ปมสวนปาล์มสุราษฎร์ฯ 1,486 ไร่ นายทุน-ชาวบ้าน ใครบุกรุกใคร?

ชาวบ้านชุมชนสันติพัฒนา ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐต่อศาลปกครอง เหตุไม่เร่งเพิกถอน น.ส.3 บริษัทเอกชนในเขตป่า จากกรณีพิพาทที่ดินสวนปาล์ม 1,486 ไร่ ทำชาวบ้านถูกฟ้องทั้งแพ่ง-อาญา ต้องชดใช้ค่าเสียหายรวมถึง 15 ล้าน กับคำถาม ‘นายทุนรุกที่ป่า’ หรือ ‘ชาวบ้านรุกที่นายทุน’

 
จากความเคลื่อนไหวครั้งล่าสุด กรณีพิพาทที่ดินสวนปาล์มสุราษฎร์ฯ 1,486 ไร่ ชาวบ้านชุมชนสันติพัฒนา ต.บางสวรรค์ อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี นำเอกสารหลักฐาน เข้ายื่นฟ้องหน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐ 4 หน่วยงาน คือ กรมที่ดิน อธิบดีกรมที่ดิน คณะกรรมการสอบสวนตามความใน ม.61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และกรมป่าไม้ ต่อศาลปกครอง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม เป็นคดีหมายเลขดำ 1373/2556 เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.56
 
คำฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินและคณะกรรมการสอบสวนฯ ที่มีคำสั่งไม่เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) 10 แปลง และโฉนดที่ดินจำนวน 13 ฉบับ ตาม ม.61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินออกให้บริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) ในพื้นที่ป่าไม้ถาวรหมายเลข 92 แปลงที่ 29 และป่าสงวนแห่งชาติป่าย่านยาว ป่าเขาวง และป่ากระซุม ในเขต อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี 
 
อีกทั้งขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับให้กรมป่าไม้ปฏิบัติการและใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด เพื่อดำเนินการให้บริษัทคู่กรณีดังกล่าวออกจากเขตป่าไม้ถาวรและป่าสงวนแห่งชาติ
 
000
 

 
สุรพล สงฆ์รักษ์ ตัวแทนสหพันธ์เกษตรภาคใต้ (สกต.) กล่าวว่า ที่ชาวบ้านชุมชนสันติพัฒนาต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ทางคดีในครั้งนี้ เนื่องจากประสบความเดือดร้อนจากการที่เอกสารสิทธิ์ดังกล่าวถูกบริษัทสหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มฯ นำมาฟ้องร้องนำเนินคดีกับชาวบ้านทั้งทางอาญาและทางแพ่ง โดยอ้างความเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดิน 1,486 ไร่ ซึ่งมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3ก 330 ไร่ ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการออกเอกสารสิทธิ
 
นำไปสู่การตัดสินลงโทษจำคุกชาวบ้าน และให้ชดใช้ค่าเสียหายรวมกว่า 15 ล้านบาท รวมทั้งขับไล่ให้ออกจากพื้นที่ ทั้งที่ชาวบ้านยืนยันว่าได้เข้าไปอยู่อาศัยในที่ ส.ป.ก.ที่มีการยึดคืนจากบริษัทฯ แล้ว
 
อีกทั้ง ยังมีคำถามว่าเอกสารสิทธิ์ดังกล่าวออกโดยชอบหรือไม่ โดยศาลให้ความเห็นไว้ว่า เอกสารสิทธิ์ที่ดินแม้จะออกในพื้นที่ป่าไม้ถาวรและป่าสงวนแห่งชาติ แต่เมื่อยังไม่มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์และเป็นชื่อของบริษัทฯ อยู่ ถือว่าบริษัทฯ เป็นเจ้าของที่ดิน
 
“บุกรุกก่อนมีสิทธิ์ก่อน เพราะกฎหมายนั้นรับร้องสิทธิของผู้มาก่อน ส่วนผู้มาทีหลังต้องยอมรับสิทธิของผู้ที่มาคนแรก” สรไกร ศรศรี ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากชาวบ้านชุมชนสันติพัฒนาในการฟ้องคดีปกครอง กล่าวถึงสภาพปัญหาที่ชาวบ้านต้องผจญอยู่ในขณะนี้
 
ขณะที่ ศิริวรรณ เลิศว่องเกียรติไพศาล คณะทำงานในคดีปกครองชี้ว่า การที่รัฐในฐานะเจ้าของที่ดินเพิกเฉย ไม่เข้าไปดำเนินการตามกฎหมาย และจัดการให้เกิดความเป็นทำตั้งแต่ต้น นั่นคือเงื่อนปมปัญหา
 
000
 
กรณีปัญหาการกระจายการถือครองที่ดินในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ไม่แตกต่างกับในหลายพื้นที่ของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายนำพื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติมาให้เช่าระยะยาวหลายสิบปี และเช่าในราคาถูก แต่ชาวบ้านที่ยากจนผู้ไม่มีที่ดินทำกินกลับไม่ได้รับสิทธิในการเช่า ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เช่าที่ดินส่วนใหญ่เป็นนายทุน นักการเมืองและข้าราชการ 
 
จนเมื่อรัฐบาลต่อๆ มาต้องมีนโยบายตรวจสอบการถือครองทำประโยชน์ของบริษัทและนายทุนรายใหญ่ แต่ก็ไม่ได้ส่งผลสะเทือนต่อการจัดการโครงสร้างการกระจายการถือครองที่ดินให้เกิดความเป็นธรรมขึ้น
 
เมื่อปี 2550 ชาวบ้านซึ่งไม่มีที่ดินทำกินในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ได้เรียกร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีให้ดำเนินการตรวจสอบการถือครองและทำประโยชน์ ของบริษัทและนายทุนรายใหญ่ตามมติคณะรัฐมนตรี นำมาสู่คำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานระดับอำเภอตรวจสอบที่ดิน ของบริษัทสหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มฯ ใน อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี โดยการมีสวนร่วมของหน้าที่รัฐ ผู้ปกครองท้องที่ ตัวแทนบริษัท และผู้แทนชาวบ้าน
 
ผลการตรวจสอบของคณะทำงานพบว่า บริษัทฯ ครอบครองและทำประโยชน์ในพื้นที่กว่า 3,392 ไร่ แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.อยู่ในเขตป่าไม้ถาวรหมายเลข 92 แปลง 29 เนื้อที่ 1,210 ไร่ 2.อยู่ในเขต ส.ป.ก.เนื้อที่ 276 ไร่ และ3.อยู่ในเขตออกเอกสารสิทธิ์กรมที่ดิน เนื้อที่ 1,901 ไร่
 
ทั้งนี้ ที่ดินในเขตป่าไม้ถาวรและ ส.ป.ก.รวมแล้วเป็นเนื้อที่กว่า 1,486 ไร่นี้เอง บริษัทฯ ได้อ้างตัวเป็นผู้ครอบครองแล้วนำมาฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้าน และเป็นที่มาของการยื่นฟ้องคดีทางปกครองของชาวบ้านชุมชนสันติพัฒนา
 
 
000
 
จากการพูดกับทีมทนายความ จากสภาทนายความ ในฐานะคณะทำงานในคดีปกครอง แจกแจงข้อมูลของชาวบ้านชุมชนสันติพัฒนาในกรณี พิพาทที่ดินสวนปาล์มสุราษฎร์ฯ 1,486 ไร่ ได้ดังนี้
 
1.คดีอาญา บริษัทฯ ฟ้องชาวบ้านข้อหาร่วมกันบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น ในพื้นที่มี นส.3ก จำนวน 330 ไร่ พร้อมระบุว่าพื้นที่ที่เหลืออยู่ระหว่างการออกเอกสารสิทธิเพิ่ม โดยไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า นส.3ก ดังกล่าวอยู่ตรงไหนในพื้นที่ 1,486 ไร่
 
อย่างไรก็ตาม ศาลอาญาอ้างมีเหตุสงสัยว่าอยู่ในพื้นที่จึงสั่งลงโทษจำเลย ทั้งที่การระบุมีเหตุสงสัยในคดีอาญาปกติต้องยกประโยชน์ให้จำเลย ชาวบ้านจึงถือเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีการถือครองที่ดินโดยมิชอบของบริษัทเอกชน
 
2.ตามความจริงชุมชนสันติพัฒนาตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ 276 ไร่ ในที่ดิน ส.ป.ก.ที่บริษัทฯ อ้างตัวเป็นเจ้าของ โดยเมื่อราวปลายปี 2550 ชาวบ้านที่ขาดแคลนที่ดินทำกินได้เข้าไปก่อตั้งชุมชน เพื่อดำเนินการปฏิรูปที่ดินด้วยตนเอง พร้อมกับเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐดำเนินการจัดสรรที่ดินอย่างเป็นธรรม หลังจากพบว่าบริษัทฯ ถือครองที่ดินของรัฐโดยมิชอบ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไม่มีการดำเนินการใดๆ
 
ขณะนี้พื้นที่ดังกล่าว สปก.จังหวัดสุราษฏร์ธานี มีหนังสือส่งมอบพื้นที่ให้กับชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านอยู่อาศัยทำกินไปก่อน จนกว่าจะมีการดำเนินการจัดสรรอย่างเป็นธรรม ตามหนังสืออ้างถึงสำนักการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ กษ 1204/1977 ลงวันที่ 23 มี.ค.52
 
3.ที่ดิน 1,486 ไร่ ไม่ใช่ที่ดินของบริษัทฯ แต่เป็นที่ดินของรัฐ โดยแบ่งเป็นที่ ส.ป.ก.ประมาณ 276 ไร่เศษ ซึ่งเป็นตั้งชุมชน ส่วนที่เหลือเป็นที่ดินซึ่งอยู่ในเขตป่าไม้ถาวร รวมทั้งที่ดิน น.ส.3ก 330 ไร่ ที่บริษัทฯ อ้างว่ามีเอกสารสิทธิ์ด้วย
 
ยืนยันจากการตรวจสอบของหลายหน่วยงาน อาทิ ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ รวมทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ซึ่งพบว่าเอกสารสิทธิออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
000
 
 
“เอกสารสิทธิ์ถูกใช้อ้างอิงความชอบโดยกฎหมายมาตลอด จึงควรยุติการใช้เอกสารสิทธิ์ที่ไม่ชอบ” สรไกรกล่าวถึงจุดมุ่งหมายที่ต้องการให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ของบริษัทเอกชน
 
นอกเหนือจากการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ นส.3ก ของบริษัทเอกชน เพื่อคืนที่ดินให้สาธารณะนำมาจัดสรรแก่เกษตร หรือดำเนินการบำรุงรักษาต่อไปตามความเหมาะสมแล้ว ทนายความในคดียังคาดหวังด้วยว่า การดำเนินการทางคดีปกครองจะส่งผลต่อคดีอาญาและคดีแพ่งที่บริษัทฯ ฟ้องร้องชาวบ้านอยู่
 
สรไกร กล่าวด้วยว่า หากศาลปกครองรับฟ้อง จะนำคำรับฟ้องไปยื่นต่อศาลในคดีอาญาให้เห็นว่ามีการดำเนินการที่จะเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ และความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างที่ศาลชั้นต้นลงความเห็น
 
ส่วนสุทิน บรมเจต คณะทำงานสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ แสดงความเห็นว่า ประเด็นการออกเอกสารสิทธิ์นั้นค่อนข้างชัดเจนแล้ว แต่ขณะนี้อยู่ที่ว่าศาลจะพิจารณารับคำฟ้องของชาวบ้านหรือไม่ ในช่วงระยะเวลาประมาณ 1 เดือนหลังจากนี้
 
หากศาลปกครองตีความอย่างกว้าง อาศัยสิทธิชุมชน ชาวบ้านในฐานะผู้ได้รับความเสียหายตามกฎหมายมีสิทธิ์ฟ้องได้ แต่หากตีความอย่างแคบว่า การเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยมิชอบในที่ดินรัฐ เป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ ชาวบ้านไม่ใช่ผู้เสียหายก็ไม่สามารถฟ้องคดีได้ อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านสามารถดำเนินการอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้
 
000
 
 
ภาพรวมโดยสรุปของกรณีพิพาทที่ดินสวนปาล์มสุราษฎร์ฯ มีว่า บริษัทเอกชนรายใหญ่บุกรุกที่ป่า และใช้เอกสารสิทธิที่ครอบครองพื้นที่เพียงจำนวนหนึ่งไปใช้อ้างความเป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมด เพื่อทำประโยชน์ เมื่อชาวบ้านเห็นว่าทำได้ก็เข้าไปทำประโยชน์บ้าง จึงถูกบริษัทฟ้องร้องดำเนินคดี
 
‘ถือครองก่อนมีสิทธิก่อน’ คือข้ออ้างของบริษัทเอกชน ขณะที่ชาวบ้านก็อ้างว่า ‘การถือครองของบริษัทเอกชนไม่ชอบด้วยกฎหมาย’ กลายเป็นความขัดแย้งที่ลุกลามบานปลายเป็นความรุนแรงในพื้นที่
 
อย่างไรก็ตามในการต่อสู้ทางคดีนั้น ชาวบ้านมักตกอยู่ในภาวะคู่ชกที่เสียเปรียบเต็มประตู
 
ศิริวรรณ กล่าวว่า การหาความเป็นธรรมโดยใช้กระบวนการยุติธรรมต้องใช้เวลามาก และชาวบ้านก็มักเข้าไม่ถึงกระบวนการนี้ ทั้งหน่วยงานที่จะมาให้ความช่วยเหลือและทนายความที่มีความเข้าใจคดีก็หาได้ยาก ดังนั้นจึงหวังว่าในคดีนี้ชาวบ้านจะได้รับความเป็นธรรมจากศาล โดยเริ่มต้นจากการรับพิจารณาคดี
 
“บริษัทหนึ่งครอบครองที่ดินกว่า 4 หมื่นไร่ ขณะที่ชาวบ้านชุมชนสันติพัฒนามีเจตนาให้รัฐจัดสรรที่ดินทำกินครอบครัวละ 11 ไร่เท่านั้น แต่ก็ยังไม่ได้” บุญฤทธิ์ ภิรมย์ ชาวบ้านชุมชนสันติพัฒนา หนึ่งในผู้ฟ้องคดีกล่าวถึงความไม่เป็นธรรมที่เขาได้สัมผัส
 
 
 
รายละเอียดและความคืบหน้าคดี
 
1.คดีอาญาดำ 1912, 2131/2552 แดง 3738, 3739/2554 (รวมการพิจารณา 2 คดี)
ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดสุราษฎร์ธานี โจทก์
บริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) โจทก์ร่วม
นายมนัส กลับชัย กับพวกรวม 9 คน จำเลย
ข้อหา ร่วมกันบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น
 
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าจำเลยทั้งเก้ามีความผิดฐานร่วมกันบุกรุกจำคุก 1 ปี 6 เดือน คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา
 
2.คดีแพ่งดำ 1243/2551 แดง 138/2555
ระหว่าง บริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด โจทก์
นางอรพิน วัชรเฉลิม กับพวกรวม 3 คน จำเลย
ข้อหา ละเมิด ขับไล่ เรียกค่าเสียหาย 5 ล้านบาท
 
ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสามรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดิน 110 ไร่ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะออกไปจากที่พิพาท และชำระค่าเสียหายเดือนละ 15,000 บาท จนกว่าจะออกไปจากที่ดินพิพาท และชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความ 30,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมเฉพาะทุนทรัพย์ที่ชนะคดี คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา
 
3.คดีแพ่งดำ 230/2552 แดง 953/2554
ระหว่าง บริษัท สหอุตสาหกรรน้ำมันปาล์ม จำกัด โจทก์
นายมนัส กลับชัย กับพวกรวม 12 คน จำเลย
ข้อหา ละเมิด ขับไล่ เรียกค่าเสียหาย 10 ล้านบาท
 
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ 1, 3, 5-9, 11, 12 รื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดิน 110 ไร่ และชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำนวน 1,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนว่าจะชำระเสร็จ และชำระค่าเสียหายเดือนละ 50,000 บาทจนกว่าจะขนย้ายฯ
 
คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษาทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลย ในส่วนของจำเลยขอยกเว้นค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ศาลมีคำสั่งอนุญาต และขอทุเลาการบังคับคดี ศาลยังไม่มีคำสั่งต้องรอให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้สั่งเกี่ยวกับการทุเลาการบังคับคดี
 
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.55 โจทก์ได้ดำเนินการบังคับคดีโดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปปิดประกาศเพื่อจะดำเนินการรื้อถอนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เริ่มดำเนินการรื้อถอน 29 มิ.ย.55
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.55 ตัวแทนชาวบ้านชุมชนสันติพัฒนาได้เข้าประชุมร่วมกับ นายสถิตย์พงษ์ สุดชูเกียรติ รองเลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการสำนักปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมถึงกรณีดังกล่าว ซึ่งทาง สปก.ยืนยันบังคับคดีไม่มีสิทธิ์เข้าไปรื้อถอนชุมชนเพราะเป็นพื้นที่ สปก.และสปก.ได้ส่งมอบพื้นที่ไปแล้ว และมีการทำหนังสือแจ้งไปทางบังคับคดีระงับการรื้อถอน
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท