ปัญหาจากการล่มสลายของโครงการรับจำนำข้าว

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ไม่มีใครคาดคิดว่ารัฐบาลจะกล้าตัดสินใจลดราคาจำนำข้าวและจำกัดวงเงินรับจำนำ อย่างกระทันหัน (ซึ่งเท่ากับเป็นการยกเลิกนโยบายการจำนำข้าวทุกเม็ดโดยปริยาย) เพราะตลอดเวลารัฐบาลมักจะอ้างเสมอว่าโครงการนี้เป็นนโยบายที่ดี สามารถเพิ่มรายได้ให้ชาวนา ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และรัฐบาลสามารถขายข้าวให้รัฐบาลต่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก

สาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐบาลต้องลดราคาจำนำข้าว น่าจะเกิดจากรายงานของมูดดี้ส์ที่แสดงความกังวลต่อการขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าวกว่า 2 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มว่ารัฐบาลต้องใช้เงินเพิ่มเติมอีกจำนวนมากในการรับจำนำ ทำให้รัฐบาลอาจไม่สามารถบรรลุเป้าหมายงบประมาณสมดุลในปี 2560 และอาจส่งผลกระทบต่อการลดเครดิตของประเทศไทย การตัดสินใจครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลเพื่อไทยยอมรับฟังคำเตือนของฝรั่งหัวแดง ต่างจากในสมัยรัฐบาลทักษิณที่เคยแสดงความไม่พอใจว่า “ยูเอ็นไม่ใช่ พ่อ”

ยิ่งกว่านั้นการที่รัฐบาลยอมผิดสัญญาตามที่เคยหาเสียงไว้กับชาวนา ก็แสดงว่ารัฐบาลยอมรับว่าการจำนำข้าวมีปัญหาการคลังอย่างรุนแรง นี่คือ บทเรียนสำคัญว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไปประชาชนต้องใช้สติในการพิจารณาว่า “นโยบาย” ที่พรรคการเมืองต่างๆ นำเสนอนั้นจะมีผลเสียหายอย่างไร ไม่ใช่มองแต่ประโยชน์ที่ตนจะได้เพียงอย่างเดียว พรรคการเมืองเองก็ควรมีความรับผิดชอบที่จะต้องวิเคราะห์ผลดีผลเสียของนโยบายต่างๆก่อนที่นำนโยบายออกมาเสนอขายต่อประชาชน ผู้บริหารพรรคการเมืองต่างก็เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ และมีนักวิชาการที่มีความรู้สูง สังคมไทยคงไม่ต้องออกกฎกติกาบังคับเรื่องนโยบายหาเสียง หรือให้องค์กรอิสระมาตามตรวจสอบนโยบายหาเสียง นักการเมืองต่างคนต่างก็โตเป็นผู้ใหญ่แล้วไม่ใช่เด็กๆ

การตัดสินใจลดราคาจำนำลงอย่างรวดเร็วดูเหมือนจะเน้นเฉพาะการเฉือนรายได้ชาวนาเพื่อแก้ปัญหาการขาดทุนจากราคาจำนำที่สูงลิบลิ่วเท่านั้น แต่ภาวะขาดทุนในโครงการจำนำข้าวมิได้เกิดจากราคาจำนำเพียงอย่างเดียว การขาดทุนยังเกิดจากการอุดหนุนผู้บริโภค ค่าใช้จ่ายของโครงการ ตลอดจนการขาดทุนที่เกิดจากการระบายข้าวไม่โปร่งใสและการทุจริตในโครงการ นอกจากนั้นการยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวอย่างกระทันหันอาจส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกลดลงอย่างฮวบฮาบ ทำให้ชาวนาที่อยู่นอกโครงการจำนำอาจประสบภาวะขาดทุนจากการขายข้าว คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติต้องนำประเด็นเหล่านี้มาพิจารณาโดยเร่งด่วน

1. การลดภาระขาดทุนจากการจำนำข้าว

ประเด็นแรก ถ้ารัฐบาลต้องการลดภาระการขาดทุนจากโครงการจำนำข้าว รัฐบาลควรต้องลดการขาดทุนจากการระบายข้าวและการอุดหนุนผู้บริโภคด้วย

การขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าว นอกจากจะเกิดจากการตั้งราคารับจำนำข้าวเปลือกที่ 15,000 บาทต่อตัน (โดยชาวนาไม่ได้เป็นฝ่ายเรียกร้องแต่แรก) การขาดทุนอีกส่วนหนึ่งยังเกิดจากการระบายข้าวในราคาต่ำกว่าราคาตลาด และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ แต่รัฐบาลไม่เคยยอมแถลงตัวเลขราคาข้าวที่รัฐบาลขายได้และปริมาณข้าวที่ขาย

โชคดีที่ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติเมื่อ 18 มิถุนายน 2556 นายวราเทพ รัตนากร ได้รายงานตัวเลขรายรับรายจ่ายของการจำนำข้าว 3 ฤดู (ตั้งแต่ตุลาคม 2554 ถึง 31 มกราคม 2556) ทำให้ผมสามารถคำนวณหาปริมาณการระบายข้าว ปริมาณสต๊อคที่เหลืออยู่ และที่สำคัญ คือ ราคาข้าวที่รัฐขาย (ตามตัวเลขของกรมการค้าต่างประเทศ) (ดูภาคผนวก)

จากการคำนวณดังกล่าว พบว่า รัฐบาลระบายข้าวจำนวน 4.99 ล้านตัน ในราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 10.21 บาท ขณะที่ต้นทุนของข้าวสารในโครงการสูงถึง กก.ละ 33.62 บาท แปลว่ารัฐบาลขาดทุนกก.ละ 23.41 บาท การขาดทุนนี้ประกอบด้วยการขาดทุนจากการตั้งราคาจำนำสูงกว่าราคาตลาดกิโลกรัมละ 14.52 บาท ขาดทุนจากต้นทุนดำเนินการ[1] (เช่น ค่าจ้าง โรงสี ค่าเช่าโกดัง ฯลฯ) 0.74 บาทต่อกก. และที่เหลือคือขาดทุนจากการระบายข้าวในราคาต่ำกว่าราคาตลาดอีก 8.15 บาท/กก. (รูปที่ 1)

การขาดทุนจากการระบายข้าว ยังสามารถแยกได้ 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นการขาดทุนจากนโยบายข้าวสารราคาถูก ซึ่งเป็นการอุดหนุนผู้บริโภคกิโลกรัมละ 0.45 บาทและขาดทุนจากการขายข้าวให้พ่อค้าบางรายในราคาต่ำกว่าราคาตลาด

รัฐบาลเพื่อไทยประสบความสำเร็จในการทำให้ข้าวเปลือกมีราคาแพง และข้าวสารราคาถูก (รูปที่ 2) การที่รัฐบาลรับจำนำข้าวเปลือกถึงเกือบ 63.5 ล้านตัน (ประมาณร้อยละ 57 ของผลผลิต 3 ฤดู ในช่วงตุลาคม 2554-เมษายน 2555) ราคาข้าวสารในประเทศจะต้องถีบตัวสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการโจมตีรัฐบาลอย่างรุนแรง รัฐบาลจึงต้องระบายข้าวจำนวนที่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคในราคาที่ค่อนข้าวคงที่ (ประมาณ 22 บาทต่อกิโลกรัม)

รัฐบาลมีวิธีระบายข้าว 2 วิธี คือ การขายข้าวถุงละ 70 บาท (หรือ 14 บาทต่อกก.) จำนวน 1.8 ล้านตัน แต่ข้อมูลของคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสมาชิกพบว่ามีข้าวถุงที่ส่งไปขายยังร้านถูกใจเพียง 5-10 % เท่านั้น วิธีนี้จึงไม่ได้ผลในการลดราคาข้าวขายปลีก

วิธีระบายข้าวอีกวิธีที่ช่วยให้ราคาขายปลีกข้าวสารเจ้าในตลาดมีราคาถูกเพียงถุงละ 110-120 บา (หรือ 22-24 บาท/กก.) คือ การขายข้าวทุกชนิดจำนวนมากให้พ่อค้าบางคนในราคาถูก ตัวเลขจากรายงานของรมว.วราเทพ รัตนากร ทำให้เราทราบว่ากระทรวงพาณิชย์ขายข้าวสารราคาเฉลี่ยเพียง 10.21 บาท/กก.[2] พ่อค้าที่โชคดีเหล่านี้สามารถนำข้าวไปขายส่งในราคากก.ละ 16 บาทราคาขายส่งนี้ต่ำพอที่จะทำให้พ่อค้าขายปลีกสามารถขายข้าวสารคุณภาพต่ำในราคากก.ละ 22-24 บาท ให้ผู้บริโภค

ผลการระบายข้าวสารราคาถูกทำให้ราคาขายปลีกข้าวสารทุกชนิดในตลาดกรุงเทพฯ เฉลี่ย 24.17 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ราคาขายปลีกสูงกว่าเล็กน้อย คือ 24.62 บาทต่อกิโลกรัม แปลว่ารัฐบาลควักเงินอุดหนุนผู้บริโภคข้าวกิโลกรัมละ 0.45 บาท

ดังนั้นส่วนต่างที่เหลือจึงเป็นการนำเข้าภาษีไปแจกให้พ่อค้าบางคน ส่วนต่างนี้เท่ากับ 7.7 บาทต่อกก. หรือร้อยละ 33 ของมูลค่าการขาดทุนจำนวน 1.22 แสนล้านบาท (ดูรูปที่ 1)


รูปที่ 1 การขาดทุนในโครงการจำนำข้าวเกิดจากอะไร
(เฉพาะการระบายข้าว 3 ฤดูจำนวน 4.99 ล้านตันในระหว่าง ต.ค. 54- ม.ค. 55)

 

ที่มา: คำนวนจาก
(1) วราเทพ รัตนากร “ผลการรวบรวมข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ตามนโยบายรัฐบาล”

(2) ราคาข้าวเปลือกทุกชนิดของกรมการค้าภายใน

(3) ราคาขายปลีกข้าวสารทุกชนิดในตลาดกรุงเทพฯ ของสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

 

รูปที่ 2: ข้าวเปลือกแพง ข้าวสารถูก

ที่มา: กรมการค้าภายใน.  และสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์.

2. การทุจริตในการระบายข้าว

ประเด็นที่สอง การขาดทุนจากการระบายข้าวเกิดจากการที่รัฐบาลขายข้าวแบบไม่โปร่งใสให้แก่พ่อค้าบางรายในราคาถูกเป็นพิเศษ คำอภิปรายของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ระบุว่ารัฐบาลขายข้าวราคาถูกให้โรงสีแห่งหนึ่งในจังหวัดกำแพงเพชรในราคากิโลกรัมละ 5.7 บาท ทั้งๆที่ราคาขายส่งข้าวสารในตลาด คือ 16 บาท แสดงว่าโรงสีดังกล่าวพันกำไรส่วนต่างถึงกิโลกรัมละ 10.30 บาท ถ้าเราทราบปริมาณข้าวที่รัฐขายในราคาถูกๆ เราก็จะสามารถคำนวณจำนวนเงินภาษีประชาชนที่ถูกนำไปแจกให้พ่อค้าพรรคพวกได้

โชคดีที่รายงานการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีทำให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องออกมายอมรับว่ามีข้าวสารที่ยังไม่ได้ลงบัญชีอีก 2.5 ล้านตัน ทำให้ไม่สามารถปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวนาปีฤดู 2555/56 ได้

ตัวเลขดังกล่าวช่วยให้เราทราบวิธีการลักลอบนำข้าวจำนวนมากในโครงการจำนำไปขายในตลาด ส่วนบนของรูปที่ 3 แสดงขั้นตอนปกติของการจำนำ เมื่อชาวนานำข้าวเปลือกไปจำนำที่โรงสีโรงสีจะต้องสีแปรสภาพใน 7 วัน แล้วนำข้าวสารส่งมอบให้โกดังกลางของรัฐบาลที่เช่าจากเอกชน

รูปที่ 3: การส่งมอบข้าวตามขั้นตอน และการแอบขายข้าวในโครงการจำนำ

ส่วนขั้นตอนการทุจริต คือ หลังจากรับจำนำข้าวเปลือกจากชาวนาแล้วโรงสีบางแห่งแอบนำข้าวที่สีแปรสภาพไปขายให้ผู้ค้าข้าว (หรือบางกรณีแอบนำข้าวเปลือกไปขายให้โรงสีผู้ส่งออกข้าวนึ่ง) จากนั้นค่อยไปหาซื้อข้าวสารราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน มาส่งคืนให้โกดังกลางของรัฐบาลในภายหลัง ส่วนโกดังบางแห่งที่ไม่สามารถหาข้าวสารราคาถูกมาเข้าโกดังก่อนมีการตรวจสอบ ก็อาจเผาโกดังทิ้งตามที่มีข่าวเป็นระยะๆ หรือถูกจับได้ตามที่เป็นข่าว

แต่การลักลอบนำข้าวไปหมุนขายแบบนี้จะทำได้ในปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น (เช่น กรณีโรงสีที่พิจิตรลักลอบนำเข้าจำนำไปขาย 9,000 ตัน) เป็นไปไม่ได้ที่ข้าวสารจะหายไปจากโกดังกลางถึง 2.5 ล้านตันหากไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงเข้าไปเกี่ยวข้อง คำชี้แจงของเจ้าหน้าที่ต่อ รมว.วราเทพ รัตนากร ว่าข้าวจำนวนนี้ยังไม่ได้สีแปรสภาพ จึงไม่ได้ลงในบัญชีข้าวสารก็ฟังไม่ค่อยขึ้น เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจริงโรงสีก็จะต้องมีข้าวเปลือกกองเป็นภูเขาหลายพันลูก ตัวเลขข้าวสารที่ไม่ได้ลงบัญชีนี้เป็นต้นเหตุของคำสั่งให้ตรวจสต๊อคข้าวของโรงสีและโกดังทั่วประเทศในวันที่ 27 มิถุนายน ศกนี้ แต่กว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าตรวจ โรงสีและโกดังคงหาข้าวมาส่งคืนแล้ว เพราะวันเวลาล่วงเลยมานานเกือบ 5 เดือนหลังจากการทำรายงานปิดบัญชี ณ วันที่ 31 มกราคม 2556

หลักฐานสำคัญที่เป็นเงื่อนไขเอื้ออำนวยให้โรงสีไม่ต้องส่งมอบข้าวสารเข้าโกดังใน 7 วัน และสามารถนำเข้าข้าวสารราคาถูกจากต่างประเทศโดยถูกกฎหมายมาเข้าโกดังกลางแทน ไม่ต้องแอบลักลอบนำเข้าแบบกองทัพมด คือ การที่คณะอนุกรรมการกำกับดูแลการจำนำข้าว ได้อนุญาติให้มีการผ่อนผันให้โรงสีที่รับจำนำข้าวเปลือกไว้จำนวนมาก ไม่ต้องสีแปรสภาพและนำส่งข้าวสารเข้าโกดังกลางใน 7 วัน[3] ผู้เกี่ยวข้องในวงการข้าวคาดว่าอาจมีการผ่อนผันให้ยืดเวลาการสีแปรสภาพข้าวสารนานถึง 2 เดือน

เดิมกระทรวงพาณิชย์มีประกาศอนุญาตให้มีการนำเข้าข้าวสารจากประเทศเพื่อนบ้านตามความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน เฉพาะในบางเดือนที่ไม่มีการเก็บเกี่ยวข้าวในประเทศ (คือ พฤษภาคม ถึง ตุลาคม) การนำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านจะเสียภาษีนอกโควตาความข้อตกลง WTO ในอัตรา 52% ต้นทุนการนำเข้าข้าวจึงค่อนข้างสูง แต่ผู้นำเข้าจะใช้วิธีสำแดงมูลค่าข้าวและปริมาณข้าวต่ำกว่าความจริง เช่น สำแดงว่าราคาข้าวสารนำเข้ากิโลกรัมละ 3-4 บาท แต่ในเดือนพฤศจิกายน 2555 รมว.กระทรวงพาณิชย์ได้อาศัยอำนาจตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2539 ออกระเบียบให้มีการออกหนังสือรับรองการนำเข้าที่ได้สิทธิ์ชำระภาษีในโควตาตามพันธกรณีตามความตกลงภายใต้ WTO ได้ทุกเดือนตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 ถึง 31 ธันวาคม 2556 ประกาศดังกล่าวช่วยให้ผู้ค้าข้าวสามารถนำเข้าข้าวสารจากประเทศเพื่อนบ้านได้ทุกเดือนโดยมีต้นทุนต่ำลง

ถ้าไม่มีประกาศทั้งสองฉบับรองรับ กระบวนการขโมยข้าวของผู้เสียภาษีไปขายอย่างเป็นล่ำเป็นสันคงทำได้ลำบาก  และมีต้นทุนสูง

คำถามสำคัญ คือ มีข้าวจำนวนเท่าไรที่ถูกลักลอบจากคลังรัฐบาล นำไปหมุนขายก่อน เราทราบว่าในช่วงที่มีการจำนำข้าวระหว่างเดือนตุลาคม 2554-สิ้นมีนาคม 2556 รัฐบาลรับจำนำข้าวเปลือกทั้ง 3 ฤดู (นาปี 2554/55 นาปรัง 2555 และนาปี 2555/56) รวมทั้งสิ้น 36.48 ล้านตัน ซึ่งแปลงเป็นข้าวสารได้ 22.52 ล้านตัน) ส่วนผลผลิตข้าวทั้งประเทศเท่ากับ 39.68 ล้านตันข้าวสาร ก็แปลว่ามีข้าวอยู่ในมือโรงสีและพ่อค้าประมาณ 17.16 ล้านตัน แต่พ่อค้าข้าวจะต้องมีสต๊อคข้าวอยู่ในมือประมาณ 1.0 ล้านตัน ดังนั้นตลาดข้าวเอกชน จะมีข้าวขายเพียง 16.16 ล้านตัน ขณะเดียวกันในช่วง 18 เดือนดังกล่าว คนไทยต้องบริโภคข้าว 15.90 ล้านตันและมีการส่งออก 10.17 ล้านตัน รวม 26.07 ล้านตัน แสดงว่าตลาดยังขาดข้าวอยู่อีก 9.91 ล้านตัน (26.07-16.16) ข้าวจำนวนนี้จะต้องมาจากการระบายข้าวของรัฐบาลอย่างแน่นอน ถ้ามีการระบายข้าวน้อยกว่านี้ ราคาข้าวสารในตลาดจะต้องแพงขึ้นกว่าสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่รัฐบาลเพื่อไทยประสบความสำเร็จในการตรึงราคาข้าวสารให้มีราคาถูกกว่าสมัยอภิสิทธิ์ และทำให้ราคาข้าวเปลือกแพง (รูปที่ 2)

ทว่า นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฏรเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2556 ว่ากระทรวงพาณิชย์ได้ระบายข้าวเพียง 7.07 ล้านตัน จึงเกิดคำถามว่าข้าวอีก 2.84 ล้านตันมาจากไหน คำตอบก็คือ นอกจากการนำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาขายในประเทศ และข้าวบางส่วนถูกนำไปส่งมอบให้โกดังกลางแทนข้าวของชาวนาไทยที่ถูกลักลอบออกจากโกดังไปหมุนขายก่อนแล้ว ก็ยังมีข้าวสารในโครงการรับจำนำจำนวน 2.5 ล้านตัน ที่ไม่ได้ลงบัญชี แต่ถูกลักลอบนำออกไปขายในตลาดและยังมิได้นำข้าวสารมาคืนโกดัง

ถ้ารัฐบาลไม่สามารถจัดการนำข้าวดังกล่าวมาคืนคลังได้ ก็เท่ากับประชาชนต้องสูญเสียเงินภาษีจำนวน 40,000 ล้านบาท (หรือ 2.5 ล้านตันคูณราคาขายส่ง 16,000 บาทต่อตัน) หรือถ้ามีการขายข้าวจำนวนดังกล่าวในราคาต่ำกว่าราคาตลาด รัฐบาลก็ต้องขาดทุน

รัฐบาลจะต้องรีบจัดการสะสางปัญหาการทุจริตและภาระขาดทุนโดยเร่งด่วน โดยเริ่มต้นจากการแถลงรายละเอียดของการระบายข้าว ตั้งแต่ราคาข้าวปริมาณข้าวที่ขาย วิธีขาย และชื่อผู้ซื้อ เป็นต้น ผมหวังว่าหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติในวันที่ 28 มิถุนายนนี้ จะมีการแถลงข้อมูลเหล่านี้

3. ผลของการยกเลิกโครงการรับจำนำต่อราคาข้าวเปลือก

ประเด็นสุดท้าย การลดราคารับจำนำ และจำกัดวงเงินรับจำนำต่อเกษตรกร เท่ากับการยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทุกเม็ดโดยปริยาย ผลที่จะตามมา คือ ราคาข้าวเปลือกในตลาดจะลดลงอย่างรวดเร็ว ทุกคนรู้ว่ารัฐบาลมีข้าวในสต๊อคจำนวนมาก (อาจสูงถึง 17 ล้านตัน) สต๊อคจำนวนนี้กับผลผลิตข้าวในฤดูใหม่จะทำให้ราคาข้าวเปลือกในประเทศลดต่ำลง ทำให้ชาวนาเดือดร้อน โดยเฉพาะชาวนาจำนวน 3 ล้านครัวเรือนที่ไม่ได้นำข้าวไปจำนำกับรัฐบาล แต่ดูเหมือนว่า รัฐบาลไม่เคยคิดถึงผลกระทบในด้านนี้เลย ข้อเสนอการเยียวยาเกษตรกรด้วยมาตรการช่วยลดต้นทุนการเพาะปลูกอาจไม่เพียงพอ และคงไม่ได้ผลมากนัก ดังนั้นรัฐบาลจะต้องพิจารณาหาหนทางป้องกันมิให้ราคาข้าวเปลือกทรุดฮวบลงมาก เช่น ทบทวนการยกเลิกโครงการแบบกระทันหันโดยหาวิธีการค่อยๆยกเลิกโครงการรับจำนำ พร้อมมาตรการเสริม เช่น กลยุทธ์การระบายข้าว อย่างระมัดระวัง เป็นต้น

 

 

................................................................................

 

 

ภาคผนวก การคำนวณหาราคาข้าว-ปริมาณข้าวที่รัฐบาลระบายและสต๊อคข้าว
(นาปี 2554/55 นาปรัง 2555 นาปี 2555/56 ณ 31 มกราคม 2556)

 

พาณิชย์

อนุฯปิดบัญชี

ล้านตัน

ข้าวสารในโครงการรับจำนำ (ข้าวเปลือก 31.7 ล้านตัน)

15.16

15.61

ล้านตัน

เงินที่จ่ายให้ชาวนา

493,014.48

493,014.48

ล้านบาท

ค่าใช้จ่ายดำเนินการ

16,634.06

16,647.94

ล้านบาท

ค่าใช้จ่ายรวมต่อตัน ((2)+(3) หาร (1))

33,618

33,619.00

บาท/ตัน

มูลค่าข้าวในสต๊อค

341,956.26

226,851.58

ล้านบาท

สต๊อคข้าว (5) ÷ (4)

10,171,827

6,747,740

ตัน

จำนวนข้าวที่ระบาย (1) – (6)

4,988,173

8,862,260

ตัน

มูลค่าข้าวที่ระบาย

50,926.15

61,741.45

ล้านบาท

ราคาข้าวที่ระบาย (8) ÷(7)

10,209.30

6,966.70

บาท/ตัน

ขาดทุน

23,408.70

26,652.70

บาท/ตัน

 

หมายเหตุ : ถ้าใช้ข้อมูลของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีราคาข้าวที่ระบายจะเท่ากับ 7,341.4 บาทต่อตันจึงหมายความว่าการระบายข้าว 8.41 ล้านตัน จะขาดทุนตันละ 26,277.5 บาท (ซึ่งสูงกว่าตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์ที่เฉลี่ย 23,409 บาทต่อตัน)

ที่มา : วราเทพ รัตนากร “ผลการรวมรวมข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายรัฐบาล”
18 มิถุนายน 2556

 



[1] ใช้ตัวเลขต้นทุนของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งยังมิได้รวมค่าเสื่อมของข้าว และดอกเบี้ยจากเงินทุนที่ใช้ซื้อข้าวเก็บในโกดัง ถ้ารวมค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ต้นทุนดำเนินการจะสูงถึงกิโลกรัมละ 3.63  บาทต่อกก.

[2] ถ้าใช้ข้อมูลของคณะอนุกรรมการปิดบัญชี ราคาขายเฉลี่ย 6.97 บาทต่อกก.และขาดทุน กก.ละ 26.65 ขาท

[3] ฝ่ายเลขานุการ กขช. “หลักเกณฑ์การดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2555”  กุมภาพันธ์ 2555

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท