ชินทาโร ฮารา: ข้อเสนอเลือกตั้งผู้ว่าฯ จังหวัดชายแดนใต้

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
 
มีนักข่าวบางท่านติดต่อผมและถามว่า คิดอย่างไรกับข้อเสนอที่ให้คนในสามจังหวัดชายแดนใต้ได้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด 
 
ตอนนี้ กระบวนการสันติภาพเพิ่งเริ่มต้น อยู่ในระดับการพูดคุยซึ่งมีเป้าหมายหลักคือ การสร้างความไว้วางใจต่อกัน ฉะนั้น อาจเร็วเกินไปสำหรับฝ่ายรัฐที่จะนำเสนอรูปแบบการปกครองในอนาคต ณ จุดนี้ เพราะภาวะความรุนแรงทางการเมืองหรือการปะทะกันก็ยังไม่สิ้นสุด 
 
รูปแบบการปกครองของจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอนาคตเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมากที่สุดประเด็นหนึ่ง ไม่ใช่ประเด็นที่สามารถแก้ไขได้โดยมีข้อเสนอจากรัฐบาลอย่างเดียว ทั้งฝ่ายรัฐ ฝ่ายคู่เจรจา (ที่นำโดย BRN) ประชาชนในพื้นที่และสังคมไทยทั่วไปต้องระดมความคิดและร่วมพิจารณา 
 
คำถามที่โผล่ขึ้นมาในใจเมื่อผมได้รับคำถามเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ สามจังหวัดนี่ก็คือ “ทำไมเฉพาะสามจังหวัดอย่างเดียว จังหวัดอื่นๆ ไม่ต้องเลือกผู้ว่าฯ ของตัวเองหรือ”
 
เมื่อสื่อต่างประเทศมีรายงานข่าวเกี่ยวกับประเทศไทย มักจะมีคำแนะนำว่า ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีอำนาจการปกครองรวบรวมอยู่ที่สูงกลางในระดับสูง (Thailand is a highly centralized country) จังหวัดที่ประชาชนสามารถเลือกผู้ว่าฯ ได้ก็มีแค่สองจังหวัดที่อยู่ในภาคกลาง (กรุงเทพฯ, พัทยา)
 
สำหรับคนที่มาจากประเทศที่ทุกจังหวัดเลือกผู้ว่าฯ ของตัวเอง ผมรู้สึกตกใจกับระบบการปกครองรัฐบาลท้องถิ่นของประเทศไทย ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับระบบการปกครองของญี่ปุ่นก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงนั้น รัฐบาลจำกัดสิทธิทางการเมืองของประชาชนอย่างมาก และทุกสิ่งทุกอย่างกำหนดโดยชนชั้นสูง โดยประชาชนไม่มีส่วนรวมใดๆ ในการกำหนดนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายระดับประเทศหรือระดับท้องถิ่น 
 
ในประเทศมาเลเซีย ประชาชนในแต่ละรัฐไม่เลือกผู้ว่าฯ (ที่เรียกว่า มุขมนตรี) โดยตรง แต่ผู้ว่าฯ ต้องมาจากพรรคที่ชนะการเลือกตั้งสภาบัญญัติแห่งรัฐ ฉะนั้น ประชาชนก็มีส่วนรวมในการเลือก ผู้ว่าฯ ของรัฐ 
 
เมื่อสังเกตสถานการณ์ของประเทศไทย ประชาชนยังมีส่วนรวมในการเมืองท้องถิ่นน้อยมาก เมื่อคุยเรื่องระบบประชาธิปไตยในประเทศไทย บางคนบอกว่า ประเทศไทยยังไม่ mature (แปลว่า ยังไม่เป็นผู้ใหญ่ ยังไม่พร้อม) ที่จะเลือกผู้นำของตัวเอง มีบางคนอ้างว่า คนไทยยังไม่ชินกับระบบประชาธิปไตย ถ้าจะเปิดโอกาสเลือกตั้งผู้ว่าฯ ก็คงจะมีการซื้อเสียงขายเสียง และประชาธิปไตยก็ไม่เวิร์ก 
 
แนวคิดแบบนี้เป็นแนวคิดที่น่ากลัวมากเลยทีเดียว เขาว่า คนไทยยังไม่คุ้นเคยกับระบอบประชาธิปไตย แล้วในเมื่อคนไทยถูกปฏิเสธสิทธิทางการเมือง (เช่น การเลือกผู้ว่าฯ) คนไทยจะคุ้นเคยกับระบอบนั้นเมื่อไร และผู้นำที่ได้รับเลือกตั้ง แม้ว่ามีการซื้อเสียงขายเสียงก็ตาม แย่กว่าคนที่ได้รับการแต่งตั้งจากศูนย์กลางหรือ หรือว่า ผู้ว่าฯ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากศูนย์กลางเป็นบุคคลที่ปราศจากคอรัปชั่นร้อยเปอร์เซ็นต์จริงหรือไม่
 
คนไทยหลายคนยังคิดว่า ระบบประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งไม่เวิร์กสำหรับประเทศไทย ผมเองก็ไม่เห็นด้วยกับการซื้อเสียง/ขายเสียงอย่างเด็กขาด ซึ่งเป็นพฤติกรรมของคนที่ไม่มีศักดิ์ศรีในตัว ปัญหาการซื้อเสียงขายเสียง (อีกนัยหนึ่ง การขายชาติ) เป็นปัญหาที่สังคมไทยต้องแก้ไขเพื่อสร้างประชาธิปไตยอันแท้จริงในสังคม ต้องยอมรับว่า เส้นทางไปสู่ประชาธิปไตยยังยาวนาน แต่การปฏิเสธเลือกตั้งไม่ใช่แนวทางแก้ไขปัญหา 
 
ในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย การปฏิวัติไม่เคยเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นมาหลายต่อหลายครั้งนั้นคือการรัฐประหาร การรัฐประหารเกิดขึ้นเมื่อไร ประเทศไทยก็ต้องถอยหลังหลายๆ ปี 
 
ขอให้ทุกท่านเข้าใจว่า ประชาธิปไตยจะไม่เจริญเติบโตในเมื่อประชาชนเองไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการเลือกตั้ง อย่าให้ความสำคัญแก่รถถังมากกว่าหีบใส่บัตรลงคะแนนในคูหาเลือกตั้ง แต่ขอให้พิจารณาว่า สิ่งไหไหนเพิ่มอำนาจให้กับประชาชน 
 
ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอให้คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ของตัวเอง ไม่เพียงแค่ผู้ว่าฯ คนเดียว แต่ควรเป็นเลือกผู้ว่าฯ จังหวัดละคน และการเลือกผู้ว่าฯ อย่าจำกัดเฉพาะบางพื้นที่เลย แต่ให้ทุกจังหวัดเลือกผู้ว่าฯ ของตัวเอง นี่คือก้าวสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีประชาธิปไตยมากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท