Skip to main content
sharethis

ติดตามข่าวสารรอบโลกเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ที่น่าสนใจกับ ‘อธิป จิตตฤกษ์’ นำเสนอเรื่องศาลสูงสหรัฐตัดสิน “ยีนที่ถูกค้นพบ” ตามธรรมชาติจดลิขสิทธิ์ไม่ได้, ญี่ปุ่นจะแซงหน้าสหรัฐในฐานะตลาดบันทึกเสียงที่ใหญ่ที่สุดในโลก ฯลฯ

 

Immaterial Property Research Center ตั้งขึ้นในวันที่ 18 มกราคม หรือ "วันเสรีภาพอินเทอร์เน็ต" เพื่อเป็นศูนย์ข่าว ศูนย์ข้อมูล และศูนย์วิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุ (หรือที่เป็นที่รู้จักทั่วไปว่าทรัพย์สินทางปัญญา) ต่างๆ อย่างสัมพันธ์กับระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ และระบบการเมืองในโลก ทางศูนย์ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานของศูนย์ฯ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุที่เอื้อให้เกิดเสรีภาพในเชิงบวกไปจนถึงความเท่าเทียมกันของผู้คนในโลก
 

14-06-2013

ศาลสูงสหรัฐตัดสินแล้วว่ายีน "ที่ถูกค้นพบ" ไม่สามารถนำมาจดสิทธิบัตรได้

เรื่องของเรื่องคือบริษัท Myriad Genetics ได้ค้นพบยีนตัวหนึ่งที่คิดว่าอาจเป็นยีนที่ใช้ระบุว่าจะเกิดมะเร็งเต้านมได้ ทางบริษัทพยายามจะผูกขาดการใช้ยีนนี้ทดสอบกระบวนการดังกล่าวไปจนถึงการทดลองด้วยการจดสิทธิบัตรยีน (การทดสอบมะเร็งเต้านมที่แพงมากๆ ซึ่ง Angelina Jolie ไปทดสอบจนตัดสินใจ "ตัดนม" ก็คือการทดสอบยีนตัวนี้แหละ)

Association for Molecular Pathology คิดว่าการจดสิทธิบัตรนี้ไม่ชอบธรรมจึงฟ้องศาล และเรื่องก็ไปเรื่อยๆ ถึงศาลสูง (อ่านความเป็นมาคดีได้ที่  http://en.wikipedia.org/wiki/Association_for_Molecular_Pathology_v._Myriad_Genetics )

ล่าสุดศาลสูงตัดสินว่ายีนที่มีอยู่ตามธรรมชาติที่นักวิจัย "ค้นพบ" นั้นไม่สามารถนำไปจดสิทธิบัตรได้ไม่ว่าการค้นพบนั้นจะถล่มทลายพลิกองค์ความรู้อย่างไรก็ตาม

อย่างไรก็ดีศาลก็ชี้ว่าแม้ยีนที่มีอยู่ตามธรรมชาติจะนำไปจดสิทธิบัตรไม่ได้ แต่ยีนที่ถูกสังเคราะห์ในห้องทดลองก็ยังจดสิทธิบัตรได้อยู่ และวิธีการทดสอบยีนก็จดสิทธิบัตรได้เช่นกัน

ทั้งนี้สำนักงานสิทธิบัตรของอเมริกาก็มีการให้จดสิทธิบัตรยีนมานานแล้ว และกรณีนี้น่าจะเป็นกรณีแรกที่ศาลสูงตัดสินถึงขีดจำกัดของยีนที่จดสิทธิบัตรได้

มีการถกเถียงถึงผลตัดสินนี้อย่างกว้างขวาง บางบรรษัทก็โวยวายว่ามันจะเป็นคำตัดสินที่ฆ่าไบโอเทคเพราะมันไม่มีการคุ้มครองให้ผู้ค้นพบยีนใช้ประโยชน์จากการค้นพบยีนใหม่ๆ แต่ก็มีฝ่ายที่เถียงว่าแนวทางการตัดสินนี้จะทำให้เกิดการวิจัยและพัฒนาที่มากขึ้น

แต่ที่แน่ๆ ภายหลังคำตัดสิน 1 ชั่วโมง ก็มีบริษัทเสนอบริการทดสอบยีนมะเร็งเต้านมในราคาเพียง 1 ใน 4 ของราคาเดิม คือ 995 ดอลลาร์ จากราคาเดิมของ Myriad ที่อยู่ที่ 4,000 ดอลลาร์

News Source: http://www.techdirt.com/articles/20130613/09593423449/supreme-court-strikes-down-gene-patents.shtml , http://infojustice.org/archives/29897 , http://www.popsci.com/science/article/2013-06/us-supreme-court-rules-breast-cancer-genes , https://www.eff.org/deeplinks/2013/06/supreme-court-patents-require-act-invention

 

18-06-2013

ผลการวิจัยจาก policybandwidth ชี้ว่าอัตราผลกำไรของอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์ช่วงปี 2003-2012 ซึ่งเป็นช่วงที่โดนสำเนาเถื่อนหนักที่สุดก็ยังสูงกว่าอุตสาหกรรมอื่น

โดยเฉลี่ยแล้วอัตราผลกำไรหลังภาษีของอุตสาหกรรมการพิมพ์และภาพยนตร์ก็สูงกว่า 10% ส่วนทางด้านอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ก็สูงกว่า 20% ด้วยซ้ำ ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันอัตราผลกำไรของอุตสาหกรรมอย่างอุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมเหมือง และอุตสาหกรรมเติบโตโดยเฉลี่ยราวปีละไม่เกิน 5% เท่านั้น

ทั้งนี้ในรอบ 10 ปีของการวิจัยก็พบว่าอัตรากำไรของอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์โดยรวมขึ้นมา 3.98% ส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆ ขึ้นมาเพียง 0.75% ด้วยซ้ำ
ซึ่งอัตราผลกำไรของอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์ที่สูงอย่างสัมพัทธ์ดูจะชี้ว่าการกล่าวอ้างความเสื่อมถอยของอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์เพื่อเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการไล่ปราบการทำสำเนาเถื่อนมีน้ำหนักน้อยลงพอสมควรทีเดียว

News Source: http://infojustice.org/archives/29916

 

Church of Scientology อ้างอำนาจเหนือลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าของตนเพื่อปิดเว็บล้อเลียน

เป็นที่รู้กันพอสมควรว่า Will Smith นักแสดงนำ คนเขียนเรื่อง และหนึ่งในโปรดิวเซอร์ของ After Earth เป็นหนึ่งในสาวกของ Church of Scientology

จึงมีคนทำเว็บล้อเลียนโดยแกล้งเขียนจดหมายจากเจ้าลัทธิเชิญชวนชาว Church of Scientology ไปดูหนังเรื่องนี้ของ Smith

แน่นอนว่าทาง Church of Scientology ไม่พอใจ จึงแจ้งไปทาง GoDaddy ซึ่งเป็นผู้ให้ขึ้นทะเบียนโดเมนเนมและบริษัทโฮสต์ของเว็บไซต์ว่าเว็บล้อเลียนดังกล่าวละเมิดทั้งลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าของ Church of Scientology และ GoDaddy ก็ปิดเว็บอย่างรวดเร็ว

นี่เป็นเรื่องช็อคสำหรับหลายๆ ฝ่าย เพราะโดยทั่วไปแล้วการล้อเลียนนั้นถือว่าเป็นการแสดงออกทางการเมืองที่ได้รับการปกป้องคุ้มครองภายใต้บทบัญญัติแก้รัฐธรรมนูญครั้งที่หนึ่ง (First Amendment) ที่ว่าด้วยเสรีภาพในการพูด และการกระทำของเว็บนี้ก็น่าจะอยู่ในข่ายการคุ้มครองอย่างชัดเจน

News Source: https://www.eff.org/deeplinks/2013/06/church-scientology-lands-takedown-hall-shame

 

สถิติยอดขายงานดนตรีในไตรมาสแรกของญี่ปุ่นพุ่งขึ้นทั้งแบบดิจิทัลและจับต้องได้ แนวโน้มนี้น่าจะทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นตลาดงานบันทึกเสียงทางดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกภายในปีนี้แทนอเมริกา

เคยได้รายงานมาแล้วว่าญี่ปุ่นมียอดขายงานบันทึกเสียงที่มูลค่ามากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากอเมริกาเพียงนิดเดียวเท่านั้น

อย่างไรก็ดีตลาดอเมริกาก็หดตัวลงเรื่อยๆ กับยอดขายของงานดนตรีดิจิทัลที่เพิ่มขึนในอัตราที่ช้าไม่ทันการลดลงของยอดขายงานดนตรีที่จับต้องได้

แต่ทางด้านญี่ปุ่นตลาดงานดนตรีดิจิทัลเติบโตอย่างรวดเร็วมากๆ และยอดขายงานที่จับต้องได้ก็เริ่มกลับมาอยู่ในขาขึ้นตั้งแต่ปี 2012 แล้ว

และในอัตราการเติบโตนี้ก็คงจะทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นตลาดบันทึกเสียงที่ใหญ่ที่สุดในโลกแทนอเมริกาไปสำหรับปี 2013

News Source: http://www.digitalmusicnews.com/permalink/2013/20130616japan

 

22-06-2013

รัฐบาลเยอรมันยืนยันว่าซอฟต์แวร์ไม่สามารถนำมาจดสิทธิบัตรได้เนื่องจากได้รับการคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์อยู่แล้ว

และก็น่าจะมีการพยายามผลักมาตรฐานของการห้ามให้มีสิทธิบัตรซอฟต์แวร์ขึ้นในยุโรปติดตามมาด้วย

ทั้งนี้ ประเทศแรกๆ ที่ออกมาปฏิเสธความชอบธรรมของการจดสิทธิบัตรซอฟต์แวร์คือนิวซีแลนด์ซึ่งประกาศไปเดือนที่แล้ว

ทางด้านอเมริกา แม้ว่าจะมีกระแสปฏิรูปสิทธิบัตรอย่างแพร่หลายตั้งในหมู่นักกิจกรรมหรือจากรัฐบาลเอง แต่แนวทางการยกเลิกสิทธิบัตรซอฟต์แวร์ก็ยังไม่ชัดเจนในความคิดเรื่องการปฏิรูปต่างๆ

News Source: https://www.eff.org/deeplinks/2013/06/german-parliament-says-no-more-software-patents

 

02-07-2013

ศาลชั้นต้นเยอรมนีตัดสินว่าหนังโป๊ไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ภายใต้กฎหมายเยอรมัน

หลังจากบริษัทหนังโป๊อังกฤษพยายามจะหาตัวตนคนโหลดหนังโป๊เพื่อจะฟ้อง (น่าจะฟ้องเพื่อเอาค่ายอมความตามประสา “เกรียนลิขสิทธิ์”) กับศาลเยอรมัน

ปรากฏว่าศาลตัดสินไป 3 ชั้นว่า

  1. บริษัทหนังโป๊อังกฤษพิสูจน์ไม่ได้ว่าตนเป็นเจ้าของคลิปที่ตนอ้างว่ามีการละเมิดจริง
  2. บริษัทหนังโป๊อังกฤษยังไม่ "ออก" หนังเรื่องนี้ในเยอรมนีไม่ว่าจะเป็นแบบออนไลน์หรือดีวีดี (แม้จะอ้างว่าออกทั่วโลกในอินเทอร์เน็ต) ดังนั้นจึงไม่ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์เยอรมนี
  3. เนื้อหาในหนังโป๊เป็นเพียงการแสดง "การร่วมเพศที่มีมาแต่โบราณ" เท่านั้น ไม่ใช่ผลผลิตทางปัญญาใดๆ ดังนั้นจึงไม่ถือว่าได้รับการคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์ภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์เยอรมนี

News Source: http://torrentfreak.com/porn-films-dont-get-copyright-protection-in-germany-court-rules-130701/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net