Skip to main content
sharethis

งานศึกษา NBTC Policy Watch พบค่าบริการ 3G ส่วนใหญ่ลดลงไม่ถึง15% พร้อมเสนอวิธีการเพื่อใช้ติดตามการเปลี่ยนแปลงค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้สอดคล้องกับลักษณะการใช้งานของผู้บริโภค

(28 มิ.ย.56) โครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม หรือ NBTC Policy Watch ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) นำเสนอรายงานในหัวข้อ “ลดค่าบริการ 3G ลง 15% ใครได้ประโยชน์?: ข้อเสนอวิธีการเพื่อใช้วัดการเปลี่ยนแปลงค่าบริการ” โดย พรเทพ เบญญาอภิกุล นักวิจัยประจำโครงการ และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พรเทพ กล่าวว่า หลังจากที่ กสทช. กำหนดให้ผู้ให้บริการทุกรายลดราคาแพคเกจบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 3G ลงร้อยละ 15 จากราคาแพคเกจ 2G และกำหนดอัตราอ้างอิงสำหรับแพคเกจใหม่โดยกำหนดเป็นรายลักษณะบริการคือค่าโทรนาทีละ 0.82 บาท, SMS ข้อความละ 1.33 บาท, MMS ครั้งละ  3.32 บาทอินเทอร์เน็ตต่อ 1เมกะไบต์ละ 0.28 บาท พบว่าการติดตามการเปลี่ยนแปลงของราคาแพคเกจแต่ละแพคเกจว่าเป็นไปตามอัตราที่กำหนดหรือไม่นั้นทำได้ยาก เนื่องจากอัตราอ้างอิงที่ประกาศเป็นรายบริการนั้นไม่สอดคล้องกับลักษณะการให้บริการและการคิดราคาที่เกิดขึ้นตามสภาพความเป็นจริงที่ผู้บริโภคซื้อเป็นแพคเกจไม่สามารถแยกซื้อบริการแต่ละประเภทแยกกันได้ การที่บริการทั้งหมดถูกผูกรวมเข้าด้วยกันในรูปของแพคเกจทำให้แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้บริโภคและ กสทช. จะตรวจสอบว่าในแต่ละแพคเกจ บริการใดคิดราคาเกินกว่าราคาอ้างอิง

“การที่บริการเสียงและข้อมูลถูกขายพ่วงรวมกันเป็นแพคเกจทำให้ผู้บริโภคที่ใช้บริการน้อยถูกคิดราคาในอัตราที่แพงกว่าผู้บริโภคที่ใช้บริการมาก การกำหนดราคาอ้างอิงเพียงอัตราเดียวแยกตามประเภทบริการอาจจะไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคบางกลุ่มเช่น กลุ่มที่มีการใช้งานสูงซึ่งอัตราค่าบริการต่อหน่วยการใช้ของแพคเกจที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้ใช้อยู่จะมีค่าที่ต่ำกว่าอัตราอ้างอิงที่ กสทช. ประกาศอยู่แล้ว” พรเทพ กล่าว

พรเทพ เสนอว่า กสทช. จำเป็นที่จะต้องกำหนดวิธีการวัดราคาที่สะท้อนลักษณะการใช้งานของผู้บริโภคที่หลากหลาย เพื่อให้สามารถแน่ใจได้ว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงและเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของราคาการให้บริการในอนาคต ซึ่งวิธีหนึ่งที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย คือการสร้าง“ลักษณะการใช้บริการ”หรือ “ตะกร้าสินค้า” ที่แสดงปริมาณการใช้บริการประเภทต่าง ๆ ที่จะเป็นตัวแทนของผู้บริโภคหลายกลุ่มที่มีลักษณะการใช้บริการเสียงและข้อมูลที่ต่างกัน และคำนวณค่าใช้จ่ายของแต่ละกลุ่มว่าเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใดจากแพคเกจที่เปลี่ยนแปลงไป

พรเทพยังได้แสดงตัวอย่างการคำนวณโดยทดลองสร้าง “ลักษณะการใช้บริการ” จำนวน 24 ลักษณะ เพื่อเป็นตัวแทนของผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมการใช้บริการด้านเสียงและข้อมูลที่ต่าง ๆ กัน โดย พรเทพ คำนวณค่าใช้จ่ายที่ผู้บริโภคทั้ง 24 ประเภทนี้ต้องจ่ายภายใต้แพคเกจรายเดือน 2G ของผู้ให้บริการทั้งสามราย และเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากแพคเกจรายเดือน 3G ของผู้ให้บริการรายเดือน และตรวจสอบดูว่าในแต่ละลักษณะการใช้บริการ แต่ละกลุ่มมีค่าใช้จ่ายเปลี่ยนแปลงไปเท่าไร และมีกลุ่มใดบ้างที่จ่ายลดลงกว่า 15% ตามความตั้งใจของ กสทช.

พรเทพ พบว่า จากลักษณะการใช้งานทั้ง 24 แบบ บริษัท AIS มีค่าบริการลดลงโดยเฉลี่ยประมาณ 7.8% ในขณะที่ บริษัท TRUE มีค่าบริการลดลงเฉลี่ย 8.5% ในขณะที่ DTAC มีค่าบริการลดลง 17.7% (ดูตารางประกอบ)

สำหรับบริษัท AIS พบว่ามีเพียง 5 กลุ่มลักษณะการใช้บริการ จาก 24 กลุ่ม เท่านั้นที่จะจ่ายค่าบริการลดลงมากกว่า 15% ในระบบ 3G ในขณะที่มีถึง 13 กลุ่มลักษณะการใช้งานที่จ่ายค่าบริการลดลงน้อยกว่า 5%

ส่วนบริษัท TRUE พบว่ามี 9 กลุ่มลักษณะการใช้บริการที่จ่ายค่าบริการลดลงมากกว่า 15% และ 11 กลุ่มที่จ่ายค่าบริการลดลงน้อยกว่า 5%

ในขณะที่ DTAC มีถึง 10 กลุ่มลักษณะการใช้งานที่ค่าบริการลดลงมากกว่า 15 % และมีเพียง 2 กลุ่มมีค่าบริการลดน้อยกว่า 5%

 

ตารางแสดงจำนวนประเภทการใช้งานที่ราคาลดลง และค่าเฉลี่ยราคาที่ลดทั้งหมด

บริษัท

จำนวนประเภทการใช้ที่มีจ่ายค่าบริการลดลงมากกว่า 15%

จำนวนประเภทการใช้ที่มีจ่ายค่าบริการลดลงน้อยกว่า5%

ราคาลดลงเฉลี่ยทั้ง 24 กลุ่มประเภทการใช้งาน

AIS

5

13

7.8%

TRUE

9

11

8.5%

DTAC

10

2

17.7%

 

พรเทพ ให้ความเห็นว่าความสำเร็จในการลดราคาค่าบริการของ DTAC น่าจะมีสาเหตุมาจากการแบ่งการคิดราคาเป็นรายบริการ (unbundled) และเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคเลือกส่วนผสมของบริการเสียงและข้อมูลที่ต้องการอย่างยืดหยุ่นซึ่งแพคเกจ 3G ของ DTAC สามารถแบ่งย่อยลงได้ถึง 9 แพคเกจ

“หากพิจารณาในภาพรวมจะพบว่ากลุ่มผู้ใช้บริการที่มีปริมาณการใช้งานบริการเสียงในระดับสูงจะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการลดราคาแพคเกจน้อยที่สุด เหตุผลเนื่องจากว่าผู้บริโภคในกลุ่มนี้มีแนวโน้มการใช้บริการเสียงเกินจำนวนนาทีที่แพคเกจกำหนด แต่ราคาค่าโทรเกินแพคเกจสำหรับผู้ให้บริการทุกรายที่ 1.25-1.5 บาทต่อนาที ยังมีค่าสูงกว่าอัตราขั้นสูงที่ กสทช. กำหนดและราคาค่าโทรเกินแพคเกจในระบบ 3G เป็นต้นทุนที่ยังไม่ลดลงสำหรับผู้บริโภคกลุ่มโทรมาก” พรเทพให้ความเห็น

ในทางตรงกันข้าม พรเทพ ชี้ว่า ผู้บริโภคในกลุ่มที่มีการโทรน้อยแต่ใช้งานอินเตอร์เน็ตมากมีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์เต็มที่จากการลดราคาแพคเกจ 3G ของผู้ประกอบการ ผลดังกล่าวบ่งชี้ว่าผู้ประกอบการมีแนวโน้มการลดราคาแพคเกจผ่านการปรับเปลี่ยนลักษณะแพคเกจโดยการเพิ่มปริมาณข้อมูลซึ่งจะเป็นประโยชน์เฉพาะกับผู้บริโภคกลุ่มที่เน้นการใช้อินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ

พรเทพ สรุปว่า กสทช. จำเป็นต้องพัฒนาเครื่องมือในการติดตามการเปลี่ยนแปลงราคาที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของการทำธุรกิจ และลักษณะการใช้งานของผู้บริโภคซึ่งวิธีการใช้ตระกร้าสินค้าที่นำเสนอมีข้อดีที่สามารถแสดงผลกระทบต่อผู้บริโภคได้หลายกลุ่ม และการคำนวณคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงที่บริการหลายประเภทถูกขายพ่วงเป็นแพคเกจซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยวัดผลของนโยบายและติดตามสภาวะราคาและระดับการแข่งขันในตลาด

 

 

ตารางประกอบ

ตารางที่ 1การเปลี่ยนแปลงราคาค่าบริการรายเดือนของ AIS ต่อประเภทการใช้งาน (ร้อยละ)

 

ปริมาณการใช้ข้อมูลต่อเดือน

 

100MB

500MB

1000MB

2000MB

ปริมาณการโทรต่อเดือน

60 นาที

-25.1

-25.1

0.0

-20.0

200 นาที

-5.3

-5.3

-11.1

-20.0

400 นาที

-3.2

-3.2

-14.3

-20.0

600 นาที

-2.3

-2.3

-8.7

-4.4

1000 นาที

-1.5

-1.5

-5.7

-2.9

2295 นาที

-0.7

-0.7

-2.7

-1.4

ราคาเปลี่ยนแปลงเฉลี่ยทั้ง 24 ตะกร้า:   -7.8%

จำนวนตะกร้าที่ราคาลดลงมากกว่า 15%:     5 ตะกร้า

 

จำนวนตะกร้าที่ราคาลดลงน้อยกว่า5%:     13 ตะกร้า

 

 

ตารางที่ 2การเปลี่ยนแปลงราคาค่าบริการรายเดือนของ TRUEต่อประเภท (ร้อยละ)

 

ปริมาณการใช้ข้อมูลต่อเดือน

 

100MB

500MB

1000MB

2000MB

ปริมาณการโทรต่อเดือน

60 นาที

99.3

-53.9

-38.5

-33.4

200 นาที

40.7

-53.9

-38.5

-33.4

400 นาที

18.7

-34.4

-22.4

-8.3

600 นาที

12.1

-22.0

-12.2

0.0

1000 นาที

7.1

-14.8

-8.2

0.0

2295 นาที

3.1

-7.2

-4.0

0.0

ราคาเปลี่ยนแปลงเฉลี่ยทั้ง 24 ตะกร้า:   -8.5%

จำนวนตะกร้าที่ราคาลดลงมากกว่า 15%:     9 ตะกร้า

 

จำนวนตะกร้าที่ราคาลดลงน้อยกว่า5%:     11 ตะกร้า

 

 

ตารางที่ 3การเปลี่ยนแปลงราคาค่าบริการรายเดือนของ DTACต่อประเภทการใช้งาน (ร้อยละ)

ตะกร้า OECD

ปริมาณการใช้ข้อมูลต่อเดือน

ตะกร้าเพิ่มเติม

100MB

500MB

1000MB

2000MB

ปริมาณการโทรต่อเดือน

60 นาที

-25.1

-57.2

-42.9

-16.7

200 นาที

0.0

-42.9

-42.9

-16.7

400 นาที

-10.7

-19.4

-19.4

-16.7

600 นาที

-12.8

-12.8

-12.8

-2.6

1000 นาที

-14.8

-14.8

-14.8

-7.4

2295 นาที

-6.1

-6.1

-6.1

-3.0

ราคาเปลี่ยนแปลงเฉลี่ยทั้ง 24 ตะกร้า:   -17.7%

จำนวนตะกร้าที่ราคาลดลงมากกว่า 15%:     10 ตะกร้า

 

จำนวนตะกร้าที่ราคาลดลงน้อยกว่า5%:     2 ตะกร้า

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net