Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

แปลจาก How Today’s NSA Is Much, Much Worse Than Stasi Or Orwell’s “1984”

(http://falkvinge.net/2013/06/19/how-todays-nsa-is-much-much-worse-than-stasi-or-orwells-1984/)

เขียนโดย Rick Falkvinge (ริค ฟอล์ควินจ์)

แปลและเรียบเรียงโดย พล สามนานนท์

 

ยังมีอีกหลายคนที่เตือนพวกเราว่ากำลังเดินละเมอเข้าไปหาสังคมแบบที่มีสตาซี1 หรือสังคมแบบ “1984” อยู่ แต่พวกเขาพลาดอย่างมากอยู่อย่างหนึ่ง: พวกเรามาไกล ไกลกว่าจุดที่มีสตาซีหรือ “1984” ซะอีก เครื่องมือที่รัฐใช้ติดตาม สะกดรอย และบันทึกตัวพลเรือนนั้นเป็นวัตถุแห่งฝันร้าย

ย่อหน้าที่กล่าวถึงฉากและสภาพแวดล้อมในเรื่อง 1984 ยังคงเป็นอะไรที่ทำให้ขนลุกได้อยู่เสมอถึงแม้หนังสือจะเก่าจนหมดการผูกขาดลิขสิทธิ์2 ในออสเตรเลียไปแล้ว:

เบื้องหลังวินสตัน เสียงจากโทรภาพยังคงพร่ำถึงการผลิตเหล็กได้เกินต้องการ ตามแผนสามปีครั้งที่เก้า โทรภาพนี้เป็นทั้งเครื่องรับและส่งพร้อมกันในตัว ไม่ว่าวินสตันจะทำเสียงอะไร เพียงดังกว่าเสียงกระพริบแผ่วที่สุด ก็จะถูกมันดักไว้ได้ทั้งหมด ยิ่งกว่านั้น ตราบใดที่เขายังอยู่ในข่ายความสามารถรับภาพของเจ้ากล่องโลหะนี้ ภาพและเสียงของเขาจะถูกถ่ายทอดโดยไม่มีทางรู้เลยว่ามีใครกำลังจับตาดูอยู่หรือไม่ ในเวลาไหนก็ได้ที่พวกนั้นต้องการ ตำรวจความคิดจะใช้ระบบใดหรือจับตาดูใครสักคนบ่อยแค่ไหนนั้นเป็นเพียงเรื่องของการคาดเดา เป็นที่เข้าใจกันด้วยซ้ำไปว่าพวกเขากำลังเฝ้ามองทุกคนอยู่ทุกขณะ พวกเขาสามารถเสียบปลั๊กเข้ากับสายของคุณได้ทุกเมื่อที่เขาต้องการ คุณจะต้องดำเนินชีวิตโดยมีนิสัยอันแปรมาเป็นสัญชาตญาณว่า มีคนได้ยินเสียงทุกเสียงที่คุณทำขึ้น ความเคลื่อนไหวทุกอย่างของคุณจะถูกจับตามอง ยกเว้นในความมืด3

เรามาไกลเหลือเกิน ไกลเกินจุดนี้แล้ว แทนที่คำว่า “ตำรวจความคิด” ข้างบนแล้วใช้คำกว้างๆอย่างคำว่า “รัฐบาล” และคุณก็จะเรื่องนี้ก็จะเข้ากันเหมาเจาะกับเรื่องราวของเอ็นเอสเอของสหรัฐแบบสตาซี เรื่องของกฎหมายเอ็ฟอาร์เอ4ในสวีเดน หรือเรื่องอื่นในเทือกนี้

เจ้าหน้าที่รัฐอ้างว่า “พวกเราไม่ได้กำลังเฝ้าดูทุกคนอยู่ตลอดเวลา เรามุ่งเป้าไปที่บุคคลต่างๆกัน” ซึ่งสิ่งที่เขียนไว้ข้างต้นนี้ เป็นที่แน่นอนว่า “ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม พวกเขาก็เสียบปลั๊กดักสายของคุณเมื่อไหร่ก็ได้ตามที่เขาต้องการ”

อ้อ ใช่ กล้องน่ะหรือ? รัฐบาลไม่ได้ติดกล้องไว้ในบ้านทุกหลังน่ะ ใช่ไหม? แน่นอนว่าไม่ แต่พวกเราทำ และรัฐบาลได้ใช้สิทธิในการใช้มันของพวกนี้ในการสอดส่องพวกเรา เจาะเข้าคอมพิวเตอร์เราและใช้เว็บแคมของพวกเรา เยอรมันมีชื่อในเรื่องนี้เมื่อหลายปีก่อนหน้านั้นด้วยสิ่งที่เรียกว่า “โทรจันของรัฐ”5 สิ่งที่ต่างกันอยู่อย่างหนึ่งระหว่างฉากดังกล่าวใน 1984 กับทุกวันนี้ ในแง่ของกล้อง ก็คือ เราติดตั้งมันเอง

จนตอนนี้ นอกจากเราอยู่ในระดับของ 1984 หรือสตาซีแล้ว ก็ยังมีหลายอย่างที่แย่กว่านั้น

การเคลื่อนไหวของเรา อย่างการเดินอยู่ในเมืองก็ยังถูกติดตาม สะกดรอย และบันทึก6 – เรียกได้ว่าแทบจะทุกฝีก้าว ทุกๆก้าวที่คุณเดินไป พวกเขาจะจับจ้องคุณ ถ้าคุณเดินออกนอกเส้นทางปกติที่คุณเดินอยู่ประจำ คุณจะถูกบันทึกและถูกจับตามองเอาไว้ ครั้งแรกที่คุณเห็น “แผนที่การเคลื่อนไหว”7 ของคุณเอง และตระหนักได้ว่ามีคนบางคนเก็บข้อมูลนี้ไว้และใช้มันสู้กับคุณ จนทำให้คุณสันหลังวาบ เช่น คุณอยู่ที่ไหนตอน 17 เมษายน 2013 ณ 13.21 น. ตามเวลามาตรฐานของยุโรป? คุณกำลังเคลื่อนไหว ด้วยความเร็วเท่าไหร่? จากที่ไหนไปที่ไหน? มีคนตอบคำถามพวกนี้ได้ แต่คนที่ตอบนั้นกลับไม่ใช่ตัวคุณเอง

สิ่งนี้นำไปสู่ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างโลกสังคมในจินตนาการสยองขวัญแบบดิสโทเปียและความเลวร้ายของสังคมวันนี้ ใครก็ตามที่เคยดูหรืออ่าน 1984 จะนึกออกว่าถ้ารัฐจับไม่ได้ว่าคุณพูดอะไรไว้ในตอนนั้น คุณก็รอดตัวไป คำพูดต่างๆจะหายไปเร็วพอๆกับที่พวกเขาได้พูดหรือฟัง หรือ ไม่ฟัง

ทุกวันนี้มันต่างออกไปใน ในโลกดิสโทเปียพวกนี้ อะไรก็ตามที่คุณพูดออกมาสามารถและจะถูกนำไปใช้สู้กับตัวคุณเองได้ ส่วนทุกวันนี้ ทุกสิ่งที่คุณพูดออกมาสามารถและจะถูกนำไปใช้สู้กับตัวคุณเองได้ ไม่เพียงแค่วันนี้ แต่ในอีกหลายสิบปีข้างหน้าในอนาคตด้วย ทุกอย่างถูกบันทึกไว้หมดแล้ว ทุกๆอย่าง

ถ้าคุณถูกหมายหัวด้วยข้อหาอันโง่เง่าในหนึ่งปีนับจากนี้ อะไรที่คุณพูดไว้เมื่อ 5 นาทีก่อนจะถูกตรวจสอบอย่างละเอียด ว่าคุณพูดอะไรไว้กับใคร ถ้ากฎหมายหรือมาตรฐานของสังคมเปลี่ยนไปจนทำสิ่งที่คุณทำอยู่ตอนนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องสงสัยในอีกราวสิบปีข้างหน้า คุณก็จะถูกเพ่งเล็งว่าเป็นบุคคลต้องสงสัยเมื่อมีคนมาเจอเข้า – เมื่อทุกอย่างถูกบันทึกเอาไว้หมดแล้ว

สตาซีไม่ได้บันทึกว่าคุณอ่านบทความไหนอยู่ในหนังสือพิมพ์ เป็นเวลานานเท่าไหร่ และในลำดับไหน แบบนั้น พร้อมกับทุกความคิดที่คุณได้สำรวจขณะที่นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของบันทึกถาวร แม้คุณจะไม่เคยบอกกล่าวกับมนุษย์คนใดมาก่อน

คุณบอกว่าคุณใช้การเข้ารหัสอย่างนั้นหรือ? มัมเบิ้ล, เรดโฟน, พีจีพี8? มันใช้ได้ผลกับคุณแค่ไหนกันเชียว ทุกๆรูปแบบของการเข้ารหัสย่อมมีอายุการป้องกันของมัน (shell life) อะไรที่เจาะไม่ได้ในวันนี้ คือสิ่งที่เจาะไม่ได้เมื่อราวสิบปีก่อน และเอ็นเอสเอยังเก็บการสื่อสารทุกชิ้นส่วนที่ถูกเข้ารหัสไว้อยู่แล้วด้วย ดังนั้น อะไรที่ก็ตามที่มันถูกเจาะไม่ได้ในวันนี้ ก็ยังอาจจะถูกเจาะได้ในอีกสิบปีข้างหน้า ถ้าคุณยังคงเข้ารหัสสิ่งต่างๆด้วยเจตนาที่จะรักษามันไว้ตลอดกาลล่ะก็ เข้าใจไว้ได้เลยว่าความจริงมันจะไม่เป็นไปเช่นนั้น โอ้ คุณเปลี่ยนกุญแจเข้ารหัสครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่หรือ? เดี๋ยวก่อนนะ คุณเข้ารหัสมันตั้งแต่แรกแล้วใช่ไหม?

เราคงจะคิดว่าพอกุญแจเข้ารหัส (cryptokey) หายแล้วก็ต้องเปลี่ยนกุญแจนั้นก่อนที่จะทำการสื่อสาร เหมือนกุญแจเข้าบ้านหายแล้วก็ต้องเปลี่ยนดอกใหม่ จริงๆแล้วมันแย่กว่านั้น ถ้าเราทำกุญแจหาย พวกเราก็แค่ถอดรหัสข้อมูลทุกอย่างที่เราส่งไปเข้ารหัสนั่นล่ะ – สำหรับบางคนที่ยังเก็บกุญแจเข้ารหัสไว้ก็โชคร้ายหน่อยที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้น

การที่กุญแจบ้านหายไป มันไม่ได้หมายความว่า บ้านของคุณจะถูกงัดเข้าไปเมื่อปีก่อน แต่สิ่งนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับกรณีของกุญแจเข้ารหัสทุกวันนี้

พวกเรานั้นมาไกล ไกลเกินจุดที่มีสตาซี หรือแบบ “1984” แล้ว ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราควรจะหยุดซักหน่อย แล้วสังเกต และฟังสิ่งที่เราได้สร้างขึ้นมาเอง

 

เกี่ยวกับ ริค ฟอล์ควินจ์:
ริคเป็นผู้ก่อตั้งพรรคไพเรต (Pirate Party) พรรคแรกและเป็นผู้เผยแพร่ความคิดทางการเมือง เดินทางไปทั่วยุโรปและทั่วโลกเพื่อคุยและเขียนเกี่ยวกับ ความคิดของนโยบายสารสนเทศที่อ่อนไหว เขามีประวัติเป็นนักลงทุนด้านเทคโนโลยีด้วย

หมายเหตุ:

1 สตาซี หรือ Stasi คือ Ministerium für Staatssicherheit หรือกระทรวงความมั่นคงของรัฐ กอ่ตั้งขึ้นในปี 1950 และยุบกระทรวงนี้ไปในปี 1990 ในยุคที่เยอรมันตะวันออก (สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี) ล่มสลาย ถูกขนานนามว่าเป็นหน่วยข่าวกรองและหน่วยตำรวจลับที่รุนแรงหน่วยงานหนึ่งของโลก

2 1984 ของจอร์จ ออร์เวล ต้นฉบับภาษาอังกฤษสามารถอ่านได้ที่ Project Gutenberg Australia

http://gutenberg.net.au/ebooks01/0100021.txt

3 ยกสำนวนแปลมาจาก บทที่ 1 ย่อหน้าที่ 5 จาก 1984 ฉบับแปลภาษาไทยโดย รัศมี เผ่าเหลืองทอง

4 FRA หรือ Försvarets radioanstalt คือสำนักงานป้องกันคลื่นวิทยุแห่งชาติแห่งสวีเดน (www.fra.se)

เนื้อหาของการออกกฎหมายดังกล่าวสามารถอ่านได้ที่นี่: https://en.wikipedia.org/wiki/FRA_law

5 โทรจันของรัฐ เรียกว่า Bundestrojaner (Federal Trojan) ในเยอรมัน

6 ดูเรื่องการจัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์: https://en.wikipedia.org/wiki/Data_Retention_Directive

7 ดูกรณีนักการเมืองพรรคสีเขียว (Green Party) ชื่อมาลเธอ ชปิทซ์ได้ฟ้องผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งของเยอรมันว่าได้เก็บข้อมูลกิจกรรมหลายอย่างไว้ จนเขาได้รับข้อมูล(อันน่าตกใจ)จำนวน 35,830 บรรทัดของรหัสที่บ่งตำแหน่งทางภูมิศาสตร์และการเคลื่อนไหวของเขาตลอด 6 เดือน

สามารถดูได้ที่นี่: http://www.zeit.de/datenschutz/malte-spitz-data-retention

8 - เรดโฟน (Redphone) พัฒนาโดย Whisper Systems ใช้ในการเช้ารหัสการสื่อสารบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์

- พีจีพี (PGP) หรือ Pretty Good Privacy คือระบบการเข้ารหัสและถอดรหัสข้อมูลที่พัฒนาโดยฟิล ซิมเมอร์แมน (Phil Zimmermann)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net