Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สุดสัปดาห์นี้, ลมหายใจของนิวยอร์คซิตี้กลายเป็นสีรุ้งอันหมายถึงสัญลักษณ์ของชาว LGBT และการต่อสู้เพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศซึ่งเริ่มต้นเมื่อ 44 ปีที่แล้ว

วันที่ 28 มิถุนายน 1969 ถือเป็นหลักไมล์ประวัติศาสตร์ของขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิเกย์ในสหรัฐอเมริกา เมื่อตำรวจนิวยอร์คบุกเข้าค้น Stonewall Inn เพราะในช่วงทศวรรษที่ 50-60 การเป็นคนรักเพศเดียวกันถือเป็นเรื่องต้องห้ามเพราะในหลายรัฐยังมีกฎหมาย Sodomy ที่กำหนดให้การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันเป็นสิ่งผิดกฎหมายและมีโทษจำคุก อีกทั้งขบวนการไล่ล่าฝ่ายซ้ายในยุค 50 นำโดยวุฒิสมาชิกโจเซฟ แม็คคาร์ธีย์ก็นับรวมว่าการเป็นคนรักเพศเดียวกันนั้นเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ

การบุก Stonewall ในคืนนั้นทำให้เกิดการประท้วงและจลาจลต่อเนื่องหลายวันในย่านกรีนิช วิลเลจ เนื่องจากชาวเกย์ทั้งหลายรู้สึกว่าการกระทำของตำรวจนั้นละเมิดสิทธิจนยากจะทนต่อไปได้ หลังเหตุการณ์ Stonewall ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของคนรักเพศเดียวกันในสหรัฐอเมริกาตื่นตัวอย่างมาก การจัดงานครบรอบหนึ่งปีเหตุการณ์ Stonewall ในปี 1970 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของงาน Pride อันยิ่งใหญ่ในนิวยอร์คซิตี้

และในปี 2013, ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิ LGBT ได้เฉลิมฉลองอีกหน้าประวัติศาสตร์ในสุดสัปดาห์ของงานไพรด์ เพราะเมื่อวันพุธที่ผ่านมาศาลสูงของสหรัฐอเมริกาประกาศคำตัดสินเกี่ยวข้องกับสิทธิการแต่งงานของคนเพศเดียวกันสองประเด็นคือ

1) ศาลสูงสหรัฐตัดสินว่ากฎหมายรัฐบาลกลาง Defense of Marriage Act หรือ DOMA (กฎหมายคุ้มครองการแต่งงาน) ข้อ 3 ซึ่งกำหนดไว้ว่า "คำว่า 'แต่งงาน' หมายถึงการสมรสเป็นสามีภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายระหว่างชายและหญิงเท่านั้น และคำว่า 'คู่สมรส' หมายถึงบุคคลที่เป็นสามีหรือภรรยาของบุคคลที่มีเพศตรงกันข้ามเท่านั้น" การระบุเช่นนี้ทำให้คู่รักเพศเดียวกันไม่สามารถเข้าถึงสิทธิตามกฎหมาย 996 ฉบับที่คู่สมรสเพศเดียวกันได้รับ เช่นการลดหย่อนภาษี, สิทธิในการโอนย้ายสัญชาติหลังจากแต่งงาน, ประกันสุขภาพของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งครอบคลุมไปถึงคู่สมรส ฯลฯ ละเมิด Fifth Amendment ในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาที่กล่าวว่า "จะต้องไม่มีผู้ใด . . . สูญเสียชีวิต, เสรีภาพ, หรือทรัพย์สิน, โดยปราศจากกระบวนการอันชอบด้วยกฎหมาย"

ผลของคำตัดสินซึ่งจะเอื้อประโยชน์ในทางกฎหมายให้กับคู่รักเพศเดียวกันที่จดทะเบียนในสหรัฐอเมริกาเกิดจากการต่อสู้ของ Edie Windsor ซึ่งยื่นฟ้องรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในปี 2010 ว่ากฎหมาย DOMA นั้นปฏิบัติต่อคู่รักเพศเดียวกันแตกต่างจากคู่รักต่างเพศโดยขาดการให้เหตุผลที่มีน้ำหนัก

Edie Windsor แต่งงานกับ Thea Spyer ในปี 2007 ที่แคนาดา และการแต่งงานของทั้งคู่ได้รับการรับรองภายใต้กฎหมายของรัฐนิวยอร์ค แต่เมื่อ Thea เสียชีวิตในปี 2009 และยกทรัพย์สินให้กับ Edie ซึ่งควรจะได้รับการยกเว้นภาษีในฐานะคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ Edie กลับต้องจ่ายภาษีถึง 363,053 เหรียญสหรัฐเนื่องจาก DOMA ข้อ 3 ซึ่งจำกัดความหมายของคู่ชีวิตและการสมรสไว้ว่าต้องเป็นสถานภาพและการกระทำที่เกิดขึ้นระหว่างเพศตรงข้าม

เมื่อรู้ว่าศาลสูงสหรัฐมีคำตัดสินว่า DOMA ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ประโยคแรกที่ Edie พูดออกมาคือ “I wanna go to Stonewall right now!” (ฉันอยากไป Stonewall ตอนนี้เลย”) และเมื่อวาน (30 มิถุนายน) Edie Windsor วัย 84 กลายเป็นผู้นำขบวนเกย์ไพรด์ในนิวยอร์คซิตี้

2) การต่อสู้เพื่อสิทธิการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันในมลรัฐแคลิฟอร์เนียนั้นน่าสนใจอย่างยิ่ง แม้ว่าจะมีความซับซ้อนในการทำความเข้าใจกระบวนการยุติธรรมระบบศาลคู่ของสหรัฐอเมริกาอยู่บ้าง

ในการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน ปี 2008 ซึ่งบารัค โอบามาได้เป็นประธานาธิบดีสมัยแรก มีการเสนอ Proposition 8 หรือญัตติหมายเลข 8 เพื่อแก้รัฐธรรมนูญรัฐแคลิฟอร์เนียไปพร้อมกับการเลือกตั้งประธานาธิบดี (เหมือนที่ผู้มีสิทธิออกเสียงในรัฐโคโลราโดรับรองว่ากัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมายในการเลือกตั้งปี 2012 ที่ผ่านมา) และ Proposition 8 หรือที่เรียกกันว่า Prop 8 ได้เสนอให้เพิ่มข้อ 7.5 เข้าไปในรัฐธรรมนูญของรัฐแคลิฟอร์เนียระบุ "การแต่งงานระหว่างชายและหญิงเท่านั้นที่จะมีผลตามกฎหมายและได้รับการรับรองในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย" ทั้งที่ก่อนหน้านี้การแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันนั้นได้รับการรับรองตามกฎหมายในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เพราะในเดือนพฤษภาคม 2008 ได้มีคำตัดสินของศาลสูงสุดมลรัฐแคลิฟอร์เนียว่าการจำกัดสิทธิการแต่งงานของคนเพศเดียวกันตาม Proposition 22 ซึ่งถูกเสนอในปี 2000 นั้นละเมิดรัฐธรรมนูญมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ทำให้การแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันซึ่งได้รับการรับรองตามกฎหมายในมลรัฐแคลิฟอร์เนียต้องถูกยกเลิกไป เมื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งโหวตค้านคำตัดสินของศาลสูงสุดมลรัฐแคลิฟอร์เนียด้วยการรับรอง Prop 8 ด้วยคะแนน 52.24% ต่อ 47.76%

คดีนี้เริ่มต้นขึ้นในปี 2009 เมื่อเสมียนเขตปฏิเสธใบรับรองการแต่งงานของ Kristin Perry and Sandra Stier เนื่องจากทั้งคู่เป็นผู้หญิง ในปี 2010 ผู้พิพากษา Vaughn Walker แห่งศาลชั้นต้นรัฐบาลกลาง ณ เขตเหนือของมลรัฐแคลิฟอร์เนียมีคำพิพากษาว่า Prop 8 ละเมิดรัฐธรรมนูญ Fourteenth Amendment ที่กล่าวว่า "ไม่มีมลรัฐใดสามารถทำให้บุคคลสูญเสียชีวิต, เสรีภาพ, หรือทรัพย์สิน, โดยปราศจากกระบวนการอันชอบด้วยกฎหมาย หรือปฏิเสธการคุ้มครองโดยเท่าเทียมกันแห่งกฎหมายต่อบุคคลที่อยู่ภายใต้ขอบเขตอำนาจกฎหมายของมลรัฐนั้น" มลรัฐแคลิฟอร์เนียไม่แม้กระทั่งต่อสู้ในศาลชั้นต้นรัฐบาลกลางเพื่อปกป้อง Prop 8 และไม่ยื่นอุทธรณ์ แต่หลังจากนั้นกลุ่มผู้สนับสนุน Prop 8 ได้กลายเป็นทนายจำเลย (ซึ่งในที่นี้คือ Prop 8) ยื่นอุทธรณ์ในศาลอุทธรณ์สหรัฐมาจนถึงศาลสูงสหรัฐ

และในวันที่ 26 มิถุนายนเช่นกัน, คำตัดสินของศาลสูงสหรัฐคือ "กลุ่มผู้สนับสนุน Prop 8 ไม่มีอำนาจฟ้องภายใต้รัฐธรรมนูญมาตรา 3 เมื่อมลรัฐแคลิฟอร์เนียไม่ได้เป็นผู้ยื่นอุทธรณ์เพื่อปกป้องกฎหมายของมลรัฐ ทำให้คำพิพากษาแห่งศาลชั้นต้นรัฐบาลกลางถือเป็นคำพิพากษาสูงสุด" ส่งผลให้ Prop 8 ไม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายในทันที และการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันกลับมาได้รับการรับรองตามกฎหมายอีกครั้งในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย

อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่านี่เป็นคำตัดสินแบบ "หาทางลง" ของศาลสูงสหรัฐ เมื่อกฎหมายระดับมลรัฐที่มีผลบังคับใช้โดยการลงคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งละเมิดหลักการว่าด้วยเสรีภาพและความเท่าเทียมที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐ

คำตัดสินทั้งสองของศาลสูงสุดสหรัฐทำให้ Lesbian, Gay, Bisexual และ Transgender ทั่วสหรัฐอเมริกาได้เฉลิมฉลองทั้งครบรอบ 44 ปีเหตุการณ์ Stonewall และการผ่านกฎหมายที่ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนรักเพศเดียวกันเข้าใกล้ความเท่าเทียมเข้าไปอีกหนึ่งก้าว แม้การต่อสู้บนถนนสายกว้างและไกลนี้ยังต้องดำเนินต่อไป แต่พัฒนาการที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าสิทธิ LGBT ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในกระแสหลัก ผู้เขียนหวังว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งแรงกระเพื่อมไปยังขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิ LGBT ทั่วโลกที่กำลังต่อสู้เพื่อสิทธิในการจดทะเบียนคู่ชีวิตหรือสิทธิในการแต่งงาน รวมไปถึงการผลักดันสนธิสัญญาระดับสากลเพื่อรับรองสิทธิของบุคคลในการมีรสนิยมทางเพศและ/หรืออัตลักษณ์ทางเพศอันแตกต่างหลากหลายโดยที่รัฐไม่อาจเข้ามาก้าวก่ายแทรกแซง

หมายเหตุ นักคิดสายเควียร์อาจจะมองว่าการต่อสู้เพื่อสิทธิการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันเป็นการสยบยอมให้กับสถาบันทางสังคมแบบรักต่างเพศ แต่ถ้ามองในแง่มุมสิทธิมนุษยชน ผู้เขียนยืนยันว่าถ้าเรายังไม่สามารถรื้อโลกทั้งใบแล้วประกอบมันขึ้นมาใหม่ เราก็ต้องหาทางอยู่ร่วมกับมัน   

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net