Skip to main content
sharethis

 

18 มิ.ย.56 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบข้อมูลและข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) พร้อมให้แต่งตั้งคณะกรรมการของแต่ละหน่วยงานตรวจสอบปริมาณสินค้าคงเหลืออีกครั้ง

นายวรา​เทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า มี​การรายงานข้อมูลต่อที่ประชุม ครม.​ถึงตัว​เลขผลกำ​ไรขาดทุน​ใน​โครง​การรับจำนำข้าว ​ซึ่ง​เป็นข้อมูลของคณะอนุกรรม​การปิดบัญชี​โครง​การรับจำนำสินค้า​เกษตร กระทรวง​การคลัง ​ซึ่ง​เป็นยอดขาดทุนรวม 1.36 ​แสนล้านบาท จาก 2 ​โครง​การ​แรก คือ​โครง​การรับจำนำข้าวนาปี ปี 54/55 ​และ​โครง​การรับจำนำข้าวนาปรัง ปี 55 ​แต่ยัง​ไม่รวม​การดำ​เนินงาน​ในส่วนของข้าวนาปี ปี 55/56 รวมแล้วมีตัว​เลขขาดทุน 1.36 ​แสนล้านบาท

อย่าง​ไร​ก็ดี ​เนื่องจากยังมีตัว​เลขสต๊อกข้าวจากองค์​การคลังสินค้า(อคส.) ​และองค์​การตลาด​เพื่อ​เกษตรกร (อ.ต.ก.) ที่ยัง​ไม่​ได้บันทึกรวม​ไว้​ในยอดของคณะอนุกรรม​การปิดบัญชีฯ อีกราว 2.98 ล้านตัน ส่วน​ใหญ่อยู่​ใน​โครง​การจำนำข้าวนาปี ฤดู​การผลิตปี 55/56 ที่ประชุมครม.​จึงขอ​ให้​เน้น​การตรวจสต็อกข้าว ​โดย​ให้กระทรวงพาณิชย์กำหนด​แนวทาง​การตรวจสต็อกข้าวและขอ​ให้นำมารายงานภาย​ใน 1 ​เดือน ​ซึ่งจะ​ทำ​ให้ทราบตัว​เลข​การปิดบัญชี​โครง​การรับจำนำข้าวครบ​ทั้ง 3 ​โครง​การขณะ​เดียวกัน

นายวราเทพกล่าวอีกว่า ตัว​เลข​โครง​การจำนำข้าวนาปี ปี 55/56 ณ วันที่ 31 ม.ค.56 มีข้าว​เปลือก​เข้า​โครง​การ 9.9 ล้านตัน มี​การรายงานว่ามีข้าว​เปลือกค้าง​ในสต็อก 2.9 ล้านตัน ดังนั้น​จึงมีข้าว​เปลือกที่รอสี​แปรสภาพอยู่ 7 ล้านตัน ​ซึ่ง​ใน 7 ล้านตันข้าว​เปลือกนี้จะต้องสี​แปรสภาพออกมา​เป็นข้าวสาร​ได้ 4 ล้านตันข้าวสาร ​แต่ตัว​เลข​ในรายงานที่บันทึกอยู่กลับมีข้าวสาร​เพียง 1.7 ล้านตัน ดังนั้น​จึงต้องมี​การตรวจสอบ​ความชัด​เจนของตัว​เลขนี้​ใหม่

ส่วนกรณี​เรื่อง​การปรับ​เกณฑ์ราคารับจำนำข้าว​ใหม่นั้น นายวรา​เทพ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี​ไม่​ได้มี​การพิจารณา​ใน​เรื่องนี้ ว่าจะ​เลือก​ใช้​แนวทาง​ใดจากที่ กขช.​เสนอมา​ทั้งหมด 3 ​แนวทาง ​โดย​ได้ขอ​ให้ กขช.นำข้อ​เสนอ​แนะของสภาพัฒน์ ​และรายงานของตนกลับ​ไปประกอบ​การพิจารณาอีกครั้ง

ขณะที่ ร.ท.หญิง สุนิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมหลังการประชุมครม.ว่า ที่ประชุม ครม.มอบหมายให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ และคณะอนุกรรมการตรวจสอบที่ กขช.แต่งตั้ง ที่มี พล.ต.ต. ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกฯ เป็นประธาน เข้าตรวจสอบโรงสี และโกดังกลางที่อยู่ในโครงการรับจำนำ เนื่องจากมีข้าวสารที่คาดว่าจะหายไปกว่า 3 แสนตัน และต้องการตรวจดูว่าโรงสีเข้าร่วมรับจำนำมีสต๊อกลมหรือไม่ หากพบว่าผิดจะดำเนินคดีถึงที่สุด โดยต้องรายงานให้ ครม.รับทราบภายใน 30 วัน
       
ร.ท.หญิง สุนิสา กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ กชช.ยังรายงานให้ ครม.รับทราบในการปรับลดราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้าในปี 56/67 ให้ลดเหลือประมาณ 12,000-13,000 บาทต่อตัน ผ่านการคำนวณรูปแบบต่างๆ และการจำกัดปริมาณรับจำนำข้าวไม่เกิน 25 ตันต่อครัวเรือน หรือเป็นเงินไม่เกิน 5 แสนบาทต่อราย และกำหนดเป้าหมายต้องขาดทุนไม่เกิน 70,000 ล้านบาท ที่ประชุม ครม.สั่งให้กลับไปศึกษาให้ชัดเจนอีกครั้งเพื่อรองรับการจำนำข้าวในปีต่อไป
       
รายงานข่าวจากที่ประชุม ครม.แจ้งว่า นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เสนอให้ลดราคาตามโครงการรับจำนำข้าวจาก 15,000 บาทต่อตันเหลือ 12,000 บาทต่อตัน ตามที่ กขช.เสนอ แต่ไม่ได้อธิบายเหตุผลรองรับ ต่อมา นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้อภิปรายทันทีว่า “ท่านอย่าลืมว่าท่านได้เสนอนโยบายต่อรัฐสภาไปแล้ว ซึ่งหากจะทำอย่างนั้นต้องหาอะไรเสริมให้เขา ถ้าอย่างนั้นไม่ได้ คุณโดนแน่ เพราะอย่าลืมว่าคุณหาเสียงไว้อย่างนั้นและแถลงต่อสภาไว้อย่างนี้ ซึ่งรัฐบาลมีอำนาจลด หรือปรับเปลี่ยนนโยบาย แต่ต้องทำเพื่อไม่ให้มีปัญหา” ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่เป็นประธานในการประชุมได้รับทราบตามนั้น และสั่งการให้ กขช.ไปพิจารณามาใหม่ว่าหากลด 12,000 บาท จะมีแนวทางอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ ภายใน 30 วัน
       
นอกจากนี้ผู้แทนจาก สศช.ได้เสนอในที่ประชุมว่า การใช้คำว่าขาดทุนนั้น เป็นวาทกรรมทางการเมือง เพราะสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่ยอมรับว่า โครงการประกันราคานั้นขาดทุน แล้วเหตุใดรัฐบาลจึงใช้คำพูดที่เข้าทางฝ่ายค้านด้วย ทำให้ นายวราเทพ แย้งว่า หากเปลี่ยนตอนนี้ สังคมก็จะตำหนิว่าเปลี่ยนปุบปับ และตั้งข้อสงสัยกันอีก
 

กขช.เคาะราคารับจำนำข้าวเปลือกตันละ 12,000 บาท เริ่ม 30 มิ.ย.

ในช่วงเย็นวันเดียวกัน มีการประชุมของ กขช.วาระพิเศษหลังนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ กขช. ไปจัดทำรายละเอียดหลักเกณฑ์การรับจำนำ โดยภายหลังการประชุม นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรองประธาน กขช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติให้ปรับลดราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2556 ข้าวเปลือกเจ้า 100 เปอร์เซ็นต์ ความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 จากเดิมตันละ 15,000 บาท เหลือตันละ 12,000 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายนนี้เป็นต้นไป และกำหนดวงเงินรับจำนำเกษตรกรแต่ละรายไม่เกิน 500,000 บาทต่อครัวเรือน มีผลวันที่ 20 มิถุนายนนี้

สำหรับการปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าวนั้น เพื่อรักษาวินัยทางการคลังที่รัฐบาลวางแผนจัดทำงบสมดุลภายในปี 2560 และให้การใช้เงินงบประมาณในการแทรกแซงราคารับจำนำขาดทุนไม่เกิน 100,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งผลจากการขาดทุนโครงการรับจำนำในโครงการ 2554/2555 ที่ขาดทุนกว่า 136,000 ล้านบาท รัฐบาลจะพิจารณางบประมาณมาชดเชยผลการขาดทุน และจากการติดตามต้นทุนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าต้นทุนต่อไร่ของเกษตรกรอยู่ที่ 8,000 บาทต่อตัน แม้มีการลดราคารับจำนำเหลือ 12,000 บาทต่อตัน เกษตรกรก็จะยังมีกำไรเกือบร้อยละ 40

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงการคลัง ไปหาแนวทางลดต้นทุน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร หลังมีการปรับลดราคารับจำนำ ส่วนการรับจำนำข้าวในฤดูกาลต่อไปยังไม่ได้พิจารณา

ส่วนโครงการรับจำนำข้าวนาปรัง 2556 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 31 ตุลาคมนี้ คาดว่าจะมีปริมาณข้าวเข้าโครงการรับจำนำประมาณ 10 ล้านตันข้าวเปลือก

ขณะที่ในช่วงค่ำ สื่อมวลชนรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 19 มิ.ย. เวลา 10.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเรียกประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่าด้วยเรื่องปัญหาในโครงการรับจำนำข้าว โดยเฉพาะภายหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) มีมติให้ปรับลดราคารับจำนำข้าวเปลือกปี 2556/57 จาก 15,000 บาทต่อตัน เหลือประมาณ 12,000 บาทต่อตัน และจำกัดเกษตรกรรายละไม่เกิน 5 แสนบาท โดยให้มีผลวันที่ 30 มิ.ย.นี้

ทั้งนี้ ตามภารกิจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดิมได้มีการนัดประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจประจำสัปดาห์ ในเวลา 10.30 น.อยู่แล้วด้วย.

ปชป.แฉ ตัวเลขขาดทุน 1.36 แสนล้าน ยังไม่รวมยอดปี 55/56 อีก 8.4 หมื่นล้าน

ขณะที่ช่วงเช้าวันนี้ ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคฯ กล่าวถึงการขาดทุนของโครงการจำนำข้าวที่ นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมายอมรับว่า การจำนำข้าวนาปี 54/55 และนาปรังปี 55 มีตัวเลขรวมขาดทุนที่ 1.36 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกับที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านฯ ได้แถลงไปก่อนหน้านี้คือ โครงการข้าวนาปี ปี 54/55 ขาดทุน 42,963 ล้านบาท รวมกับข้าวนาปรังปี 55 ขาดทุน 93,933 ล้านบาท เป็นยอด 1.36 แสนล้านบาท แต่นายวราเทพยังไม่ยอมรับตัวเลขการขาดทุนจากโครงการจำนำข้าวนาปี ปี 55/56 อีกจำนวน 84,071 ล้านบาท ซึ่งนายอภิสิทธิ์ได้แถลงไปก่อนหน้านี้

โดย นายวราเทพอ้างว่าตัวเลขฤดูปี 55/56 ยังสรุปไม่ได้ เพราะมีการคำนวณสต๊อกข้าวไม่ตรงกัน เนื่องจากยังมีข้าวในสต๊อกอีก 2.5 ล้านตัน มีมูลค่า 4 หมื่นล้านบาท ที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวไม่ได้คำนวณรวมไว้ จึงให้คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ไปคำนวณใหม่ ทั้งนี้ การยอมรับของนายวราเทพจึงยืนยันได้ว่า ตัวเลขที่นายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์นำมาเปิดเผยเป็นของจริง ต่างที่นายวราเทพไม่ยอมรับยอดขาดทุนข้าวนาปี 55/56 จึงพยายามที่จะลดตัวเลขการขาดทุนลง

นายชวนนท์ กล่าวต่อว่า ยืนยันว่าตัวเลขที่พรรคใช้แถลงตรงกับที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีรับจำนำข้าว ได้สรุปไปแล้ว แต่นายวราเทพอ้างว่า ยังมีตัวเลขข้าวในสต๊อกอีก 2.5 ล้านตัน มูลค่า 4 หมื่นล้านบาท จึงให้คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ไปพิจารณาใหม่นั้นก็ไม่เป็นความจริง แต่เป็นการลดยอดขาดทุนของรัฐบาล จึงขอตั้งข้อสังเกตว่า ตัวเลขข้าวที่อ้างว่ามีอยู่ในสต๊อก 2.5 ล้านตันนั้น ใกล้เคียงกับข้าวถุงที่รัฐบาลมอบให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) นำข้าวจากโครงการรับจำนำไปบรรจุถุงขายประชาชนในราคาถูกปริมาณ 1.8 ล้านตัน แต่จากการตรวจสอบของคณะอนุกรรมาธิการ วุฒิสภาฯ พบว่ามีการผลิตข้าวของ อคส.ออกสู่ตลาดจริง เพียงแค่ 1.4 แสนตันเท่านั้น จึงมีข้าวล่องหนของ อคส.ประมาณ 1.66 ล้านตัน มีมูลค่าความเสียหายต่อรัฐถึง 2.57 หมื่นล้านบาท ถามว่าข้าวที่หายไปถูกคำนวณในสต๊อกข้าวนาปี 55/56 ด้วยหรือไม่ และสงสัยว่านับสต๊อกซ้ำหรือทำสต๊อกลมหรือไม่ ขอให้รัฐบาลตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง

นายชวนนท์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังพบว่าในการจัดสรรงบประมาณแต่ละปีรัฐบาลจะมีภาระดอกเบี้ยจ่ายขาด ปีละประมาณ 1.5 หมื่นล้าน สองปีรวม 3 หมื่นล้าน ไม่รวมค่าบริหารในส่วนอื่น ดังนั้น น่าจะขาดทุนมากกว่า 2.6 แสนล้านด้วยซ้ำ จึงเรียกร้องถึงรัฐบาลว่า อย่าเบี่ยงเบนว่าไม่ใช่ 2.6 แสนล้าน สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ ต้องแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชันในโครงการ เพราะการที่ ครม. จะมีมติลดโควตาการจำนำข้าว หรือลดราคาจำนำนั้น ก็แสดงถึงการยอมรับความล้มเหลวว่า ไม่สามารถเดินหน้าโครงการจำนำข้าวทุกเมล็ดในราคา 1.5 หมื่นบาทได้ เพราะขาดทุนจากโครงการนี้ 2.6 แสนล้าน เกษตรกรได้เงินแค่ 8.6 หมื่นล้าน เท่ากับ 30% เท่านั้น

เปิดมติเต็ม กขช.แนวทางรับจำนำฤดูกาลหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมถึงรายงานผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2556 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอให้ครม.รับทราบ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1. การปิดบัญชีโครงการรับจำนำ

1.1 เห็นชอบวิธีการคำนวณและผลการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 และโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2555 ตามเอกสารปิดบัญชีโครงการรับจำนำทั้งสองโครงการของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายของรัฐบาล ณ วันที่ 31 มกราคม 2556 โดยมีข้อสังเกต  คือ 

(1) การคำนวณสต็อกข้าวคงเหลือ จะใช้ราคาต้นทุนหรือราคาตามประกาศกรมการค้าภายใน (ซึ่งคือราคาตลาด) หรือราคาจำหน่าย ขึ้นอยู่กับราคาใดจะต่ำที่สุด 

(2) รายได้จากการจำหน่ายข้าวสารของทั้งสองโครงการ มีปริมาณข้าวที่เป็นข้าวบริจาคและข้าวสารจำหน่ายราคาถูกตามนโยบายลดค่าครองชีพของประชาชน รวมปริมาณ 608,672 ตัน มูลค่าที่อนุมัติจำหน่ายจำนวน 4,426.97 ล้านบาท มูลค่าตามต้นทุน จำนวน 15,531.109 ล้านบาท แตกต่างกันจำนวน 11,104.139 ล้านบาท ซึ่งไม่ควรนำมาพิจารณาเป็นภาระของโครงการ เนื่องจากเป็นนโยบายรัฐบาล จึงควรที่รัฐจะต้องชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาจำหน่ายกับราคาต้นทุนให้แก่โครงการรับจำนำ

1.2 ให้แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อมูลปริมาณข้าวคงเหลือของทั้ง อคส. และ อ.ต.ก. ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2556 โดยมีรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (พล.ต.ต.ธวัช  บุญเฟื่อง)  เป็นประธาน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้แทนของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ร่วมเป็นคณะทำงาน และผู้แทนกรมการค้าภายใน เป็นคณะทำงานและเลขานุการ

1.3 ให้มีการแยกรายงานการปิดบัญชีโครงการรับจำนำออกเป็น 2 ชุด โดยรายงานที่เสนอ กขช. เป็นการปิดบัญชีโครงการรับจำนำตั้งแต่ ปี 2554/55 เป็นต้นไป ตามคำสั่งคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ที่ 9/2556 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายรัฐบาล ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2555 สำหรับโครงการอื่นให้รายงานคณะรัฐมนตรีตามคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 672/2553 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำผลิตผลการเกษตรตามนโยบายรัฐบาล ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2553

1.4 ให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามประเมินผลโครงการในทุกมิติ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ทางตรงที่เกษตรกรได้รับ และผลทางอ้อมคือระบบเศรษฐกิจรวมถึงความคุ้มค่าของโครงการ โดยมีรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (ดร.ธนวรรธน์  พลวิชัย) เป็นประธาน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านกฎหมาย ด้านบัญชี ด้านสังคม ผู้ทรงคุณวุฒิในเรื่องข้าว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นอนุกรรมการ โดยมีผู้แทนกรมการค้าภายใน เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ

2.  แนวทางการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56   เพื่อมิให้ปริมาณและวงเงินการรับจำนำข้าว ปี 2555/56 เกินกว่ากรอบที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้ ระยะเวลาโครงการสิ้นสุดวันที่ 15 กันยายน 2556 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เสนอแนวทางการดำเนินการในระหว่างฤดูกาลนี้  ดังนี้

2.1 การปรับลดราคารับจำนำ ข้าวเปลือกเจ้า 5% ลดลงเหลือตันละ 12,000 บาท

2.2 จำกัดวงเงินรับจำนำ ไม่เกิน 500,000 บาท/ครัวเรือน

ทั้งนี้ เพื่อมิให้เกิดความกังวลว่าการปรับเปลี่ยนกลางคันอาจเกิดความสับสนวุ่นวาย หรือเกิดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนที่จำนำข้าวเปลือกแล้วและคนที่ยังไม่นำข้าวเปลือกมาจำนำ สำหรับประเด็นการลดราคาอาจมีผลกระทบต่อราคาตลาดในประเทศและราคาส่งออกรวมทั้งส่วนที่ได้ระบายไปแล้วและอยู่ระหว่างการส่งมอบ ผู้ซื้ออาจขอเจรจาปรับราคาลงอีกได้ จึงมอบหมายให้หน่วยปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง ได้แก่  ธ.ก.ส. อคส. และ อ.ต.ก. ไปดำเนินการกำกับดูแลให้การดำเนินการรับจำนำอยู่ในกรอบปริมาณและวงเงินที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติไว้โดยเคร่งครัด

3. แนวทางการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปี 2556/57  เนื่องจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก  ปี 2554/55 และนาปรัง ปี 2555 มีผลขาดทุนมากกว่าเป้าหมายที่คาดไว้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่กดดันราคาข้าวไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ เช่น ปริมาณผลผลิตข้าวโลกที่เพิ่มขึ้น การแข็งค่าของเงินบาท และการทุ่มตลาดข้าวของอินเดียและเวียดนาม แต่อย่างไรก็ตามการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่ผ่านมาสามารถทำให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์เพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่า 338,562 ล้านบาท จึงเห็นควรปรับปรุงโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในปี 2556/57 ใน 4 ด้าน  ดังนี้

3.1 ด้านราคารับจำนำ ซึ่งมีแนวทางการปรับลดราคารับจำนำ คือ

(1) ใช้ราคาต้นทุนการผลิต + กำไรที่เกษตรกรควรจะได้รับ ประมาณร้อยละ 25 เช่นเดียวกับสินค้าเกษตรอื่นๆ ที่รัฐบาลจะดำเนินการแทรกแซงตลาด

(2) ใช้ราคารับจำนำเดิมปรับลดลง ร้อยละ 15 – 20

(3) ใช้ราคานำตลาด ร้อยละ 10

ซึ่งจะทำให้ราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้านาปี 5% มีราคาประมาณตันละ 12,000 – 13,000 บาท

3.2 ด้านปริมาณรับจำนำ การกำหนดปริมาณรับจำนำทั้งโครงการไว้เช่นเดียวกับโครงการรับจำนำมันสำปะหลัง เช่น กำหนดปริมาณรับจำนำทั้งโครงการปี 2556/57 (ทั้งนาปี + นาปรัง) ไม่เกิน 17 ล้านตันข้าวเปลือก จำกัดปริมาณรับจำนำของเกษตรกรไม่เกินครัวเรือนละ 25 ตัน เป็นต้น

3.3 ด้านวงเงินที่รับจำนำของเกษตรกรแต่ละราย โดยจำกัดวงเงินรับจำนำข้าวเปลือกของเกษตรกร ไม่เกิน 300,000 - 500,000 บาท/ครัวเรือน

3.4 ด้านระยะเวลารับจำนำ โดยกำหนดระยะเวลาการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2556 – กุมภาพันธ์ 2557 และข้าวเปลือกนาปรัง ระหว่างเดือนมีนาคม – กรกฎาคม 2557

ทั้งนี้  มอบหมายฝ่ายเลขานุการฯ รวบรวมข้อมูลและศึกษาทางเลือกข้างต้นพร้อมทั้งการกำหนดเงื่อนไขประกอบ เพื่อจำกัดวงเงิน ภาระค่าใช้จ่าย และผลขาดทุนที่เกิดขึ้นไม่ให้เกินวงเงินปีละประมาณ 70,000            ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการจัดทำงบประมาณสมดุลของประเทศตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง

 


เรียบเรียงจาก เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล, เว็บไซต์สำนักข่าวไทย, เว็บไซต์ไทยรัฐ , เว็บไซต์ RYT9

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net