เนตรดาว เถาถวิล: เกษตรพันธะสัญญา (แย่?) + เกษตรอินทรีย์ (ดี?) แต่บางทีก็มาแพ็คคู่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

บทความตอนที่ 3 ในชุดเกษตรอินทรีย์ ว่าด้วยเรื่องระบบเกษตรพันธะสัญญาของข้าวอินทรีย์ ผู้เขียนตั้งคำถามว่า ทำไมระบบเกษตรพันธะสัญญา (Contract farming) จึงถูกนำมาใช้ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ และเมื่อมีการนำระบบเกษตรพันธะสัญญามาใช้ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ผลที่เกิดเป็นอย่างไร ผู้เขียนมองผ่านกรณีศึกษาของการผลิตข้าวอินทรีย์ เพื่อชี้ถึงผลกระทบของการนำระบบเกษตรพันธะสัญญามาใช้ในการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์

ระบบเกษตรอินทรีย์ถูกมองว่าต่างจากระบบเกษตรเคมีอย่างสิ้นเชิง เชื่อกันว่าเกษตรเคมีเป็นระบบที่ใช้สารเคมีทางการเกษตรแบบเข้มข้น เน้นการพึ่งพาเทคโนโลยีสมัยใหม่ และไม่มีความเป็นธรรมชาติอยู่เลย ในขณะที่เกษตรอินทรีย์ถูกมองว่าไม่ใช้สารเคมีทางการเกษตร มีความเป็นธรรมชาติ และไม่พึ่งพิงเทคโนโลยีในการผลิต แต่พูดตามความเป็นจริงแล้ว เกษตรอินทรีย์ไม่ได้รับรองว่าระบบการผลิตปลอดจากสารเคมี และยังเป็นระบบที่พึ่งพิงความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตอย่างมากด้วย ยิ่งการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐานสากลเพื่อส่งออก ยิ่งต้องพึ่งพาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และมีการควบคุมกระบวนการผลิตและควบคุมแรงงานอย่างเข้มงวด

เกษตรพันธะสัญญา

ระบบเกษตรพันธะสัญญา เป็นการทำสัญญาระหว่างบรรษัทผู้รับซื้อหรือผู้แปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกกับเกษตรกรผู้ผลิต โดยมีการทำข้อตกลงล่วงหน้าทั้งแบบวาจา หรือเป็นลายลักษณ์อักษรว่า จะมีการจ้างทำการผลิตสินค้าอะไร มีการระบุเงื่อนไขการผลิต เงื่อนไขการรับซื้อผลผลิต ตลอดจนราคาที่จะรับซื้อผลผลิต โดยผู้ซื้อมีอำนาจกำหนดราคาผลผลิตและเงื่อนไขการรับซื้อ รวมถึงผู้ซื้อมีอำนาจในการปฏิเสธการซื้อหากเกษตรกรไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญา ระบบเกษตรพันธะสัญญาจึงเป็นการจัดองค์กรการผลิตแบบใหม่ ที่เอื้อประโยชน์ให้ทุนการเกษตรขนาดใหญ่สามารถเข้าถึงที่ดินและแรงงานของครัวเรือนเกษตรกรรายย่อย และสามารถเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ที่ดิน น้ำ สภาพภูมิอากาศ ฯลฯ ที่มีอยู่ในท้องถิ่นและมีความจำเป็นในการผลิตสินค้าเกษตร[i]

รัฐบาลไทยมีนโยบายสนับสนุนระบบเกษตรพันธะสัญญามาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่   6 เพราะรัฐบาลมองว่าระบบเกษตรพันธะสัญญาจะเป็นเครื่องมือที่เพิ่มประสิทธิภาพในการกระตุ้นให้เกิดการเติบโตของอุตสาหกรรมการเกษตร ด้วยความเชื่อว่าเกษตรพันธะสัญญาจะช่วยให้แก่เกษตรกรรายย่อยที่เดิมไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิต สามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตในระบบทุนได้ดีขึ้น ด้วยเหตุผลดังกล่าว รัฐบาลจึงมองว่าระบบเกษตรพันธะสัญญาจะช่วยยกระดับประเทศไทยเป็นผู้ผลิตอาหารที่มีมูลค่าสูงในอนาคต นโยบายรัฐดังกล่าวมีส่วนส่งเสริมให้บรรษัทข้ามชาติและทุนการเกษตรขนาดใหญ่เข้ามาส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรในระบบพันธะสัญญามากขึ้น เช่น การส่งเสริมให้ปลูกพืชผักที่ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารกระป๋อง และอุตสาหกรรมผักแช่แข็ง เช่น ใบยาสูบ อ้อย สับปะรด ปาล์มน้ำมัน ยูคาลิปตัส ข้าวโพด ข้าวโพดฝักอ่อน มะม่วงหิมพานต์ เมล็ดทานตะวัน ข้าวบาร์เล่ย์ ปอแก้ว กุ้งทะเล ฝ้าย มะเขือเทศ เมล็ดพันธุ์พืชผัก  ยางพารา ถั่ว ไหม หน่อไม้ ขิง เห็ด แตงโมพันธุ์สีเหลือง พืชผักแช่แข็ง ผลไม้เมืองร้อนต่างๆ [ii]

อย่างไรก็ดี มีการวิจัยพบว่าแม้รัฐบาลจะสนับสนุนระบบเกษตรพันธะสัญญานานกว่าสามทศวรรษ ทว่าการขยายตัวของระบบเกษตรพันธะสัญญาในประเทศไทยเกิดจากการทำสัญญาร่วมกันระหว่างทุนกับเกษตรกรผู้ผลิตเป็นหลัก โดยหน่วยงานรัฐมีส่วนเกี่ยวข้องน้อยมาก และในกรณีที่การทำเกษตรพันธะสัญญาไม่ได้ให้ผลที่น่าพึงพอใจ หรือเกิดปัญหาขึ้นระหว่างคู่สัญญา หน่วยงานรัฐก็ไม่ได้เข้ามาแทรกแซง หรือบังคับใช้กฎหมายให้ทันเวลาและเป็นไปอย่างเหมาะสม ปล่อยให้เกษตรกรเป็นหนี้สินจนล้มละลาย การผลิตในระบบเกษตรพันธะสัญญาในบางกรณี เช่น การทำฟาร์มกุ้ง สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการผลิตในระยะยาว หน่วยงานรัฐก็ไม่ได้เข้ามาควบคุมอย่างจริงจัง นอกจากนั้น รัฐไม่ได้มีมาตรการบังคับให้ธุรกิจการเกษตรนำผลกำไรจากการผลิตในระบบเกษตรพันธะสัญญามาช่วยในการพัฒนาท้องถิ่นแต่อย่างใด[iii]

ผู้ที่เห็นด้วยกับการนำระบบเกษตรพันธะสัญญามาใช้มองว่า ระบบเกษตรพันธะสัญญาเป็นระบบที่ทั้งนายทุนและเกษตรกรต่างก็ได้รับประโยชน์ร่วมกัน เพราะระบบเกษตรพันธะสัญญา ช่วยให้ธุรกิจการเกษตรมีความมั่นใจว่าจะสามารถผลิตพืชผลที่มีปริมาณและคุณภาพเชื่อถือได้ โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อที่ดิน สร้างโรงเรือนและเสี่ยงทำการผลิตด้วยตนเอง ซึ่งมักมีต้นทุนที่สูงกว่าการจ้างเกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรในระบบเกษตรพันธะสัญญา นอกจากนั้น มุมมองดังกล่าวยังเชื่อว่า ระบบเกษตรพันธะสัญญายังช่วยให้นายทุนลดความยุ่งยากและค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงาน ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตที่มีสัดส่วนสูงมากอีกด้วย ฝ่ายเกษตรกรก็ได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมในระบบเกษตรพันธะสัญญา เพราะสามารถเข้าถึงช่องทางการตลาดใหม่ๆ ซึ่งหาได้ยากในพื้นที่ สามารถเข้าถึงเงินทุน ความรู้ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ซึ่งจำเป็นสำหรับการผลิต[iv] ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงไม่น่าแปลกใจหากธุรกิจการเกษตรหันมาลงทุนทำการเกษตรผ่านระบบเกษตรพันธะสัญญามากขึ้น ธุรกิจการเกษตรใช้ระบบเกษตรพันธะสัญญาสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาทำการผลิตพืชชนิดใหม่ที่พวกเขาไม่คุ้นเคยมาก่อน และรับประกันว่าจะรับซื้อผลผลิตในราคาที่เกษตรกรพึงพอใจ

อย่างไรก็ดี ในอีกมุมมองหนึ่ง ระบบเกษตรพันธะสัญญาถูกวิจารณ์ว่าเป็นเครื่องมือที่นายทุนนำมาใช้เพื่อเอาเปรียบเกษตรกร ฝ่ายที่คัดค้านระบบเกษตรพันธะสัญญาโต้แย้งว่า ระบบเกษตรพันธะสัญญาเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุนมากกว่าเกษตรกร เพราะช่วยให้นายทุนสามารถปรับตัวในการผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของระบบตลาดได้ดีขึ้น นายทุนมีหลักประกันว่าการผลิตอาหารจะเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด และได้ผลผลิตตามกำหนด ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีข้อวิจารณ์ว่าระบบเกษตรพันธะสัญญาทำให้ทุนสามารถควบคุมแรงงานได้มากขึ้น กระทั่งนักวิชาการบางท่านเปรียบเปรยว่า ระบบเกษตรพันธะสัญญาเปลี่ยนเกษตรกรอิสระให้กลายเป็นเสมือน “กึ่งแรงงานรับจ้าง” หรือแรงงานรับจ้างที่ทุนจ้างวานให้ทำงานบนผืนดินที่ตัวเองเป็นเจ้าของ การนำเกษตรพันธะสัญญามาใช้ในการผลิตทางการเกษตรในชนบทถูกมองว่า อาจนำไปสู่การล่มสลายของระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพในชนบท และทำให้ชีวิตเกษตรกรมีความไม่มั่นคงเพิ่มขึ้น[v] มีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นปัญหาและผลกระทบของระบบเกษตรพันธะสัญญาออกมามากขึ้นเรื่อยๆ รายงานวิจัยชิ้นหนึ่งพูดถึงการนำระบบเกษตรพันธะสัญญามาใช้ในการอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหามาก เช่น ระบบเกษตรพันธะสัญญาของฟาร์มหมูในประเทศไทย มีปัญหาเกษตรกรได้รับค่าตอบแทนต่ำ มีการจ่ายค่าตอบแทนช้ากว่ากำหนด แต่ต้นทุนในการสร้างโรงเรือนแบบปิดสูง ปัจจัยการผลิตราคาสูง คุณภาพต่ำ พันธุ์หมูไม่ดี ทำให้เกษตรกรมีหนี้สินเพิ่มขึ้น แต่ไม่มีอำนาจต่อรอง เกษตรกรมีความเครียดจากการถูกควบคุมแรงงาน เสี่ยงกับการใช้สารเคมี[vi]

ในขณะที่มีการโต้แย้งทางความคิดระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่คัดค้านระบบเกษตรพันธะสัญญาในภาคเกษตร มุมมองที่สามได้ถูกนำเสนอโดยนักวิชาการที่มีความเห็นต่างออกไป  เพราะมองว่าระบบเกษตรพันธะสัญญามีทั้งด้านที่เป็นประโยชน์และด้านที่เป็นปัญหา ธุรกิจการเกษตรและเกษตรกรได้รับประโยชน์ร่วมกันบางด้าน เช่น การกระจายความเสี่ยง ขณะเดียวกัน ธุรกิจการเกษตรและเกษตรกรก็อาจมีความขัดแย้งกันเรื่องผลประโยชน์ เช่น ทุนมุ่งลดต้นทุนการผลิตให้มากที่สุด จึงเอาเปรียบเกษตรกร เกษตรกรก็ต่อต้านการเอาเปรียบ นักวิชาการกลุ่มนี้มองว่าความสำเร็จหรือความล้มเหลวของระบบเกษตรพันธะสัญญาขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่เฉพาะเจาะจงของแต่ละกรณี เช่น เงื่อนไขของการผลิตพืชแต่ละชนิด และเงื่อนไขการนำระบบเกษตรพันธะสัญญาไปใช้ในแต่ละพื้นที่ เงื่อนไขแรงจูงใจและข้อจำกัดของการทำเกษตรพันธะสัญญาของเกษตรกรแต่ละกลุ่ม เป็นต้น[vii]

เกษตรพันธะสัญญาของข้าวอินทรีย์

ในขณะที่ข้อถกเถียงในเรื่องข้อดีและข้อเสียของเกษตรพันธะสัญญายังไม่มีข้อยุติ เกษตรพันธะสัญญากลับถูกนำมาใช้เพื่อส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยอย่างกว้างขวาง ทั้งระบบที่ส่งเสริมโดยธุรกิจเอกชนและโดยองค์กรพัฒนาเอกชน ในกรณีของการผลิตข้าวอินทรีย์นั้น ผู้เขียนพบว่ามีเหตุผลหลายประการที่เกี่ยวข้อง เช่น การทำเกษตรพันธะสัญญาเพื่อให้เกษตรกรปลูกข้าวอินทรีย์ ช่วยให้นายทุนสามารถเข้าถึงที่ดินที่เหมาะสมที่ครัวเรือนเกษตรกรรายย่อยถือครองอยู่ กล่าวเฉพาะในภาคอีสาน ที่ดินส่วนใหญ่ถือครองโดยครัวเรือนเกษตรกรรายย่อย ดังนั้นจึงเป็นการยากที่กลุ่มทุนจะเข้ากว้านซื้อที่ดินแปลงใหญ่ที่มีความเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวอินทรีย์ ในขณะที่ที่ดินอุดมสมบูรณ์อาจตั้งอยู่ห่างไกลกันและกระจัดกระจาย ทำให้โครงการมีต้นทุนค่าการจัดการสูง หากคิดจะกว้านซื้อที่ดินแปลงใหญ่สำหรับการปลูกข้าวอินทรีย์ นายทุนจึงนิยมใช้การทำเกษตรพันธะสัญญากับเกษตรกรรายย่อย เพื่อให้ปลูกข้าวอินทรีย์ตามข้อกำหนดที่ตกลงกันล่วงหน้ามากกว่า

ภายใต้ระบบเกษตรพันธะสัญญาเพื่อการผลิตข้าวอินทรีย์ มีการระบุรายละเอียดของกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เกษตรกรจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ที่นาต้องถูกจัดการเสมือนเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของเกษตรกรที่ทำเกษตรพันธะสัญญา แม้ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ที่นาผืนนั้นอาจเป็นสมบัติที่ใช้ร่วมกันของครัวเรือนหรือตระกูล ภายใต้ระบบเกษตรพันธะสัญญา เป็นที่คาดหวังว่าเกษตรกรจะจัดหาที่ดินมาทำการผลิตฟรีและลงทุนปรับปรุงคุณภาพดินเอง


เครดิตภาพ ดำนา โดย เนตรดาว เถาถวิล : การทำนาอินทรีย์ต้องวิธีดำนาเท่านั้น
ห้ามทำนาหว่าน จึงต้องใช้แรงงานคนในการทำนามาก

นอกจากนั้น เหตุผลด้านแรงงานก็มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะการทำเกษตรพันธะสัญญาทำให้เกษตรกรยอมเปลี่ยนมาปลูกข้าวอินทรีย์ ซึ่งเป็นพืชที่ตนเองไม่คุ้นเคยมาก่อน และไม่มีตลาดรองรับในพื้นที่ แต่กลับเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค งานศึกษาที่ทำเมื่อไม่นานมานี้ ชี้ให้เห็นว่าเกษตรกรจะไม่ยอมปลูกพืชผักหลายชนิด หากไม่มีการทำสัญญาว่าจะซื้อ และนายทุนมักจะเลือกเกษตรกรที่อยู่ห่างไกลจากตลาด เพื่อทำเกษตรพันธะสัญญา ทั้งนี้ก็เพื่อให้แน่ใจว่าเกษตรกรจะไม่นำผลผลิตไปขายเองนอกสัญญา การทำเกษตรพันธะสัญญาทำให้นายทุนสามารถเข้าถึงแรงงานที่มีทักษะในการผลิตข้าวอินทรีย์ โดยที่นายทุนไม่จำเป็นต้องเสี่ยงในการลงทุนทำการผลิตเอง ในบทความก่อนหน้านี้ ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าการทำนาอินทรีย์ต้องใช้แรงงานแบบเข้มข้น แต่ความต้องการแรงงานดังกล่าวกลับไม่สม่ำเสมอ จึงกลายเป็นปัญหาอย่างหนึ่งในการจัดการการผลิต ซึ่งเกษตรกรผู้ทำเกษตรอินทรีย์ต้องหาทางแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง เกษตรกรใช้กลยุทธ์การจ้างงานหลายรูปแบบ เพื่อให้แน่ใจมีแรงงานในการผลิตเพียงพอ

การทำเกษตรพันธะสัญญาทำให้นายทุนได้ประโยชน์จากแรงงานในครัวเรือนเกษตรกรมากที่สุด เพราะสามารถใช้ประโยชน์จากแรงงานส่วนเกินในครัวเรือนชาวนา โดยไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทน เพราะแม้ว่าเกษตรกรที่เซ็นสัญญาจะมีเพียงหนึ่งคนในครอบครัว แต่ในทางปฏิบัติ แรงงานเกือบทั้งหมดในครอบครัวล้วนมีส่วนช่วยทำนาอินทรีย์ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะแรงงานผู้หญิงและเด็ก ถือว่ามีส่วนสำคัญในการช่วยทำนาอินทรีย์ในหลายขั้นตอน เท่ากับว่านายทุนได้ประโยชน์สูงมากจากการใช้แรงงานในครัวเรือนเกษตรกรรายย่อย และอาจให้ผลประโยชน์มากกว่าการลงทุนทำแปลงนาขนาดใหญ่ด้วยตนเองและจ้างแรงงานมาทำนา

ที่สำคัญ การใช้ระบบเกษตรพันธะสัญญาในระบบนาอินทรีย์ช่วยให้นายทุนหลีกเลี่ยงปัญหาเกี่ยวกับการจัดการแรงงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก และเสียค่าใช้จ่ายสูง ในพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว ผู้เขียนพบว่าภายใต้เงื่อนไขที่แรงงานภาคเกษตรมีค่าจ้างสูงและหายาก เกษตรกรที่ทำนาอินทรีย์ในระบบเกษตรพันธะสัญญาหันไปจ้างแรงงานลาวมาช่วยทำนาอินทรีย์เป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในบางฤดูกาลที่มีความต้องการแรงงานสูง เช่น ในช่วงดำนาและช่วงเกี่ยวข้าว ดังนั้นการทำเกษตรพันธะสัญญาจึงช่วยให้นายทุนสามารถถ่ายโอนภาระการจ้างแรงงานไปให้เกษตรกรที่ทำเกษตรในระบบพันธะสัญญาเป็นผู้แบกรับภาระแทน ถ้าเกษตรกรไม่อยากจ่ายค่าจ้างแรงงานเพิ่ม พวกเขาก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากการขูดรีดแรงงานตัวเองเพื่อทำงานให้ทันตามกำหนดเวลา

ยิ่งไปกว่านั้น การทำเกษตรพันธะสัญญาของข้าวอินทรีย์ ยังเอื้อประโยชน์ให้นายทุนสามารถควบคุมแรงงานในการผลิตได้สะดวกขึ้น จริงอยู่ที่การทำสัญญาเกิดขึ้นระหว่างผู้ว่าจ้างกับเกษตรกรเป็นรายบุคคล แต่เกษตรกรที่ทำสัญญาจะต้องรับรองว่าไม่มีการกระทำใดๆ ที่ละเมิดกฎข้อบังคับในการทำเกษตรอินทรีย์ จึงเท่ากับว่าเกษตรกรผู้ทำสัญญาต้องเจรจาต่อรองและรับผิดชอบต่อการละเมิดกฎข้อบังคับในการทำเกษตรอินทรีย์ของสมาชิกในครอบครัว นั่นหมายความว่าสมาชิกครัวเรือนเกษตรกรทั้งหมดต้องปฏิบัติตามกฎข้อบังคับในการทำเกษตรอินทรีย์ด้วย นอกจากนั้น เกษตรกรผู้ทำสัญญาต้องควบคุมแรงงานรับจ้างที่ตนจ้างมา ไม่ให้ทำผิดกฎข้อบังคับในการทำเกษตรอินทรีย์ด้วยเช่นกัน ผู้เขียนพบว่าเงื่อนไขในเรื่องนี้ได้สร้างความขัดแย้งภายในครัวเรือนเกษตรกรจำนวนหนึ่ง เพราะสมาชิกในครัวเรือนมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่ยอมรับกฎเกณฑ์ในการทำอินทรีย์ ทำให้เกษตรกรจำนวนหนึ่งต้องเลิกทำนาอินทรีย์ไปเลย เพราะสมาชิกในครอบครัวไม่ยอมปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ


เครดิตภาพ คอกหมูในแปลงนา โดย เนตรดาว เถาถวิล : คอกหมูในแปลงนามักสร้างปัญหาให้กับชาวนาอินทรีย์
เนื่องจากมีข้อบังคับไม่ให้กักขังสัตว์ในกรง และไม่ให้เลี้ยงด้วยอาหารจากโรงงานอุตสาหกรรม
และต้องมีการจัดการน้ำทิ้งจากคอกสัตว์อย่างถูกสุขอนามัย ซึ่งเกษตรกรมักถูกตัดสินว่าทำผิดกฎข้อบังคับ

สำหรับรูปแบบการควบคุมแรงงานในระบบเกษตรพันธะสัญญาของข้าวอินทรีย์ มีทั้งการควบคุมแรงงานแบบชัดเจน ซึ่งกระทำผ่านการออกกฎข้อบังคับในการทำนาอินทรีย์ ที่มีรายละเอียดมากมายที่เกษตรกรต้องปฏิบัติตาม ทั้งในช่วงก่อนการผลิต ในกระบวนการผลิต และหลังการเก็บเกี่ยว เช่น เกษตรกรต้องทำเกษตรอินทรีย์เต็มพื้นที่ รวมถึงการห้ามไม่ให้ปลูกพืชคู่ขนาน การเลี้ยงสัตว์ในนาอินทรีย์ ต้องไม่มีการกักขังสัตว์ในคอกอย่างแออัด และต้องให้อาหารสัตว์ที่มาจากธรรมชาติ ไม่ให้เลี้ยงด้วยอาหารจากโรงงานอุตสาหกรรม เกษตรกรต้องคืนพื้นที่ให้ธรรมชาติอย่างน้อย 7% ของพื้นที่ทั้งหมด ไม่ให้ทำกินเต็มที่ดิน แต่ต้องปลูกต้นไม้ เว้นที่ป่าละเมาะ คันนา บ่อ สระน้ำ บ่อปลา โรงนา เพื่อส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ

นอกจากนั้น เกษตรกรต้องทำสัญญาว่าจะปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับในการทำเกษตรอินทรีย์ และระเบียบของกลุ่ม เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ใช้ต้องเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ดังนั้นจึงไม่อนุญาตให้เกษตรกรเก็บพันธุ์ข้าวไว้ใช้เอง แต่ต้องซื้อและมีการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ทุกปี รวมถึงห้ามเกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีการตัดต่อพันธุกรรม ห้ามเกษตรกรใช้สารเคมีทุกชนิด ห้ามใช้ถังฉีดพ่นสารเคมี และห้ามนำถุงปุ๋ยเคมีมาบรรจุข้าวทุกชนิด ปัจจัยในการผลิตจะต้องไม่มีการคลุกสารเคมี และได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัย


เครดิตภาพ คันนาขาด โดย เนตรดาว เถาถวิล : เกษตรกรต้องยกคันนาอินทรีย์ให้สูงกว่านาเคมี และดูแลซ่อมแซมคันนาให้อยู่ในสภาพดี หากมีปัญหาคันนาขาด ทำให้น้ำจากนาเคมีไหลลงสู่แปลงนาอินทรีย์ได้ เกษตรกรจะต้องถูกลงโทษ

นอกเหนือจากนั้น เกษตรกรต้องปลูกพืชหมุนเวียนในแปลงนาเพื่อบำรุงดิน เกษตรกรจะต้องทำคันนาให้สูง ไม่ให้น้ำจากแปลงนาอื่นไหลผ่าน เพื่อป้องกันการไหลของสารเคมีจากแปลงข้างเคียงสู่นาอินทรีย์ และเกษตรกรต้องปลูกต้นไม้เพื่อเป็นแนวรั้วป้องกันยาฆ่าแมลงที่อาจปลิวลงมาที่แปลงนาเกษตรอินทรีย์ ในการเก็บเกี่ยว กฎข้อบังคับเรื่องนี้มักจะสร้างความขัดแย้งระหว่างเกษตรกรที่ทำนาอินทรีย์กับแปลงข้างเคียงที่ทำนาเคมี เนื่องจากเกษตรกรที่ทำนาอินทรีย์ต้องปิดทางน้ำสาธารณะที่ไหลผ่านแปลงนาตนเอง เพื่อป้องกันการปนเปื้อนทางน้ำ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิของเกษตรกรที่ทำนาเคมี และข้อบังคับในเรื่องการปลูกต้นไม้เป็นแนวรั้วกั้นการปนเปื้อนทางอากาศ ก็มักสร้างปัญหากับเพื่อนบ้านที่ทำนาเคมี เพราะเพื่อนบ้านอาจกังวลว่าต้นไม้ที่ปลูกเป็นแนวรั้วอาจให้ร่มเงาที่บังแสงในนา หรือมีดอกผลที่ล่อแมลงศัตรูพืช


เครดิตภาพ ความขัดแย้ง โดย เนตรดาว เถาถวิล : ข้อบังคับให้เกษตรกรต้องปลูกต้นไม้กั้นเขตแดนระหว่างนาอินทรีย์กับนาเคมี แต่เพื่อนบ้านไม่อนุญาต ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเกษตรกรที่มีนาติดกัน
เกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ต้องเลือกว่า จะยอมถูกลงโทษ หรือไม่ก็ต้องขัดแย้งกับเพื่อนบ้าน

 

ยิ่งไปกว่านั้น กฎข้อบังคับยังครอบคลุมถึงประเด็นที่ว่า เกษตรกรจะต้องแยกผลผลิตให้ชัดเจนสามารถตรวจสอบได้ เกษตรกรจะต้องทำตามคำแนะนำเรื่องระยะเวลาและขั้นตอนการเก็บเกี่ยวข้าวอย่างเคร่งครัด สมาชิกของโครงการจะต้องเข้ารับการฝึกอบรมทุกปี และต้องทำบัญชีฟาร์มอย่างละเอียด ซึ่งการบันทึกข้อมูลทุกขั้นตอน เป็นเรื่องที่เกษตรกรไม่มีความคุ้นเคย รวมทั้งเกษตรกรต้องเก็บใบเสร็จการซื้อขายปัจจัยการผลิตและผลผลิตทุกอย่าง เพื่อเป็นหลักฐานในการตรวจสอบรับรองจากองค์กรตรวจสอบ เกษตรกรต้องยินยอมให้มีการเข้าตรวจสอบแปลงนา บ้านพัก ที่เก็บรักษาข้าวหอมมะลิอินทรีย์ และการทำการเกษตรอื่นๆ ได้ทุกเมื่อ โดยไม่จำเป็นต้องมีการบอกล่วงหน้า เกษตรกรจะขายผลผลิตทั้งหมดให้แก่โครงการเท่านั้น และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการส่งมอบผลผลิตเอง เกษตรกรจะต้องแจ้งให้โครงการฯ ทราบโดยทันที ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงการผลิต การแปรรูป การประกอบการ

นอกเหนือจากการบังคับใช้กฎข้อบังคับในการทำเกษตรอินทรีย์กับเกษตรกร ยังมีการควบคุมแรงงานแบบที่มองเห็นไม่ชัดเจน เช่น การใช้เวทีฝีกอบรมเกษตรกรเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติในการทำเกษตรกรรม เพื่อให้เกษตรกรยอมรับการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับอย่างเต็มใจ การจัดทำแผนที่แปลงนาอย่างละเอียด เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ผลิตและรายละเอียดของแปลงนาสามารถมองเห็นได้และตรวจสอบนับได้ และง่ายต่อการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก การทำบัญชีฟาร์มเป็นการปลูกฝังความรู้ในแง่ของการคำนวณต้นทุนกำไรให้แก่เกษตรกร เท่ากับเป็นการปลูกฝังค่านิยมในเรื่องการเป็นผู้ประกอบการ และศักยภาพในการแข่งขันในระบบตลาด (ผู้สนใจในประเด็นนี้ โปรดติดตามอ่านบทความ “การสร้างความเป็นมาตรฐานในระบบเกษตรอินทรีย์” โดยผู้เขียนในวารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เร็วๆ นี้)

นอกจากนั้น การใช้กลไกราคา เช่น การคัดแยกเกรดในการรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร และการกำหนดราคาข้าวไม่เท่ากัน ถือเป็นกลไกการควบคุมแรงงานรูปแบบหนึ่ง เพราะเป็นการบังคับให้เกษตรกรต้องลงทุนลงแรงทำการผลิตและขายข้าวคุณภาพสูง ไม่เช่นนั้นเกษตรกรก็จะขายข้าวได้ราคาต่ำ หรือถูกหักเงินค่าขายข้าว หักค่าเปอร์เซ็นต์ความชื้น หักค่าเปอร์เซ็นต์ข้าวหักข้าวปน เป็นต้น ส่วนข้อกำหนดให้เกษตรกรต้องระบุหมายเลขรหัสประจำตัวสมาชิกในการขายข้าว ทำให้ผู้รับซื้อสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ว่า ข้าวที่ส่งมอบให้มีคุณภาพดีเพียงใด และมีปัญหาการปนเปื้อนหรือไม่ รวมถึงคุณภาพข้าวที่เกษตรกรแต่ละคนผลิตมีปริมาณมากน้อยเพียงใด และมีคุณภาพดีเพียงใด ซึ่งทำให้การควบคุมแรงงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

สรุป

การทำเกษตรพันธะสัญญาของข้าวอินทรีย์ เป็นกรณีศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าการทำเกษตรอินทรีย์เพื่อขาย เป็นระบบที่ห่างไกลจากความเป็น “ธรรมชาติ” และ “ความเป็นอุดมคติ” อย่างที่มักจะเชื่อกัน ระบบเกษตรอินทรีย์ต้องพึ่งพาปัจจัยทุน เทคโนโลยี และมีการใช้แรงงานและควบคุมแรงงานอย่างเข้มข้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้ผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ ภายใต้เงื่อนไขของการทำสัญญา เช่น ที่ดินถูกดึงไปใช้ในการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและตลาดมากขึ้น รวมถึงมีการใช้ประโยชน์แรงงานในครัวเรือนเกษตรกรมากขึ้น ในขณะที่เกษตรกรต้องทำงานหนักขึ้น สูญเสียอำนาจในการควบคุมและตัดสินใจเกี่ยวกับวิธีการผลิต ทั้งยังไม่มีอำนาจต่อรองในเรื่องราคาผลผลิตอีกด้วย

นอกจากนั้น ความต้องการของผู้บริโภคในเรื่องอาหารปลอดภัย การอนุรักษ์รักษาสิ่งแวดล้อม และการคุ้มครองสิทธิของสัตว์เลี้ยง ได้กลายเป็นแรงกดดันรูปแบบใหม่ต่อเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากมีการออกกฎระเบียบในการทำเกษตรอินทรีย์จำนวนมากเพื่อให้เกษตรกรปฏิบัติตาม การบังคับใช้กฎข้อบังคับในการทำเกษตรอินทรีย์หลายประเด็นสร้างความขัดแย้งในครัวเรือนเกษตรกร เพราะสมาชิกครัวเรือนมีความเห็นที่แตกต่างกันในการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของการทำเกษตรอินทรีย์ และในบางกรณี การบังคับใช้กฎข้อบังคับในการทำเกษตรอินทรีย์สร้างความขัดแย้งระหว่างเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์กับเกษตรกรที่ทำเกษตรเคมีในชุมชนเดียวกัน ซึ่งมีที่ดินอยู่ติดกัน ใช้น้ำจากแหล่งน้ำร่วมกัน เนื่องจากเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ต้องการควบคุมไม่ให้เกิดความเสี่ยงจากการปนเปื้อนของสารเคมี ทั้งการปนเปื้อนที่มาทางดิน ทางน้ำและทางอากาศ ทำให้เกิดการกระทบสิทธิของเกษตรกรที่ทำเกษตรเคมีซึ่งยังคงใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง

          ในบทความตอนหน้า ผู้เขียนจะนำเสนอมุมมองของเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ในระบบเกษตรพันธะสัญญา เพื่อชี้ให้เห็นแรงกดดันที่เกษตรกรต้องแบกรับ และกลยุทธ์ที่เกษตรกรเลือกใช้เพื่อต่อรองกับแรงกดดันดังกล่าว

 

         

 

 

 

 

         

 

 



เอกสารอ้างอิง

[i] David Grover and Ken Kusterner. 1990. Small Farmers, Big Business: Contract Farming and

Rural Development. Hampshire: MACMILLAN.

[ii] Sompop Manarangsan and Suebskun Suwanjindar. 1992. “Contract Farming and Outgrower

            Schemes in Thailand” in Contract Farming in Southeast Asia: Three Countries Studies.

            Kuala Lumpur: Institute for Advanced Studies, University of Malaya.

[iii] Singh, Sukhpal. 2005. “Role of the State in Contract Farming in Thailand: Experience and

            Lessons.” In Asean Economic Bulletin, Vol.22, No.2, pp. 217-28.

[iv] Sompop Manarangsan and Suebskun Suwanjindar, 1992. อ้างแล้ว.

[v] Peter D.Little and Michael J. Watts (eds.) 1994. Living under Contract: Contract Farming and

 Agrarian Transformation in Sub-Saharan Africa. Wisconsin: The University of Wisconsin

Press.

[vi] Singh, Sukhpal. 2005, อ้างแล้ว.

[vii] David Grover and Ken Kusterner. 1990, อ้างแล้ว.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท