ท้องได้ไม่ผิด ทำแท้งไม่เถื่อน: เรียนรู้การขับเคลื่อน ‘ความเป็นธรรมทางเพศ’ ในอาเซียน

เตรียมพบเวที ‘การสร้างความเข้มแข็งงานขับเคลื่อนด้านความเป็นธรรมทางเพศ: ประสบการณ์จากเพื่อนบ้านอาเซียน’ รศ.ดร.กฤตยา ชี้เป็นโอกาสของไทยได้เรียนรู้ประเด็น ‘ความเป็นธรรมทางเพศ’ ที่เจ้าของปัญหาเป็นผู้นำขบวนเอง

 
เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ‘การสร้างความเข้มแข็งงานขับเคลื่อนด้านความเป็นธรรมทางเพศ: ประสบการณ์จากเพื่อนบ้านอาเซียน’ กำหนดจัดขึ้นวันที่ 17-18 มิ.ย.นี้ ประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ ในการเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดประเด็น ‘ความเป็นธรรมทางเพศ’ ที่ยังไม่ปรากฏการถกเถียงทางสาธารณะ และเป็นการรวมตัวกันของผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง นักกิจกรรมหรือแอ๊กติวิสท์ รวมถึงนักวิชาการ เอ็นจีโอ รวมถึงผู้มีประสบปัญหาโดยตรงในภูมิภาคอาเซียน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความสำเร็จ ความล้มเหลว ปัญหาและอุปสรรค ตลอดจนความท้าทายและโอกาสที่จะเกิดขึ้นในการขับเคลื่อนด้านความเป็นธรรมทางเพศ
 
รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิกุล อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และกรรมการจัดเวทีครั้งนี้ กล่าวว่าการเลือกประเด็นคุยกันในครั้งนี้ ล้วนเกี่ยวข้องกับขบวนการเคลื่อนไหวเพศวิถี และยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงร้อนแรงในทุกสังคม ไม่ว่าจะเป็น สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์โดยเฉพาะการท้องและการทำแท้ง การประกอบอาชีพบริการทางเพศ สิทธิและอัตลักษณ์ทางเพศ แรงงานข้ามชาติ สิทธิและโอกาสของผู้หญิงพิการ และความรุนแรงต่อผู้หญิง
 
แต่ละประเด็นที่มีลักษณะร่วมกันตรงที่ใช้มาตรฐานด้านศีลธรรมมาใช้ตัดสินคุณค่า เช่น ตีตราผู้หญิงที่ท้องแล้วทำแท้งเป็นคนชั่ว ตั้งข้อรังเกียจเดียดฉันท์ ประณาม หรือดูหมิ่นผู้ประกอบอาชีพบริการทางเพศ รวมถึงการกดขี่ข่มเหงคนที่มีอัตลักษ์ทางเพศนอกกรอบ ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ แล้วยังซ้ำเติมให้ผู้ประสบปัญหาต้องเผชิญกับสภาพเลวร้ายมากขึ้น ในการทำงานและการขับเคลื่อนในแต่ละประเด็นต้องอาศัยยุทธศาสตร์ แนวทางและวิธีการที่หลากหลายในการปฏิบัติการ โดยเฉพาะการมุ่งแก้ไขเชิงโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรมที่ไม่เป็นธรรม
 
“ประสบการณ์การเคลื่อนไหวเรื่องทำแท้งในอินโดนีเซีย ทั้งที่เป็นประเทศอิสลาม ทำไมถึงทำได้  หรือในมาเลเซียมีแพทย์ให้บริการทำแท้ง และมีการเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมทางเพศที่เจ้าของปัญหาเป็นผู้นำขบวนเอง ซึ่งต่างจากไทยที่เป็นลักษณะตัวแทน เช่นหลายเรื่องที่มีเอ็นจีโอเป็นแกนนำ การมีเวทีแลกเปลี่ยนนี้จะเป็นโอกาสสำคัญสำหรับประเทศไทย” รศ.ดร.กฤตยากล่าว
 
รศ.ดร.กฤตยา กล่าวด้วยว่า เวทีดังกล่าวมีวิทยากรรับเชิญที่มีประสบการณ์ทำงานด้านการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ อาทิ โรสานา อิซา (Rozana Isa) จากประเทศมาเลเซีย สมาชิกองค์กรผู้หญิงมุสลิม Sisters in Islam (SIS) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่มุ่งส่งเสริมสิทธิของผู้หญิงมุสลิมบนฐานศาสนาอิสลาม นินุก วิดยานโตโร (Ninuk Widyantoro) นักจิตวิทยาที่ได้พบเห็นผู้หญิงและเด็กหญิงวัยรุ่นถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงการทำแท้ง ทำให้ตัดสินใจทุ่มเททำงานตลอดเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา ในการผลักดันให้ผู้หญิงได้เข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัย และฟาติมะห์ อับดุลละห์ (Fatimah Abdullah) ที่ทำงานขับเคลื่อนเพื่อสิทธิของผู้ประกอบอาชีพบริการในมาเลเซีย เป็นต้น
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท