ความขัดแย้งที่ห้วยกระทิง: เสียงเพรียกหาความยุติธรรม และความฝันลมๆ แล้งๆ ของมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
(1) บ้านห้วยกระทิง : บ้านของคนกะเหรี่ยง เมืองหน้าด่านชาวสยาม
 
ทุกๆ ครั้งที่รถแล่นผ่าน ณ บริเวณนี้ ริมถนนสายเอเชียตาก-แม่สอด หลักกิโลเมตรที่ 62-63 ไม่มีรถคันใดที่จะไม่บีบแตรเพื่อแสดงความเคารพต่อ “ศาลเจ้าพ่อพะวอ” นักรบกะเหรี่ยงผู้ดูแลเทือกเขาผาวอแห่งนี้
 
เรื่องเล่าที่สืบทอดต่อๆกันมากว่าสองร้อยปีบอกว่า พะวอเป็นนายด่านหรือนายบ้านที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงแต่งตั้งให้มีหน้าที่ดูแลด่านแม่ละเมา คอยลาดตระเวนหาข่าวให้แก่เจ้าเมืองระแหง (หรือเมืองตากในปัจจุบัน) ด่านแม่ละเมาเป็น 1 ใน 2 ด่าน ยามที่พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาจะต้องผ่านช่องทางสองแห่งนี้ อีกช่องทางหนึ่ง คือ ด่านเจดีย์สามองค์ กาญจนบุรี
 
ล่วงมาถึงตุลาคม พ.ศ. 2318 ทัพสุดท้ายของกองทัพพม่าที่อะแซหวุ่นกี้ แม่ทัพแห่งกรุงอังวะได้ยกทัพมาตีกรุงธนบุรีโดยผ่านทางด่านแม่ละเมา พะวอและลูกบ้านชาวกะเหรี่ยงได้ลุกขึ้นต่อสู้กับทัพพม่าระหว่างประวิงเวลารอคอยทัพจากเมืองตากมาช่วย จนพ่ายแพ้และถอยร่นมายังเทือกเขาผาวอและถูกฆ่าตายในที่สุด
 
อาจเป็นเพราะพะวอเป็นแค่ไพร่พลระดับล่าง เป็นชาวบ้านกะเหรี่ยงเมืองชายแดนอันไกลโพ้น เรื่องราวของนักรบผู้กล้าชาวกะเหรี่ยงที่อุทิศชีวิตเพื่อแผ่นดินมาตุภูมิ จึงไม่มีพื้นที่ทางหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทย
 
ว่าไปแล้วเรื่องราวของ “พะวอ” ก็ไม่ต่างจากเรื่องราวของชาวบ้านกะเหรี่ยงคนตัวเล็กๆที่นี่ เรื่องที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านจึงเป็นเพียงดั่งสายลมผ่าน
 
ณ เทือกเขาผาวอแห่งนี้ ปี พ.ศ.2473 หมู่บ้านห้วยกระทิง (หรือบ้านพะกอยวาในภาษากะเหรี่ยง) ได้ถูกตั้งขึ้นมา ครอบคลุมพื้นที่กว่า 9,000 ไร่ หมู่บ้านอยู่ลึกจากถนนใหญ่เข้าไปในป่าประมาณ 4 กิโลเมตร มีลำห้วยแม่จะเราไหลผ่าน สังกัดหมู่ที่ 6 ตำบลพระธาตุ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก อยู่ห่างจากอำเภอแม่ระมาดประมาณ 30 กิโลเมตร มีพี่น้องกะเหรี่ยงอาศัยอยู่กว่า 183 หลังคาเรือน รวม 524 คน นับถือศาสนาคริสต์ หมู่บ้านแห่งนี้มีไฟฟ้าใช้บางจุด นอกนั้นก็ใช้แผงโซล่าเซลล์ มีโรงเรียนขนาดเล็กสอนระดับอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 1 แห่ง เด็กนักเรียน 56 คน ชาวบ้านอาศัยกระจายอยู่ตามบริเวณสันเขา ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาข้าว ไร่ข้าวโพดและรับจ้างทั่วไป มีฐานะยากจน
 
เพราะเป็นชาวบ้านกะเหรี่ยงที่ต้องอาศัยป่าเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ต ชาวบ้านที่นี่จึงทำการเกษตรในระบบไร่หมุนเวียน เพื่อรักษาสภาพทรัพยากรธรรมชาติในบริเวณนั้นให้คงสภาพอยู่เหมือนเดิม เกิดการหมุนเวียนของระบบนิเวศน์ เพื่อให้คนก็อยู่ได้ ธรรมชาติก็อยู่ได้ พื้นที่ตามลำห้วยแม่จะเราท้ายหมู่บ้านที่เหมาะกับการทำนาก็ทำเป็นที่นาทอดยาวไปตามลำห้วย
 
ผ่านไปกว่า 77 ปี ล่วงมาจนถึงกันยายนปี 2550 คณะรัฐมนตรีในสมัยที่มีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบกำหนดให้ที่ดินบริเวณป่าสามหมื่น ป่าแม่ระมาด และป่าแม่ละเมา ในท้องที่ตำบลสามหมื่น ตำบลขะเนจื้อ ตำบลพระธาตุ อำเภอแม่ระมาด และตำบลพะวอ ตำบลแม่กาษา ตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ให้เป็นอุทยานแห่งชาติขุนพะวอ นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ความขัดแย้งของชาวบ้านห้วยกระทิงกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติขุนพะวอก็เริ่มต้นขึ้น
 
(2) จุดเริ่มต้นความขัดแย้งที่ห้วยกระทิง : “ไม่มีแม้ข้าวจะกิน จะเอาเงินที่ไหนสู้คดี”
 
24 พฤศจิกายน 2552 พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการ พื้นที่หมู่บ้านห้วยกระทิงกลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่อุทยานแห่งชาติขุนพะวอโดยทันที
 
เรื่องเล่าซ้ำซากที่ปรากฏในทุกที่ของ “อุทยานแห่งชาติทับที่ดินทำกินชาวบ้าน” ก็เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าราวกับฉายหนังซ้ำ ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า “เมื่อมีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติปี 2552 หรือ 4 ปีมานี้เอง เจ้าหน้าที่อุทยานได้เริ่มเข้ามาทำการปักป้ายในพื้นที่ทำไร่ของชาวบ้านให้เป็นพื้นที่ปิด ห้ามชาวบ้านเข้าไปทำกิน ทั้งๆที่พื้นที่ทำไร่เหล่านั้นชาวบ้านได้ทำกินมาก่อน ไม่มีการกันเขตพื้นที่ทำกินของชาวบ้านออกจากเขตพื้นที่อุทยาน มีเพียงกันเฉพาะพื้นที่ตั้งหมู่บ้านและที่นาบางแห่งตามลำห้วยท้ายหมู่บ้านเท่านั้น อีกทั้งยังมีการข่มขู่ ทำร้าย รวมถึงจับกุมชาวบ้านที่เข้าไปทำกินตามปกติ และส่วนใหญ่ชาวบ้านก็จะให้การรับสารภาพ เพราะไม่มีความรู้ความเข้าใจในสิทธิของตนเอง อีกทั้งไม่มีเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี”
 
เฉพาะปี 2556 มีชาวบ้านกะเหรี่ยงถึง 12 ราย ที่กำลังอยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีข้อหา ก่นสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆอันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้งบางคนยังถูกข้อหาต่อสู้ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ อันเป็นข้อหาประจำที่เจ้าหน้าที่อุทยานมักนำมาใช้จัดการกับชาวบ้านในพื้นที่ ด้วยข้ออ้างว่าชาวบ้านมีมีดพร้าและจอบเป็นอาวุธไว้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ ทั้งๆที่นี้คืออุปกรณ์ในการทำไร่ทำนาถางหญ้าทั้งสิ้น
 
ชาวบ้านอีกคนเล่าว่า “ทุกวันนี้ชาวบ้านที่นี่หวาดกลัวเจ้าหน้าที่อุทยานมาก พอเห็นคนแปลกหน้าเข้ามาในหมู่บ้านก็จะวิ่งหลบหนีไว้ก่อน ไม่กล้าให้ความร่วมมือกับรัฐ ทุกวันนี้ไม่สามารถทำกินในที่ดินเดิมของตนเองได้ ฐานะก็ย่ำแย่ลง เพราะที่ดินทำกินได้ถูกยึดไปเป็นของรัฐภายใต้กฎหมายอุทยานหมดแล้ว อีกทั้งถ้าเข้าไปอยู่ในคุก ก็ไม่มีใครเลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย พอเจอปัญหาแบบนี้ บางทีก็อยากตาย ถ้าตายแล้วปัญหาทุกอย่างสามารถจบลงได้ ชาวบ้านจะได้ไม่โดนรังแกก็จะยอมตายให้ เพราะว่าไม่รู้จะมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่ออะไร หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ความขัดแย้งที่นี่จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ต้องมีการสูญเสียฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแน่ๆ เพราะชาวบ้านไม่สามารถทำมาหากินได้”
 
ดังตัวอย่างเช่นเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2556 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติได้จับกุมชาวบ้านกะเหรี่ยงครอบครัวหนึ่งรวม 4 คน
 
นายก่าลี่ ตระกูลพสุพชระ และครอบครัวที่ถูกจับ เล่าให้ฟังว่า “วันนั้นตนเองและครอบครัวได้ไปทำไร่บนดอยแถวๆหมู่บ้าน ซึ่งไร่แห่งนี้ทำกินมากว่า 24 ปีแล้วตั้งแต่รุ่นพ่อ ตอนประมาณ 9 โมงเช้า มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้จากอุทยานแห่งชาติขุนพะวอเข้าไปหา 2 คน และได้ถือไม้ท่อนขนาดเท่าแขนเข้าไปด้วย นายก่าลีได้พูดกับทั้งสองคนว่าพื้นที่ตรงนี้ไม่ใช่พื้นที่ป่า จะมาจับลุงไม่ได้นะ ทั้งสองคนบอกว่าให้ลุงลงไปคุยกับหัวหน้าประสาท (หัวหน้าอุทยาน) ที่รถก่อน
 
พอลงไปถึงที่รถของหัวหน้าประสาท หัวหน้าประสาทบอกว่าให้ไปคุยกันที่หมู่บ้าน (แต่จริงๆแล้วพาไปโรงพัก) ทุกคนไม่อยากขึ้นรถเพราะกลัวว่าเจ้าหน้าที่อุทยานไม่ทำตามที่พูด แต่เจ้าหน้าที่ก็ข่มขู่อีกทั้งยังได้ใส่กุญแจมือชาวบ้าน พอถึงที่โรงพัก ชาวบ้านก็ถูกบังคับให้เซ็นชื่อโดยที่ไม่เข้าใจว่าเซ็นชื่อเพื่ออะไร และพอร้อยเวรสอบสวนเสร็จ ก็แจ้งว่านายอำเภอไม่อยู่ ทำให้ไม่สามารถประกันตัวได้ ตนเองต้องอยู่ที่โรงพักแม่ระมาดถึง 2 คืน และต่อมาเช้าวันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม 2556 จึงถูกนำตัวส่งไปที่โรงพักแม่สอด และต้องขอยืมหลักทรัพย์จากเพื่อนบ้านเป็นเงิน 40,000 บาท ถึงประกันตัวออกมาได้”
 
หรือเหตุการณ์ล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา
 
นายปุที เจษฎากุลอนุชิต  ได้ถูกเจ้าหน้าที่ใช้ก้อนหินขว้างปาที่บริเวณศีรษะท้ายทอยจนเป็นแผลต้องเย็บถึง 7 เข็ม พร้อมกับตั้งสองข้อหาเดิมที่ชาวบ้านคนอื่นๆถูกตั้งมาก่อนหน้านี้แล้ว คือ ก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่าหรือกระทำด้วยประการการใดๆอันเป็นการทำลายป่า กับต่อสู้ขัดขวางพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน ขณะนี้ทางครอบครัวได้มีการประกันตัวออกมาแล้ว แต่นายปุทียังมีความหวาดกลัว ไม่กล้าไปทำไร่ทำนา และเหตุการณ์ดังกล่าวอยู่ในระหว่างการดำเนินการในชั้นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอแม่ระมาด
 
เหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นระหว่างที่ได้ไปทำนาตามปกติ จนเวลาประมาณ 17.00 น.  ได้มีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติขุนพะวอเข้ามาที่นา เมื่อนายปุทีเห็นดังนั้นจึงตกใจกลัว และวิ่งหนีไปทางลำห้วยที่อยู่ทางด้านตะวันออกของที่นา ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติจึงใช้ก้อนหินขว้างปาเพื่อให้หยุด
 
(3) อย่าให้มติครม. 3 สิงหาคม 2553 เป็นเพียง “ฝันลมๆแล้งๆ”: สิทธิของคนกะเหรี่ยงต้องได้รับการปกป้องและคุ้มครอง
 
มติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 คือเครื่องมือสำคัญที่ยืนยันว่า “คนกะเหรี่ยงอยู่กับป่าได้” ในเมื่อเจ้าหน้าที่และลูกจ้างจากกรมอุทยานแห่งชาติขุนพะวอส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ ก็ย่อมเข้าใจวิถีชาวกะเหรี่ยงดีอยู่แล้ว แต่นั่นเองเมื่อตัดสินใจสวมหมวกในอีกบทบาทหนึ่ง การจัดการป่าที่มาพร้อมกับวิธีคิดทางตะวันตกที่มองว่าในป่ามีเพียงสัตว์และต้นไม้จึงเข้ามาแทนที่  ป่าต้องปลอดคนการจัดการป่าถึงทำได้ดีและยั่งยืน แม้ว่าในประเทศไทยจะไม่เหมือนป่าตะวันตกที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูง ป่าทุกป่าในประเทศไทยมีคนอาศัยอยู่มาก่อนทั้งนั้น แต่เจ้าหน้าที่ก็กลับทำเป็นมองไม่เห็นและหลงลืมชั่วขณะ
 
แต่ไม่ว่าความเข้าใจจะเป็นอย่างไร แต่ความจริงก็แจ่มชัดว่าคนกะเหรี่ยงมีภูมิปัญญาที่สะสมถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษเรื่องการจัดการทรัพยากร และเคารพธรรมชาติมาหลายร้อยปีผ่าน ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นชุมชนวิถีคนกะเหรี่ยงบนแผ่นดินไทย จึงทำให้เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในเรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง โดยให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งอัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม การจัดการทรัพยากร การสืบทอดทางวัฒนธรรม และการศึกษา
 
รวมทั้งให้ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ข้อพิพาทเรื่องที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม รวมถึงการเคารพต่อสิทธิของบุคคลที่จะร่วมกับชุมชน และสิทธิของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมในการอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ
 
มติคณะรัฐมนตรีนี้เองที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญให้พี่น้องกะเหรี่ยงที่บ้านห้วยกระทิงนี้มีความหวังที่จะดำเนินชีวิตต่อ
 
เพราะเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปีแล้ว เพื่อยืนยันว่า มติครม. 3 สิงหาคม 2553 ไม่ได้เป็นเพียง “ฝันลมๆแล้งๆ” อีกทั้งสิทธิของคนกะเหรี่ยงต้องได้รับการปกป้องและคุ้มครอง หน่วยงานพัฒนาและบริการสังคม สภาคริสตจักรในประเทศไทย จึงได้มีการทำงานร่วมกับคริสตจักรบ้านห้วยกระทิง และคริสตจักรพระพร บ้านจบปิ ต.พระธาตุ อ.แม่ระมาด จ.ตาก ในการสร้างความตระหนักต่อการจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ดินในชุมชน มีการจัดทำแผนที่ชุมชน ประวัติการตั้งถิ่นฐานของชุมชน กฎระเบียบชุมชน ตลอดจนการสำรวจขนาดที่ดินแต่ละแปลงของชาวบ้านรวม 200 แปลง ผ่านเครื่องมือ GPS (เครื่องมือหาตำแหน่งพิกัดพื้นที่)
 
สอดคล้องกับที่นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายทรัพยากรและสิทธิเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า “ปัจจุบันรัฐมีแนวนโยบาย และหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 ส.ค.53 ซึ่งส่งเสริมให้ชาวกะเหรี่ยงได้อยู่ร่วมกับป่าเพื่อรักษาทรัพยากรป่าไม้ กรณีความขัดแย้งที่บ้านห้วยกระทิงนี้ เสนอให้ตั้งคณะกรรมการเข้ามาตรวจสอบพื้นที่ที่พิพาท ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมแนวทางการจัดการความขัดแย้งในเชิงสร้างสรรค์ และให้ยุติหรือชะลอการดำเนินคดีแก่ชาวบ้านห้วยกระทิงจนกว่าจะได้ข้อสรุปร่วมกันก่อน โดยให้มีการตั้งกรรมการร่วมกันระหว่างอุทยานแห่งชาติขุนพะวอ อำเภอแม่ระมาด อบต. กำนันผู้ใหญ่บ้าน และนักวิชาการ เพื่อพิสูจน์ว่าที่พิพาทเป็นที่ทำกินดั้งเดิมหรือหรือพื้นที่บุกรุกใหม่ ตลอดจนร่วมกันกำหนดขอบเขตการใช้ที่ดินโดยไม่มุ่งเน้นการทำพืชเชิงเดี่ยว แต่ส่งเสริมเกษตรพอเพียงหรือเกษตรทางเลือก ที่ไม่ใส่ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง ตลอดจนการสนับสนุนการทำไร่หมุนเวียนที่รักษาป่า”
 
เพราะเทือกเขาผาวอเป็นผืนป่าสำคัญแถบชายแดนตะวันตกของจังหวัดตาก แต่เมื่อมีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับซ้อนพื้นที่ทำกินเดิมของชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่ทำมาหากินอย่างเกื้อกูลกับธรรมชาติมาก่อน ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อยู่รายล้อมป่าเขา เนื่องจากไม่มีกระบวนการจัดการและวางแผนที่ดี ทำให้ที่ดินทำกินจำนวนมากไม่ได้รับการกันแนวเขตออกก่อน และเมื่อนำกฎระเบียบของทางการเข้ามาบังคับใช้โดยมีเจ้าหน้าที่อุทยานเป็นศูนย์กลาง จึงเกิดเรื่องกระทบกระทั่งกับชาวบ้านมาโดยตลอด เป็นปัญหาเรื้อรังปัญหาหนึ่งที่ชาวบ้านกะเหรี่ยงรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม สะท้อนให้เห็นถึงวิธีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของภาครัฐที่ไม่ลงตัวเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นทั่วทุกภาคของประเทศ
 
นายนรภัทร ปลอดทอง นายอำเภอแม่ระมาด กล่าวว่า “ทางอำเภอยินดีเป็นตัวกลางที่จะช่วยให้เกิดการพูดคุยเพื่อหาทางออกใสเรื่องนี้ร่วมกัน โดยกำหนดให้ผู้เกี่ยวข้องนำข้อมูลที่มีมาตกลงกันในวันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน 2556 ณ ที่ทำการกำนัน ต.พระธาตุ อ.แม่ระมาด จ.ตาก เพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป”
 
ว่าไปแล้วความเป็นธรรมไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่หัวใจสำคัญ คือ การมีอยู่มีกินอย่างพอเพียง หากท้องไม่อิ่ม ที่ดินที่เคยเป็นที่ทำมาหากินมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ไปทับซ้อนกับการประกาศเขตอุทยาน หากชีวิตยังคงมีความยากลำบาก ไม่มีที่ดินประกอบอาชีพ เป็นเพียงคนงานรับจ้างรายวันแล้ว เช่นนี้ก็ยากที่จะเกิดความเป็นธรรมบนผืนแผ่นดินไทยได้จริง 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท