Skip to main content
sharethis

ชื่อเดิม: ความรุนแรงกับการเรียนรู้ของคนเสื้อแดงในคุก : แลกกันแล้วคุ้มแค่ไหน

 

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (14 มิถุนายน 2556) เหตุการณ์การนัดชุมนุมของกลุ่มคนหน้ากากขาวที่เชียงใหม่ถูกล้อมโดยกลุ่มเสื้อแดงกลายเป็นข่าวใหญ่ โดยถูกสรุปผ่านสายตาของสื่อกระแสหลักรวมทั้งเพจเฟซบุ๊คต้นทางที่ริเริ่มนัดแนะกิจกรรมนี้ ภาพข่าวที่สื่อกระแสหลักรออยู่แล้วคือการใช้ความรุนแรงโดยเฉพาะจากฝั่งเสื้อแดง เชียงใหม่ในฐานะเมืองหลวงสำคัญของคนเสื้อแดงจึงกลายเป็นพื้นที่ต้อนรับประเด็นสาธารณะอย่างรวดเร็ว มีการรายงานสถานการณ์สดๆ และอภิปรายกันอย่างดุเดือดนาทีต่อนาทีทั้งในโลกออนไลน์และสื่อวิทยุโทรทัศน์ ถึงแม้จะยังไม่มีข่าวการจับกุมผู้ก่อเหตุรุนแรง แต่มีแนวโน้มว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจคงไม่ยอมปล่อยให้เรื่องที่เป็นที่สนใจของประชาชนอย่างนี้ผ่านไปง่ายๆ และหากมีการดำเนินคดีต่อไปข้างหน้าก็ย่อมเป็นที่จับตาของทุกฝ่ายอย่างแน่นอน

ถัดมาแค่วันเดียว (15 มิถุนายน 2556) กลุ่มปฏิญญาหน้าศาลได้จัดกิจกรรม “ทานอาหารกับเพื่อนที่เรือนจำหลักสี่” เราจึงได้อาศัยโอกาสนี้ในการเข้าพูดคุยกับคนเสื้อแดงส่วนน้อยที่ได้เรียนรู้ผลกระทบทางการเมืองอยู่ในเรือนจำในขณะนี้ เราจึงขอความเห็นของนักโทษคดีการเมืองบางส่วนเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ โดยมีคำถามหลัก คือ เห็นด้วยกับการชุมนุมเผชิญหน้าครั้งนี้หรือไม่ คิดอย่างไรกับความรุนแรง และที่ผ่านมาได้เรียนรู้อะไรบ้างจากผลกระทบที่ได้รับกับตัวเอง

*หมายเหตุ : ทางเรือนจำไม่อนุญาตให้มีการบันทึกภาพและเสียง ถ้อยคำของผู้ถูกสัมภาษณ์จึงจำเป็นต้องผ่านการเรียบเรียงสรุปโดยผู้สัมภาษณ์เป็นส่วนใหญ่

=========

ธีรวัฒน์ สัจสุวรรณ อายุ 21 ปี ต้องโทษ 33 ปี 12 เดือน จากคดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ธีรวัฒน์เป็นเด็กเสิร์ฟในร้านอาหารที่สนใจการเมือง เขาระบุว่าเพียงแค่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ความรุนแรงก็ต้องตกเป็นจำเลยข้อหาฉกรรจ์ สำหรับข่าวการปะทะกันระหว่างกลุ่มหน้ากากขาวกับเสื้อแดงเชียงใหม่ เขายืนยันว่าไม่เคยเห็นด้วยกับการใช้กำลัง และท่ามกลางการแลกเปลี่ยนความเห็นในหมู่นักโทษคดีเสื้อแดงพบว่า ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการที่เสื้อแดงไปชุมนุมเผชิญหน้ากับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เขาเป็นหนึ่งในเสียงส่วนน้อยที่ไม่เห็นด้วย

(อ่านจดหมายจากธีรวัฒน์ สัจสุวรรณ )

“จากเรื่องของผมเองนั้นเห็นได้ว่าฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐมีการวางแผนสลับสับเปลี่ยนกำลัง เริ่มแรกก็ใช้ทหารยิงปืนออกมาสร้างความโกรธแค้นต่อประชาชน แล้วเปลี่ยนเอาตำรวจมาแทน สุดท้ายก็เปิดทางปล่อยให้มีการเผาทำลายอาคารศาลากลาง มีคนเสื้อแดงไม่กี่คนที่เข้าไป แต่ภาพที่ออกมาคือเสื้อแดงทั้งหมดตกเป็นจำเลย”

“ย้อนเวลาได้ก็คงไปร่วมอีกเช่นเดิม แต่เราไม่เคยคิดใช้ความรุนแรงอยู่แล้ว ถ้าเขายั่วยุมาก็ไม่จำเป็นต้องโต้ตอบ ปล่อยให้เขาทำไป แต่อย่างน้อยต้องป้องกันความปลอดภัยของมวลชนฝ่ายเราเองให้ได้มากที่สุดตามสถานการณ์”

“ความรุนแรงถ้าหากจะเกิดขึ้นก็เห็นว่ามีสาเหตุหลายอย่าง อยู่ที่การตัดสินใจของแกนนำด้วยว่ามีแผนรับมืออย่างไร ถึงมวลชนส่วนใหญ่จะตัดสินใจได้เอง แต่การนำที่ดีก็มีส่วนสำคัญมากที่จะป้องกันความรุนแรง”

“ส่วนตัวที่ได้ย้ายมาอยู่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ก็ยังไม่ได้รู้สึกโอเค แต่ก็ยังดีกว่าคนอื่นที่เขามีครอบครัวต้องดูแล อยากให้เราเคลื่อนไหวแสดงออกอย่างสันติ เพราะมาอยู่อย่างนี้แล้วไม่คุ้มแน่ๆ เพราะตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด ส่วนเรื่องคดีไม่หวังอะไรแล้วนอกจากรอนิรโทษกรรม”

………………..

ประสิทธิ์ พลอยทับทิม อายุ 56 ปี โดนข้อหาขัดขวางการเข้ารื้อเวทีและเต๊นท์ของ “กลุ่มพิราบขาว 2006” และเจ้าพนักงานเทศกิจรื้อเวทีสนามหลวงเมื่อปี 50 ตั้งแต่สมัย “กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ” ศาลตัดสินลงโทษรวม 1 ปีไม่รอลงอาญา ในเหตุการณ์เดียวกันประสิทธิ์ยังถูกเจ้าหน้าที่ใช้กระบองฟาดจนขาหักและยังเดินกะเผลกอยู่จนถึงทุกวันนี้ โดยที่ยังไม่สามารถเรียกร้องอะไรจากใครได้

ประสิทธิ์เข้าร่วมกับขบวนคนเสื้อแดงตั้งแต่ยุคคาราวานคนจนเมื่อปี 48 และร่วมชุมนุมตลอดมาไม่เคยขาด ประสิทธิ์ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ปะทะหลายครั้ง เขาให้เหตุผลว่าที่มักจะปะทะรุนแรงกับกลุ่มคนฝั่งตรงข้ามอย่างเสื้อเหลืองก็เพราะว่าเกลียด ไม่พอใจที่สนับสนุนอำนาจนอกระบบ สองมาตรฐาน ประกอบกับได้ผ่านเหตุการณ์ที่พบเห็นด้วยตัวเอง โดยเขาอยู่ในเหตุการณ์ปะทะช่วงที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเข้ายึดทำเนียบรัฐบาลเมื่อปี 2551 ด้วย และได้เป็นประจักษ์พยานในการสูญเสียชีวิตของณรงค์ศักดิ์ กรอบไธสง ความเกลียดชังจึงบ่มนานจนกลายเป็นความคับแค้นพร้อมที่จะระเบิดทุกครั้งที่เผชิญหน้า

หลังจากที่ประสิทธิ์ต้องเข้ารับโทษในเรือนจำพร้อมๆ กับผู้ต้องขังคดีเสื้อแดงอื่นๆ แล้ว ประสิทธิ์เคยได้รับการดูแลจากธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล หรือ หนุ่มเรดนนท์ และสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ เมื่อครั้งยังไม่ได้ย้ายมารับโทษอยู่ที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่เหมือนในปัจจุบัน

"ตั้งแต่ติดคุกมายังไม่มีแกนนำมาเยี่ยม มีแต่พี่น้องมวลชนที่คอยดูแลกันอยู่"

"ที่ผ่านมาเราออกไปชนก็เพราะเกลียดมัน เราตัดสินใจเอง ไม่ใช่เพราะแกนนำสั่ง ที่ต้องมาติดคุกก็ไม่เป็นไร ไม่คิดว่าคุ้มไม่คุ้ม ไม่เคยกลัว คิดว่าสู้กับพวกเสื้อเหลืองจะชนะได้ง่ายกว่า เพราะอย่างไรเราก็ไม่มีกำลังพอจะไปสู้กับทหาร"

"อยากให้แกนนำตั้งเวทีที่สนามหลวงชนกับพวกเสื้อเหลืองที่ตั้งอยู่ตอนนี้ไปเลยดีกว่า ส่วนตัวถ้าออกไปได้ก็จะไปร่วมอีก ส่งใจเชียร์ให้พี่น้องเสื้อแดงเชียงใหม่ ไม่ได้เห็นว่าทำผิดอะไร แต่ควรจะหาทางป้องกันเหตุรุนแรง ส่วนการกระทบกระทั่งก็ย่อมจะมีบ้าง แต่ภาพที่สื่อออกมามันเห็นเป็นว่าเสื้อแดงเราไปรุมทำร้ายเขา ไม่ต่างจากที่คนเสื้อแดงเราเคยถูกกระทำ ภาพก็เลยออกมาไม่สวย แต่จริงๆ ก็ไม่ได้อยากให้ปะทะกันอย่างนั้น เพราะกลัวว่าจะเป็นกลลวงของฝ่ายตรงข้ามที่ต้องการสร้างภาพใส่ร้ายคนเสื้อแดง"

………………..

วรกฤต นันทะมงคลชัย อายุ 33 ปี เคยเป็นการ์ดกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ถูกศาลตัดสินจำคุก 1 ปี 8 เดือนไม่รอลงอาญา ด้วยข้อหาพกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ขณะที่เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องต่อสถานทูตซาอุดิอาระเบียให้กดดันรัฐบาลนายอภิสิทธิ์กรณีนายตำรวจใหญ่พัวพันการอุ้มฆ่านักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบีย ก่อนหน้านั้นวรกฤตอยู่ร่วมให้เหตุการณ์ใช้กำลังปะทะระหว่างเสื้อแดงเสื้อเหลือง และกับเจ้าหน้าที่รัฐหลายครั้ง เขาเล่าว่า หลังจากถูกจับกุมดำเนินคดี ไม่มีแกนนำคนใดยื่นมือให้ความช่วยเหลือ ยิ่งไปกว่านั้นแกนนำบางคนยังทำเหมือนคนไม่รู้จักกัน มีแต่พี่น้องเสื้อแดงระดับมวลชนที่คอยดูแลโดยเฉพาะทางด้านจิตใจ แรกเข้าสู่เรือนจำก็มีหนุ่มเรดนนท์และอ.สุรชัยค่อยช่วยเหลือให้คำแนะนำในการปรับตัวเนื่องจากไม่มีญาติอยู่ในกรุงเทพ อีกทั้งน้องชายยังหายสาบสูญไปโดยไม่มีใครช่วยติดตาม

(อ่านข่าวเกี่ยวกับวรกฤต นันทะมงคลชัย

)

“ย้ายมาอยู่ที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่นี้ทำให้สภาพความเป็นอยู่ดีกว่าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมาก เพราะพี่น้องเสื้อแดงมาดูแลได้สะดวก ก็อยากให้เพื่อนร่วมชะตากรรมคดีการเมืองได้ย้ายมาอยู่ด้วยกันทั้งหมด แต่ถึงจะอยู่ดีอย่างไรเสียก็ไม่เหมือนกับการได้รับอิสรภาพ คิดว่าไม่คุ้มแน่ๆ”

“เราทุ่มทุกอย่าง ชีวิตให้หมด แต่สุดท้ายก็เป็นบทเรียนราคาแพง มีแต่มวลชนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลยเท่านั้นที่เห็นว่ามาดูแลกัน”

“ถ้าให้ไปร่วมอีกก็จะไป แต่จะระวังไม่ให้เกิดเรื่อง ไม่อยากให้มีความรุนแรง ความเสียหายที่ผ่านมามันไม่คุ้ม คิดว่าไม่ใช่เรื่องว่าใครยั่วยุใคร แต่เป็นสถานการณ์พาไปมากกว่า ไม่เอาอีกแล้วเรื่องความรุนแรง”

“ถึงจะเห็นด้วยกับที่เสื้อแดงเชียงใหม่ออกไปเผชิญหน้ากับกลุ่มหน้ากากขาว เพราะเราต้องแสดงออกถึงจุดยืนของเรา แต่ก็อยากฝากบอกว่า อย่าไปปะทะกับเขาเลย จะเข้าเกมเขา ควรจะเน้นปะทะกันทางความคิดดีกว่าใช้กำลัง อย่าใช้ความรุนเรงเลย มันไม่คุ้มหรอก”

=================

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net