวนานนับร้อยปี มีผู้บริสุทธิ์ เด็กและสตรีเสียชีวิตจากการเปลี่ยนผ่านนี้มากมาย และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการตราหน้าเช่นนี้ก็เกิดขึ้นเรื่อยมาในประวัติศาสตร์ไทย อย่างที่ทราบกันดี ปรีดี พนมยงค์ เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ถูกตราหน้า ถึงแม้ว่าจะอำพรางประวัติศาสตร์เท่าไรก็ตาม แต่การตราหน้าก็เป็นหลักฐานยืนยันการมีอยู่ของตัวมันเอง ในอนาคตและมักเป็นเหตุทำให้เกิดแรงบันดาลในการเคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยตนเองจากการถูกกดบังคับด้วย กลายเป็นว่า ผลประโยชน์และอำนาจเก่าจะสั่นคลอน ถ้าจะฝืนใช้วิธีตราหน้าเช่นนี้ต่อไป แต่ก็มักใช้?

หลายปฏิบัติการทางวาทกรรมของรัฐและศาสนามีกลยุทธ์ที่ลึกล้ำยิ่งกว่าการตราหน้าแบบใส่ร้ายป้ายสี เป็นต้น การวางแผนอย่างยาวนานและใช้ความอดทนรอคอยความสำเร็จ เช่น การรื้อฟื้นระเบียบวิธีในการแบ่งชนชั้นของผู้คนในสังคมด้วยเกณฑ์บุญ-วาสนา ซึ่งเป็นการตัดทอนข้อความในพระไตรปิฎกแล้วนำมาตีความเสียใหม่แต่ส่วนเดียว (ตรรกะวิบัติชนิดหนึ่ง) แต่จะไม่เป็นปัญหาโดยตรงต่อสังคมแต่ประการใด ถ้าไม่เป็นไปเพื่อการตราหน้าผู้อื่นว่า “ไม่มีบุญวาสนา” [6] จนนำไปสู่โลกทัศน์เชิงอนุรักษ์แบบฝังหัวเกี่ยวกับ “การเป็นเจ้าคนนายคน” เพราะในขณะพูดถึงคำว่า “เจ้านาย” ก็จำเป็นต้องมีคำว่า “บ่าว” แน่นอนที่สุด ปัจเจกบุคคลของความเป็นเจ้านายย่อมปฏิบัติต่อบ่าวไพร่แตกต่างกัน ไม่มีการันตีใดเป็นเกณฑ์ว่าบ่าวไพร่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมในฐานะคนเหมือนเจ้านาย หลายครั้งบ่าวไพร่จะถูกตราหน้ามาตั้งแต่กำเนิดด้วยซ้ำว่า เป็นผู้ไม่มีบุญวาสนา เป็นต้น วิธีคิดแบบทาสในเรือนเบี้ย และบ่าวไพร่เหล่านั้นจะลบการตีตรานี้ได้ก็ต่อเมื่อ ยกระดับชีวิตตนเองให้พ้นจากความเป็นบ่าวเท่านั้น จึงก่อให้เกิด อนุภาคในละครน้ำเน่าสไตล์ย้อนยุคอยู่ร่ำไป คือ การที่บ่าวสาวผู้มีความทะเยอทะยานสูงจะก้าวขึ้นมาในตำแหน่งภรรยาของเจ้านาย ทำนองเดียวกันวิธีคิดแบบนี้มีบางส่วนคล้ายคลึงกับวัฒนธรรมเมียฝรั่งในชนชั้นล่างด้วย [7] เพื่อเป็นการตอบโต้การถูกตีตราหรือดูถูก ด้วยการให้เงินและสถานภาพทางสังคมมากลบเกลื่อนปมด้อยที่ได้รับจากการตีตราด้วย
 

สรุป
การตราหน้าเป็นวิธีการที่นิยมใช้กันทั่วโลกและยังฝังแน่นอยู่ในโลกทัศน์ของทุกคนอยู่ไม่มากก็น้อย เช่น การถูกตราหน้าว่าเป็นไอ้ขี้คุก หรือการเหยียดคนผิวสีของคนขาว เช่นนั้นก็ดีในวิถีตะวันออกการถูกตราหน้าว่าเป็นกบฏทรยศต่อแผ่นดินเป็นอนุภาคที่เกิดขึ้นบ่อย พอๆกับ การใช้เต้าไต่เต้าจากบ่าวขึ้นตำแหน่งภรรยาของเจ้านาย ตราบใดก็ตามที่การตราหน้าคนอื่นทำให้เกิดประโยชน์อเนกอนันต์กับตัวเอง เฉพาะอย่างยิ่งการตราหน้าที่ไม่จำเป็นต้องผูกเรื่องราวให้ซับซ้อนชาญฉลาดมากนัก ในสังคมที่อ่อนแอทางปัญญา ตราบนั้นการตราหน้าจะยังปฏิบัติการควบคู่กับศาสตร์เทียมอยู่ร่ำไป เพื่อล่อลวงเอาผลประโยชน์จากบรรดาผู้ที่เสพสัญญะ ซึ่งจะมีกลุ่มผู้ได้รับประโยชน์ช่วยกันสมคบคิดผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่อง และการสานเสวนาหรือหาทางออกของปัญหาเรื้อรังนี้ ถ้าไม่ก้าวข้ามจากมายาคติประการต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากอิทธิพลของแต่ละวาทกรรมตราหน้าแล้ว อาจสรุปได้ว่าไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะเกิดความสร้างสรรค์ หรือแตกต่างหลากหลายขึ้นได้จริง เพราะไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม รัฐและศาสนา ก็ยังเป็นส่วนสำคัญต่อการควบคุม ยับยั้ง ห้ามหรืออนุญาต การตราหน้าในลักษณะต่างๆ อยู่นั่นเอง ดังจะเห็นได้จาก กฎหมายของรัฐที่ห้ามพลเมืองมิให้ตราหน้าผู้อื่นเพื่อความสงบเรียบร้อย แต่ในทางปฏิบัติเราเห็นการตราหน้าแบบนี้ดาษดื่นทั่วไปในอินเตอร์เน็ต ดังนั้น รัฐคงหมดประสิทธิภาพที่จะเข้ามาควบคุมการตราหน้านี้ได้ จึงสิ่งที่เรากระทำได้ คือ เริ่มจากตัวเองและระมัดระวังตนเองไม่ให้เคลิบเคลิ้มไปกับศาสตร์เทียมและการตราหน้าที่เต็มไปด้วยความเคียดแค้นกันแต่ชาติปางใด?
 

 

เชิงอรรถ           
[1] Howard Becker เป็นผู้เสนอ Labeling Theory ซึ่งใช้อธิบายเหตุผลของพฤติกรรมที่ผิดไปจากบรรทัดฐานของสังคม (มีสำนวนแปลไทยว่า เบี่ยงเบน-(D)eviance) ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า การใช้คำว่าเบี่ยงเบนซึ่งเป็นศัพท์เฉพาะอาจทำให้เกิดภาพพจน์เชิงเดี่ยวเป็นต้นเบี่ยงเบนทางเพศได้ จึงใช้คำว่านอกรีตนอกรอยเพื่อให้เห็นภาพพจน์ว่า การตีตรานั้นทำให้เกิดผู้ถูกตีตรา ซึ่งจะถูกบังคับให้ปฏิสัมพันธ์กับบรรดาผู้ถูกตีตราด้วยกันเท่านั้นโดยไม่มีทางเลือก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น อาชีพโสเภณี เกย์ กลุ่มความคิดเห็นทางการเมืองแบบสุดโต่งสายต่างๆ

[2] “การยืนยันว่าสิ่งนั้นมีอยู่จริงโดยสิ่งที่ไม่ใช่ตัวมัน” เป็นแนวคิดแบบหลังสมัยใหม่ ถูกนำเสนอผ่านคำอธิบายเรื่อง Differance ของแดร์ริดา กล่าวคือ สิ่งหนึ่งย่อมมีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมที่ผันแปรไปตามบริบท ณ ขณะนั้น

[3] ทฤษฎีเกี่ยวกับการผลิตซ้ำสัญญะของ Jean Baudrillard ดูเบื้องต้นที่ บทบรรณาธิการนิตยสารวิภาษา ปีที่ 6 ฉบับที่ 2 ลำดับที่ 42 โดย ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ https://www.facebook.com/note.php?note_id=10150978561043493

[4] Franz Fanon. Black Skin, White Masks (New York: Grove Press, 1967)

[5] “อำมาตย์กับไพร่” เป็นวาทกรรมที่ถูกประกอบสร้างขึ้นมาใหม่ เพื่อแสดงความเชื่อมโยงกับ “ระบบอำมาตย์กับไพร่” ในประวัติศาสตร์ และปัจจัยทางสังคมที่เปลี่ยนไปทำให้ไม่อาจแทนที่หรือสรุปว่าเหมือนกันได้ แต่ทั้งสองวาทกรรมมีรากฐานมาจากการตราหน้าทั้งสิ้น

[6] “ไม่มีบุญวาสนา” ที่จริงเป็นโลกทัศน์สากล หากแต่ในตะวันตกจะเป็นความเชื่อว่าพระเจ้าทรงกำหนดทุกอย่างแล้วเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ในขบวนการเคลื่อนไหวทางศาสนาในตะวันตก ถือว่า พระเจ้าไม่ได้กำหนดเรื่องนี้อย่างตายตัวทุกสิ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้เริ่มต้นจากตนเอง (ก่อนที่จะเกิดยุคคริสตพาณิชย์) ในขณะวาทกรรมไม่มีบุญวาสนาของประเทศไทยยึดโยงกับความคิดว่าต้องเติมบุญเติมวาสนา จนที่สุดทำให้เกิดยุคพุทธพาณิชย์เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในยุคกลาง

[7] ในชนชั้นล่างหรือสังคมชนบท การได้เป็นภรรยาของชาวต่างประเทศ ให้ภาพพจน์ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net