ครม.ไฟเขียวหั่นราคาจำนำข้าวเหลือตันละ 12,000 จำกัดเพดาน 5 แสนต่อครัว

 

19 มิ.ย.56  ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ หรือ กขช. เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2556 ซึ่งเป็นเรื่องสืบเนื่องจากผลการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2556 ที่ได้ให้มีการนำข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่ง ชาติเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกเข้าพิจารณาเพิ่มเติม โดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของเกษตรกร

ที่ประชุมกขช.เห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกโดยรวมมีความผันผวน ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น จึงเห็นชอบให้ปรับราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้า 100% ของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 จากราคาตันละ 15,000 บาท เป็นราคาตันละ 12,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2556 เป็นต้นไป โดยราคาที่ปรับลงใกล้เคียงกับราคาเฉลี่ยของข้าวเปลือกเจ้านาปรัง บวกค่าตอบแทนเกษตรกรประมาณร้อยละ 40 ซึ่งเป็นเกณฑ์การช่วยเหลือที่สูงกว่ามาตรฐานการช่วยเหลือสินค้าเกษตรทั่วไป อย่างไรก็ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นว่าจะสามารถปรับราคาและเงื่อนไข หากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ขณะเดียวกันที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ยังรับทราบผลการประชุม กขช. เรื่องการจำกัดวงเงินรับจำนำข้าวของเกษตรกรแต่ละครัวเรือน จากเดิมที่ไม่จำกัดวงเงิน เป็นไม่เกินครัวเรือนละ 500,000 บาทต่อปี โดยให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2556 เป็นต้นไป

สำหรับกรอบวงเงินที่ใช้ในการรับจำนำข้าวเปลือกนั้น ยืนยันตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2556 ที่กำหนดวงเงินดำเนินการสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556 จะต้องไม่เกิน 500,000 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินจากกระทรวงการคลัง 410,000 ล้านบาท และเงินทุนหมุนเวียนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจำนวน 90,000 ล้านบาท

ส่วนข้อท้วงติงว่าการปรับเปลี่ยนโครงการรับจำนำข้าวเปลือก จะกระทบกับสิ่งที่รัฐบาลได้แถลงเป็นนโยบายหรือไม่นั้น นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ความเห็นว่าสามารถดำเนินการได้ เพราะรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเร่งด่วนตามที่ได้แถลงไว้ครบถ้วนแล้วแก่เกษตรกร ตั้งแต่ปีแรก จากนี้ไปจะเป็นการปรับโครงสร้างภาคการเกษตร ที่จะเน้นเพิ่มรายได้ให้ดีขึ้น พร้อมกับเพิ่มคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีอย่างยั่งยืน

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีด้วยว่า จากนี้ไปต้องให้ความสำคัญกับ 3 ประเด็นคือ 1.การทำเกษตรโซนนิ่ง โดยเน้นให้มีการปลูกพืชเกษตรในพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร 2.เร่งรัดให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องนำงานวิจัยที่เกี่ยวเนื่องกับการเพิ่ม มูลค่าและคุณภาพสินค้าเกษตรมาปรับใช้ เช่น การผลิตข้าวอินทรีย์ ที่เมื่อผลิตและส่งออกแล้วได้ราคาดี และ 3.ได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีกิตติรัตน์ ณ ระนอง หารือร่วมกับกระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม ยกระดับราคาสินค้าเกษตรที่สามารถนำมาใช้ในการผลิตเป็นพลังงานทดแทน

นอกจากนี้เพื่อความโปร่งใสในการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าว ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงกระทรวงมหาดไทย เข้มงวดในการตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวทุกขั้นตอน ตั้งแต่ การจดทะเบียน การตรวจสภาพข้าว การเก็บรักษา และการระบายข้าว

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพบว่า โครงการรับจำนำข้าวที่ผ่านมา ทำให้กำลังซื้อและการบริโภคของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2% ทำให้ GDP เพิ่มขึ้นประมาณ 0.69% ในปีแรกของโครงการ และเพิ่มขึ้น 0.62% ในปีที่สอง ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นกว่าอัตราปกติ ทั้งนี้ในปี 2555 ที่ผ่านมา การใช้จ่ายภาคครัวเรือนทั้งประเทศขยายตัวถึง 6.7% แต่หากไม่มีโครงการเพื่อเพิ่มรายได้และอำนาจซื้อของเกษตรกรในชนบท จะส่งผลทำให้การบริโภครวมของครัวเรือนขยายตัวเพียง 4.7% เท่านั้น

กฤษฎีกายัน ปรับราคาลงได้

ด้านนายอัช พร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงกรณีรัฐบาลมีแนวคิดปรับลดราคารับจำนำข้าวลงจากตันละ 15,000 บาท เป็น 12,000 บาทต่อตัน ว่า สามารถทำได้เพราะรัฐบาลมีอำนาจจะปรับเปลี่ยนรายละเอียดของนโยบายได้ แต่ต้องเป็นไปอย่างรัดกุม รอบคอบ และจำเป็นต้องทบทวน หรือ พิจารณายกเลิกมติ ครม.เดิมที่ผูกพันหลายเรื่องเนื่องจากโครงการจำนำข้าวเป็นนโยบายที่แถลงไว้ ต่อรัฐสภา ดังนั้น ครม.ต้องรับทราบการปรับเปลี่ยนราคารับจำนำใหม่ที่จะเริ่ม 1 ก.ค.นี้

นายอัช พร กล่าวว่าได้เสนอให้รัฐบาลกำหนดมาตรการชดเชย หรือ หาแนวทางเสริมในส่วนการลดเงินที่ชาวนาจะได้จากโครงการรับจำนำ โดยต้องเพิ่มส่วนต่างอื่นๆ ที่ชาวนาจะได้รับให้มีมูลค่าเท่าเดิม เพื่อป้องกันการประท้วงของเกษตรกร 

ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 176 ระบุให้ คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และเมื่อแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว ต้องจัดทำแผนการบริหาร ราชการแผ่นดิน เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติราชการ โดยข้อที่ 11 ในคำแถลงนโยบายของรัฐบาล ระบุว่า จะยกระดับราคาสินค้าเกษตร และให้เกษตรกร เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยดูแลราคาสินค้าเกษตรให้มีเสถียรภาพที่เหมาะสม คำนึงถึงกลไกราคาตลาดโลก โดยใช้วิธีบริหารจัดการทางการตลาดและกลไกตลาดซื้อขายล่วงหน้า รวมทั้งผลักดันให้เกษตรกรสามารถขายสินค้าเกษตรได้ในราคาสูงเพียงพอเมื่อ เทียบกับต้นทุน และนำระบบรับจำนำสินค้าเกษตรมาใช้ในการสร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้แก่ เกษตรกร เริ่มต้นจากการรับจำนำข้าวเปลือกเจ้าและข้าวเปลือกหอมมะลิ ความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 ที่ราคาเกวียนละ 15,000 บาท และ 20,000 บาทตามลำดับ

ชาวนาบางส่วนรับได้ บางส่วนเตรียมระดมค้าน

ด้านนายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย เปิดเผยวานนี้ว่า หากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติปรับลดวงเงินจำนำข้าวจาก 15,000 บาทต่อตัน เหลือ 11,000 - 13,000 บาทต่อตัน ทางสมาคมก็จะไม่ออกมาเคลื่อนไหว ขอเพียงแต่ให้รัฐบาล ออกมาให้เหตุผลกับชาวนา หรือเกษตรกร ด้วยข้อเท็จจริง มากกว่าการมาอ้างผลประโยชน์ของชาวนาเหมือนในปัจจุบัน และสำหรับตัวเลขผลการขาดทุนจำนำข้าวที่ทุกฝ่ายกำลังจับตามองนั้น ทางรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ก็ควรออกมาชี้แจงด้วยตนเอง และตัวเลขที่แท้จริง ซึ่งมองว่า ถ้าหาก กระทรวงพาณิชย์ ยอมออกมาเปิดเผยตัวเลขการขาดทุนตั้งแต่แรก ไม่ปากแข็ง กระแสการตกแต่งตัวเลขก็น่าจะไม่เกิดขึ้น และเชื่อว่าทุกฝ่ายรับได้ เพียงแต่ขอให้เป็นตัวเลขที่แท้จริง

ด้านนายพรม บุญมาช่วย ประธานสภาเกษตรกรสุพรรณบุรี กล่าวว่า กลุ่มตัวแทนชาวนาจากทั่วประเทศเตรียมจะเดิมทางไปประชุมร่วมกันที่จังหวัด นครนายกในระหว่างวันที่ 20-21 มิ.ย.เพื่อปรึกษาหารือทางออกร่วมกันตลอดทั้งแสดงพลังคัดค้านไม่เห็นด้วยกับ กรณีที่รัฐบาลมีการลดจำนำข้าวนาปรังปี 2556 เหลือ 12,000 ต่อตันซึ่งชาวนาส่วนใหญ่ไม่ค่อยพอใจเพราะไม่คุ้มกับการลงทุน
 
นายพรม กล่าวอีกว่า ถ้ารัฐบาลปรับลดราคารับจำนำข้าวจากตันละ 15,000 บาท เหลือ 13,000 หรือ 13,500 บาทก็พอจะรับได้เพราะราคาข้าวนั้นลดลงมากกว่าที่เกษตรกรคาดไว้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุดมาแก้ที่ปลายเหตุทั้งๆที่ทางรัฐบาลรู้อยู่แก่ใจ ว่าต้นเหตุคือการทุจริตการดำเนินการรับจำนำข้าวที่ไม่โปร่งใสในกระบวนการรับ จำนำข้าวที่ต้องตรวจสอบให้เข้มข้นขึ้นอีก และเตรียมเคลื่อนไหวแสดงพลังคัดค้านมติของรัฐบาล

มติ กขช. วานนี้

สำหรับรายละเอียดและเหตุผลของการปรับผลราคาจำนำนั้น ก่อนหน้านี้ในช่วงเย็นวันที่ 18 มิ.ย. มีการประชุมด่วนของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ซึ่งภายหลังการประชุมนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติให้ปรับปรุงรายละเอียดโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลฤดู การผลิตนาปรังปี 56 ที่ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.-15 ก.ย.นี้ โดยให้ปรับลดราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 15% ลงจากตันละ 15,000 บาท เหลือตันละ 12,000 บาท โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้เป็นต้นไป และยังจำกัดวงเงินชาวนาในการนำข้าวเข้าสู่โครงการรับจำนำไม่เกินรายละ 500,000 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย.56 นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง ไปพิจารณาหาแนวทางและมาตรการช่วยเหลือในการลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร

“การ ปรับลดรายละเอียดโครงการรับจำนำที่ให้เริ่มตั้งแต่นาปรังปี 56 นี้ ไม่ใช่เป็นเพราะรัฐบาลเงินไม่พอ แต่เรามีภาระที่ต้องรับผิดชอบต่องบประมาณในภาพรวม และต้องรักษาวินัยทางการเงินการคลัง เพื่อให้เป้าหมายการจัดทำงบประมาณสมดุลเกิดขึ้นในปี 60 ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายว่า รัฐบาลจะจำกัดวงเงินภาระค่าใช้จ่ายและผลขาดทุนในโครงการรับจำนำไม่เกินปีละ 100,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ราคาจำนำที่ปรับลดลงจะกระทบต่อราคาตลาดข้าวในประเทศบ้าง แต่ไม่กระทบกับราคาส่งออกข้าวไทย เพราะในสัญญาที่ขายไปแล้วก็ยังคงยึดตามราคาที่ตกลงกัน ส่วนที่กำลังจะทำสัญญาใหม่ก็ยึดราคาตลาดโลกเป็นเกณฑ์อยู่แล้ว” นายบุญทรง กล่าว

นายบุญทรง กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ราคารับจำนำที่ปรับลดลงนี้ จะใช้เฉพาะโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 56 เท่านั้น ส่วนการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 56/57 จะต้องพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง โดยราคารับจำนำที่ตันละ 12,000 บาทนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการคำนวณต้นทุนการผลิตของเกษตรกรอยู่ที่ตันละ 8,000 พันกว่าบาท ถือว่าเกษตรกรมีกำไรอยู่ประมาณ 40% และราคาดังกล่าวยังเหมาะสมกับราคาตลาดปัจจุบัน และราคาตลาดโลก ซึ่งจากการที่ได้มีการสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเกษตรกร ก็ไม่ขัดข้อง ส่วนใหญ่เห็นด้วย และเห็นใจรัฐบาล

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การปรับลดราคารับจำนำเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลยอมรับว่าดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวผิดพลาดหรือไม่ นายบุญทรง กล่าวว่า ไม่ถือว่าเป็นนโยบายที่ผิดพลาด เพราะในการกำหนดนโยบายขณะนั้น ผู้ทำนโยบายต้องการหาวิธีที่จะให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้นเร็วที่สุด และใกล้เคียงกับรายได้ของแรงงานที่เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 300 บาท ดังนั้น การรับจำนำข้าวราคาสูง จึงเป็นวิธีที่จะทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้นเร็วที่สุดได้ แต่เมื่อดำเนินโครงการมาระยะหนึ่ง ปัจจัยต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป ทั้งสต๊อกข้าวของประเทศคู่แข่ง อย่างอินเดีย และเวียดนาม ที่เร่งเพาะปลูกจนผลผลิตล้นตลาด จึงต้องแข่งกันลดราคาขาย ส่งผลให้ข้าวไทยขายยาก เพราะราคาสูงกว่าคู่แข่งมาก อีกทั้งกระทรวงการคลังยังต้องการให้รักษาวินัยทางการเงินการคลัง จึงต้องจำกัดวงเงิน ภาระค่าใช้จ่าย และผลขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวไม่เกินปีละ 100,000 ล้านบาทไว้

“รัฐบาล ไม่คิดว่าการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายที่ผิดพลาด แต่กลับเป็นนโยบายที่ทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้นเร็วที่สุด เพราะตอนที่รัฐบาลนี้เข้าทำงาน ก็มีนโยบายช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่มอยู่แล้ว อีกทั้งยังเชื่อว่า การปรับลดราคารับจำนำนี้ไม่ทำให้รัฐบาลขาดความเชื่อมั่นอย่างแน่นอน เพราะเมื่อเกิดปัญหาด้านงบประมาณขึ้น เราก็แก้ไขในทันที ดีกว่าไม่ยอมรับฟังใคร และไม่แก้ไขอะไรเลย” นายบุญทรง กล่าว

 

 

เรียบเรียงจาก เว็บไซต์ไทยรัฐ, เว็บไซต์ไอเอ็นเอ็น, เว็บไซต์ครอบครัวข่าว3

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท