“อรหันต์(น.)” การตีความใหม่ในยุคเครื่องบินเจ็ต

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เกริ่นนำ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2542) ให้คำจำกัดความคำนาม “อรหันต์” หมายถึง ชื่อพระอริยบุคคลชั้นสูงสุดใน 4 ชั้น และคำว่า “อริยบุคคล” อันเป็นศัพท์เฉพาะนั้น ยังหมายถึง บุคคลผู้บรรลุธรรมวิเศษ [1] เช่นนี้เราจะได้ว่า “อรหันต์เป็นบุคคลผู้บรรลุธรรมวิเศษขั้นสูงสุด” ทว่าคำจำกัดความนี้กลับไม่ได้บอกอะไรแก่เรา นอกจากชนชั้นหรือระดับขั้น ฉะนั้น พระไตรปิฎกอันเป็นต้นเรื่องอาจให้คำตอบได้มากกว่า ในมาคัณฑิยสูตร กล่าวถึง “ความเป็นอรหันต์” ไว้ว่า “ท่านเป็นผู้ไม่กลับมาเกิดอีก ถึงที่สุดของการบำเพ็ญเพียรแล้ว จบภารกิจที่ต้องทำแล้ว และไม่มีภารกิจใดต้องทำต่อไปอีก” [2] กระนั้น มาคัณฑิยสูตรก็ไม่ได้ให้อะไรมากนัก นอกจากความเชื่อที่ว่าเมื่อเป็นอรหันต์แล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง? ดังนั้น การย้อนกลับไปพิจารณาเกณฑ์สำคัญ น่าจะช่วยเราได้ดีที่สุด “สังโยชน์ 10” เป็นเกณฑ์หนึ่งที่จะช่วยจัดจำแนกเรื่อง “ภาวะอรหันต์” ได้ เนื่องจากมีคำจำกัดความเป็นคู่ตรงข้ามกับภาวะอรหันต์ กล่าวคือ “ภาวะอรหันต์” เป็นที่เข้าใจกันดีว่า หมายถึง การพ้นจากเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย แต่ “สังโยชน์ 10” หมายถึง กิเลสอันผูกใจสัตว์ เป็นธรรม (สิ่ง) ที่มัดสัตว์ไว้กับวัฏฏทุกข์ [3] ดังนั้น จึงเป็นคู่ตรงข้ามกัน และ ทางเดียวที่จะบรรลุธรรมวิเศษขั้นสูงสุดได้ในที่นี้ คือ “ตัดกิเลสเครื่องผูกทั้งหมด” [4] ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญการตัดเสียซึ่งเครื่องผูกสัตว์นี้เป็นพิเศษ [5]

สำหรับประเทศไทยมีการใช้คำว่า “อรหันต์” เพิ่มสูงขึ้นผ่านกระบวนการผลิตซ้ำเพื่อจุดประสงค์อะไรบางอย่างและเป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า นักบวชหลายรูปในพุทธศาสนาถูกลูกศิษย์ยกย่องให้เป็นพระอรหันต์  บ้างก็ยกย่องอย่างเป็นทางการผ่านหนังสือในลักษณะชีวประวัติ บ้างก็ยกย่องอย่างไม่เป็นทางการด้วยความเลื่อมใสศรัทธา ปัญหาคือลูกศิษย์ทั้งหลายใช้เกณฑ์ใดในการตรวจสอบว่า พระอาจารย์ที่เคารพนับถือนั้น บรรลุธรรมวิเศษขั้นสูงสุดเป็นถึงพระอรหันต์? น่าสังเกตว่า พระอริยบุคคลระดับสกิทาคามี กลับไม่เป็นที่กล่าวถึงแต่ประการใด และพระสูตรชื่อ ฉวิโสธนสูตร [6] ซึ่งเป็นคำแนะนำจากพระพุทธเจ้าในการตรวจสอบภิกษุผู้พยากรณ์ว่าตนบรรลุอรหัตผลกลับไม่เป็นที่กล่าวถึงด้วย กลายเป็นว่า “อรหันต์” ไม่สามารถตรวจสอบได้ ด้วยเหตุผลยอดนิยมจากบทสวดทำวัตรที่ว่า “พึงรู้ได้เฉพาะตน” [7] กระนั้นหรือ? ทั้งที่จริง หลักการของหนังสือชื่อพระไตรปิฎก ก็มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบนี้อยู่
 

เนื้อหา

ปัญหาการยกตนขึ้น “ตำแหน่งอรหันต์” อันเป็นตำแหน่งสูงสุด ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงยืมคำนี้มาจากระบบราชการในยุคนั้น [8] เป็นเรื่องที่มีแนวทางในการแก้ปัญหาไว้นานแล้ว ในชั้นแรก พระพุทธเจ้าเสนอว่า ไม่ควรทั้งยอมรับและคัดค้าน (ท่าทีอนุรักษ์สัจจะ) แต่ให้เลือกเฟ้นถามคำถามสำคัญเพื่อตรวจสอบภาวะความเป็นอรหันต์ของผู้อ้าง และคำถามแรกที่ต้องถาม นั่นคือ “รู้ได้อย่างไร?” [9] และจบด้วยคำถามที่ว่า ท่านกำจัดอนุสัย ซึ่งหมายถึง กิเลสที่ไม่แสดงตัวออกมาได้อย่างไร? มีญาณ (ปัญญา) อะไรไปกำจัดกิเลสอันบางเบาเหล่านั้นจนถึงที่สุด? ทั้งหมดนี้ต้องแสดงให้สังฆะ (กลุ่ม) เห็นเพื่อให้สังฆะอนุโมทนาว่าท่านผู้นี้พ้นอนุสัย 7 แล้วจริง [10] กล่าวคือ พ้นจากความติดใจอยากได้สิ่งบำเรอประสาทสัมผัสแม้เพียงเล็กน้อยแล้วจริง 1 (กามราคานุสัย)  พ้นจากความคิดขัดเคืองหงุดหงิดรำคาญแม้เพียงเล็กน้อยแล้วจริง 1 (ปฏิฆานุสัย) พ้นจากความลังเลสงสัยในธรรมที่เกี่ยวข้องกับการบำเพ็ญเพียรแม้เพียงเล็กน้อยแล้วจริง 1 (ทิฏฐานุสัย) พ้นจากความถือตัวถือตนว่านี่เรานี่เขาสำคัญตัวผิดแม้เพียงเล็กน้อยแล้วจริง 1 (มานานุสัย) พ้นจากความติดในภาวะและการเกิดภาวะต่างๆ แม้เพียงเล็กน้อยแล้วจริง 1 (ภวราคานุสัย) และพ้นจากความไม่รู้ธรรมชาติตามความเป็นจริงแม้เพียงเล็กน้อยแล้วจริง 1 (อวิชชานุสัย) ฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ถ้าสังฆะจะพึงรับรอง หรือที่เรียกว่า พึงอนุโมทนากับ “ความเป็นอรหันต์” นี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เริ่มตั้งแต่ภูมิรู้ทางธรรมของสังฆะนั้นทีเดียว ดังนั้น ไม่ใช่ว่าปุถุชนคนธรรมดาจะเที่ยวแต่งตั้ง “ความเป็นอรหันต์” ให้ใครต่อใครได้ เพราะ “ความเป็นอรหันต์” ไม่ใช่ตำแหน่ง แต่เป็นชื่อที่ใช้บ่งบอกปลายทางของการบำเพ็ญตนเท่านั้น และถ้านักบวชในสำนักของพระพุทธเจ้ากระทำการ “อวด” (อุตริ) เสียเอง กล่าวคือ อวดอ้างว่าได้บรรลุธรรมวิเศษทั้งที่เมื่อสังฆะพิสูจน์แล้วกลับเห็นว่าเป็นเท็จ แม้เมื่อครูอาจารย์ในสังฆะอื่นด้วยพิสูจน์แล้วกลับเห็นว่าเป็นเท็จ เมื่อตรวจสอบดูในพระไตรปิฎกนั้นก็ยังมีข้อขัดแย้งที่แก้ต่างไม่ขึ้น ว่ากันตามพระวินัยแล้วให้ถือว่า โมฆบุรุษผู้อุตรินั้นขาดจากการเป็นภิกษุในสังฆะแล้ว คือ ควรลาสิกขาบทไปเสีย เพราะเป็นอลัชชี (ผู้ไร้ยางอาย)

               

อีกประการหนึ่ง “ความเป็นอรหันต์” ไม่จำเป็นต้องมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริ์ยตามโลกทัศน์ของปุถุชนคนธรรมดาแต่ประการใด และ “ความเป็นอรหันต์” ก็มิได้ผูกกับโลกทัศน์แบบ “อภิมนุษย์” ด้วย จริงอยู่เรื่องเล่าเกี่ยวกับอิทธิฤทธิ์ของพระอรหันต์ที่นิยมนำมาสวดหรือท่องบ่น เช่น บทถวายพรพระ (พาหุงมหากาฯ) จะอ้างถึงความมีอิทธิฤทธิ์ของพระอรหันตสาวกองค์สำคัญ [11] แต่หลักการในพุทธศาสนากลับให้การยอมรับว่า “บุคคลผู้บรรลุธรรมวิเศษขั้นสูงสุด” ไม่จำเป็นต้องมีอิทธิฤทธิ์ ขอเพียงหลุดพ้นจากสังโยชน์เครื่องร้อยรัดได้เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นและเพียงพอแล้ว ฉะนั้น “อภิมนุษย์” ที่มีอิทธิฤทธิ์ทั้งหลาย อาจหมายถึง ใครก็ตามที่มีอำนาจจิตแก่กล้าเพราะจิตไปบริกรรมบางอย่างเท่านั้นเอง ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับภาวะอรหันต์ตามตัวบทในคัมภีร์ แม้กระทั่งในเรื่องอิทธิฤทธิ์ฝ่ายยมกปาฏิหาริย์ด้วย การกล่าวตู่ว่าอาจารย์ของตนเป็นพระอรหันต์ ก็ไม่ใช่ท่าทีที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญแล้ว เฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเกี่ยวกับการแสดงอิทธิฤทธิ์ พระพุทธเจ้าถึงกับทรงตำหนิว่า “ผู้แสดงอิทธิฤทธิ์เพื่อแลกกับสิ่งของมีค่าก็ไม่ต่างจากหญิงที่เปิดเผยอวัยวะสงวนเพียงเพื่อแลกกับเงินทอง” [12] นี่จึงเป็นจุดยืนที่หนักแน่นของพระพุทธเจ้าผู้เป็นครูของผู้บำเพ็ญธรรม
               

ยิ่งไปกว่านั้น พระไตรปิฎกซึ่งเป็นเพียงหนังสือเล่มหนึ่งที่รวบรวมแนวทางและเรื่องเล่าต่างๆที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าและสาวก กลับไม่ค่อยถูกอ่าน ทั้งที่ เนื้อเรื่องส่วนหนึ่งเป็นนิทานคุณธรรมที่สอนให้ปุถุชนรู้จักงดเว้นการเบียดเบียนกันในขั้นพื้นฐาน มีเฉพาะบางส่วนเท่านั้นที่เป็นการอรรถาธิบายธรรมที่ลึกซึ้ง ดังที่รู้จักกัน เช่น ปฏิจจสมุปบาท 12 ฉะนั้น การตีความคำว่า “อรหันต์(น.)” ในยุคสมัยนี้ ก็เป็นเหตุเนื่องมาจากความเพิกเฉยที่จะอ่านศึกษาพระไตรปิฎก จึงทำให้เกิดชุดคำอธิบายใหม่ที่น่าสงสัยว่าแปลกหรือคลาดเคลื่อนจากตัวบทมากจนผิดสังเกต เนื่องจาก เป็นการหยิบเอาคำนามมาใช้ใหม่ เพื่อแต่งตั้งสถาปนา “ใครคนหนึ่ง” ให้เป็น “อภิมนุษย์” โดยไม่จำเป็นต้องตรวจสอบอย่างกว้างขวางว่าตรงกับกฎเกณฑ์ที่พระพุทธเจ้าในฐานะพระศาสดาให้ไว้หรือไม่?  และเมื่อสถาปนาคำว่า “อรหันต์” ในลักษณะแต่งตั้งเช่นนี้แล้ว ก็มักจะลงมือผลิตซ้ำให้มากพอ จนท้ายที่สุด “สิ่งที่ยังไม่ได้รับพิสูจน์” ก็กลับเป็นความจริงขึ้นมาได้ กลายเป็นว่า “โลกนี้มีพระอรหันต์เกิดขึ้น” ทั้งที่ในความเป็นจริงยังไม่มีการตรวจสอบแต่ประการใด นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างน่าตกใจในกึ่งพุทธกาลนี้
               

อาจเป็นเพราะ “อรหันต์(น.)” เป็นคำนามที่ทรงอิทธิพลกับคนไทยมากกว่าคำว่า “โสดาบัน” แน่นอน เพราะคนไทยคุ้นหูกับคำๆ นี้มากกว่า ในขณะที่อริยบุคคลระดับอื่นกลับไม่เป็นที่พูดถึงในวงกว้าง เป็นพิเศษสำหรับในยุคพุทธพาณิชย์ “ความเป็นพระอรหันต์” สามารถสร้างเงินทองให้เกิดดอกผลได้อย่างมากมายเป็นกอบเป็นกำ มีหรือที่บรรดาลูกศิษย์ผู้มีความโลภเป็นที่ตั้งจะไม่ปรารถนาเข้าเกาะชายผ้าเหลืองของอาจารย์รวยกันอย่างถ้วนหน้า มาตรการเลี่ยงบาลีทุกรูปแบบจึงถูกนำมาใช้อย่างรอบคอบและรัดกุม กระนั้นก็ดี ภูมิรู้ทางศาสนาในประเทศนี้ยังย่ำแย่หนักถึงกับว่า ไม่จำเป็นต้องเลี่ยงบาลีหรือมีคำอธิบายใดๆก็ได้ ขอเพียงมีการผลิตซ้ำที่มากพอก็พร้อมแล้วที่จะเชื่อและกราบไหว้ ทั้งที่ในความเป็นจริง ท่าทีเช่นนี้ ขัดแย้งโดยตรงกับพุทธพจน์หลายแห่ง เป็นต้น กาลามสูตร 10
               

ธุรกิจชนิดที่หากินกับภาพลักษณ์อันบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้าทำกันอย่างเบ่งบานในยุคนี้ ซึ่งเป็นยุคที่ไม่มีใครกล้าตรวจสอบภาษีหรือรายรับของพระภิกษุสงฆ์ กลายเป็นว่าโครงการต่างๆที่ “พระอรหันต์” (ลูกศิษย์ถวายสมญานาม) จะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่อาจตรวจสอบได้ทั้งสิ้น ใครก็ตามกล้าตั้งคำถามเช่นนี้กับพระภิกษุสงฆ์ผู้มีศีลงดงาม คนผู้นั้นจะกลายเป็นบุคคลผู้ไม่สะอาด เป็นผู้ประทุษร้ายต่อพระพุทธศาสนา ทั้งที่จริงพระพุทธเจ้าประทานพุทธานุญาตให้สรรพสัตว์ทุกชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพุทธบริษัท หรือ เดียรถีย์ (นอกศาสนา) ซักถามได้เสมอ เพราะพระพุทธเจ้าทรงถือว่าทุกอย่างมีเหตุปัจจัย และหลักธรรมสูงสุดที่พระองค์ตรัสรู้นั่นคือ ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ (อริยสัจ) ก็เป็นธรรมที่เนื่องมาจากการตั้งไว้ของธรรมนั้น พระพุทธเจ้ามิได้ถือครองกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของหลักธรรมเหมือนแนวคิดเรื่องทรัพย์สินแต่ประการใด กลับกันพระองค์ทรงแนะนำให้ลูกศิษย์ทุกรูปปล่อยวางการถือครองทรัพย์สินอีกด้วย และเมื่อมีข้อสงสัยสำคัญ พระองค์จะแสดงธรรมเสมอเพื่อให้คลายความสงสัย เพื่อทำให้เป็นประโยชน์ในการฝึกตน เช่นเดียวกันเรื่องใดที่แสดงธรรมแล้วไม่เป็นไปเพื่อคลายความสงสัย ไม่ทำให้เป็นประโยชน์ในการฝึกตน พระองค์ก็จะนิ่งเฉยเสียไม่ทรงตอบ แต่โดยทั่วไป เรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาพลักษณ์ของพระภิกษุในสังฆะ พระพุทธเจ้าทรงเน้นหนักและพัฒนาพระวินัยขึ้นอย่างแข็งแรงในช่วงชีวิตของพระองค์ซึ่งค่อนข้างครบถ้วนครอบคลุม จุดประสงค์ก็เพื่อป้องปรามบรรดาพระภิกษุที่มีจริตผาดแผลง เป็นต้น พระอุทายี พระฉัพพัคคีย์ นั่นเอง
 

สรุป

โดยไม่ต้องสงสัย สมญานาม “อรหันต์” เป็นคำสรรเสริญที่ลูกศิษย์ในยุคนี้ กล้าใช้เรียกอาจารย์ของตนเองโดยพลการ เป็นพฤติกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงการขาดความรู้ความเข้าใจในการฝึกตน เป็นพฤติกรรมที่ทุกสำนักควรสอดส่องและงดเว้น เพราะคุณสมบัติและคำจำกัดความ “อรหันต์” นั้นย่อมตั้งอยู่ แม้จะมีส่วนผิดแปลกแตกย่อยไปในแต่ละนิกาย แต่ความหมายโดยทั่วไปก็เหมือนกัน คือ “เป็นผู้พ้นจากเครื่องผูกมัด” และลำดับของการฝึกปฏิบัติจิตเพื่อให้ลุล่วงไปในแต่ละขั้นตอนสู่อริยบุคคลย่อมตั้งอยู่ แม้จะมีวิธีผิดแปลกแตกย่อยหลากหลายแต่ก็มุ่งหน้าไปในทางเดียวกันคือ “ตัดเครื่องผูกมัด” ซึ่งถ้าแต่ละสำนักปล่อยให้ใครก็ได้เที่ยวพูดไปเช่นนี้ จะเป็นการคะนองมือคะนองเท้าผิดรูปของผู้ปฏิบัติธรรมไป และทุกวันนี้ เมื่อ “อรหันต์” บางรูปกลายเป็นผู้ที่ไม่ชอบอยู่วิเวก และมีสมณกิจมากมายเสียจนน่าสงสัยว่าเอาเวลาใดตั้งมั่นในบำเพ็ญภาวนา ก็ชวนให้ยิ่งสงสัยและน่าตั้งคำถามว่า ที่ว่าเป็นอรหันต์นั้น  “รู้ได้อย่างไร?” และ “มีปัญญาอะไรไปกำจัดกิเลสอันบางเบาเหล่านั้นจนถึงที่สุด?” เพราะลำพังการแสดงบทบาทสมมติที่ยอดเยี่ยมและการโฆษณาที่ทุ่มทุนสร้าง ไม่ช่วยให้ “อรหันต์แต่งตั้ง” กลายเป็น “อรหันต์” แท้จริงได้เลยแม้แต่น้อย ตราบใดที่ผู้ถือตนว่าปฏิบัติธรรมยังแยกแยะไม่ออกระหว่าง “วัฒนธรรมศาสนาพุทธ” กับ “ธรรมะของพุทธะซึ่งเป็นของสากล” แล้ว ย่อมจะมีโมฆบุรุษแอบอ้างความเป็นอรหันต์และอิทธิฤทธิ์ของเดรัจฉานวิชาให้อยู่เหนืออริยสัจ 4 อยู่เสมอ สำคัญที่สุดคือ หากการเป็นอริยบุคคลทรงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ทำได้ง่ายดายราวกับกดน้ำร้อนเพื่อปรุงบะหมี่สำเร็จรูปให้สุกแล้ว หนังสือชื่อพระไตรปิฎกจะมีประโยชน์อะไร? เพราะแค่อ่านเอกสารสรุปหรือไฟล์เสียงธรรมเทศนาจากบรรดาอรหันต์ยุคใหม่ก็เป็นสุดยอดแห่งธรรมแล้วมิใช่หรือ? อาจจะต่างกันเพียงอย่างหลังต้องใช้เงินหรือร่างกายมาแลกเท่านั้นเอง !

 

 

 

อ้างอิง
[1] พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2542 [online]
[2] “ขีณา ชาติ, วุสิตํ พรหฺมจริยํ, กตํ กรณียํ, นาปรํ อิตฺถตฺตาย” (มาคัณฑิยสูตร)
[3]  พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม [online]
[4] ขุ.อิติ. 25/24/15
[5] ที.ปา. 11/116/46
[6] ม.อุ 14/123
[7] “ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญญูหิ – วิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน” (บทสวดสรรเสริญพระธรรมคุณ)
[8] ธนิต อยู่โพธิ์. (2541). อานิสงส์วิปัสสนากัมมัฏฐาน. กรุงเทพฯ : สหธรรมิก
[9] ม.อุ 14/123
[10] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม [online]
[11] บทถวายพรพระเล่าถึงพระโมคคัลลานะอรหันตสาวกผู้เป็นเลิศเรื่องอิทธิฤทธิ์ปราบนันโทปนันทนาคราช
[12] วินย.จุลฺลวคฺค, ทุติย. 7/15-16

           
           
           
           
            

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท