การจัดการเมล็ดพันธุ์ กับ พันธสัญญา : การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่แม่แจ่ม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

บทความชิ้นที่ 1 ของ พุฒิพงศ์ นวกิจบำรุง และ อัจฉรา รักยุติธรรมในชุดบทความ“ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์: ทางเลือกและทางรอดของเกษตรกรบนพื้นที่สูงภาคเหนือ” เป็นการศึกษาชาวบ้านที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่สูงในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อชี้ให้เห็นว่า ชาวบ้านหรือเกษตรกรบนพื้นที่สูง ไม่ได้เป็นมนุษย์ที่ด้อยค่าและเป็นฝ่ายถูกกระทำแต่เพียงฝ่ายเดียว การที่ชาวบ้านหันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทนการทำเกษตรในระบบไร่หมุนเวียน ไม่ได้หมายความว่าชาวบ้านตกเป็นเหยื่อของทุนนิยม หากแต่เป็น “ทางเลือก” ที่จะดำรงอยู่และใช้ประโยชน์จากกระแสทุนนิยม ท่ามกลางแรงกดดันรอบด้านและทางเลือกที่มีอยู่อย่างจำกัด ในการศึกษาชุดความรู้นี้ ทางประชาไทจะทยอยนำเสนอบทวิเคราะห์ที่มีความเชื่อมโยงกับประเด็นข้างต้นจำนวน 6ชิ้น

อนึ่ง ภายในไตรมาสที่สองของปี  2556 ประชาไท จะทยอยนำเสนอบทความที่จะพยายามทำความเข้าใจวิถีชีวิตและความสัมพันธ์การผลิตของชนบทไทยในปัจจุบัน 4ประเด็นคือเกษตรอินทรีย์, เกษตรพันธสัญญากรณีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภาคเหนือ,พืชเศรษฐกิจในภาคอีสาน และการทำนาปรังในภาคกลางที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้

เมื่อมีการวิเคราะห์ถึงระบบเกษตรแบบพันธสัญญา โดยทั่วไปมักหมายถึงการที่บริษัทธุรกิจเกษตรขนาดใหญ่ทำสัญญาล่วงหน้าอย่างเป็นทางการกับเกษตรกรว่าจะรับซื้อผลผลิตการเกษตรในเงื่อนไขของคุณภาพและราคาที่บริษัทเป็นฝ่ายกำหนด โดยที่เกษตรกรมักเป็นเบี้ยล่างในความสัมพันธ์แบบนี้ โดยการเกษตรแบบพันธสัญญาเริ่มต้นจากการที่เกษตรกรรับทุนและปัจจัยการผลิตจากบริษัทธุรกิจการเกษตรมาก่อน จนกลายเป็นข้อผูกมัดที่ทำให้เกษตรกรต้องยอมรับเงื่อนไขของบริษัทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผู้เขียนจะเล่าถึงการจัดการเมล็ดพันธุ์ในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในชุมชนแห่งหนึ่งในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยความที่เกษตรกรในกรณีศึกษานี้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปาเกอะญอจึงมักเข้าใจกันว่าพวกเขาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้ระบบเกษตรแบบพันธสัญญา เพราะไม่มีเงินทุนทำการผลิต และเพราะถูกล่อหลวงหรือรู้ไม่เท่าทันบริษัทธุรกิจการเกษตร ความจริงแล้วเกษตรกรไม่ได้อยู่ภายใต้การเกษตรแบบพันธสัญญาที่เป็น “ระบบ” แบบที่เข้าใจกัน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเกษตรกรเป็นอิสระจากระบบความสัมพันธ์ที่ถูกขูดรีดหรือเอารัดเอาเปรียบ ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่ยังลอยตัวอยู่เหนือความขัดแย้งและความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบนี้ แต่ยังคงได้รับผลประโยชน์จากการค้าและการผลิตไปแบบเต็ม ๆ โดยผ่านตัวแทนการค้าหรือนายหน้าในระดับย่อยลงมา

แม้ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ทางการผลิตที่เกษตรกรยังคงเสียบเปรียบ แต่บทความนี้จะแสดงให้เห็นว่าเกษตรกรเองได้เลือกวิถีการผลิตแบบนี้โดยผ่านการพิจารณาแล้วถึงผลดีและผลเสียที่จะเกิดขึ้น และผ่านประสบการณ์การลองผิดลองถูกมาพอสมควร มิใช่การถูกล่อลวงให้เป็นเหยื่อของนายทุน อย่างไรก็ตาม การเลือกของพวกเขาก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขบางอย่างที่กำกับอยู่ พวกเขาจึงมิได้เลือกอย่างอิสรเสรีเสียทีเดียว

 

การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในบ้านก่อวิละ

บ้านก่อวิละ (นามสมมติ) เป็นหมู่บ้านขนาด 79 ครัวเรือน ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอเพียง 16 กิโลเมตร แต่การเดินทางไม่ค่อยสะดวกเพราะหมู่บ้านอยู่ในหุบเขาสูงชันที่ระดับความสูงประมาณ 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ถนนเป็นดินลูกรัง มีเพียงบางช่วงที่เทคอนกรีต ทำให้ในฤดูฝนถนนส่วนใหญ่เป็นดินโคลน แม้จะใช้รถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อแต่หากคนขับไม่ชำนาญทางก็อาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย กระนั้นก็ตาม ตลอดสองฟากถนนเข้าสู่หมู่บ้านก็เต็มไปด้วยแปลงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เช่นเดียวกับถนนอีกหลายสายที่เชื่อมต่อจากตัวอำเภอแม่แจ่มไปยังหมู่บ้านในหุบเขา

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติชี้ว่าจังหวัดเชียงใหม่มีการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่กว้างในทุกอำเภอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอำเภอแม่แจ่มซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่สูง มีรายงานข่าวว่าช่วงปี พ.ศ. 2538-2539 บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เริ่มเข้าไปส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในลักษณะเกษตรพันธสัญญา ส่งผลให้ข้าวโพดกลายเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของอำเภอแม่แจ่ม ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรอำเภอแม่แจ่ม ปี พ.ศ. 2549-2550 ระบุว่าเกษตรกรอำเภอแม่แจ่มร้อยละ 80 ปลูกข้าวโพดเป็นอาชีพหลัก ซึ่งมีทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวโพดเมล็ดพันธุ์ ข้อมูลปี พ.ศ. 2550 ชี้ว่าพื้นที่ปลูกข้าวโพดอำเภอแม่แจ่มมีจำนวน 82,904 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 1,316 กิโลกรัม ผลผลิตรวม 97,986,900[1]

การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของชาวบ้านก่อวิละนั้นมีที่มาและเหตุผลอันยืดยาว ซึ่งผู้เขียนจะยังไม่นำมากล่าวถึงในที่นี้ แต่จะขอกล่าวเฉพาะด้านการจัดการเมล็ดพันธุ์ของการเพาะปลูก

การทำเกษตรแบบพันธสัญญาโดยทั่วไป มักเริ่มด้วยการซื้อเมล็ดพันธุ์ ยาฆ่าหญ้า และปุ๋ยเคมี จากตัวแทนบริษัทในระบบสินเชื่อโดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องขายผลผลิตให้แก่นายทุนเหล่านั้น แต่ในอำเภอแม่แจ่มปรากฏว่าผู้จำหน่ายปัจจัยการผลิตมีอยู่มากมายโดยไม่ได้อยู่ในรูปของนายทุนใหญ่หรือบริษัทธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่ แต่เป็นร้านค้าทั่วไป สหกรณ์การเกษตร และนายหน้าของบริษัทซึ่งส่วนใหญ่คือผู้ที่รับซื้อผลผลิตข้าวโพดของชาวบ้านซึ่งมีอยู่ประมาณสิบกว่าแห่งในตัวอำเภอ หลายปีที่ผ่านมามีแนวโน้มว่าปัจจัยการเกษตรเหล่านี้จะมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ  และแน่นอนว่าชาวบ้านต่อราคาไม่ได้ เช่นเดียวกับที่ต่อราคารับซื้อผลผลิตให้สูงตามที่ชาวบ้านต้องการไม่ได้

ในชุมชนก่อวิละทุกครัวเรือนปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยใช้เมล็ดพันธุ์ 50-200 กิโลกรัมต่อปี คิดเป็นเนื้อที่ปลูก 10-40 ไร่ (เมล็ดพันธุ์ 5 กก.ใช้พื้นที่ปลูกประมาณ 1 ไร่) เมล็ดพันธุ์นับเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุด เมล็ดพันธุ์ที่ดีจะให้ผลผลิตต่อพื้นที่สูง น้ำหนักดี และมีสีเข้ม ซึ่งจะทำผลผลิตที่ได้มีราคาสูง แน่นอนว่าเมล็ดพันธุ์ที่ดีและ “แท้” นั้นมีราคาแพง กลายเป็นต้นทุนที่ชาวบ้านต้องแบกภาระหนักขึ้นเรื่อย ๆ ตามราคาเมล็ดพันธุ์ที่ขยับสูงขึ้นทุกปี

ตามอุดมคติของการส่งเสริมเกษตรยั่งยืน เกษตรกรควรเป็นอิสระจากการพึ่งพาปัจจัยภายนอกและระบบตลาด แต่สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ขายเป็นอาชีพนั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาจะ “เป็นอิสระ” จากตลาดการค้าเมล็ดพันธุ์ เช่นเดียวกับเกษตรกรทั่วไป ชาวบ้านก่อวิละส่วนใหญ่ซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมแบบบรรจุถุงขายซึ่งเกษตรกรเก็บเมล็ดไปขยายพันธุ์เองไม่ได้  เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดในท้องตลาดทุกชนิดเป็นสายพันธุ์ลูกผสม (F1 Hybrid) ซึ่งได้จากการผสมระหว่างต้นพ่อกับต้นแม่ที่เป็นพันธุ์แท้ที่ผ่านการคัดเลือกและปรับปรุงสายพันธุ์มาอย่างดี เมื่อนำไปปลูกจะทำให้ได้ต้นข้าวโพดที่เจริญเติบโตดี ต้านทานโรคและแมลง ให้ผลผลิตสูงและคุณภาพดี แต่วิธีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวโพดให้เป็นสายพันธุ์ลูกผสมส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถเก็บและคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดต่อจากต้นพันธุ์ลูกผสม เพราะเมื่อนำเมล็ดรุ่นลูกไปปลูกต่อจะได้ต้นข้าวโพดที่ให้ผลผลิตต่ำ

ทางเลือกเรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด

แม้ว่าชาวบ้านก่อวิละจำต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์จากตลาด แต่พวกเขาก็มีทางเลือกในการจัดการเมล็ดพันธุ์อยู่บ้าง ระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนของทุกปี ชาวบ้านก่อวิละจะนำเงินที่ได้จากการขายผลผลิตข้าวโพดแบ่งมาซื้อเมล็ดพันธุ์เพื่อเตรียมไว้เพาะปลูกในปีถัดไป พวกเขาจะหาซื้อจากร้านค้าสินค้าเกษตรที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในตัวอำเภอ ร้านค้าของสหกรณ์การเกษตรแม่แจ่ม และสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดของลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (สกต.ธกส.) จังหวัดเชียงใหม่ สาขาแม่แจ่ม

นอกจากแหล่งซื้อเมล็ดพันธุ์ดังกล่าวแล้ว ชาวบ้านมีวิธีลดต้นทุนการผลิตด้วยซื้อเมล็ดพันธุ์ “เถื่อน” ที่มีราคาถูกกว่าจากต่างหมู่บ้าน ต่างตำบล โดยผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์นั้นแท้ที่จริงก็คือเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ซึ่งมีทั้งผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์อิสระและที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ให้กับบริษัทภายใต้ระบบพันธสัญญาแต่แบ่งผลผลิตเมล็ดพันธุ์ส่วนหนึ่งออกมาขายเอง

โดยรวมแล้วชาวบ้านก่อวิละมีแหล่งเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดอย่างน้อย 3 ทางเลือกด้วยกัน
 

ทางเลือกที่ 1 เมล็ดพันธุ์ราคาแพง – “ซีพี (แท้)”

เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่จำหน่ายในท้องตลาด ความจริงแล้วมาจากผู้ผลิตหลายบริษัท เช่น ซีพี ไพโอเนีย แปซิฟิก เป็นต้น แต่ชาวบ้านก่อวิละส่วนใหญ่เข้าใจว่าเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีเป็นเมล็ดพันธุ์จาก “ซีพี” พันธุ์ที่รู้จักกันดีคือพันธุ์ CP888 บรรจุถุงขนาด 10 กิโลกรัม จะมีราคาประมาณ 1,600 บาท และเนื่องจากได้ชื่อว่าเป็นเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี จึงเคยมีพ่อค้าหัวใสมาหลอกขายเมล็ดพันธุ์เลียนแบบ โดยใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีราคาถูกกว่าบรรจุใส่ถุงให้เหมือนกับบรรจุภัณฑ์ของซีพีทำให้ชาวบ้านดูไม่ออก จะทราบว่าถูกหลอกก็หลังจากที่ปลูกไปแล้วและต้นข้าวโพดเริ่มจะให้ผลผลิต ดังนั้นเมื่อชาวบ้านพูดถึงเมล็ดพันธุ์ของซีพีจึงมักจะมีคำว่า “แท้” ต่อท้ายด้วยเสมอ

“ตอนนี้มีเชื้อ(เมล็ดพันธุ์) เถื่อนเยอะ ลอกเลียนแบบ ละเมิดลิขสิทธิ์ ชาวบ้านโดนหลอกว่าเป็นซีพีแท้  สหกรณ์เอามาขาย คลุกยา กระสอบจะพิมพ์ที่ไหนก็ได้ ซื้อกระสอบมาแพ็คขาย และขายราคาแพง”

“พันธุ์ซีพีปลูกแล้วติดทุกเม็ด ตอนปลูกหยอดหลุมละ 2 เม็ด” (พันธุ์อื่นหยอดหลุมละ 4-5 เมล็ด)

“ถ้าเป็น(เมล็ดพันธุ์)ซีพีแท้ จะต้านทานโรค หนึ่งต้นออกสองหัว(ฝัก) สองต้นได้สี่หัว(ฝัก)”

ทางเลือกที่สอง เมล็ดพันธุ์ราคาปานกลาง – “พันธุ์ทั่วไป”

เนื่องจาก “ซีพีแท้” มีราคาสูงมาก ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงเลือกพันธุ์ที่ราคาต่ำลงมากกว่านั้น เป็นเมล็ดพันธุ์บรรจุถุงขายมีทั้งเมล็ดพันธุ์คุณภาพใกล้เคียงหรืออาจดีกว่าเมล็ดพันธุ์ประเภทแรก และมีเมล็ดพันธุ์คุณภาพต่ำหรือเมล็ดพันธุ์ค้างปีรวมอยู่ด้วย สนนราคาบรรจุถุงขนาด 10 กิโลกรัม จำหน่ายระหว่าง 350-450 บาทเท่านั้น ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ประเภทนี้มีหลายแหล่งทั้งที่ถูกกฎหมาย เช่น เมล็ดพันธุ์ตรา หมาแดง และฟ้าใส และผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ “เถื่อน” ซึ่งหมายถึงเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรผลิตและบรรจุถุงจำหน่ายกันเองในหมู่บ้านอื่น ๆ ชาวบ้านมักไม่ค่อยเรียกชื่อยี่ห้อหรือชื่อพันธุ์ แต่จะเรียกรวม ๆ ว่า “พันธุ์ทั่วไป”

ทางเลือกที่สาม เมล็ดพันธุ์ราคาถูก – แบบฝัก

ชาวบ้านก่อวิละบางรายหาทางประหยัดต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ลงไปอีก ด้วยการซื้อเมล็ดพันธุ์จากเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์โดยตรง โดยไปตระเวนหาซื้อจากชุมชนที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดโดยเฉพาะ ซึ่งอยู่ต่างตำบลออกไป ซื้อมาทั้งฝักในราคากิโลกรัมละ 20-25 บาท สำหรับราคาตลาดปกติ แต่หากคุ้นเคยกันก็อาจต่อรองให้ลดราคาได้อีก เกษตรกรจะต้องนำฝักข้าวโพดมาแกะเมล็ดออกจากฝักเพื่อคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์และคลุกยาป้องกันเชื้อราด้วยตนเอง

เงื่อนไขเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจ

ในบ้านก่อวิละซึ่งปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทุกหลังคาเรือนนั้น เกษตรกรส่วนใหญ่เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ประเภทที่ 2 เพียงชนิดเดียว แต่มีบางครัวเรือนที่เลือกใช้เมล็ดพันธุ์สองประเภทร่วมกัน ได้แก่ ประเภทที่ 1 กับ 2 หรือ ประเภทที่ 2 กับ 3 มีเพียงไม่กี่ครัวเรือนที่จะใช้เมล็ดพันธุ์ทั้งสามประเภทร่วมกัน ฐานะทางเศรษฐกิจเป็นเหตุผลสำคัญในเรื่องนี้ ครัวเรือนที่ใช้เมล็ดพันธุ์ประเภทที่ 1 ซึ่งมีราคาสูงมากเป็นครัวเรือนที่มีฐานะดี ส่วนครัวเรือนที่ใช้เมล็ดพันธุ์ประเภทที่ 2 มักมีฐานะปานกลาง 

สำหรับเงื่อนไขในการเลือกเมล็ดพันธุ์ประเภทที่ 3 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับฐานะทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ผู้ที่จะเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ประเภทที่ 3 มักเป็นแกนนำชาวบ้านที่มีความคล่องตัวในการเดินทางเข้า-ออกหมู่บ้าน รู้จักคนกว้างขวาง จึงมีข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งที่จะหาซื้อเมล็ดพันธุ์ประเภทนี้ได้ นอกจากนั้นยังต้องมีความรู้และทักษะในกระบวนการจัดเตรียมเมล็ดพันธุ์ได้เองอีกด้วย เช่น การแกะและคัดแยกเมล็ดพันธุ์ การคลุกยาป้องกันเชื้อรา เป็นต้น

สำหรับชาวบ้านที่ไม่มีเงินลงทุนเพาะปลูกด้วยตนเองแทบจะไม่มีอิสระในการเลือกเมล็ดพันธุ์เลย เช่น สมาชิกที่ขอสินเชื่อจากสหกรณ์การเกษตรแม่แจ่ม จะได้สินเชื่อเป็นปัจจัยการผลิตแบบที่สหกรณ์จัดหามาให้เท่านั้น  ในทำนองเดียวกันกับการขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) จะต้องรับปัจจัยการผลิตจากสหกรณ์ฯของ ธกส. แทนที่จะได้รับเงินสดจากการกู้ยืมแล้วไปเลือกซื้อปัจจัยการผลิตด้วยตนเอง เกษตรกรกลุ่มนี้จึงหมดสิทธิจะเลือกยี่ห้อเมล็ดพันธุ์และปัจจัยการผลิตอื่น ๆ ด้วยตนเอง  

ข้อมูลในส่วนนี้สะท้อนให้เห็นว่านอกจากบริษัทธุรกิจการเกษตรแล้ว สำนักงานเกษตรอำเภอแม่แจ่ม สหกรณ์การเกษตรแม่แจ่ม และ ธกส. สาขาแม่แจ่ม นั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับการส่งเสริมการปลูกและการค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่สูงในอำเภอแม่แจ่ม กล่าวคือสำนักงานเกษตรอำเภอแม่แจ่ม เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่โดยตรงด้านการส่งเสริมการเกษตร รวมถึงปฏิบัติตามนโยบายและโครงการของรัฐ ขณะที่สหกรณ์การเกษตรแม่แจ่ม และ ธกส.สาขาแม่แจ่ม เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนด้านสินเชื่อและปัจจัยการผลิตให้กับเกษตรกร โดยสหกรณ์การเกษตรแม่แจ่มยังรับซื้อผลผลิตข้าวโพดอีกด้วย แต่ก็ให้อิสระว่าเกษตรกรที่รับสินเชื่อจะนำข้าวโพดมาขายที่สหกรณ์ฯ หรือว่าจะขายในแหล่งรับซื้อที่อื่นแล้วจึงค่อยนำเงินมาชำระคืน

เหตุอื่น ๆ 

นอกจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่กล่าวมาแล้ว ประสบการณ์การเพาะปลูกที่ผ่านมาก็มีส่วนสำคัญในตัดสินใจเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากตลาดเมล็ดพันธุ์มีการแข่งขันกันค่อนข้างสูง ในอำเภอแม่แจ่มจึงมีเมล็ดพันธุ์ใหม่ ๆ มาเสนอขายอยู่เสมอ และชาวบ้านก็นิยมที่จะทดลองซื้อพันธุ์ใหม่ ๆ มาปลูกเพื่อหวังจะพบทางเลือกที่ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป หากได้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจก็จะซื้อมาปลูกต่อ แต่หากปลูกแล้วได้ผลผลิตไม่ดีก็จะไม่ซื้อมาใช้อีก เช่น กรณีปีการผลิต 2553/54 ชาวบ้านหลายครัวเรือนผิดหวังจากการทดลองใช้เมล็ดพันธุ์ฟ้าใสซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวโพดอายุสั้น เพราะได้ผลผลิตลดต่ำกว่าเคย จากนั้นพวกเขาก็ซื้อเมล็ดพันธุ์ชนิดนี้มาเพาะปลูกอีกต่อไป

นอกจากนั้น ขนาดที่ดินในการเกษตรก็ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดด้วยเช่นกัน นับว่าโชคดีที่ชาวบ้านก่อวิละส่วนใหญ่มีที่ดินการเกษตรมากพอ ทำให้ชาวบ้านไม่มีแรงกดดันที่จะต้องหาวิธีเพิ่มผลผลิตต่อไร่ด้วยการใช้เมล็ดพันธุ์คุณภาพดีแต่ราคาแพง โดยทั่วไปแล้วหากเกษตรกรต้องการผลผลิตเพิ่มขึ้นพวกเขาก็มักจะขยายพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งเป็นการลงทุนกับแรงงานในการผลิตมากกว่าจะลงทุนกับค่าเมล็ดพันธุ์ราคาแพง เฉพาะบางครัวเรือนเท่านั้นที่มีที่ดินจำกัดจึงยอมลงทุนกับค่าเมล็ดพันธุ์เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่ เช่นครอบครัวหนึ่งเพิ่งแต่งงานไม่นานและยังคงอาศัยทำการผลิตร่วมในที่ดินของพ่อแม่ แต่พวกเขาอยากมีส่วนแบ่งรายได้เพิ่มขึ้นจากขนาดที่ดินเท่าเดิมเพื่อนำเงินไปใช้ในการซื้อสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับครอบครัวใหม่ของตนเอง พวกเขาจึงยอมลงทุนใช้พันธุ์ข้าวโพดประเภทที่ 1 โดยหวังเพิ่มผลผลิตต่อไร่ 

สัญญากับใคร

เมื่อกล่าวถึงเกษตรแบบพันธสัญญาตามความเข้าใจทั่วไปมักเป็นเรื่องของ “นายทุน” ที่เอารัดเอาเปรียบเกษตรกรรายย่อยโดยวางเงื่อนไขต่าง ๆ ไว้อย่างเป็น “ระบบ”  ในกรณีบ้านก่อวิละนั้นคล้ายกับว่าเกษตรกรไม่ได้อยู่ภายใต้พันธสัญญากับบริษัทธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่ในลักษณะนั้น  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าชาวบ้านเป็นอิสระจากความสัมพันธ์ที่วางเงื่อนไขให้เกษตรกรเป็นฝ่ายถูกเอารัดเอาเปรียบ

ตลาดการค้าเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอำเภอแม่แจ่มมีการแข่งขันอย่างสูง และไม่ได้ถูกผูกขาดโดยบริษัทผู้ค้าเมล็ดพันธุ์รายใหญ่ แต่ยังมีผู้ผลิตและผู้ค้าเมล็ดพันธุ์รายย่อยอีกหลายราย รวมถึงหน่วยงานในลักษณะอื่น ๆ เช่น สหกรณ์การเกษตรฯ  ธกส. และอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการค้าเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น ในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางการผลิตและการค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จำเป็นต้องขยายความเข้าใจให้มากไปกว่าการนิยาม “ระบบเกษตรแบบพันธสัญญา” ในความหมายแคบ ๆ 

เกษตรกรบ้านก่อวิละเป็นกลุ่มชาติพันธุ์จึงมักถูกเข้าใจว่าทำเกษตรเชิงพาณิชย์เพราะถูกล่อหลวงหรือไม่รู้เท่าทันทุนนิยม แต่จากการศึกษาจะเห็นได้ว่าการทำเกษตรของพวกเขาได้ผ่านการเรียนรู้และแสวงหาทางเลือกมาพอควร ท่ามกลางความสัมพันธ์ทางการผลิตและการค้าที่เกษตรกรเป็นฝ่ายเสียเปรียบนั้น ยังพบว่ามีผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์รายย่อย และผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ “เถื่อน” ที่ช่วยให้ชาวบ้านก่อวิละมีทางเลือกในการเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ได้มากขึ้น

แม้ว่าวิถีการผลิตที่ชาวบ้านเลือกจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด แต่ก็เป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดต่าง ๆ ที่พวกเขารับมืออยู่ ซึ่งในที่นี้เงื่อนไขในการเลือกเมล็ดพันธุ์ของพวกเขา ได้แก่ ฐานะทางเศรษฐกิจ เครือข่ายและความรู้ เงื่อนไขจากแหล่งเงินทุน ประสบการณ์ที่ผ่านมา ขนาดที่ดินและความคาดหวังต่อการใช้จ่ายในอนาคต

ในแง่นี้เกษตรกรจึงไม่ได้เป็นผู้ผลิตที่ถูกกดขี่ขูดรีดจนกระทั่งไม่มีทางต่อสู้ดิ้นรนเอาเสียเลย.  

 



[1] http://prachatai.com/journal/2008/04/23814

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท