ผู้เขียน "นายใน" ระบุต้องการอธิบายเชิงวิชาการ แทนการปล่อยให้คลุมเครือ

"วิพากษ์นายใน" ที่ Book Re:public "ชานันท์ ยอดหงษ์" ระบุสาเหตุที่ค้นคว้าก็เพื่ออธิบายเชิงวิชาการแทนเรื่องนินทา หรือปล่อยให้คลุมเครือจนเลยเถิด ด้านศิษย์เก่าวชิราวุธแลกเปลี่ยนด้วยโดยเห็นว่าพอรับได้หาก "นายใน" อยู่ในกองหนังสือซุบซิบ แต่เสียใจที่ธรรมศาสตร์ที่ทำให้เรื่องซุบซิบกลายเป็นวิทยานิพนธ์ ด้าน "วรชาติ มีชูบท" วิจารณ์ผู้เขียนตัดตอนตีความพระราชดำรัส ร.6

22 มิ.ย.56 เวลา 16.00 น. ร้าน Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดเสวนาหนังสือ (Book Talk) ในหัวข้อ “วิพากษ์นายใน” โดยมีวิทยากรคือ ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัลย์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “นายใน สมัยรัชกาลที่ 6” และดำเนินรายการโดยอรรถวุฒิ บุญยวง  

สำหรับบรรยากาศในงานเสวนามีผู้ร่วมฟังมากกว่า 60 คน และมีอดีตศิษย์เก่าโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยเดินทางมาร่วมฟังเสวนาราว 20 คน ซึ่งก่อนหน้านี้มีกระแสในเฟซบุ้คให้ศิษย์เก่าของโรงเรียนได้ร่วมกันคัดค้านมุมมองต่อรัชกาลที่ 6 ของหนังสือเล่มนี้

ในช่วงต้นการเสวนา ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัลย์ ได้นำเสนอบทความวิพากษ์วิจารณ์หนังสือเล่มนี้ในชื่อ “นายใน/รอยัล อิเม “จิ้น” คอมมิวนิตี้: นัยแห่งวรรณกรรม วัฒนธรรมป๊อบและมุมมองวิชาการ” โดยเผยแพร่ลงในประชาไทเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. แล้วนั้น (อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง)

000

ในช่วงต่อมา ชานันท์ ยอดหงษ์ ได้อภิปรายต่อจากภิญญพันธุ์ โดยกล่าวว่า วรรณกรรมเป็นมรณกรรมของผู้ประพันธ์อยู่แล้ว เมื่อหนังสือวางอยู่บนแผง ผู้อ่านสามารถจะหยิบมาวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ได้ และตนก็ยินดีรับฟัง และโดยส่วนตัวคิดว่างานวิชาการทางประวัติศาสตร์ในยุคปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องของการมาหาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ แต่เป็นการวิเคราะห์ตีความโดยผ่านแว่น มุมมอง และทฤษฎีต่างๆ ที่หลากหลายโดยอาศัยหลักฐานที่มีอยู่ มิเช่นนั้นความรู้ทางประวัติศาสตร์จะกลายเป็นสิ่งที่ดิ้นไม่ได้ ความรู้จะแบน กลายเป็นการท่องจำท่องบ่นเหมือนที่เราเรียนๆ กันอยู่ กลายเป็นเรื่องที่ตายไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธการศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อค้นคว้าข้อเท็จจริงว่าเป็นสิ่งที่ไม่สำคัญ มันก็ยังคงสำคัญอยู่

ชานันท์ได้แสดงความเห็นว่าตนให้ความสนใจปรากฏการณ์ภายหลังหนังสือนายใน (วางแผง) สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีหลายคนบอกว่าคนเขียนมีธงอยู่ก่อนแล้ว แล้วพยายามสร้างความชอบธรรมให้ธงหรือความคิดตนเองด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่างๆ โดยต้องยอมรับว่าเราก็เคยได้ยินคำเล่าลือหรือข้อสงสัยกันมาเรื่องรัชกาลที่ 6 ท่านเป็น homo-sexuality หรือเปล่า คำร่ำลือนี้มันมีตั้งแต่สมัยก่อนที่ท่านยังไม่ขึ้นครองราชย์ด้วยซ้ำ ซึ่งตนก็เห็นว่าการที่จะเอาสิ่งที่เป็นการนินทาหรือการตัดสิน มาอธิบายในเชิงวิชาการจะดีกว่าไหม เพราะการที่จะปล่อยให้คลุมเครือไปมันก็อาจจะเลยเถิด การอธิบายในเชิงวิชาการที่จับต้องได้ชัดเจน ช่วยทำให้คนในรุ่นที่ยังอยู่ในปัจจุบันมองเห็นว่าอดีตเป็นอย่างไร ตัวตนของคนนั้นๆ เป็นอย่างไร

ชานันท์กล่าวว่าสำนึกเกย์ในประเทศไทยมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะคำว่าเกย์ในสมัยนั้นไม่ใช่เรื่องเพศด้วยซ้ำ จึงน่าสนใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนคำว่าเกย์ในยุคนั้นมันเป็นอย่างไร ซึ่งสิ่งที่ค้นพบ ถ้าอ่านในหนังสือคือมันเป็นความชายในรูปแบบหนึ่ง ไม่ใช่ความเป็นเกย์ ไม่ใช่ความเป็น homo-sexuality แต่เป็น masculine ในอีกรูปแบบหนึ่ง ส่วนในการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการมีธงนั้น ตนเห็นว่าทุกอย่างในการเขียนงานวิชาการมันจะต้องมีธงอยู่แล้ว จะต้องมีสมมติฐาน มีวัตถุประสงค์ในการวิจัย รู้ว่าประเด็นอะไร เราจะได้รู้ว่าเราจะเลือกหยิบประเด็นอะไรมาใส่ในหนังสือ มาอธิบายอย่างไร

ชานันท์กล่าวต่อว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในกรณีหนังสือนายใน ไม่ใช่ปัญหาเรื่อง Royalist แล้ว แต่เป็นปัญหาของ heterosexualism ในสังคมไทย เป็นปัญหาว่าสังคมเรายอมรับความหลากหลายทางเพศได้หรือไม่ โดยหนังสือไม่ได้บอกว่าใครเป็นเกย์หรืออะไร แต่บอกว่าพฤติการณ์และปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในราชสำนักสมัยนั้น ทำให้นักวิชาการในปัจจุบันอภิปรายแล้วด่วนสรุปว่าพระองค์เป็น homo-sexual โดยไม่ได้มองว่า homo-sexual ไม่ดี แต่ปรากฏการณ์ในปัจจุบันทำให้ตนตั้งคำถามกับการยอมรับความหลากหลายทางเพศของสังคม การที่บุคคลสำคัญหรือใครที่เรายกย่องเป็นไอดอล เราเชิดชูเขา เขาจะเป็น homo-sexual ไม่ได้หรือ หรือเรากำลัง homophobia กำลังรังเกียจการรักเพศเดียวกันอยู่หรือไม่

อีกปรากฏการณ์หนึ่ง คือคนที่วิพากษ์ยังไม่ได้วิพากษ์หนังสือโดดๆ แต่ผู้วิพากษ์ยังได้ไปศึกษาที่มาความรู้ ผู้ผลิตความรู้นั้น ว่าผู้เขียนเรียนที่ไหน ใครเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ตำแหน่งแห่งที่ของผู้เขียนเป็นอย่างไร อุดมการณ์ของผู้เขียนเป็นอย่างไร ซึ่งในทางวิชาการเรียกว่าญาณวิทยา (epistemology) เป็นการตรวจสอบองค์ความรู้ แต่ก็มีการพูดถึงความเป็นเพศของผู้เขียนเอง โดยบางส่วนได้สะท้อนถึงตัวคนวิพากษ์ ที่ยังมีการ homophobia หรือรังเกียจการรักเพศเดียวกันอยู่

ขณะเดียวกันก็สะท้อนว่าสิ่งที่เขาเชื่อและเคารพกำลังถูกสั่นคลอน แต่ปัญหาไม่ใช่เรื่องการสั่นคลอนบุคคลที่เคารพ แต่คือเรากำลังไม่ยอมรับความเป็นมนุษย์ของคนที่เคารพหรือไม่ หนังสือเล่มนี้ รวมถึงหนังสือเล่มอื่นๆ เช่น ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 เอง มันสะท้อนถึงความเป็นมนุษย์ ทำให้เราได้จับต้องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งที่รัก สิ่งที่เราเทิดทูน

“มันน่าเศร้ามากที่เราจะรักใครมาก แต่เราไม่ได้มองเขาเป็นมนุษย์เลย มองเขาเป็นเทพเจ้าหรือเป็นอะไรไป ทันทีที่เขาถูกอธิบายในฐานะมนุษย์ เรากลับรับไม่ได้ ทั้งที่เขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน การเทิดทูนอะไรแบบนี้มันค่อนข้างสร้างปัญหาให้ตัวบุคคล ทั้งบุคคลที่ตายไปแล้วและยังมีชีวิตอยู่ เรามองข้ามสิ่งเหล่านี้ไป” ชานันท์กล่าว

000

ด้านตัวแทนจากกลุ่มศิษย์เก่าโรงเรียนวชิราวุธ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นว่า ผู้เขียนหนังสือยังอธิบายในแบบที่ได้ทำในหนังสือ คือแทนที่จะมองภาพกว้าง กลับไปหยิบจับเรื่องคนที่วิจารณ์ผู้เขียนในเรื่องเป็นตุ๊ดหรือเกย์ แต่ตนพูดได้เลยว่าไม่ได้คิดเรื่องนั้น ที่วชิราวุธ เรามีทั้งเพื่อนที่เป็นเกย์และตุ๊ดเยอะ ไม่ได้มีการรังเกียจและแบ่งแยก แต่ตนมองวรรณกรรมเรื่องนี้ คนที่ตนเสียใจที่สุดไม่ใช่ชานันท์ แต่ตนเสียใจกับธรรมศาสตร์ ที่ทำให้เรื่องซุบซิบกลายเป็นวิทยานิพนธ์ ถ้าเราไปตามร้านหนังสือ จะมีหนังสือทำนองที่ซุบซิบเยอะไปหมด เช่น สมเด็จพระเจ้าตากสินตายที่ไหน รัชกาลที่ 8 สวรรคตอย่างไร แต่หนังสือเหล่านี้ไม่ได้รับความนิยม เราไม่รู้ว่าใครเขียนด้วยซ้ำ ถ้าชานันท์เขียนแบบนั้น คิดว่าก็คงไปกองอยู่ในเรื่องซุบซิบ เรื่องซุบซิบเรารับได้

แต่ประเด็นวันนี้คือเรื่องซุบซิบถูกทำให้เป็นมาตรฐาน เป็นสิ่งที่บันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ เรามา เพราะเราอยากให้บันทึกด้วยว่าเราไม่เห็นด้วย ถ้าผ่านไปอีก 20-30 ปี สิ่งที่ชานันท์เขียนมันจะถูกได้รับการยอมรับโดยอัตโนมัติ  และอย่าหยิบจับเฉพาะประเด็นเล็กๆ น้อยๆ อย่างในหนังสือเพียงสองสามบรรทัดก็ฟันธงว่ารัชกาลที่ 6 ไม่ชอบผู้หญิง ซึ่งง่ายไปหรือเปล่า เราแค่ไม่อยากให้เรื่องซุบซิบกลายเป็นวิทยานิพนธ์ อยากให้เข้าใจว่าเรามาเพื่ออะไร และตนเคยดูคลิปที่เสวนาเรื่องประวัติต้นรัชกาลที่ 6 แล้วรู้สึกเจ็บปวดที่เอาพระจริยาวัตรมานั่งถกกัน แล้วหัวเราะหัวใคร่กัน เรารู้สึกว่าเราจะได้อะไรจากตรงนี้ไหม ประเทศชาติจะเจริญขึ้นไหม ควรจะมี priority ของเรื่องที่ควรจะทำมากกว่านี้หรือไม่

ด้าน วรชาติ มีชูบท นักเรียนเก่าและอดีตอาจารย์ที่วชิราวุธวิทยาลัย ซึ่งเข้าร่วมเสวนาด้วย ได้แสดงความเห็นโต้แย้งในเชิงข้อมูลหลายประการ เช่น กรณีที่อ้างอิงว่ารัชกาลที่ 6 ไม่ชอบทหาร ซึ่งปรากฏในวิทยานิพนธ์ฉบับหนึ่งที่พูดเรื่องเสือป่าด้วย ซึ่งเป็นการตัดตอนพระราชดำรัสมาแค่ 3-4 บรรทัด ถ้าอ่านบรรทัดต่อไป ซึ่งไม่ได้บอกว่าไม่ชอบทหาร หรือกรณีในหนังสือประวัติต้นรัชกาลที่ 6 ซึ่งทรงเขียนเล่าถึงเจ้าพระยารามราฆพ ซึ่งเป็นคนในยุคเดียวกัน ฉะนั้นเรื่องบางเรื่องเป็นการย่นย่อ ไม่ได้ระบุรายละเอียดลงไปว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะเจ้าพระยารามฯ ทราบอยู่แล้ว หรือเรื่องการสร้างดุสิตธานี ซึ่งเป็นการเตรียมการสอนประชาธิปไตย และเน้นเรื่องการปกครองท้องถิ่น ให้คนในท้องถิ่นมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตย แล้วจึงจะพัฒนาขึ้นสู่ระดับชาติ ขณะที่ 2475 เป็นการพัฒนาจากข้างบนลงสู่ข้างล่าง

หรือการที่มหาดเล็กต้องไปถูกต้องกายพระองค์ ซึ่งในรัชกาลก่อนๆ ไม่มี แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เวลาตามเสด็จหัวเมือง หรือเวลาตามเสด็จต่างประเทศ มหาดเล็กก็ต้องทำหน้าที่ฟอกสบู่พระองค์ หรือทำหน้าที่เป็นหมอนวด นวดถวาย เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องปกติของราชสำนักไทยมาแต่โบราณ

หรือที่เขียนในหนังสือในเรื่องฟุตบอล ก็ไม่ปรากฏหลักฐานที่ไหนว่ามีการเล่นฟุตบอลโดยไม่สวมเสื้อ เพราะมีการสวมเสื้อมาตั้งแต่รัชกาลที่ 4 สาเหตุที่รัชกาลที่ 6 นำกีฬาฟุตบอลมาเผยแพร่ เพราะคนไทยเราถนัดแต่กีฬาประเภทบุคคล เพราะไม่รู้จักการทำงานเป็นทีม จึงนำเข้ามาใช้และเผยแพร่ในกองทหาร ทำให้ห้องขังของกองทหารมันว่างลง เพราะทหารเอาเวลาไปออกกำลังกายหมดแล้ว ไม่มีเวลามาตีหัวคน ซึ่งมีเยอะในช่วงก่อนหน้านั้น

ผู้เข้าร่วมเสวนาอีกท่านหนึ่งได้แสดงความเห็นว่าปัญหาหนึ่งในหนังสือเล่มนี้คือไม่ได้ใช้หลักฐานชั้นต้นในการเขียน ข่าวลือต่างๆ มันมีเยอะมาก การตีความบางอย่าง จึงจำเป็นต้องระมัดระวังในการตีความบนหลักฐานที่มันไม่ชัดเจน

ผู้ฟังอีกท่านหนึ่งได้กล่าวว่าหนังสือเล่มนี้ได้เปิดให้เกิดการคิดต่อ และได้นำคนจำนวนมากมาในวันนี้ ในทางวัฒนธรรมศึกษาได้พยายามเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ในการศึกษาเพื่อที่จะสลัดกรอบความคิดที่อาจจะครอบมาอย่างยาวนาน แม้จะไม่ค่อยชอบวิธีที่เขียนถึงเรื่องเพศในหนังสือ แต่หนังสือก็ทำให้เราคิดต่อ และหลายคนก็คิดต่อ การคิดต่อต่างหากคือสิ่งที่สำคัญ ไม่ใช่การไม่ให้เราพูด ถ้าเราไม่คิดต่อ หนังสือจะดีแค่ไหนก็ตาม ก็ไม่มีประโยชน์

หมายเหตุ: คลิปการเสวนาสามารถติดตามได้จากเพจของร้าน Book Re:public

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท