Skip to main content
sharethis

เวทีสื่อเสวนา “การรายงานข่าวกระบวนการสันติภาพ” นักวิชาการชี้ข้อจำกัดในการทำงานของสื่อในสถานการณ์ใหม่ ชี้ยังตามไม่เท่าทันและต้องการองค์ความรู้เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัด แนะองค์กรสื่อปฏิรูปตัวเอง นักจัดรายการวิทยุในพื้นที่ย้ำชาวบ้านต้องการความรู้ เพื่อหนุนเสริมสันติภาพ ผู้รู้ต้องโดดมาร่วม

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2556 กลุ่มมีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ (Media inside out) โดยความสนับสนุนของโครงการสะพาน ร่วมกับกลุ่มเอฟทีมีเดียและเพื่อน และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) จัดสื่อเสวนา “การรายงานข่าวกระบวนการสันติภาพ” ที่ห้องประชุมศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี)

ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายแวะหามะ แวกือจิก หัวหน้าสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการอาวุโส ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ นางสาวติชิลา พุทธสาระพันธ์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส และผศ.วลักษณ์กมล จ่างกมล คณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี โดยมีนางสาวนวลน้อย ธรรมเสถียร จากกลุ่มเอฟทีมีเดีย ดำเนินการเสวนา

สื่อเสวนาครั้งนี้มีการถ่ายทอดเสียงทางสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตันที่ออกอากาศกระจายเสียงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และถ่ายทอดเสียงผ่านเว๊บไซต์ของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) และมีสื่อมวลชนในพื้นที่และผู้สนใจเข้าร่วมฟังเสวนากว่า 30 คน

 

ความย้อนแย้งของข่าวกับสันติภาพ

ผศ.วลักษณ์กมล กล่าวถึงธรรมชาติของการรายงานข่าวกระบวนการสันติภาพว่า เป็นกระบวนการทำงานที่มีลักษณะย้อนแย้งระหว่างธรรมชาติของการรายงานข่าวกับธรรมชาติของกระบวนการสันติภาพ

กล่าวคือ กระบวนการสันติภาพเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและต้องการองค์ความรู้ในการอธิบาย ในขณะที่การทำงานของสื่อต้องการความกระชับในการรายงานข่าว

ประเด็นต่อมา กระบวนการสันติภาพเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ทั้งในจุดเริ่มต้นและการเดินทางสู่เป้าหมายสุดท้าย แต่การรายงานข่าวของสื่อ ต้องการความรวดเร็วทันท่วงทีในการตอบสนองต่อผู้รับข่าวสาร

อีกประการหนึ่งคือ กระบวนการสันติภาพเต็มไปด้วยข้อมูลมากมายที่ไม่ชัดเจน และอาจจะไม่เป็นที่สนใจของสาธารณะ แต่การรายงานข่าวต้องการความเร้าใจ ดึงดูดใจในการนำเสนอ ซึ่งอาจจะไม่สอดคล้องกับเป้าหมายในการสนองตอบต่อผู้บริโภคสื่อ

“กระบวนการสันติภาพที่นำไปสู่ความสำเร็จ คือการคลี่คลายความตึงเครียด หรือการยุติความตื่นเต้นของเหตุรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้น และมุ่งสู่ความสงบสุข ในขณะที่การนำเสนอข่าวของสื่อนั้น ต้องการในทิศทางที่ตรงข้าม คือต้องการขายความขัดแย้ง ความรุนแรง” ผศ.วลักษณ์กมลกล่าว

ความย้อนแย้งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ กระบวนการสันติภาพเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในที่ลับ หรือเป็นกระบวนการทำงานของคนเฉพาะกลุ่มที่ดำเนินการอยู่ ในขณะที่สื่อต้องการข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วและช่วงชิงการนำเสนอข้อมูลข่าวให้เร็วที่สุด

ซึ่งธรรมชาติเหล่านี้เป็นเรื่องที่ย้อนแย้ง และเป็นรากเหง้าของปัญหาที่เกิดขึ้นในการรายงานข่าวกระบวนการสันติภาพที่ไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก


 

สื่อต้องจัดกระบวนใหม่เพื่อนำเสนอสันติภาพ

ผศ.วลักษณ์กมลได้เรียกร้องและมีข้อเสนอผ่านสื่อเสวนาครั้งนี้ว่า ต้องการเห็นองค์กรสื่อปรับตัวต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดกระบวนการสันติภาพนี้ โดยอาจจะออกแบบการทำงาน รวมทั้งการจัดการเนื้อหาในทุกขั้นตอนที่สอดคล้องกับกับสถานการณ์จริง

ตัวอย่างเช่น การจัดโต๊ะข่าวเฉพาะกิจที่ดูแลเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ การจัดการนำเสนอข่าวที่สอดคล้องกับบริบทกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นเป็นการเฉพาะ หรือการทำงานของสื่อในบทบาทของความร่วมมือทั้งระหว่างองค์สื่อด้วยกันเองกับองค์กรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพ รวมทั้งการร่วมมือระหว่างองค์กรสื่อกับภาคส่วนสาธารณะที่มีอยู่อย่างมากมายในพื้นที่

“ไม่มีใครปฏิเสธว่าสันติภาพไม่มีความจำเป็น เพราะทุกฝ่ายต้องการสันติภาพ ดังนั้นหากสื่อมีเป้าหมายชัดเจนว่า ต้องการให้เกิดสันติภาพที่ปลายทางแล้ว ทุกๆ ขั้นตอนของการสื่อสารของสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพ จะต้องออกแบบและจัดการที่เป็นระบบที่ชัดเจน คิดว่า อันนี้จะเป็นบทบาทใหม่ในกระบวนการปฏิรูปสื่อที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างสันติภาพที่แท้จริง”

 

สะท้อนเสียงจากพื้นที่ เริ่มเชื่อมั่นสันติภาพ

นายแวหามะ แวกือจิก หัวหน้าสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน (Media Selatan) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการวิทยุภาษามลายูชื่อรายการ “โลกวันนี้” ออกอากาศทุกวันจันทร์ถึงพฤหัส ตั้งแต่เวลา 20.00 - 22.00 น. และมีการเปิดให้ประชาชนโทรศัพท์เข้ามาพูดคุยในรายการได้

นายแวหามะ กล่าวว่า หลังการพูดคุยสันติภาพครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2556 ประชาชนที่แสดงความเห็นผ่านรายการกว่า 80% ไม่เชื่อว่ามีการพูดคุยสันติภาพเกิดขึ้นจริง แต่คิดว่าเป็นการจับมาพูดคุย มีการบังคับให้ฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐต้องมานั่งโต๊ะ

แต่หลังการพูดคุยเพื่อสันติภาพครั้งที่ 2 ประชาชนกว่า 80% กลับมีความเชื่อมั่นในกระบวนการพูดคุย และเชื่อมั่นว่าจะเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาภาคใต้ได้

 

ชาวบ้านต้องการความรู้ เพื่อช่วยดูแลสันติภาพ

“สิ่งสำคัญที่สุดคือ ชาวบ้านต้องการองค์ความรู้ เขาต้องการรู้ความจริง ซึ่งการสื่อสารโดยสื่อวิทยุเป็นการสื่อสารสองทาง ที่จะทุกคนสามารถเข้ามาเปิดประเด็นการพูดคุยและแลกเปลี่ยนกันได้ ดังนั้น คนที่มีความรู้เรื่องกระบวนการสันติภาพจะต้องเข้ามามีส่วนในการบอกกล่าวข้อเท็จจริงที่แท้จริงด้วย เพราะขณะนี้เป็นเวลาที่เอื้อต่อการพูดคุยเรื่องนี้ต่อสาธารณะ” นายแวหามะ กล่าว

นายแวหามะ สะท้อนว่า ชาวบ้านเปรียบเทียบกระบวนการสันติภาพครั้งนี้เสมือนเด็กที่คลอดก่อนกำหนด อายุครรภ์เพียง 7 เดือน เพราะก่อนหน้านี้ไม่มีใครคาดคิดว่า จะเกิดกระบวนการสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับกลุ่ม BRN ได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ทุกคนก็ต้องช่วยกันดูแลให้เด็กน้อยที่ชื่อ “สันติภาพ” อยู่รอดและเติบโต ปลอดภัยให้จงได้


 

สื่อต้องเปิดพื้นที่ให้ทุกกลุ่ม

นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน กล่าวว่า ในการสื่อสารกระบวนการสันติภาพ สื่อต้องเป็นพื้นที่ของความหลากหลาย ต้องเป็นพื้นที่สื่อสารสำหรับทุกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มคนในระดับชุมชนหมู่บ้าน รวมทั้งสำหรับองค์กรประชาชน ภาคประชาสังคมที่จะต้องมีผลลัพธ์หรือเนื้อหาออกสู่สาธารณะ ไม่ใช่เป็นพื้นที่สำหรับกลุ่มชนชั้นนำที่มีบทบาทบนโต๊ะเจรจาพูดคุยเท่านั้น

“กระบวนการสันติภาพต้องการเสียงที่หลากหลาย และเป็นกระบวนการที่ต้องการให้มีการชนะทั้งคู่ แบบ win win ไม่ใช่การเอาชนะกัน การสื่อสารกระบวนการสันติภาพต้องสร้างสมดุลข่าวสารให้เกิดขึ้นด้วย แม้ในพื้นที่มีคนมลายูมากกว่า แต่อัตลักษณ์ของคนพุทธ คนจีนในพื้นที่ต้องได้รับการพิจารณา”

นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน ยังกล่าวอีกว่า สื่อจำเป็นต้องรู้ขั้นตอนในกระบวนการสันติภาพ เช่น ขณะนี้ภาคประชาสังคมในพื้นที่ได้เสนอแผนที่เดินทางหรือ Road Map ของกระบวนการสันติภาพ ซึ่งสื่อจำเป็นต้องทำความเข้าใจ Road Map นี้ เพื่อให้เข้าใจว่า ควรจะเสนอประเด็นอะไรที่สอดคล้องกับบริบทความเป็นจริง และสื่อจะเป็นตาข่ายนิรภัย (Safety Net) ทางความคิดที่จะช่วยโอบอุ้มกระบวนการสันติภาพไปสู่เป้าหมายปลายทางได้ในที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net