Skip to main content
sharethis


 

(28 มิ.ย.56) ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์  จัดการเสวนา หัวข้อ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ปรับร่างเพื่อประชาชน? ณ บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด หอประชุมพุทธยาคา ชั้น 22  อาคารอัมรินทร์พลาซ่า โดย นิรันดร์ เยาวภา นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า  หลัง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 มีผลบังคับใช้ ผู้ใช้และผู้อยู่ในแวดวงเห็นทั้งประโยชน์ของการมีกฎหมายเฉพาะเพื่อควบคุมการกระทำความผิดที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ แต่ก็มีปัญหาความไม่ชัดเจนของ พ.ร.บ.นี้ เรื่องนิยามความผิด ซึ่งบางประเด็นขึ้นกับดุลพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่ การปิดเว็บ ยังไม่ชัดว่าจะปิดยังไง ตามกฎหมายบอกให้ใช้คำสั่งศาล แต่บางครั้งไม่มีการใช้ หรือจะปิดถึงเมื่อใด ทำให้มีการยกร่างกฎหมายฉบับใหม่ขึ้น ซึ่งปัจจุบัน ผ่านการรับฟังความเห็นไป 2-3 รอบแล้ว แต่อาจมีปัญหาสื่อสาร ทำให้แม้แต่นักข่าวสายไอทียังบอกว่าไม่ทราบเรื่องประชาพิจารณ์เท่าไหร่ จึงมีการจัดงานขึ้น เพื่อรวบรวมความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง (ดูร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับร่างโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)(สพธอ.)ที่ด้านล่าง)

อนันต์ แก้วร่วมวงศ์ นายกสมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย กล่าวถึงปัญหาจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมฯ ว่า มีปัญหาบ้าง แต่ไม่มากถึงขนาดปฏิบัติตามไม่ได้ โดยมีกรณีที่บอกให้บล็อคก่อนจะมีคำสั่งศาล ก็จัดการให้ แต่ก็ได้ขอให้ส่งคำสั่งศาลตามมา เพราะเข้าใจว่าการขอคำสั่งศาลต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตาม หากสุดท้ายไม่มีคำสั่งศาลตามมา ก็ต้องปลดบล็อคออกเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่หน่วยงานรัฐหน่วยหนึ่งแจ้งมาให้บล็อคเว็บๆ หนึ่ง เพราะกลัวว่าปล่อยไว้จะเกิดความเสียหาย แต่อีกหน่วยงานบอกว่าอย่าบล็อค เพราะต้องการเก็บหลักฐาน เพื่อเตรียมจับกุม 

นายกสมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย กล่าวต่อว่า ส่วนสิ่งที่อยากได้คือ จุดติดต่อประสานงานจุดเดียว (single point of contact) ที่มีอำนาจมากพอ เพราะที่ผ่านมา มีหน่วยงานอื่นนอกเหนือจากกระทรวงไอซีที ติดต่อเข้ามา เช่น กระทรวงวัฒนธรรม กรมทรัพย์สินทางปัญญา ก็ต้องขอให้กลับไปที่กระทรวงไอซีที หรือบางครั้ง หน่วยงานความมั่นคง ก็มาเองโดยตรง ก็ต้องจัดการให้

พันตำรวจเอก ศิริพงษ์ ติมุลา รองผู้บังคับการกองปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กล่าวว่า ทุกฝ่ายยังมีปัญหาเรื่องการรับรู้และความเข้าใจในข้อเท็จจริงและบริบททางดิจิตอลที่ไม่ตรงกัน  ทำให้เกิดการแจ้งความข้อหาหมิ่นประมาท โดยการใช้มาตรา 14(1) ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เรื่องการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ มาใช้แทนข้อหาหมิ่นประมาทปกติ ซึ่งยอมความได้ และมีข้อยกเว้นที่มากกว่า และเมื่อแจ้งความผิดตามมาตรา 14 (1) แล้วก็สามารถให้พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้มาตรา 18 เรียกข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ยึดหรืออายัดคอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจเป็นการละเมิดสิทธิการใช้งานและสิทธิอื่นๆ ต่อไปด้วย 

ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ว่า โดยหลักการนั้นดี แต่ยังมีปัญหาหลายประเด็น ได้แก่ มาตราที่เพิ่มขึ้นใหม่ เรื่องการทำซ้ำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจซ้ำซ้อนของกฎหมายลิขสิทธิ์ที่มีอยู่ การแก้ไขให้ยอมความได้จะเกิดปัญหาตามมา ทุกวันนี้ แม้ยอมความไม่ได้ การจะหาเอกสารคดีจำนวนมากที่เกิดในเฟซบุ๊กยังใช้เวลานาน หากให้ยอมความได้ อายุความจะเหลือเพียงสามเดือน ไม่พอในการหาหลักฐาน นอกจากนี้ อาจทำให้เกิดการขู่ฟ้องเอาเงินเข้ากระเป๋า แบบที่เกิดกับกฎหมายลิขสิทธิ์ได้ รวมถึงการบล็อคเว็บที่เดิมมีการกรองสามชั้น คือ พนักงานเจ้าหน้าที่ รัฐมนตรีไอซีที และศาล แต่ร่างใหม่ ตัดขั้นตอนของการส่งไปให้รัฐมนตรีไอซีทีอนุมัติออก ถามว่า มาตรการกลั่นกรองอยู่ตรงไหน จะกระทบกับสิทธิเสรีภาพหรือไม่

ทั้งนี้ ไพบูลย์ เสนอด้วยว่า ในการทำงานนั้น แต่ละส่วนมีมาตรฐานไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างการขอล็อกไฟล์จากไอเอสพีแต่ละราย จะได้ข้อมูลไม่เหมือนกัน ขึ้นกับการตีความ จึงอยากให้มีหลัก code of conduct เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันและเพื่อให้ภาคประชาชนตรวจสอบได้ นอกจากนี้  ควรมีคณะกรรมการดูแลเรื่องอาชญากรรมคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ พร้อมกับเสนอให้มี lawful interception ซึ่งเป็นการดักข้อมูลตามกฎหมายด้วย 

ภูมิจิต ศิระวงศ์ประเสริฐ ประธานชมรมผู้ประกอบการเว็บโฮสติ้ง กล่าวว่า จุดที่อยากให้แก้ไข คือ การปลดบล็อคเว็บ ที่ผ่านมาบางเว็บเลิกทำไปแล้ว แต่ก็ยังถูกบล็อคอยู่ ตอนนี้รายชื่อเว็บที่ต้องบล็อคนั้นยาวมาก ทำให้ระบบช้า เพราะต้องตรวจก่อน ถามว่าทำไมทุกคนต้องถูกลงโทษด้วย นอกจากนี้ ยังมีมาตรา 15 ซึ่งเอาผิดกับผู้ให้บริการที่เจตนาปล่อยให้เกิดการกระทำความผิด โดยชี้ว่า เมื่อผู้ใช้บริการมาใช้งานนั้น ผู้ให้บริการไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่าสิ่งที่ส่งผิดกฎหมายหรือไม่ จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อดักข้อมูลทั้งหมด เปิดอ่านอีเมลทุกฉบับ ดูไฟล์ทุกไฟล์ ก่อนการส่งต่อ ถามว่าผู้ใช้จะยินยอมหรือไม่

ประธานชมรมผู้ประกอบการเว็บโฮสติ้ง ชี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ความบิดเบี้ยว โดยเมื่อโฮสติ้งรู้สึกว่าอาจเกิดปัญหาหรือหมิ่นเหม่ ก็จะบอกปัดให้ผู้ใช้บริการไปใช้บริการต่างประเทศ หรือไปใช้เฟซบุ๊ก ผลก็คือ สิ่งที่ภาครัฐอยากแตะก็แตะไม่ถึง โฮสติ้งในเมืองไทยจะใสสะอาด แต่ของไม่ดีไม่หายไป เพียงแต่ไม่อยู่เมืองไทยเท่านั้นเอง

ภูมิจิต เสนอทางแก้ว่า ควรเอาเรื่องเทคนิคและเนื้อหาออกจากกัน เพราะเทคนิคเป็นเรื่องที่ตัดสินได้ชัดเจนกว่า แต่หากเป็นเรื่องเนื้อหา คนทำโฮสติ้ง ทำเว็บ ไม่มีทางรู้ว่าข้อมูลไหนจริงไม่จริง นอกจากนี้ บริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจะทำให้เนื้อหาเปลี่ยนแปลงตาม จึงไม่ควรเอาเรื่องอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ มาเกี่ยวกับเรื่องเนื้อหา

นอกจากนี้ ภูมิจิต แนะด้วยว่า ร่างฉบับใหม่นี้ควรจะต้องทำเช่นเดียวกับที่ศาลปกครองทำกับโครงการการจัดการน้ำ นั่นคือ ให้มีการทำประชาพิจารณ์ทั่วประเทศ เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับทุกคน  

ด้าน อภิศิลป์ ตรุงกานนท์ ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ธุรกิจออนไลน์  กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับใหม่ มีความชัดเจนมากขึ้นว่า เป็นเรื่องของอาชญากรรมคอมพิวเตอร์  โดยที่ผ่านมา เคยมีเด็กแจ้งความเพื่อน ซึ่งขโมยไอเท็มในเกมออนไลน์ ด้วยมาตรา 9 ที่ว่า ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การจะบังคับใช้กฎหมายจึงต้องคิดให้รอบคอบ

อภิศิลป์ กล่าวว่า นอกจากนี้ มาตรการแจ้งเตือนและเอาออก (notice and take down) ที่เพิ่มเข้ามา ซึ่งกำหนดผู้ให้บริการดำเนินการแก้ไข หรือระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ภายในเวลาอันเหมาะสม นับแต่วันที่รู้หรือได้รับแจ้งหรือในระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดนั้น มีข้อดีคือ ง่ายต่อการจัดการของผู้ให้บริการ เพราะไม่ต้องตัดสินใจเอง แต่ก็มีข้อเสีย เนื่องจากข้อมูลตามมาตรานี้เป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งยังมีความไม่ชัดเจนว่าจะตีความอย่างไร ถามว่า หากมีคนโพสต์ข้อมูลเรื่องความเสียหายจากนโยบายภาครัฐ จะเป็นความมั่นคงหรือไม่

 

 

ร่าง พ.ร.บ.คอมฯ 3 เม.ย.56

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net