Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
ถนนแคบๆ แบบใจกลางเมืองเดิม ควรรักษาไว้และส่งเสริมให้เติบโตต่อเนื่อง แทนการขยายตัวของเมืองตามยถากรรม ที่อาจอนุมานได้นักผังเมืองกระแสหลักของไทยที่ไปศึกษามาจากประเทศตะวันตก ใจแคบและละทิ้งรากเหง้าของไทยแท้ๆ
 
ในระหว่างวันที่ 16-21 มิถุนายน 2556 ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้นำพาคณะผู้สนใจด้านอสังหาริมทรัพย์ ไปดูงานอสังหาริมทรัพย์ ณ นครโอซากา นารา โกเบ ประเทศญี่ปุ่น ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เพื่อระดมทุนสนับสนุนกิจกรรมสาธารณประโยชน์ของมูลนิธิ ในระหว่างนั้นได้พบข้อคิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับการวางแผนพัฒนาเมือง มาแลกเปลี่ยนกันในเรื่องถนนแคบๆ ในนครต่างๆ ของญี่ป่น
 
ท่านที่ไปเที่ยวญี่ปุ่น จะสังเกตได้ว่าถนนซอยส่วนใหญ่ในนครต่างๆ มีขนาดแคบๆ วิ่งรถได้แค่ช่องทางจราจรเดียวเป็นสำคัญ ซึ่งก็คล้ายๆ กับแถวพาหุรัด บางลำพู สำเพ็ง เยาวราช ฯลฯ ที่มีถนนตรอกซอกซอยแคบๆ เช่นกัน แต่ปรากฏว่าของไทย ขาดการพัฒนาใจกลางเมืองต่อเนื่อง เราทอดทิ้งศูนย์กลางเมืองเดิม ละทิ้งรากเหง้าของเราเอง แล้วหันไปสร้างศูนย์กลางเมืองต่อที่สีลม และขยายไปรัชดาภิเษก พระรามที่ 3 บางนา ศรีนครินทร์ ปิ่นเกล้า ฯลฯ
 
บางคนบอกเราไม่ควรให้อาคารสร้างชิดติดกันเพราะอาจเกิดปัญหาเพลิงไหม้ได้ แต่ที่ญี่ปุ่นทำไมเขาทำได้ เขายังมีท่อแก๊สลงใต้ดินอีกด้วย ดูน่ากลัวกว่าไทยด้วยซ้ำ แต่ในประเทศไทย เรากลับอ้างความไร้ประสิทธิภาพในระบบการดับเพลิง มากีดขวางการพัฒนาเมือง การพัฒนาประเทศ ประเทศไทยโดยเฉพาะมหานครใหญ่ๆ ควรยกระดับประสิทธิภาพการดับเพลิงด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ หน่วยเคลื่อนที่เร็ว หรือเฮลิคอปเตอร์-เครื่องบินดับเพลิง แทนที่จะอาศัยแต่ระบบดับเพลิงเดิมๆ ที่ใช้มาครึ่งศตวรรษ ผนวกกับการทำงานอาสาสมัครของเหล่ามูลนิธิต่าง ๆ
 
นอกจากนี้ยังมีบางคนอ้าง (ส่งเดช) ว่าการอยู่อย่างหนาแน่นไม่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย แถม "ข่มขู่" ว่าเป็นเพราะไทยเป็นประเทศร้อนชื้น เชื้อรา (เชื้อโรค) มากมาย ทำให้เราต้องสร้างบ้านให้โล่งๆ กว้างๆ ไว้ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด ถ้าเมืองไทยโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครไม่เคยมีพาหุรัด บางลำพู สำเพ็ง เยาวราช ฯลฯ ก็ว่าไปอย่าง แต่นี่เราเคยมีมาแล้ว แต่เรากลับทิ้งรากเหง้าเดิมเสีย เพียงเพราะการ "ตามก้น" ตะวันตก
 
ในญี่ปุ่น เขารักษาเขตใจกลางเมืองไว้อย่างเดิม ในย่านธุรกิจใจกลางเมือง เขาอนุญาตให้สร้างอาคารชิดติดกันได้ โดยไม่ต้องเว้นระยะ ไม่ต้องร่นหน้า ร่นหลัง เหมือนในกรณีกรุงเทพมหานคร ที่ดูเป็นการแกล้งไม่ให้เมืองมีการพัฒนาในแนวสูงๆ ไล่คนกรุงเทพมหานครให้ออกไปอยู่นอกเมือง มากกว่าที่จะพัฒนาใจกลางเมืองให้เจริญ แล้วเชื่อมต่อด้วยระบบรถไฟฟ้าใต้ดินหรือบนดิน เพื่อไม่ให้เมืองขยายตัวออกไปอย่างไร้การควบคุมทุกทิศทุกทาง
 
การที่เมืองขยายตัวออกไปตามยถากรรมนี้ ถือเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายพื้นที่ชนบทรอบนอกของเมืองอย่างไม่อาจกลับคืนมาได้ เช่น ย่านบางนาที่ปลูกข้าวได้ดีที่สุดของไทย ย่านบางมดที่ปลูกส้มที่มีชื่อเสียง หรือในเขตจังหวัดนนทบุรีที่มีสวนทุเรียนขึ้นชื่อของประเทศ ล้วนถูกทำลายย่อยยับลงเพราะการขยายตัวของเมืองอย่างขาดการวางแผน ผมจึงสงสัยนักว่า นักผังเมืองกระแสหลักที่วางผังเมืองจนเกษียณอายุราชการไปหลายชั่วรุ่น ได้เกียรติยศชื่อเสียงไปมากมาย ไปทำอะไรกันอยู่ จึงปล่อยให้กรุงเทพมหานครและเมืองทั้งหลายประสบชะตากรรมเช่นนี้
 
โดยนัยนี้ เราต้องสร้างระบบรถไฟฟ้าใจกลางเมือง ให้สามารถประสานส่วนต่างๆ ของเมือง โดยเฉพาะในเขตใจกลางเมือง อนุญาตให้สร้างอาคารได้สูงๆ ที่มีความหนาแน่นมาก (High Density) แต่ไม่เกิดความแออัด (Over crowdedness) เพื่อประสิทธิภาพการใช้ที่ดินสูงสุด เพราะให้เมืองมีประสิทธิภาพในการทำการหน้าที่เพื่อประชาชนส่วนใหญ่
 
 
......
 
AREA แถลง ฉบับที่ 76/2556: พฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน 2556
 
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net