Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทความตอนที่แล้ว[i] ผู้เขียนได้พูดถึงการนำระบบเกษตรพันธะสัญญามาใช้ส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ ที่มีการบังคับใช้กฎระเบียบใหม่ๆ กับเกษตรกรอย่างเคร่งครัด เงื่อนไขดังกล่าวกลายเป็นแรงผลักดันรูปแบบใหม่ ที่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนเป้าหมายการทำเกษตรกรรม แบบแผนการผลิตและวิถีการดำรงชีพของเกษตรกร  ในตอนนี้ ผู้เขียนนำเสนอมุมมองของเกษตรกรในระบบเกษตรพันธะสัญญาของข้าวอินทรีย์ เพื่อชี้ให้เห็นแรงกดดันที่มีต่อเกษตรกรและกลยุทธ์ที่เกษตรกรใช้เพื่อต่อรองกับแรงกดดัน


ภาพพันธุ์ข้าวอินทรีย์ที่มีการปลูกเพื่อขายให้เกษตรกร กลายเป็นข้อโต้แย้งระหว่างผู้เชี่ยวชาญกับเกษตรกร เกี่ยวกับมาตรฐานคุณภาพข้าวและความน่าเชื่อถือของผู้เชี่ยวชาญ:เครดิตภาพ เนตรดาว เถาถวิล

ชาวนาในระบบพันธะสัญญาของข้าวอินทรีย์

เกษตรกรในภาคอีสานตัดสินใจปลูกข้าวอินทรีย์ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ปัญหาดินเสื่อม แมลงศัตรูพืชระบาด ทำให้ผลผลิตตกต่ำ ในขณะที่ต้นทุนการผลิตของเกษตรเคมีเพิ่มขึ้น ราคาข้าวตกต่ำ ในขณะที่ชาวนาอีสานมีทางเลือกไม่มาก เพราะแหล่งน้ำในการเกษตรมีจำกัด ปัจจัยเหล่านี้มีส่วนผลักดันให้เกษตรกรต้องปรับตัวเพื่อหาทางเลือกในการทำเกษตร

ในขณะเดียวกัน ปัจจัยที่สนับสนุนให้เกษตรกรตัดสินใจทำเกษตรอินทรีย์ เช่น ภาครัฐบาลและเอกชนมีนโยบายส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรได้รับข่าวสารเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์จากสื่อต่างๆ มากขึ้น เกษตรกรมีโอกาสรับการฝึกอบรมเพื่อทำเกษตรอินทรีย์จากหน่วยงานต่างๆ ทำให้เกิดความคุ้นเคยในการทำเกษตรอินทรีย์ นอกจากนี้ เกษตรกรมองเห็นโอกาสในการได้รับการสนับสนุนเงินทุน ความรู้และเทคนิคการผลิตข้าวอินทรีย์ ตลอดจนปัจจัยการผลิตต่างๆ จากการเข้าร่วมโครงการผลิตข้าวอินทรีย์ รวมถึงมองเห็นโอกาสทางการตลาดจากการขายข้าวอินทรีย์ ซึ่งเป็นตลาดทางเลือกที่มีมูลค่าสูง นอกจากนั้น เกษตรกรบางคนตระหนักถึงปัญหาสุขภาพจากการใช้สารเคมีการเกษตร  เงื่อนไขเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าการทำเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกรในภาคอีสานเป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงของบริบททางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม อันเป็นผลมาจากการพัฒนากว่าครึ่งศตวรรษ และการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ตลอดจนอิทธิพลของกระบวนการโลกาภิวัตน์

อย่างไรก็ดี เกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ภายใต้ระบบเกษตรพันธะสัญญา มีความแตกต่างในด้านฐานะทางเศรษฐกิจ สถานะทางสังคม และวิธีคิดต่อการทำเกษตรอินทรีย์ ความแตกต่างของเกษตรกรทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบทางบวกและทางลบจากการทำเกษตรอินทรีย์แตกต่างกัน ดังนั้นเกษตรกรจึงตอบสนองต่อการทำเกษตรอินทรีย์ในระบบเกษตรพันธะสัญญาแตกต่างกันด้วย

การสำรวจของผู้เขียนเกี่ยวกับจำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์เพื่อส่งออกแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2550 พบว่า จากจำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนี้ทั้งหมด 553 ราย มีเกษตรกรขนาดเล็ก (ถือครองที่ดิน 1-15 ไร่) เข้าร่วมมากที่สุดคือร้อยละ 45 เกษตรกรรายย่อยพึ่งพาแรงงานในครัวเรือนในการทำนา ส่วนเกษตรกรขนาดกลาง (ถือครองที่ดิน 16-30 ไร่) เข้าร่วมโครงการลำดับรองลงมาคือร้อยละ 38 เกษตรกรฐานะปานกลางใช้แรงงานครอบครัว ร่วมกับแรงงานรับจ้างในช่วงที่ต้องการใช้แรงงานอย่างเข้มข้น เกษตรกรฐานะปานกลางกลางกำไรจากการทำนาอินทรีย์ค่อนข้างดี ส่วนเกษตรกรขนาดใหญ่ (ถือครองที่ดิน 31 ไร่ ขึ้นไป) เข้าร่วมโครงการน้อยที่สุดคือร้อยละ 17 แม้เกษตรกรฐานะร่ำรวยจะไม่ได้ลงแรงทำนาเอง และพึ่งพาแรงงานรับจ้างเป็นหลัก แต่กลับเป็นกลุ่มที่ทำกำไรจากนาอินทรีย์มากที่สุด

 

ความเสี่ยงของการทำเกษตรอินทรีย์

นอกจากเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ภายใต้ระบบพันธะสัญญามีความตึงเครียดจากการต้องปฏิบัติตามกฎข้อบังคับในสัญญา ข้อเท็จจริงที่ไม่มีการพูดถึงกันมากนัก แต่กลับเป็นแรงกดดันต่อเกษตรกรผู้ทำเกษตรอินทรีย์ภายใต้ระบบพันธะสัญญา คือการที่พวกเขาต้องเผชิญกับความเสี่ยงอย่างน้อยสามประการ

ความเสี่ยงประเภทแรก ได้แก่ ความเสี่ยงในการผลิต เนื่องจากกฎการผลิตข้าวอินทรีย์ระบุว่าพันธุ์ข้าวต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองเป็นข้าวอินทรีย์โดยกรมการข้าวและต้องเปลี่ยนใหม่ทุกปี พันธุ์ข้าวจึงเป็นสิ่งที่โครงการจัดหามาขายให้แก่ชาวนา การจัดหาพันธุ์ข้าวมาขายให้เกษตรกรนับเป็นมาตรการหนึ่งที่ใช้ควบคุมคุณภาพข้าวอินทรีย์ แต่เกษตรกรมักบ่นว่าพันธุ์ข้าวที่โครงการขายให้เกษตรกรมีราคาแพง แต่คุณภาพไม่มาตรฐาน ให้ผลผลิตต่ำและมีข้าวพันธุ์อื่นปะปน

ความเสี่ยงประเภทที่สอง ได้แก่ ความเสี่ยงด้านการตลาด เช่น ถ้าชาวนาไม่สามารถขายข้าวอินทรีย์ในราคาประกัน จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ชาวนาต้องเสี่ยงกับการขาดทุน ถ้าราคาประกันของข้าวอินทรีย์ในปีนั้นต่ำกว่าราคาข้าวเคมีที่ขายในท้องตลาด เช่น ปี2551 ราคาประกันของข้าวอินทรีย์ต่ำกว่าราคาข้าวเคมีถึงกิโลกรัมละ 3-4 บาท ชาวนาเสี่ยงต่อการขาดทุน แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ขายข้าวอินทรีย์นอกสัญญา ความเสี่ยงด้านการตลาดเช่นนี้ทำให้ชาวนาส่วนหนึ่งไม่ต้องการทำเกษตรอินทรีย์ในระบบพันธะสัญญา

ความเสี่ยงประเภทที่สาม ได้แก่ “ความเสี่ยงของการผลิตในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน” เมื่อชาวนาเปลี่ยนมาทำนาอินทรีย์ ชาวนาต้องไม่ละเมิดกฎการทำนาอินทรีย์นานถึงสามปีจึงจะได้รับการรับรองว่าเป็นเกษตรกรในระบบเกษตรอินทรีย์ ปีแรกของการปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ผลผลิตลดลงมาก ชาวนาบางคนกล่าวว่าผลผลิตลดกว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตที่เคยเก็บเกี่ยวได้ในช่วงทำนาเคมี ผลผลิตมักเพิ่มขึ้นในปีที่สองของการทำนาอินทรีย์ แต่ก็ยังน้อยกว่าผลผลผลิตที่เคยได้ตอนทำนาเคมี ผลผลิตในปีที่สามและหลังจากนั้นจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น หากชาวนาลงทุนใส่ปุ๋ยหมักบำรุงดินและปลูกพืชหมุนเวียน สำหรับชาวนาช่วงระยะปรับเปลี่ยนผ่านไปสู่เกษตรอินทรีย์ถือว่ามีความกดดันและเปราะบางมาก เพราะต้องลงทุนมากขึ้น แต่กลับมีรายได้ลดลง และไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ สำหรับผลผลิตที่ลดลง หรือผลผลิตเสียหายจากแมลงศัตรูพืช อีกทั้งยังเสี่ยงว่าจะไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานเป็นผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ และไม่สามารถขายข้าวในราคาประกันด้วย

 

ศักยภาพการปรับตัวของเกษตรกร

การที่เกษตรกรรายย่อยมีที่ดินน้อย ทำให้พวกเขาไม่สามารถดำรงชีพจากการทำนาอย่างเดียว ชาวนารายย่อยจึงหันไปดำรงชีพจากการพึ่งพาแหล่งรายได้หลายแหล่ง เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาการเกษตรเพียงอย่างเดียว ชาวนารายย่อยบางคนใช้วิธีเช่าที่ดินทำนา นาเช่าส่วนมากเป็นนาเคมี เพราะเจ้าของที่ดินมักไม่เห็นด้วยกับการทำนาอินทรีย์ เนื่องจากการทำนาอินทรีย์มีต้นทุนสูง ได้ผลกำไรต่ำ ทำให้ชาวนารายย่อยที่เช่าที่ทำนากลายเป็นคนที่ทำผิดกฎการทำนาอินทรีย์ เพราะทำเกษตรคู่ขนาน คือทำนาอินทรีย์ในแปลงของตนเอง ควบคู่กับการทำนาเคมีในนาเช่า กฎการทำนาอินทรีย์มีข้อบังคับว่าชาวนาต้องทำเกษตรอินทรีย์ในที่ดินทุกแปลง ดังนั้นชาวนารายย่อยจึงเสี่ยงต่อการถูกเบียดขับออกไปจากระบบเกษตรอินทรีย์ ในสถานการณ์ที่การพึ่งพารายได้นาอินทรีย์เพียงอย่างเดียวไม่ช่วยให้อยู่รอด ชาวนายากจนต้องหันไปทำงานรับจ้าง ซึ่งมักให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ชาวนารายย่อยใช้เงินส่งกลับจากสมาชิกครอบครัวที่ออกไปทำงานรับจ้างเพื่อลงทุนสร้างและซ่อมแซมบ้านเรือน ทำการเกษตร ซื้อเครื่องจักรเพิ่ม รวมถึงจ้างแรงงานช่วยทำนาเพิ่ม

ในขณะที่ชาวนาฐานะปานกลางดำรงชีพโดยการทำเกษตร ควบคู่กับทำงานนอกภาคเกษตร เช่น รับจ้าง ทำธุรกิจขนาดย่อม เป็นข้าราชการ ทำให้ครัวเรือนชาวนาฐานะปานกลางมีเงินทุนซื้อเครื่องจักรและจ้างแรงงานเพิ่ม จึงสามารถจัดการไร่นาปริมาณมากได้ และได้กำไรจากการผลิตในที่ดินขนาดใหญ่กว่า ชาวนาฐานะปานกลางจึงสามารถปรับตัวทำเกษตรอินทรีย์ โดยไม่มีความเสี่ยงว่าจะถูกให้ออกจากโครงการเพราะผิดข้อบังคับในเรื่องห้ามทำนาคู่ขนาน  

สำหรับชาวนาขนาดใหญ่ที่ร่ำรวย ส่วนใหญ่ทำงานหลักนอกภาคเกษตร ทำธุรกิจส่วนตัวและข้าราชการ จึงมีสถานะเป็น “ผู้จัดการนา” มากกว่าเป็นชาวนา ชาวนาร่ำรวยแทบไม่ได้ออกแรงทำนา เพราะพึ่งพาเครื่องจักรและแรงงานรับจ้างในการทำนาเป็นหลัก แต่กลับมีรายได้จากการทำนาอินทรีย์มากที่สุด ข้อค้นพบนี้ชี้ให้เห็นว่า ชาวนารวยมีศักยภาพในการปรับตัวเพื่อทำนาอินทรีย์ดีที่สุด เพราะมีความสามารถเข้าถึงที่ดิน เงินทุนและแรงงานมากกว่าชาวนายากยากจน จึงมีความได้เปรียบ และมีความยืดหยุ่นในการดำรงชีพมากด้วย ดังนั้นจึงมีแนวโน้มที่ชาวนารวยจะทำเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืน[ii]

 

กลยุทธ์การปรับตัวของเกษตรกร

แม้ว่าเกษตรกรต้องเผชิญกับแรงกดดันมากมาย แต่พวกเขาก็ไม่ได้สยบยอมกับการถูกเอาเปรียบ การต่อรองของเกษตรกรในระบบเกษตรพันธะสัญญาของข้าวอินทรีย์ แสดงให้เห็นถึงปฏิบัติการทางการเมืองในชีวิตประจำวันของชาวนา สอดคล้องกับที่ทาเนีย ลี วิเคราะห์ปฏิบัติการทางการเมืองในชีวิตประจำวันของคนในเขตป่าอนุรักษ์ในอินโดนีเซีย ซึ่งใช้กลยุทธ์การต่อรอง โดยปฏิเสธสิ่งต่างๆ ตามที่เป็นอยู่ ที่มักอาศัยข้อเท็จจริงและการอธิบายจากมุมมองของคนนอก ที่มุ่งควบคุมและกดปราบคนในป่า ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถควบคุมชีวิตตนเองได้ดีขึ้น[iii]

ในการผลิตข้าวอินทรีย์ แทนที่ชาวนาอีสานจะปฏิบัติตามกฎระเบียบในการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่กำหนดจากภายนอก พวกเขากลับเลือกที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบบางข้อ เท่าที่พวกเขาประเมินว่าให้ประโยชน์แก่ตน แต่กลับเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบอื่นๆ ที่พวกเขามองว่ามีต้นทุนที่ต้องจ่ายแพงเกินไป เกษตรกรตั้งคำถามกับการสร้างมาตรฐานในระบบการผลิตข้าวอินทรีย์ การประเมินความเสี่ยงเรื่องการปนเปื้อนของข้าวอินทรีย์โดยผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนวิธีการคิดคำนวณที่ผู้เชี่ยวชาญนำมาใช้ เพื่อประเมินความถูกต้องของระบบการผลิตข้าวอินทรีย์

การสนทนาตอบโต้ระหว่างเกษตรกรกับผู้เชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆ แสดงให้เห็นความตึงเครียดและความไม่คงเส้นคงวาในระบบการผลิตข้าวอินทรีย์และการตรวจสอบรับรองมาตรฐานคุณภาพ (Certification) ซึ่งเป็นระบบที่มีความเป็นนามธรรมสูง พึ่งพาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคนิคการคำนวณ ทั้งยังขึ้นอยู่กับความชอบธรรมในการใช้อำนาจของผู้เชี่ยวชาญ ในขณะเดียวกันการตั้งคำถามของเกษตรกรก็แสดงให้เห็นปฏิบัติการต่อรองของชาวนาเพื่อตอบโต้อำนาจครอบงำ[iv] [v] ผู้เขียนขอยกตัวอย่างกลยุทธ์การต่อรองที่เกษตรกรนำมาใช้บางเรื่องเป็นกรณีศึกษา

กรณีแรก

เกษตรกรตั้งคำถามเรื่องคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ที่ผ่านการตรวจสอบรับรองมาตรฐานโดยผู้เชี่ยวชาญ ผู้เชี่ยวชาญอ้างว่าข้าวที่เกษตรกรปลูกขายให้โครงการไม่ได้มาตรฐาน เพราะชาวนาไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ผู้เชี่ยวชาญมองว่า หากเกษตรกรทำตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ อัตราการปนเปื้อนในข้าวอินทรีย์จะลดลง ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ การขาดความใส่ใจของเกษตรกรเป็นปัญหา ดังนั้นเกษตรกรที่ขายข้าวปนเปื้อนให้แก่โครงการจึงควรถูกลงโทษ โดยถูกหักเงินค่าปรับ 1 บาท จากราคาข้าวที่ขาย 1 กิโลกรัม แต่เกษตรกรโต้แย้งว่า เมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ที่โครงการนำมาขายให้พวกเขาปลูกไม่ได้มาตรฐาน มักมีพันธุ์ข้าวเหนียวปนเปื้อนมากับพันธุ์ข้าวหอมมะลิ ข้อโต้แย้งของเกษตรกรสะท้อนว่า เกษตรกรไม่ไว้ใจผู้เชี่ยวชาญ และมองว่าการรับรองคุณภาพการผลิตไม่น่าเชื่อถือ เกษตรกรท้าทายความชอบธรรมของผู้เชี่ยวชาญ โดยชี้ว่าความผิดพลาดเกิดจากผู้เชี่ยวชาญเอง[vi]


การตรวจสอบการปนเปื้อนของข้าว:เครดิตภาพ เนตรดาว เถาถวิล

การตั้งคำถามต่อความถูกต้องของระบบการตรวจสอบรับรองมาตรฐานโดยผู้เชี่ยวชาญ นับเป็นกลยุทธ์ของเกษตรกร เพื่อลดทอนความชอบธรรมของระบบที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยผู้เชี่ยวชาญ หากพิจารณาข้อเสนอของ Anthony Gidden ที่ว่า สังคมทันสมัยเกี่ยวโยงกับกลไกและสถาบันที่สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ระบบนามธรรมต่างๆ เช่น ความมีประสิทธิภาพ ความน่าเชื่อถือ ความโปร่งใส นอกจากนั้น สังคมทันสมัยยังเกี่ยวพันกับการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการควบคุมไม่ให้มีความแตกต่างระหว่างความจริงที่อยู่ “ฉากหน้า” (สิ่งที่เกิดขึ้น และอนุญาตให้คนนอกมองเห็น) และความจริงที่อยู่ “ฉากหลัง” (สิ่งที่เกิดขึ้น แต่ไม่อนุญาตให้คนนอกมองเห็น)[vii]

 การที่เกษตรกรตั้งคำถามกับคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ที่ผ่านการรับรองโดยผู้เชี่ยวชาญ แสดงถึงความไม่เชื่อมั่นต่อการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ที่วางอยู่บนหลักการเรื่องความทันสมัย สะอาด ปลอดภัย และความน่าเชื่อถือ การตั้งคำถามของเกษตรกรต้องการลดความเสียเปรียบในระบบดังกล่าว ซึ่งทำให้เกษตรกรสามารถต่อรองกับมาตรการหักค่าปรับจากข้ออ้างเรื่องการปนเปื้อน

กรณีที่สอง

การที่เกษตรกรแสดงความไม่เชื่อมั่นต่อความรู้ของผู้เชี่ยวชาญ ในการประเมินความเสี่ยงเรื่องการปนเปื้อน นับเป็นปฏิบัติการต่อรองของชาวนาอีกรูปแบบหนึ่ง เนื่องจากการทำนาอินทรีย์มีข้อห้ามไม่ให้ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และมีบทลงโทษสำหรับเกษตรกรที่ละเมิดข้อห้ามเรื่องนี้ในระดับที่รุนแรง คือให้ออกจากโครงการ และไม่รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร แต่ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นที่มีอำนาจตัดสินว่าเกษตรกรแต่ละคนมีความเสี่ยงในระดับที่ยอมรับได้หรือไม่ เกษตรกรไม่มีอำนาจโต้แย้งการตัดสินของผู้ตรวจสอบแปลงนา


การตรวจสอบแนวกั้นของคันนา:เครดิตภาพ เนตรดาว เถาถวิล

ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าสารเคมีทางการเกษตรเป็นอันตรายพอๆ กับยาพิษ กลับเป็นเรื่องยากที่ผู้ตรวจสอบแปลงนาจะรู้ว่าเกษตรกรแอบใช้ปุ๋ยเคมีหรือไม่ เพราะการตรวจสอบแปลงนากินเวลามากและมีต้นทุนสูง ดังนั้นการตรวจสอบแปลงนาส่วนใหญ่จึงทำโดยผู้ตรวจสอบภายในซึ่งเป็นคนในท้องถิ่น ผู้ตรวจสอบภายในจะไปเยี่ยมเกษตรกรถึงบ้าน เพื่อตรวจดูบ้านเรือน ไร่นา ยุ้งฉาง และหาหลักฐานว่าชาวนาแอบใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงหรือไม่ ถ้าผู้ตรวจสอบภายในไม่พบหลักฐานที่จะพิสูจน์ว่ามีการละเมิดกฎเกณฑ์ ผู้ตรวจสอบภายนอกซึ่งเน้นการตรวจสอบเอกสารที่ผู้ตรวจสอบภายในจัดเตรียมไว้ ก็ยากจะรู้ว่ามีการกระทำผิดกฎข้อบังคับหรือไม่

เกษตรกรรู้ถึงข้อจำกัดของการตรวจแปลงนาโดยผู้เชี่ยวชาญเป็นอย่างดี เกษตรกรยังรู้วิธีที่ผู้เชี่ยวชาญใช้จำแนกความแตกต่างระหว่างพฤติกรรมเสี่ยงกับพฤติกรรมที่ปลอดภัย ดังนั้นเกษตรกรจึงใช้ประโยชน์จากข้อจำกัดนี้ เพื่อสร้างพื้นที่ต่อรอง ดังเช่นที่เกษตรกรคนหนึ่งเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า

“ผู้ตรวจสอบภายในมาเยี่ยมแปลงนาของเฮาหลังจากดำนาแล้ว เพิ่นมาเบิ่งว่าเฮาใส่ปุ๋ยเคมีลงนาบ่ ถ้าเฮาหว่านปุ๋ยเคมี เพิ่นสิเห็นว่าใบข้าวเปลี่ยนเป็นสีเขียวแก่ และใบข้าวเป็นเส้นโค้งยาว ถ้าเฮาบ่ใส่ปุ๋ยเคมี ใบข้าวสิเป็นสีเขียวอ่อน และใบสั้นตรงขึ้นไปซื่อๆ ฉันย่านเพิ่นหาว่าเฮาหว่านปุ๋ยเคมี ฉันคิดว่าบ่มีไผสิอยากใส่ปุ๋ยเคมีในแปลงนาข้าว เพราะปุ๋ยเคมีแพงหลาย (ราคาปุ๋ยเคมีในปี 2555 สูงถึงเกือบ 1,000 บาทต่อ 25 กิโลกรัม) แล้วก็เสี่ยงว่าทำผิดกฎ”[viii]

แม้เกษตรกรส่วนมากบอกว่าพวกเขาไม่ใช้ปุ๋ยเคมี แต่รายงานอย่างเป็นทางการของโครงการระบุว่า ทุกปีมีชาวนาที่ทำผิดกฎ เช่น ปี 2550 มีเกษตรกร 16 คน หรือร้อยละ 2 จากจำนวนสมาชิกทั้งหมด ทำผิดกฎและถูกให้ออกจากโครงการ สถิตินี้เป็นหลักฐานยืนยันว่ามีการละเมิดกฎจริง แต่เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่ยังไม่มีความกระจ่าง เพราะไม่มีเกษตรกรคนใดยอมรับว่าตนทำผิดกฎ ส่วนคนที่ถูกให้ออกจากโครงการ ก็มักจะไม่อยากให้ข้อมูล เรื่องซุบซิบนินทาเกี่ยวกับการแอบใส่ปุ๋ยเคมีและใช้ยาฆ่าแมลงของชาวนาอินทรีย์ มักจะมาจากเพื่อนบ้านซึ่งทำเกษตรเคมีมากกว่า

มีเกษตรกรที่ทำนาอินทรีย์จำนวนไม่กี่คนเท่านั้นที่เล่าให้ผู้เขียนฟังเรื่องการใส่ปุ๋ยเคมี ดังเช่นเกษตรกรคนหนึ่งเล่าว่า


เกษตรกรยากจนที่่เช่านาและทำนาคู่ขนาน :เครดิตภาพ เนตรดาว เถาถวิล

“การใช้ปุ๋ยเคมีในแปลงนาอินทรีย์เป็นความผิดร้ายแรง แต่ชาวนาบางคนก็แอบใส่ปุ๋ยเคมี พวกเฮาคิดคำนวณว่าจะใส่ปุ๋ยเคมีเท่าไร และจะใส่ช่วงไหน เฮาอาจใส่ปุ๋ยเคมีก่อนหว่านและหลังจากปักดำ เฮาต้องใส่ปุ๋ยเคมีเพียงบางๆ ที่ต้นข้าวไม่ค่อยงาม เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้ข้าวแน่นอน แต่เฮาจะไม่ใส่ปุ๋ยเคมีมากๆ จนคนเห็น ถ้าใครใส่ปุ๋ยเคมีลงนาเยอะ ผู้ตรวจแปลงนาสิเบิ่งเห็น เพราะต้นข้าวจะสูงและใบข้าวก็จะเป็นเขียวเข้ม มันจะเป็นที่สังเกตง่ายมาก  ถ้ามีปูนาในแปลงนามาก บางครั้งเฮาอาจใช้ยาฆ่าแมลงจั๊กหน่อย การใช้ยาฆ่าปูช่วยให้เฮามั่นใจว่าต้นข้าวจะไม่ถูกกินจนหมด ถ้าเฮาไม่ใช้เลย เฮาจะแน่ใจได้ยังไงว่าเฮาสิมีข้าวพอกินพอขาย เมื่อก่อนเฮาไม่ต้องค่อยห่วงว่าจะได้ใบแดง (ให้ออกจากโครงการ) แต่ตอนนี้เฮาเป็นห่วงว่าจะถูกทำโทษ เฮากลัวว่าเงินหักสะสมจากขายข้าวสิถูกริบ เฮามองว่าเรื่องห้ามใส่ปุ๋ยเคมีและยาเป็นข้ออ้างเพื่อควบคุมเฮา ส่วนการเงินหักสะสมของเราถ้าเราทำผิดกฎ เป็นการควบคุมเฮาเข้มกว่าเดิม”[ix]

ผู้เขียนมองว่า เกษตรกรมีความคิดต่อปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง แตกต่างจากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงอันตรายเหมือนยาพิษ เกษตรกรไม่ได้มองว่าปุ๋ยเคมีเป็นอันตรายเสมอไป เกษตรกรมองว่าการใช้ปุ๋ยเคมีช่วยสร้างหลักประกันเรื่องปริมาณผลผลิตที่แน่นอน และการใช้ยาฆ่าแมลงในบางสถานการณ์ช่วยลดการสูญเสียผลผลิต มุมมองของเกษตรกรมีผลต่อการตัดสินใจใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงไม่มากก็น้อย

คำบอกเล่าของชาวนาอีสาน สอดคล้องกับผลการศึกษาของ Guivant ที่กล่าวว่า ชาวนาเม็กซิกันมองว่าปุ๋ยเคมีให้หลักประกันเรื่องประสิทธิภาพผลผลิต และยาฆ่าแมลงช่วยลดความเสี่ยง ดังนั้นพวกเขาจึงไม่ได้มองว่าปุ๋ยเคมีเป็นอันตรายเสมอไป ชาวนาเม็กซิกันยังมองความเสี่ยงจากการใช้ยาฆ่าแมลงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมแตกต่างจากผู้เชี่ยวชาญ เพราะมองว่าความเสี่ยงเป็นเรื่องไกลตัวและเป็นเรื่องที่มองไม่เห็น Guivant มองว่าการปฏิเสธความเสี่ยงของสารเคมีทางการเกษตร เป็นวิธีการที่ชาวนาเม็กซิกันนำมาใช้เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่พวกเขาไม่สามารถหลีกเลี่ยงสัมผัสสารเคมีทางการเกษตรทุกวัน พวกเขาจึงต้องการหลีกเลี่ยงความกังวลใจ[x]

ด้วยเหตุผลในข้างต้นผู้เขียน จึงมองว่าเหตุผลที่เกษตรกรบางคนใช้สารเคมีทางการเกษตร อาจแตกต่างจากความเข้าใจของคนทั่วไป และอาจมีเหตุผลซับซ้อนกว่าที่ผู้เชี่ยวชาญคิด นอกจากนั้น การใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงในนาอินทรีย์ก็อาจมองว่าเป็นปฏิบัติการต่อรองในชีวิตประจำวันของชาวนาได้อีกด้วย ดังที่ De Certeau (อ้างใน Pile, 1997) เสนอว่า เมื่อกลุ่มผู้ด้อยอำนาจเผชิญกับการควบคุมของกลุ่มอำนาจ พวกเขาอาจใช้ว่ากลยุทธ์ในการต่อรองหลายแบบเพื่อต่อรอง และหนึ่งในรูปแบบการต่อรองนั้นคือการใช้วิธีการที่อยู่เหนือการควบคุมของผู้มีอำนาจ[xi] เช่นเรื่องการใช้ปุ๋ยเคมีซึ่งยากจะพิสูจน์ได้จริง

 

สรุป

บทความนี้นำเสนอผลกระทบที่เกษตรกรในระบบเกษตรพันธะสัญญาของข้าวอินทรีย์ได้รับ และกลยุทธ์ที่เกษตรกรนำมาใช้เพื่อต่อรอง ซึ่งเป็นปฏิบัติการทางการเมืองในชีวิตประจำวันของชาวนา การที่เกษตรกรเลือกที่จะพึ่งพาแหล่งรายได้หลายแห่ง เช่น การปลูกข้าวหลายระบบ การทำนาเช่า และการทำงานรับจ้าง นับเป็นกลยุทธ์เพื่อต่อต้านการครอบงำ และการเปลี่ยนระบบการเกษตรให้เป็นไปตามภาพฝันเชิงอุดมคติ ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขการดำรงชีพจริงๆ ของเกษตรกรฐานะยากจน นอกจากนั้น การประกอบอาชีพหลากหลาย ยังเป็นการต่อรองของเกษตรกรยากจน ซึ่งช่วยให้พวกเขามีทางเลือกมากขึ้น มีกำไรจากการขายข้าวอินทรีย์ แต่ก็ไม่ต้องการเสี่ยงกับการพึ่งพาตลาดข้าวอินทรีย์เพียงอย่างเดียว

ส่วนการที่เกษตรกรตั้งคำถามกับมาตรฐานของคุณภาพพันธุ์ข้าวอินทรีย์ และความถูกต้องของการตรวจสอบการปนเปื้อน นับเป็นการตั้งคำถามต่อระบบ ซึ่งเน้นการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และอำนาจของผู้เชี่ยวชาญ การตั้งคำถามดังกล่าวแม้ไม่ได้ล้มล้างระบบทุนนิยมซึ่งเกษตรกรเป็นส่วนหนึ่ง แต่เป็นการต่อรองเพื่อทำให้เกษตรกรเสียเปรียบน้อยลง




[i] โปรดดูบทความเรื่อง “เกษตรพันธะสัญญา (แย่?) + เกษตรอินทรีย์ (ดี?) แต่บางทีก็มาแพ็คคู่” ในประชาไท

[ii] เนตรดาว เถาถวิล. 2554. เฮ็ดอยู่ แต่บ่พอกิน---คำถามว่าด้วยการพึ่งตนเองของชาวนาเกษตรอินทรีย์ใน

            ยุคโลกาภิวัตน์และการพัฒนา,วารสารสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

10(2): 82-109.

[iii] Li, Tania Murray. 2007.The Will to Improve: Governmentality, Development and the Practices of Politics. Durham and London: Duke University Press.

[iv] Scott, James. C. 1976. The Moral Economy of the Peasant: Rebellion and Subsistence in

 Southeast Asia. New Heaven and London: Yale University Press.

[v] Benedict J. Tria Kerkvliet. 2009. “Everyday Politics in Peasant Society (and Ours),” Journal of

Peasant Studies 36 (1): 227-243.

[vi] การสังเกตการณ์การฝึกอบรมชาวนาอินทรีย์ โดยผู้เขียน วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2551.

[vii] Giddens, Antony. 2001. Dimension of Globalization. In Steven Seidman and Jeffrey C.

Alexander (eds.), The New Social Theory Reader. London, New York: Routledge.

[viii] การสัมภาษณ์นางสมศรี วางาม ชาวนาอินทรีย์ อำเภอปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ วันที่ 19

มกราคม 2550.  

[ix] จากการสัมภาษณ์นางบัวคลี่  ชาวนาตำบลแก้งเหนือ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี วันที่ 13

เมษายน 2551.

[x] Guivant, Julia S. 2003. "Pesticide Use, Risk Perception and Hybrid Knowledge: A Case Study

from Southern Brazil," Internal Journal of Sociology of Agriculture and Food. 13.

[xi] Pile, Steve (ed.). 1997. Introduction: Opposition, Political Identities and Spaces of Resistance. In  Steve Pile and Michael Keith (eds.), Geography of Resistance, New York: Routledge.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net