Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ข้อเสนอในการเจรจาระหว่างเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ กับ ผู้แทนนายกรัฐมนตรี

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และ นายสุรนันท์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกฯ
วันที่ 4 มิถุนายน 2556 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นท์ และ วันที่ 6 มิถุนายน 2556 ณ ทำเนียบรัฐบาล

 

หลักการสำคัญ

การเจรจาครั้งนี้ เป็นการเจรจาระหว่างเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ สหภาพองค์การเภสัชกรรม และ เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพโรงพยาบาลชุมชน กับ ผู้แทนนายกรัฐมนตรีฯ ไม่ใช่การเจรจา กับ นายประดิษฐ สินธวณรงค์ และคณะ

 

ข้อเสนอเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพของไทย โดย กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ

 
  ต้องไม่ใช้ระบบร่วมจ่าย (Co-Payment) และยกเลิกการเก็บ 30 บาทในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

1. การจัดหา(ซื้อ)บริการสาธารณสุขให้เป็นหน้าที่ของ สปสช.เท่านั้น กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่จัดบริการให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ การดึงอำนาจการจัดสรรงบประมาณของ สปสช.มายังเขตบริการของกระทรวงสาธารณสุข เป็นการถอยหลังเข้าคลองและผิดหลักการ ต้องยกเลิก

2. ต้องยุติการแทรกแซงการบริหารของ สปสช. เน้นหลักการแยกบทบาทผู้จัดหา(ซื้อ)บริการ กับผู้ให้บริการ ซึ่งเป็นหลักธรรมาภิบาลที่ดี ดังนั้นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องมีความเป็นอิสระจากกระทรวงสาธารณสุข และ ต้องยุติความพยายามในการแทรกแซงการทำงานของสปสช.

3. ให้คืนความเป็นธรรมและเยียวยาแก่ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล โดยเร็ว

4. ให้ตัดต้นตอของปัญหาคือ ให้นายกรัฐมนตรีสั่งให้นายประดิษฐ สินธวณรงค์ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขทันที

 

ข้อเสนอเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพของไทย โดย สหภาพแรงงานองค์การเภสัชกรรม

 

1. รัฐบาลต้องไม่แปรรูปองค์การเภสัชกรรม ต้องคงสถานภาพรัฐวิสาหกิจไว้ตามเดิม และจะต้องทำหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจเพื่อสังคมเพิ่มเติมจากที่ได้ทำมาแล้ว

2. ให้ยุติการใช้เงินสะสมขององค์การเภสัชกรรมโดยมิชอบ เช่น การสั่งการให้ใช้เงิน 4,000 ล้านบาทสร้างศูนย์ความเป็นเลิศของกระทรวงสาธารณสุข

3. ให้ยุติการใช้เงินตามโครงการสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐโดยมิชอบ เช่น กรณีสั่งจ่ายเงิน 75 ล้านให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

4. ให้เร่งรัดคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมดำเนินคดีกับ กลุ่มต่างๆ ที่ให้ร้าย บิดเบือนองค์การเภสัชกรรม เช่น กรณีวัตถุดิบยาพาราเซตามอล และการสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก

5. ให้คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมชุดปัจจุบันลาออกทั้งคณะ

6. ให้ตัดต้นตอของปัญหา คือ ให้ นายประดิษฐ สินธวณรงค์ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีสาธารณสุขทันที

 

ข้อเสนอเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพของไทย โดย เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพโรงพยาบาลชุมชน

 

1. คงระเบียบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับ 4 และ 6 ไว้ตามเดิม

2. ปรับปรุงระบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้นดังนี้

2.1 ตั้งคณะกรรมการที่มีส่วนจากทุกวิชาชีพที่ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในการพัฒนาเบี้ยเลี้ยง รวมถึงกลุ่มงานบริหาร (Back Office)

2.2 ใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน

3. ตั้งคณะกรรมการที่มีส่วนจากทุกภาคส่วนในการพิจารณาทบทวนกำหนดพื้นที่ใหม่ทั้งหมดโดยเร็ว

4. ให้ยกเลิกการบังคับทำ P4P ในรพ.ชุมชน

5. ให้ตัดต้นตอของปัญหา คือ ให้ นายประดิษฐ สินธวณรงค์ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขทันที

 
 

อรรถาธิบาย

ข้อเสนอเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพของไทย

 

ข้อเสนอเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพของไทย โดย กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ

1. ต้องไม่ใช้ระบบร่วมจ่าย (Co-Payment) และยกเลิกการเก็บ ๓๐ บาทในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

เหตุผล

1. หลักการของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคือ คุ้มครองสิทธิมนุษยชน คุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ใช้ระบบเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข โดยการจัดงบประมาณค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษา การป้องกัน การส่งเสริมสุขภาพ สำหรับประชาชนทุกคนโดยเฉลี่ยตามจำนวนการเข้ารับการรักษาในแต่ละปี รัฐรับประกันว่าประชาชนทุกคนเข้าถึงการรักษาได้โดยเสมอภาคกัน ไม่ถูกกีดกัน ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ เนื่องจากฐานะทางเศรษฐกิจ

 

2. งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ประชาชนร่วมจ่ายผ่านระบบภาษีมาโดยตลอดนั้น ได้ยืนยันการมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบระบบหลักประกันสุขภาพ

 

3. การร่วมจ่ายมีหลักการที่สำคัญคือ การลดการใช้บริการฟุ่มเฟือยเกินจำเป็น ไม่ใช่แหล่งรายได้ของระบบหลักประกัน โดยที่งานวิชาการที่ผ่านมาทั้งจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ให้ข้อมูลตรงกันว่า ยังไม่มีปรากฏการณ์ในภาพรวมของการใช้บริการเกินจำเป็น เนื่องจากการไม่ต้องร่วมจ่าย

4. งานวิจัยส่วนใหญ่พบว่ากลุ่มข้าราชการคือกลุ่มที่มีแนวโน้มการใช้บริการเกินจำเป็น และส่งผลต่อการเพิ่มของงบประมาณรัฐในการรักษาพยาบาลเป็นสัดส่วนมากที่สุด ดังนั้นการจะเพิ่มงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย รัฐควรดำเนินการลดค่าใช้จ่ายของภาคข้าราชการ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพให้เป็นระบบเดียว มีหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการจัดการซื้อบริการหน่วยเดียวที่สามารถดูแลประชาชนทุกคนได้

5. ข้อมูลภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนมากกว่าความต้องการมาใช้บริการโดยไม่จำเป็น งานวิจัยพบว่าประชาชนที่มีรายได้น้อย ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการมาโรงพยาบาลเป็นสัดส่วนสูง เช่น หากต้องเดินทางจากต่างอำเภอ ต่างจังหวัด หรือแม้แต่ค่าเหมารถแท๊กซีในเขตเมืองเพื่อ ส่งคนชรา คนป่วยพิการ คนป่วยช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ต่างมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้รายวันที่ได้รับ จากการรวบรวมข้อมูลครอบครัวที่ต้องส่งคนป่วยไปหาหมอ ญาติต้องหยุดงาน คนป่วยหยุดงาน ส่งผลให้ขาดรายได้โดยเฉพาะคนที่ทำงานรับจ้างรายวัน หรือค้าขายรายวัน เป็นต้น

6. การจำแนกประชาชนเพื่อใช้สิทธิไม่จ่าย 30 บาทสร้างภาระให้สถานพยาบาล การเรียกเก็บเงิน 30 บาทที่จุดบริการ ณ ปัจจุบัน มีข้อยกเว้นบุคคลประเภทต่างๆถึง 21 ประเภท ทำให้ต้องมีการชี้แจงตนเองว่าอยู่ในข้อยกเว้นใด ต้องชี้แจงว่าตนเองยากจนจริง เป็นการเสียเวลา เสียศักดิ์ศรี และเงินที่ได้ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายในการจัดการเพื่อจำแนกประชาชนที่จะใช้หรือไม่ใช้สิทธิ และในความเป็นจริงสถานพยาบาลจำนวนมากเลือกที่จะไม่ดำเนินการในเรื่องนี้

 

5. การจัดหา(ซื้อ)บริการสาธารณสุขให้เป็นหน้าที่ของ สปสช.เท่านั้น กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่จัดบริการให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ การดึงอำนาจการจัดสรรงบประมาณของ สปสช.มายังเขตบริการของกระทรวงสาธารณสุข เป็นการถอยหลังเข้าคลองและผิดหลักการ ต้องยกเลิก

เหตุผล

2.1 เป็นข้อกำหนดในพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่ให้มีคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำหน้าที่จัดหาบริการให้ประชาชนทุกคนผ่านการกำหนดหลักเกณฑ์การบริหารจัดการกองทุน และกำกับควบคุมมาตรฐานการบริการจากหน่วยบริการ และมีกำหนดโครงสร้างระดับเขตและระดับจังหวัดคือ อนุกรรมการหลักประกันสุขภาคระดับเขต และระดับจังหวัด โดยมีทุกภาคส่วนร่วมกำหนดนโยบาย ถือเป็นหลักการสำคัญของการสร้างธรรมาภิบาลของระบบ ได้แก่ การคานอำนาจของผู้จัดหาบริการ และภาคผู้ให้บริการ โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานสปสช.เขต เป็นหน่วยงานอิสระในการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้การกำหนดนโยบายของคณะกรรมการฯ และอนุกรรมการฯ

2.2 การโอนอำนาจการตัดสินใจใช้งบประมาณไปที่เขตบริการที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจคือกระทรวงสาธารณสุข ถือเป็นการดำเนินการที่ขัดกับข้อกำหนดของกฎหมาย จากการสั่งการให้มีการทำข้อตกลงระหว่างสปสช.และเขตบริการ โดยโอนอำนาจการตัดสินใจใช้งบประมาณไปยังเขตบริการสาธารณสุขเป็นสิ่งขัดกับกฎหมาย เพราะอำนาจการตัดสินใจต้องอยู่ที่คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขต รวมทั้งเป็นการบริหารที่ผิดหลักธรรมาภิบาล ทำให้เกิดประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนในการบริหารจัดการ ขัดกับหลักการแยกบทบาทระหว่างผู้จัดหา(ซื้อ)บริการ กับผู้ให้บริการ

 

5. ต้องยุติการแทรกแซงการบริหารของ สปสช. เน้นหลักการแยกบทบาทผู้จัดหา(ซื้อ)บริการ กับผู้ให้บริการ ซึ่งเป็นหลักธรรมาภิบาลที่ดี ดังนั้นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องมีความเป็นอิสระจากกระทรวงสาธารณสุข และ ต้องยุติความพยายามในการแทรกแซงการทำงานของสปสช.

เหตุผล

3.1. การที่กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กำหนดให้การบริหารระบบหลักประกันสุขภาพในรูปของคณะกรรมการ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานฯ มิใช่ การให้อำนาจต่อประธานโดยลำพัง มิใช่การใช้อำนาจแทรกแซงการตัดสินใจของคณะกรรมการโดยเฉพาะคณะกรรมการที่มาจากส่วนราชการต่างๆ การบริหารจะทำเหมือนกับการบริหารกระทรวงสาธารณสุข ที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจเต็มในการสั่งการมิได้

3.2. มีความชัดเจนของรูปธรรมที่สำคัญที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขพยายามเข้ามาแทกแซงการทำงานของสปสช. ดังปรากฎเห็นได้ชัดตามสื่อต่างๆ เช่น การส่งคนที่จะสั่งการได้เข้ามาเป็นผู้บริหารสปสช.แทนการสนับสนุนคนในที่มีความสามารถขึ้นมาทำหน้าที่รองเลขาธิการสปสช., การสั่งการให้มีการสร้างสำนักงาน สปสช. ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งปัจจุบัน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งอยู่ในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวา ๒๕๕๐ ถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งถือเป็นการใช้พื้นที่ของระบบราชการอยู่แล้ว และความพยายามในการข่มขู่การทำงานของผู้บริหารที่ไม่ยอมก้มหัวให้ฝ่ายการเมือง เป็นต้น ซึ่งเป็นการใช้อำนาจกดดันผ่านการทำงานของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 

4. ให้คืนความเป็นธรรมและเยียวยาแก่ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล โดยเร็ว

เหตุผล

4.1. กระบวนการสอบสวนความผิดของ นพ.วิทิต ผิดขั้นตอน ทั้งการดำเนินการสอบสวนภายในองค์การเภสัชกรรม และของดีเอสไอ เป็นการดำเนินการที่เร่งรีบ เร่งรัด ไม่ได้มีกระบวนการตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นธรรม ถือเป็นการดำเนินการที่ไม่โปร่งใส สร้างความคลางแคลงใจต่อภาคประชาชน

4.2. มีการปลดนพ.วิทิต โดยไม่มีข้อมูลหลักฐานแสดงความผิดที่ชัดเจนที่แสดงถึงความบกพร่องของการทำงานของนพ.วิทิต จากผลการสอบสวน ของคณะกรรมการสอบสวนภายใน รวมถึงผลการสอบสวนของ ดีเอสไอ ตามที่นายประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ไปแจ้งต่อดีเอสไอ ดังนั้น การดำเนินการปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ซึ่งเป็นการกดดันผ่านคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม ที่รับคำสั่งให้ดำเนินการโดยไม่มีหลักฐานยืนยันความผิดชัดเจน ดังจะเห็นได้จากในการประชุมคณะรัฐมนตรี มีผู้เสนอให้เป็นประเด็น “วาระเพื่อทราบ” แทน “วาระเพื่อพิจารณา” เพราะเกรงกลัวการฟ้องร้องกลับของ นพ.วิทิต

 

5. ให้ตัดต้นตอของปัญหาคือ ให้นายกรัฐมนตรีสั่งให้นายประดิษฐ สินธวณรงค์ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขทันที

เหตุผล เนื่องจากปัญหาทั้ง 4 ข้อที่เสนอมา นายประดิษฐ สินธวณรงค์ ไม่อาจหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบได้

 

ข้อเสนอเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพของไทย โดย สหภาพแรงงานองค์การเภสัชกรรม

 

1. รัฐบาลต้องไม่แปรรูปองค์การเภสัชกรรม ต้องคงสถานภาพรัฐวิสาหกิจไว้ตามเดิม และจะต้องทำหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจเพื่อสังคมเพิ่มเติมจากที่ได้ทำมาแล้ว

เหตุผล ดูเอกสารแนบ เรื่อง เหตุผลที่องค์การเภสัชกรรมต้องธำรงสถานภาพรัฐวิสาหกิจ

2. ให้ยุติการใช้เงินสะสมขององค์การเภสัชกรรมโดยมิชอบ เช่น การสั่งการให้ใช้เงิน 4,000 ล้านบาทสร้างศูนย์ความเป็นเลิศของกระทรวงสาธารณสุข

เหตุผล เงินสะสมขององค์การเภสัชกรรม ต้องมุ่งใช้เพื่อการพัฒนาความเข้มแข็งของระบบยาของประเทศ ตามภารกิจที่กำหนดใน พรบ. องค์การเภสัชกรรม จะนำไปใช้เพื่อการอื่นมิได้ กรณีจะนำไปสร้างศูนย์ความเป็นเลิศของกระทรวงสาธารณสุข ไม่น่าเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จได้จริง โดยเฉพาะกรณีที่ตัวตั้งตัวตีเรื่องนี้คือผู้ที่เคยบริหารศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (Thailand Center for Excellence in Life Science หรือ TCELS) ซึ่งล้มเหลวมาแล้ว

3. ให้ยุติการใช้เงินตามโครงการสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐโดยมิชอบ เช่น กรณีสั่งจ่ายเงิน 75 ล้านให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

เหตุผล เงินดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาหน่วยงานที่เป็นลูกค้าองค์การเภสัชกรรม ต้องไม่นำไปเพื่อ “แจกจ่าย” กันในหมู่ผู้มีอำนาจ

4. ให้เร่งรัดคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมดำเนินคดีกับ กลุ่มต่างๆ ที่ให้ร้ายบิดเบือนองค์การเภสัชกรรม เช่น กรณีวัตถุดิบยาพาราเซตามอล และการสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ / ไข้หวัดนก

เหตุผล ผู้ที่ออกมาให้ข่าวในลักษณะ “ให้ร้าย” ทำให้องค์การเภสัชกรรมเสียหาย ได้แก่ นายประดิษฐ สินธวณรงค์, นายกมล บันไดเพชร, นายธาริต เพ็งดิษฐ์, นายธานินทร์ เปรมปรีด์ และ สถานีโทรทัศน์เอเชียอัพเดท คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมมีหน้าที่ต้องปกป้ององค์การเภสัชกรรม โดยต้องพิจารณา มีมติและมอบให้ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมไปแจ้งความดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าว ดังที่คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมชุดก่อนหน้าเคยมีมมติให้ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมไปแจ้งความดำเนินคดีกับยูเอสเอฟอร์อินโนเวชั่น (USA for Innovation) ที่ซื้อสื่อโฆษณาทั้งภาษาไทยภาษาอังกฤษ และใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ โจมตีว่ายาจีพีโอเวียร์ขององค์การเภสัชกรรมคุณภาพต่ำ ทำให้มีเชื้อดื้อยาสูงที่สุดในโลก ซึ่งไม่เป็นความจริง การแจ้งความดำเนินคดีครั้งนั้น ทำให้การโจมตีให้ร้ายของยูเอสเอฟอร์อินโนเวชั่น ยุติทันที

5. ให้คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมชุดปัจจุบันลาออกทั้งคณะ

เหตุผล คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมชุดนี้ไม่มีธรรมาภิบาล ไม่ปกป้ององค์การเภสัชกรรม ยอมให้การเมืองเข้าไปแทรกแซงทำความเสียหายให้แก่องค์การเภสัชกรรมอย่างร้ายแรง

6. ให้ตัดต้นตอของปัญหา คือ ให้ นายประดิษฐ สินธวณรงค์ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีสาธารณสุขทันที

เหตุผล

นายประดิษฐ์ สินธวณรงค์ มีพฤติกรรมมุ่งร้ายต่อองค์การเภสัชกรรม ใช้อำนาจแทรกแซงการดำเนินงาน และสร้างความเสียหายให้แก่องค์การเภสัชกรรมอย่างร้ายแรง ดังนี้

1) มุ่งปลดผู้บริหารโดยไม่เป็นธรรม และใช้วิธีการที่มิชอบ แทนที่จะส่งให้ชี้แจงหรือตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตามอำนาจหน้าที่มาตรา 21 แห่ง พรบ.องค์การเภสัชกรรม กลับส่งเรื่องให้ดีเอสไอเข้าไปสอบ โดยไม่มีเหตุผลสมควร

2) ออกข่าวทำให้ อภ. เสียหายหลายกรรมหลายวาระ ทั้งกรณียาพาราเซตามอล โรงงานวัคซีน โรงงานยาเอดส์ ยาหัวใจโคลพิโดเกรล และยาไข้หวัดใหญ่ / ไข้หวัดนก (ดูสมุดปกขาว 2 เล่ม)

3) มีพฤติกรรมบีบบังคับเอาเงินสนับสนุนภาครัฐขององค์การเภสัชกรรม 75 ล้าน ไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว

4) มุ่งทำลายองค์การเภสัชกรรมโดยการจะเอาเงินสะสมไปสร้างศูนย์ความเป็นเลิศในกระทรวงสาธารณสุข

5) แทรกแซง สั่งการคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมอย่างต่อเนื่อง

6) มุ่งทำลายรัฐวิสาหกิจเพื่อสังคมอย่างองค์การเภสัชกรรม โดยเตรียมการแปรรูป อย่างเป็นขั้นตอน

 

ข้อเสนอเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพของไทย โดย เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพโรงพยาบาลชุมชน

 

สืบเนื่องจากจากนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขได้นำระบบการจ่ายค่าตอบแทนแบบ P4P มาใช้แทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามมติ ครม.วันที่ 26, 31 มีนาคม 2556 และมีการคัดค้านแสดงอารยะขัดขืนอย่างกว้างขวางในทุกจังหวัด เพราะนโยบายดังกล่าวมีข้อเสียอย่างมากต่อระบบสุขภาพและโรงพยาบาลชุมชน ที่สำคัญคือจะเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานของโรงพยาบาลให้ติดหล่มอยู่ในวัฒนธรรมการนับแต้ม การทำงานแลกเงิน การใส่ใจแต่ตัวเลขเชิงปริมาณ ทำลายอุดมการณ์และอุดมคติในการดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ เป็นการนำวัฒนธรรมระบบการแพทย์พาณิชย์เข้ามาทำลายวัฒนธรรมการทำงานเพื่อประชาชนเพื่อผู้ป่วยด้วยจิตวิญญาณแห่งวิชาชีพ ดังจะเห็นได้ว่า การคัดค้านขยายตัวจากเฉพาะกลุ่มเฉพาะวิชาชีพไปเป็นการปฏิเสธนโยบายของทุกวิชาชีพทั้งโรงพยาบาล และขยายไปสู่การแสดงออกหน้าทำเนียบรัฐบาลและหน้ากระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งทุกเวทีชี้แจงที่กระทรวงสาธารณสุขเดินสาย

เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพโรงพยาบาลชุมชน จึงขอประกาศจุดยืนและข้อเสนอต่อกรณีนโยบาย P4P ของกระทรวงสาธารณสุขดังนี้

 

1. คงระบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับ 4 และ 6 ไว้ตามเดิม

เหตุผล เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเป็นมาตรการลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพในชนบท และมีการออกประกาศฉบับที่ 4,6 ตามมติ ครม.ดังกล่าวในปี 2551 ในสมัยที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนับเป็นมาตรการที่สำคัญยิ่งมาตรการเดียวที่มีอยู่ของประเทศไทยในการคงให้บุคลากรทางการแพทย์ทุกวิชาชีพจูงใจในการทำงานในโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สามารถสร้างขวัญกำลังใจ เพิ่มจำนวนผู้ปฏิบัติงานในชนบทให้มากขึ้น และทำให้คุณภาพดีขึ้น สอดคล้องกับนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคของรัฐบาล ที่จะมีคุณภาพได้ ประชาชนเข้าถึงบริการได้ ต้องมีบุคลากรวิชาชีพสุขภาพมากพอในระดับโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งเบี้ยเลี้ยเหมาจ่ายตามประกาศฉบับ 4,6 ตอบโจทย์นี้ จึงไม่ควรยกเลิก แต่กลับควรพัฒนาให้ดีขึ้นมากขึ้นด้วยซ้ำ

 

2. การปรับปรุงระบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น

เหตุผล สำหรับประกาศฉบับที่ 4, 6 ที่เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพโรงพยาบาลชุมชนขอให้นำกลับมาใช้เช่นเดิมทั้งฉบับนั้น ขอให้คงอัตราเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายของแพทย์ ทันตแพทย์ ในอัตราเดิม และคงกลุ่มบุคลากรที่มีอายุงานเกิน 21 ปีไว้เช่นเดิมด้วย โดยมีข้อเสนอเพิ่มเติมดังนี้

- ชมรมแพทย์ชนบทขอให้มีการปรับลดความแตกต่างของค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายระหว่างวิชาชีพ โดยเพิ่มเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายสำหรับวิชาชีพเภสัชกร พยาบาล และวิชาชีพสุขภาพอื่นๆ รวมทั้งวิชาชีพสาย back office หรือสายบริหาร ทั้งที่ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้ได้รับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในอัตราที่สูงขึ้น

- โดยให้มีการตั้งกรรมการจากทุกวิชาชีพเพื่อกำหนดอัตราเพิ่มของเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในวิชาชีพอื่นนอกจากแพทย์ ทันตแพทย์ ให้ได้รับในที่เหมาะสมต่อไป แม้ว่าจะเป็นภาระงบประมาณที่เพิ่มขึ้น แต่ก็คุ้มค่ากับการสนับสนุนให้บุคลากรคงอยู่ดูแลสุขภาพของคนชนบท

- สนับสนุนงบประมาณแผ่นดินในแต่ละปีให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่เงินบำรุงของสถานบริการ เงินบำรุงนั้นๆจะได้นำไปใช้ในการพัฒนาสถานบริการและเพิ่มศักยภาพการรักษาพยาบาลเพื่อผู้ป่วยต่อไป

3. ตั้งคณะกรรมการที่มีส่วนจากทุกภาคส่วนในการกำหนดระดับพื้นที่

เหตุผล การนิยามพื้นที่กันดาร ปกติ เขตเมืองในปัจุบันมีความไม่เหมาะสมกับข้อเท็จจริงหลายประการ ดังนั้นสำหรับการจัดแบ่งระดับพื้นที่เป็นพื้นที่ประเภทต่างๆ ขอให้กลับไปใช้การประกาศเขตพื้นที่เดิม ก่อนที่จะมีมติ ครม.วันที่ 31 มีนาคม 2556 และหากจะมีการเปลี่ยนการจัดแบ่งระดับพื้นที่ใหม่ ให้ตั้งกรรมการที่มีส่วนร่วมหลายภาคส่วนมากำหนดแทนการกำหนดฝ่ายเดียวจากสำนักนโยบายและแผนของกระทรวงสาธารณสุข

 

4. ให้ยกเลิกการนำนโยบาย P4P มาใช้ในรพ.ชุมชนอย่างไม่มีเงื่อนไข

เหตุผล ขอให้ทางรัฐบาลยกเลิกมติ ครม.วันที่ 26 และ 31 มีนาคม 2556 ที่เป็นที่มาขอการบังคับให้โรงพยาบาลในทุกระดับใช้ P4P  โดยในส่วนของโรงพยาบาลชุมชนนั้น ขอยืนยันที่จะไม่ทำ P4P ในทุกกรณี ไม่แม้แต่การทำโดยสมัครใจ เพราะมีโทษอย่างมากต่อระบบสุขภาพมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับ และขอให้คณะรัฐมนตรีออกมติ ครม.ใหม่ ให้สอดคล้องกับการใช้ระบบการจ่ายค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามประกาศฉบับ 4, 6 เช่นเดิมโดยไม่มีการทำ P4P ในโรงพยาบาลชุมชน ส่วนการจ่ายค่าตอบแทนสำหรับโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปนั้น จะเป็นระบบ P4P หรือไม่นั้นตามแต่ความประสงค์ของโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป

 

5. ให้ตัดต้นตอของปัญหา คือ ให้ นายประดิษฐ สินธวณรงค์ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีสาธารณสุขทันที

เหตุผล ความแยกแยกในกระทรวงสาธารณสุขที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เกิดจากการกำหนดนโยบายที่ผิดพลาด แต่นายประดิษฐ สินธวณรงค์ ก็ยังดื้อรั้นดันทุรังเดินหน้า โดยไม่มีการฟังเสียงที่เห็นต่าง ไม่รับรู้ต่อปัญหาอุปสรรคและผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งๆที่การคัดค้านนั้นกระจายทั่วประเทศ อีกทั้งยังมีการส่งสัญญาณให้ผู้ใหญ่ในกระทรวงต้องสนับสนุนนโยบายที่ผิดพลาดโดยไม่สามารถสะท้อนความจริงได้ ความแตกแยกและความหมดศรัทธาของบุคลากรสุขภาพทุกระดับต่อการนำของนายประดิษฐ ทำให้นายประดิษฐควรต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีสาธารณสุขโดยทันที เพื่อการเดินหน้าต่อไปได้ของกระทรวงสาธารณสุขในการทำหน้าที่ดูแลระบบสาธารณสุขของประเทศต่อไป

 

ทั้งนี้เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพโรงพยาบาลชุมชน ขอทำความเข้าใจว่า ข้อเสนอทั้ง 5 ข้อนี้ข้างต้น เป็นข้อเสนอที่ต้องไปด้วยกันคือ ไม่มีการพิจารณาแยกข้อ รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขต้องรับทั้งหมดหรือไม่รับทั้งหมดเท่านั้น (all or none) ไม่อาจแบ่งแยกพิจารณารายข้อได้

 

************************

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net