Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
เดือนมิถุนายนปีนี้ เป็นเดือนแห่งเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองประชาธิปไตยของคณะราษฎรอย่างชัดเจน ดังจะเห็นได้จากแนวโน้มการจัดกิจกรรมของประชาชนฝ่ายคนเสื้อแดงหลายกลุ่มเพื่อเฉลิมฉลองวันชาติ 24 มิถุนายน แต่กลุ่มคนเสื้อเหลือง เสื้อหลากสี หน้ากากขาว เขาไม่จัด เพราะเขายึดหลักการที่ตรงข้ามกับฝ่ายคณะราษฎร
 
แต่กระนั้น ในกลุ่มคนเสื้อแดง ยังไม่ค่อยเป็นที่ทราบกันว่า ปี พ.ศ.2476 ก็มีความสำคัญไม่น้อยในกระบวนการทางประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย เพราะเป็นปีแห่งการต่อต้านการรุกกลับของฝ่ายอนุรักษ์นิยมเจ้าและทำให้ระบอบรัฐธรรมนูญของคณะราษฎรยังคงอยู่ตอไปอีก 14 ปี
 
จุดเริ่มต้นมาจากเหตุการณ์ปฏิวัติ พ.ศ.2475 ที่นำโดยคณะราษฎร ซึ่งเป็นการโค่นล้มอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม แล้วเริ่มสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญที่ยอมรับอำนาจสูงสุดของราษฎร และจะเป็นครั้งแรกที่ดำเนินการให้ราษฎรจะได้ใช้สิทธิทางการเมืองโดยผ่านการเลือกตั้ง ในครั้งนั้น คณะราษฎรได้เชิญให้ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) มารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรก บริหารประเทศด้วยระบบคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกเช่นกัน สำหรับ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร เป็นรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบก พ.อ.พระยาทรงสุรเดช ผู้ก่อการคณะราษฎรคนสำคัญ เป็นรัฐมนตรีและรองผู้บัญชาการทหารบกฝ่ายยุทธการ
 
ในครั้งนั้น การปฏิวัติของคณะราษฎร ก็ต้องเผชิญกับการต่อต้านจากฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ซึ่งก็คือ คณะเจ้า หรือฝ่ายอนุรักษ์นิยมเจ้า โดยกลุ่มนี้ไม่ยอมรับในหลักการประชาธิปไตย แต่กลับเห็นว่า ระบอบเก่าที่อำนาจอยู่ในมือของเจ้านายและขุนนางจำนวนน้อยนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะชนชั้นสูงเหล่านี้มีความรู้ความสามารถ ขณะที่ราษฎรส่วนมากนั้นโง่เขลา ไม่มีความรู้ ระบอบประชาธิปไตยที่ให้สิทธิกับราษฎรย่อมไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ ยังมีความเห็นว่า ถ้าสยามจะมีรัฐธรรมนูญ ควรมาจากการพระราชทานเองของพระเจ้าอยู่หัว ราษฎรไม่มีสิทธิที่จะไปยึดและจำกัดอำนาจของพระมหากษัคริย์ การกระทำของคณะราษฎรจึงถือว่าเป็นกบฏ จึงควรที่จะถวายพระราชอำนาจคืนให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจวินิจฉัยทางการเมือง กลุ่มอนุรักษ์นิยมเจ้า จึงได้คอยเวลาและหาจังหวะที่จะล้มอำนาจของคณะราษฎร
 
สิ่งที่คณะราษฎรส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักในขณะนั้น คือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ที่รับเชิญมาเป็นนายกรัฐมนตรีความจริงแล้วเป็นผู้ที่มีความคิดโน้มไปทางระบอบเก่า และเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมเจ้า พระยามโนปกรณ์ฯจึงหาจังหวะจากความขัดแย้งภายในของคณะราษฎร ซึ่งในขณะนั้น เกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายของ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา และฝ่ายของ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช ปรากฏว่า พระยามโนปกรณ์ประสบความสำเร็จในการชักชวน พ.อ.พระยาทรงสุรเดช มาสนับสนุน
 
ดังนั้น เมื่อถึงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2476 ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา จึงได้ออกพระราชกฤษฎีการปิดสภา และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งถือเป็นการรัฐประการครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย เพราะการงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราที่ไม่มีการระบุว่ามาตราไหนบ้าง เท่ากับเป็นการงดใช้ทั้งฉบับ และการปิดไม่มีการประชุมสภาราษฎร คือ การเปิดโอกาสให้คณะรัฐมนตรีออกกฎหมายมาบังคับใช้ได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งต่อมา รัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯได้ออกกฎหมายลักษณะนี้มาหลายฉบับ นอกจากนั้น ยังมีการดำเนินการเนรเทศหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ผู้นำคนสำคัญของคณะราษฎร ให้เดินทางไปต่างประเทศ แล้วออกกฎหมายคอมมิวนิสต์ฉบับแรกในประวัติศาสตร์ เพื่อเป็นเครื่องมือในการเล่นงานหลวงประดิษฐ์มนูธรรม การรัฐประหารของพระยามโนปกรณ์ฯจึงเป็นขั้นตอนสำคัญแรกสุดในการทำลายระบอบรัฐธรรมนูญ
 
สถานการณ์เช่นนี้ สร้างความกดดันอย่างมากแก่คณะราษฎรส่วนใหญ่ ต่อมา มีข่าวลือว่า รัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯมีเป้าหมายที่จะปราบปรามคณะราษฎรด้วย ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 ฝ่ายคณะราษฎรส่วนใหญ่ที่นำโดย พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้เคลื่อนกำลังทหารเข้ายึดอำนาจเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตย โดยมีผู้นำคณะราษฎรที่สนับสนุนคือ พ.ท.หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) ฝ่ายทหารบก น.ท.หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) ฝ่ายทหารเรือ และ หลวงนฤเบศมานิตย์ (สงวน จูฑะเตมีย์) ฝ่ายพลเรือน รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาจึงสิ้นสุดลง พระยามโนปกรณ์นิติธาดาต้องไปลี้ภัยการเมืองที่ปีนังตลอดชีวิต สำหรับฝ่ายของ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช ก็ถูกลดบทบาทลงเช่นเดียวกัน
 
เมื่อฝ่ายของ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ยึดอำนาจแล้ว ก็ได้รื้อฟื้นการใช้รัฐธรรมนูญ ให้เปิดประชุมสภาราษฎรเช่นเดิม และเตรียมดำเนินการให้มีการเลือกตั้งครั้งแรกโดยเร็ว จากนั้น พ.อ.พระยาพหลฯ ก็ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยตนเอง และได้เรียกตัวหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับมาจากต่างประเทศ การยึดอำนาจ 20 มิถุนายน จึงถือเป็นการฟื้นคืนอำนาจของคณะราษฎรอย่างแท้จริง
 
แต่ฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยก็ยังคงไม่ยอมแพ้ ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2476 ทหารฝ่ายอนุรักษ์นิยมเจ้าได้รวมตัวกันที่เมืองนครราชสีมา ตั้งเป็น”คณะกู้บ้านกู้เมือง” โดยมี พล.อ.พระองค์เจ้าบวรเดชเป็นผู้นำ พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) เป็นแม่ทัพหน้า แล้วยกกำลังมาล้อมพระนคร ยื่นคำขาดให้ฝ่ายคณะราษฎรยอมจำนน แต่ฝ่ายคณะราษฎรตัดสินใจที่จะต่อสู้ จึงแต่งตั้งให้ พ.ท.หลวงพิบูลสงคราม เป็นแม่ทัพ และสามารถเอาชนะฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองได้ พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม เสียชีวิตในการรบที่หินลับ พล.อ.พระองค์เจ้าบวรเดช เสด็จหนีไปลี้ภัยที่อินโดจีนฝรั่งเศส กรณีนี้จึงเรียกกันในประวัติศาสตร์ว่า “กบฏบวรเดช”
 
สรุปแล้วจะเห็นได้ว่า ปี พ.ศ.2476 เป็นปีแห่งการต่อสู้ขั้นดุเดือดรุนแรง ระหว่างฝ่ายคณะราษฎรที่รักษาระบอบประชาธิปไตยกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมเจ้าที่มุ่งฟื้นระบอบเก่า ชัยชนะของฝ่ายคณะราษฎรโดยการรื้อฟื้นระบอบรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างรากฐานของประชาธิปไตยต่อมาจนถึงปัจจุบัน
 
และในวันนี้ เราก็มารำลึกถึงการครบรอบ 80 ปี ของการฟื้นฟูประชาธิปไตยในครั้งนั้น
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net