กทค. โต้กรณีขยายสัมปทานคลื่น 1800 มีฐานกฎหมายรองรับชัดเจน

เศรษฐพงค์ แจงการทำงาน กสทช. โต้ข้อกล่าวหา 2 ปี เกียร์ว่าง ไม่เตรียมการประมูลคลื่น 1800 MHz ด้าน สุทธิพล ชี้ฝ่ายกฎหมายเห็นตรงกัน มาตรการเยียวยาผู้บริโภคไม่ขัดกฎหมาย 

               
ตามที่ กสทช.มีมติในการประชุมครั้งที่ 6/2556 เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2556 เห็นชอบร่างประกาศ กสทช.  เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการโทรคมนาคมในกรณีสิ้นสุดอายุการอนุญาตสัมปทานหรือสัญญาประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ... และเห็นชอบให้สำนักงาน กสทช. จัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศดังกล่าวตามกฎหมาย และต่อมามีผู้ออกมาวิจารณ์ว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากไม่มีฐานอำนาจทางกฎหมายรองรับ เป็นการขยายระยะเวลาสัมปทานจึงควรที่จะเร่งให้มีการประมูลคลื่นความถี่ และวิพากษ์วิจารณ์ว่าเหตุใด ในช่วงสองปี ที่ผ่านมา กสทช. จึงไม่ได้ดำเนินการใดๆ ในการเตรียมการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz นั้น 

วันนี้ (1 ก.ค.56) สำนักงาน กสทช. เผยแพร่บทสัมภาษณ์ พันเอก เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช.และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม  (กทค.) ชี้แจงว่า ปัจจุบันบอร์ด กสทช.ชุดนี้ปฏิบัติหน้าที่ยังไม่ถึงสองปี ซึ่งเมื่อได้รับการโปรดเกล้าฯเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2554 ก็เริ่มปฎิบัติหน้าที่ทันที แต่กฎหมายกำหนดให้ กสทช. ต้องจัดทำและประกาศใช้แผนแม่บทต่างๆ ตามขั้นตอนของกฎหมายก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ต่อไป จึงได้เร่งรัดการจัดทำแผนแม่บทต่างๆ ได้แก่ แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ แผนแม่บทกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ และแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม  โดยผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ จนสามารถประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา  เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2555    

ขณะเดียวกัน ได้ทำคู่ขนานไปกับการเตรียมการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน  2.1 GHz โดยการจัดประมูล (การประมูล 3จี) ซึ่งมีการทำงานในเชิงรุกจนสามารถออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2555 จัดประมูลคลื่นความถี่สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย  เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2555 และสามารถออกใบอนุญาต 3 จี เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2555 รวมเวลาเตรียมการประมูล 3 จี นับตั้งแต่มีการตั้งคณะอนุกรรมการฯจนถึงวันออกใบอนุญาต 3 จี เป็นเวลาประมาณ 11 เดือน ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันก็มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่วิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า Digital PCN 1800 เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2555 และคณะอนุกรรมการเพื่อตรวจสอบรายละเอียดการได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ฯ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2555 โดยคณะอนุกรรมการทั้งสองชุดได้รายงานผลการพิจารณาต่อ กทค.ในช่วงต้นปี 2556 ทั้งนี้มีประเด็นข้อกฎหมายเรื่องสิทธิในการใช้คลื่นเมื่อสัมปทานสิ้นสุด ซึ่งได้ส่งให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษา กสทช.ให้ความเห็น ทำให้ประเด็นข้อกฎหมายที่ไม่ชัดเจนมีความชัดเจนขึ้น
               
"การจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมนั้น แม้กฎหมายจะกำหนดให้ต้องทำโดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่ กฎหมายก็ไม่ได้บัญญัติให้ต้องประมูลคลื่นความถี่ทันทีที่สัมปทานหมดอายุ แต่มาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนว่า กสทช. ต้องดำเนินการโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน  ดังนั้น ถ้าดำเนินการจัดประมูลคลื่นความถี่ โดยสภาพอุตสาหกรรมไม่พร้อม หรือเร่งรีบเกินไปจนเกิดความเสียหาย ก็จะทำให้ กสทช. กระทำผิดต่อหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้  หากพิจารณาสภาพความพร้อมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและลำดับขั้นตอนต่างๆ ที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้การจัดประมูลคลื่นความถี่เกิดประสิทธิภาพแล้ว ตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมชุดแรกเสนอว่าจำเป็นต้องใช้เวลาประมาณ 10-11 เดือน ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดประมูลคลื่นความถี่ได้ในช่วงปี 2557 โดยอาจจะมีการประมูลพร้อมกับคลื่น 900 MHz ก็ได้ จึงขอชี้แจงให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องด้วย"  พันเอก เศรษฐพงค์ กล่าว

ย้ำมีฐานอำนาจกฎหมายรองรับชัดเจน
ด้าน สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช.ด้านกฎหมาย ชี้แจงข้อวิจารณ์ที่ว่า กสทช.ไม่มีฐานอำนาจทางกฎหมายที่จะออกประกาศกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ กรณีสัมปทานคลื่น 1800 MHz สิ้นสุดและมีการโต้แย้งว่าการออกประกาศนี้เป็นการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ซึ่งต้องทำโดยวิธีการประมูลว่า มีเหตุผลทางกฎหมายในทางตรงกันข้าม เนื่องจากเรื่องนี้มีความเห็นที่สอดคล้องกันทั้งในส่วนของกลุ่มงานกฎหมายโทรคมนาคม สำนักงาน กสทช. และคณะทำงานกำหนดมาตรการรองรับผลกระทบอันเกิดจากการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานการใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz ซึ่งประกอบด้วยนักกฎหมายผู้ทรงคุณวุฒิหลายคน โดยเห็นว่ามาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามร่างประกาศฯ เป็นการกำกับดูแลเพื่อให้ผู้ใช้บริการไม่ได้รับผลกระทบจากการสิ้นสุดการให้บริการโทรคมนาคม จึงไม่ใช่การจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ที่จะต้องทำโดยวิธีประมูลคลื่นความถี่ตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 และมิใช่เป็นการขยายอายุสัมปทาน เนื่องจากเมื่อสัมปทานสิ้นสุด คลื่นความถี่จะต้องตกมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. เพื่อรอการจัดสรรตามกฎหมายต่อไป

สุทธิพล ระบุว่า การออกประกาศกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการนั้นมีวัตถุประสงค์ให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง โดยมาตรการคุ้มครองนี้กำหนดเงื่อนไขห้ามมิให้ผู้ให้บริการรับผู้ขอใช้บริการใหม่ รวมทั้งจะต้องเร่งรัดการโอนย้ายผู้ใช้บริการให้เสร็จสิ้นภายในช่วงเวลาคุ้มครอง ซึ่งกำหนดไว้ชัดเจน คือ ไม่เกิน 1 ปี นับตั้งแต่สัมปทานสิ้นสุด ทั้งนี้ทั้งสำนักงาน กสทช.และคณะทำงานฯยืนยันว่ามีฐานอำนาจในการออกประกาศชัดเจนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 นอกจากนี้ยังเป็นไปตามหลักกฎหมายปกครองที่ต้องทำให้การให้บริการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นบริการสาธารณะมีความต่อเนื่องของการให้บริการ

สุทธิพล กล่าวด้วยว่า  ฝ่ายที่คัดค้านการออกประกาศฯนี้ มิได้เสนอวิธีการแก้ปัญหาเป็นรูปธรรมและได้ผลในการคุ้มครองผู้ใช้บริการ ตรงกันข้ามกลับไปเคลื่อนไหวให้รีบเร่งในการจัดการประมูล หากกสทช. ปฎิบัติตามแนวทางนี้ก็จะทำให้ต้องจัดสรรคลื่นความถี่ ในขณะที่ปัจจัยต่างๆ ไม่พร้อม ซึ่งจะเป็นการจัดสรรคลื่นที่ขาดประสิทธิภาพ และไม่เกิดประโยชน์สูงสุด อันจะทำให้ กสทช. กระทำผิดหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 47  เนื่องจากทำให้การจัดสรรคลื่นความถี่ไม่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ส่วนข้อเสนอของฝ่ายคัดค้านที่เสนอให้ปรับปรุงแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่แทนการออกประกาศนั้น ก็มีความเสี่ยงสูง แม้แต่นักวิชาการที่เสนอความเห็นในเรื่องนี้ก็มีความเห็นขัดแย้งกัน  เพราะการแก้ไขแผนแม่บทฯมีขั้นตอนตามกฎหมายที่จะต้องจัดประเมินผลและจะต้องปรับปรุงในภาพรวม หากไปแก้ไขเฉพาะบางประเด็นก็จะถูกโจมตีว่าเลือกปฎิบัติและช่วยเหลือผู้ประกอบการบางราย การออกประกาศฯเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ที่เป็นผู้ใช้บริการ จึงมีเหตุผลรองรับที่หนักแน่นมากกว่า

นอกจากนี้ ข้อเสนอของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างประกาศฯ ที่ให้เร่งโอนย้ายแทนที่จะออกประกาศฯ ก็เป็นข้อเสนอที่ถูกมองว่าขาดมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากแม้จะมีการเร่งโอนย้าย โดยเพิ่มขีดความสามารถในระบบโอนย้าย ก็มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะยังมีผู้ใช้บริการค้างอยู่ในระบบ  ฉะนั้นการออกประกาศฯจึงเป็นมาตรการที่จำเป็นอย่างยิ่งและเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด หาก กสทช. ทำตามความเห็นที่ไม่ให้ออกประกาศในการเตรียมการรองรับเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการทั้งๆ ที่คาดการณ์อยู่แล้วว่าจะเกิดผลกระทบ แล้วเกิดความเสียหายขึ้น บอร์ด กสทช. ก็จะถูกกล่าวหาว่าละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท