โครงการจำนำข้าว: วิกฤตหรือโอกาสของคนทำนาเช่า ?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

บทความชิ้นที่สามของ นิรมล ยุวนบุณย์ ในชุดบทความ ข้าวนาปรัง : ความสัมพันธ์ ความเปลี่ยนแปลงและความขัดแย้งของสังคมไทยในชุมชนเกษตรภาคกลาง โดยจะทำการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการผลิต  ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมไทย ในการศึกษาชุดความรู้นี้ ทางประชาไทจะทยอยนำเสนอบทวิเคราะห์ที่มีความเชื่อมโยงกับประเด็นข้างต้นจำนวน 6ชิ้น

อนึ่ง ภายในไตรมาสที่สองของปี  2556 ประชาไท จะทยอยนำเสนอบทความที่จะพยายามทำความเข้าใจวิถีชีวิตและความสัมพันธ์การผลิตของชนบทไทยในปัจจุบัน 4ประเด็นคือเกษตรอินทรีย์, เกษตรพันธสัญญากรณีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภาคเหนือ,พืชเศรษฐกิจในภาคอีสาน และการทำนาปรังในภาคกลางที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้

 

จากตอนที่แล้ว  จะเห็นแม้แรงจูงใจจากราคาขายข้าวเข้าโครงการรับจำนำ จึงได้การกระจายที่นาจากผู้ถือครองที่ดินมายังผู้ทำนาเช่า  แต่หากมองในภาพรวมเมื่อราคาข้าวที่ขายได้เพิ่มขึ้น ราคาค่าเช่าก็เพิ่มสูงขึ้นไปด้วย   คนเช่าและการเช่านาจึงมีรายละเอียดที่น่าสนใจ  ทั้งสภาพปัญหาของชาวนาเช่า  การปรับตัวและการรับมือของในรูปแบบต่างๆ

 

ใครบ้างที่ทำนา(เช่า) ?

สัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของผู้เช่านาที่มีมากกว่าผู้ที่ทำนาของตัวเอง  ชี้ให้เห็นถึงความนิยมต่อโครงการจำนำข้าว ปี 2554  และสะท้อนให้เห็นการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินไปพร้อมๆ กัน    ในขณะที่พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524  จะมีข้อกำหนดที่ว่าด้วยสัญญาเช่า และ ระยะเวลาการเช่านา ในมาตรา 26  [2]  แต่ในสภาพความเป็นจริงการบังคับใช้นั้นไม่เคร่งครัด แต่มีความยืดหยุ่น เช่นเดียวกันกับการกำหนดค่าเช่านาที่ขึ้นอยู่กับคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายจะตกลงกัน  ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วผู้ให้เช่ามักมีอำนาจเหนือกว่าผู้เช่า  

ที่นาในทุ่ง ม.11 ต.ผักไห่ นั้น  มีที่นาหลายแปลงที่พ่อแม่เก็บที่นาไว้ให้ลูกหลาน   หรือในทางกลับกันคือลูกหลานชาวนาที่ไปประกอบอาชีพอื่นแล้วมีเงินทุนก็กลับมาสะสมทุนแทนโดยหาซื้อที่ดินในทุ่งเก็บไว้    หลายแปลงเป็นที่นาของครูหลายคนซึ่งเกษียนอายุราชการแล้วกลับมาทำ      หลายรายทำนาเป็นอาชีพเสริมแต่ให้รายได้เป็นกอบเป็นกำมากกว่าอาชีพหลัก อย่าง ครู ทหาร  พ่อค้า  เจ้าหน้าที่ อ.บ.ต.  เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย  ฯลฯ       โครงการรับจำนำข้าวนาปี 2555/56  ที่ผ่านมา มีครู 1 รายที่เพิ่งเกษียณอายุราชการ ก็เปลี่ยนสถานภาพมาเป็นชาวนามือใหม่  เขาเรียกนาขนาด 21 ไร่ คืนจากผู้เช่าที่เช่าทำนามากว่า 10 ปี มาทดลองทำนาปรังและเพิ่งเกี่ยวไปเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา     

ชาวนาหน้าใหม่ อย่าง ธงชัย  นัยเนตร   (29 ปี) เพิ่งรับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ม. 5 ต.ลาดชิด มาได้เพียง 1 ปี   เล่าว่า  ผู้ใหญ่บ้านส่วนใหญ่ในอำเภอผักไห่ทำนากันทั้งนั้น  มาก-น้อย แตกต่างกันไป   ส่วนเขาเองเพิ่งทำนาได้ 2 ปี ควบคู่กับการทำบ่อปลา   ก่อนนั้น ธงชัยทำงานขับรถให้กับบริษัทลอจิสติกส์ และรถร่วมบริการที่กรุงเทพฯ อยู่ 2 ปี  เขาก็อยากกลับบ้าน  เพราะสภาพเศรษฐกิจไม่ค่อยดี  ไม่ค่อยมีงาน อีกทั้งราคาน้ำมันแพง  แต่รายจ่ายมีมากกว่ารายได้   

เมื่อ ต้นปี 2555  ธงชัยเรียกที่นาราว 60 ไร่ ที่เคยให้ชาวนารายอื่นเช่าคืน     แล้วบุกเบิกนาฟางลอยบางส่วน ราว 20 ไร่ ให้กลายเป็นนาปรัง ลงทุนราว 100,000 บาท    และเช่าที่นาเพิ่มอีกหลายแปลงรวมเนื้อที่กว่า 30 ไร่ ค่าเช่านามีตั้งแต่ 1,000 – 1,500 บาท ซึ่งแปลงนาที่อยู่ติดริมคลองและถนนมักจะแพงกว่า  รวมพื้นที่นาปรังที่ทำ ณ ปัจจุบัน 80 – 90 ไร่   ควบคู่ไปกับการเลี้ยงปลาสวาย 1 บ่อ ขนาด 4 ไร่  ชาวนาหน้าใหม่อย่างเขาบอกอีกว่า

“เราคิดว่า เราใช้ที่เราให้เป็นประโยชน์ เศรษฐกิจพอเพียงน่ะดีมากเลย  ผมก็อยากจะทำ   มีเนื้อที่ที่บ้าน 4 ไร่   อยากเปลี่ยนแปลงเป็นผสมผสาน  แต่ไม่มีเวลาจัดการ  เรามีค่าใช้จ่ายเยอะก็ต้องหาให้เยอะ  ทำนาก็ได้เงินเป็นก้อน    สมมติถ้าได้เงินเดือน 3 หมื่น ถ้าเกี่ยวข้าวได้กำไรหนึ่งแสน เฉลี่ยเดือนละ 3 หมื่นเหมือนกัน แต่หนึ่งแสนเราได้มาทีเดียว ถ้าเราได้มาทีละเดือน  เดือนละ 3 หมื่น เราจะเก็บให้ได้ถึงแสนไหม?   นี่เราได้ทีเดียวมาตูมนึงหนึ่งแสนเราเก็บเข้าธนาคารเลย เราไม่ได้ใช้ทีเดียวหมด แต่ถ้า 3 หมื่นเดือนหนึ่ง เดี๋ยวค่ากินค่าอะไรก็หมด”

ที่นากว่า 90 ไร่ มีเรื่องให้ผู้ใหญ่ชัยจัดการไม่น้อย  แต่ก็เขาก็สามารถจัดการนาได้โดยสะดวก ผ่านการติดต่อทางโทรศัพท์คุยกับคนรับจ้างหว่านข้าว หว่านปุ๋ย ฉีดยา รถปั่นนา และรถเกี่ยวข้าวซึ่งส่วนใหญ่มักมาพร้อมกับรถ 6 ล้อสำหรับขนข้าวไปส่งโรงสี  ชาวนาที่มีทุนในกระเป๋ามากพออย่างเขายังเลือกใช้พันธุ์ข้าวในระดับเกรดA แทนการเก็บพันธุ์เอง เพราะคิดว่าให้ผลผลิตสูงและแน่นอนกว่าการเก็บพันธุ์เอง  และเลือกได้ว่าจะซื้อปุ๋ยและสารเคมีจากร้านค้าหรือสั่งตรงจากเซลล์ที่มาขายถึงบ้านพร้อมกับแผนโปรโมชั่นชนิดต่างๆ   เขายังเล่าถึงปัญหาการเรื่องความขัดแย้งในผลประโยชน์การใช้ที่นาไว้ด้วยว่า

“มียิงกันตาย  ชาวนาเดี๋ยวนี้ดุ เรื่องเช่านาบ้าง เรื่องทางน้ำบ้าง  เรื่องทางขึ้นลง  บีบกัน นาบางแปลงโดนล้อม  นาที่อยูข้างในจะเข้าไปทำต้องผ่านนาที่อยู่ริมถนน ริมคลอง  ต้องผ่านแผ่นดินของเขา  ถ้าเขาไม่ให้ผ่าน  ที่ไม่ให้ผ่านเพราะต้องทำถนนของคนที่อยู่ต้นน้ำ  ถ้าเจ้าของที่ต้นถนนไม่ให้ทำ คนข้างหลังก็ทำไม่ได้  กลายเป็นว่าเช่าริมถนนนาล้อมนาข้างอีก 100 – 200 ไร่ ไม่ได้ทำ ถ้าข้างหน้าไม่ให้ผ่าน  พอข้างในไม่ได้ทำ เจ้าของนาข้างในก็ให้คนริมคลองเช่าทำ  บังคับเอา   บางคนทำถนนเข้าไปแล้ว มีถนนแล้วแต่ทำไม่ได้  เพราะเจ้าของถนนเรียกค่าเข้า มีคลองแล้วสูบน้ำไม่ได้   ก็กลายเป็นทะเลาะกัน”

นั่นเป็นเพียงบางส่วน  ชาวนาที่นาตาบอดบางรายอาจยอมทำข้อตกลงจ่ายค่าผ่านทางกับเจ้าของที่นาที่อยู่ต้นทาง  เพื่อทำถนนและลำรางส่งน้ำเข้าไปใช้ในนาตัวเอง  ซึ่งมีทั้งซื้อที่ขายขาด หรือจ่ายเป็นค่าเช่าทางในแต่ละฤดูปลูก ตามแต่จะตกลงกัน

ชาวนาข้าราชการครู อย่าง สำราญ  ม่วงศรีทอง  (58 ปี) ซึ่งทำนาควบคู่ไปกับข้าราชการครูที่สอนวิชาเกษตรในโรงเรียนขยายโอกาส เป็นคนหนึ่งที่ทำนามาตั้งแต่เด็กมาจนถึงปัจจุบัน   พ่อของเขาเคยมีที่นา 40 ไร่ ในทุ่ง ม.11 ต.ผักไห่  อ.ผักไห่  แต่ต้องขายที่นาทั้งหมดเพื่อใช้เงินส่วนหนึ่งส่งลูกชาย 2 คน เรียนหนังสือจนถึงขั้นจบอุดมศึกษา ส่วนลูกสาวคนโตถูกพาไปเมืองกาญจนบุรีด้วยกันเพื่อบุกเบิกที่ดินแห่งใหม่เพื่อทำไร่ได้ไม่กี่ไร่ ทำอยู่ไม่นานก็กลับมาเลี้ยงวัว 40 ตัวในทุ่งนาน 10 ปี  ก็ต้องเลิกขายเพราะทุ่งและตัวอำเภอถูกพัฒนาจนหาหญ้าเลี้ยงวัวยากขึ้น   ราวปี 2527 สำราญเพิ่งเรียนจบราชภัฎพระนครศรีอยุธยา เขาต้องกลับมาทำนาเช่าอีกครั้งควบคู่ไปกับการอาชีพครูที่โรงเรียนในอำเภอเสนาซึ่งไม่ไกลจากบ้านเกิดนัก  และทำนามาจนปัจจุบัน

ปัจจุบัน สำราญยังคงเช่านาผืนเดิมของพ่อจากเจ้าของนาคนใหม่ 2 คน จำนวน 3 แปลงรวมพื้นที่  32 ไร่  ดีที่ว่าเจ้าของที่นาคนใหม่นั้นไม่ต้องคิดค่าเช่าและให้สำราญทำนาเสมือนผู้ดูแลที่ดิน   ส่วนนาแปลงขนาด 9.5 ไร่ ซึ่งเจ้าของนาคนละคนกันนั้น  เขาก็จ่ายค่าเช่าถูกกว่าผู้เช่ารายอื่น คือแค่ ปีละ 10,000 บาท เท่านั้น  

เขาทำนาโดยใช้แรงงานตัวเองอย่างเข้มข้นเพื่อประหยัดต้นทุน และต้องจ้างงานญาติอีก 1 คน มาช่วย    เขายังเลือกรูปแบบการทำนาโดยเน้นการประหยัดต้นทุนการทำนา  เช่น  ดูปริมาณการแพร่ระบาดของแมลงมากน้อยจึงค่อยตัดสินใจฉีดพ่นสารกำจัดแมลง    นาปรังครั้งที่ 1 ปี 2556 ที่ปลูกระหว่าง ธันาคม – มีนาคม ที่ผ่านมา  นาขนาด 9 ไร่ 1 แปลงเขาฉีดพ่นแค่เพียง 3 หนเท่านั้นเพราะแมลงศัตรูข้าวไม่แพร่ระบาดมาก   เขาไม่เลือกใช้ปุ๋ยชีวภาพเพราะเห็นว่า ปุ๋ยเคมีผสมปุ๋ยอินทรีย์ที่เสริมธาตุอาหารรองให้ผลผลิตได้มากกว่าและคุ้มค่ากว่าการใช้ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียวซึ่งมีราคาแพงมาก   อีกทั้งสหกรณ์ครูที่เขาเป็นสมาชิกก็มีปุ๋ยเคมีอินทรีย์ที่เขาต้องการใช้ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด  นอกจากนี้เขายังเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ธาตุอาหารเสริมแบบสารละลายที่ภรรยาของเขาเป็นสมาชิกขายตรงเพื่อให้รวงข้าวมีน้ำหนักดีอีกด้วย   

“ถ้าทำอาชีพอื่นด้วย   คนหนึ่งทำเต็มที่ได้ดีแค่ 20 – 30 ไร่  ดูแลได้ทั่วถึง  ทำให้ดี ดีกว่ารายได้จากที่เป็นครู เพราะว่าได้เงินเป็นกอบเป็นกำ  เหนื่อยมันก็คุ้มค่าเหนื่อย  ทำนาต้นทุนเฉลี่ยประมาณกว่า 4,000 บาท/ไร่  ถ้าข้าวราคาตันละกว่าหมื่นบาท ชาวนาจะได้กำไร 6,000 – 7000 บาท/ไร่   อยู่ที่ราคาด้วย  สมัยทักษิณดี  สมัยอภิสิทธิ์ไม่ดี   พอสมัยยิ่งลักษณ์ดี  สมัยอภิสิทธิ์ ได้ตันละ 6,500 – 8,500 บาท  บวกค่าชดเชยแล้วอย่างมากที่สุดก็ตันละ 10,000 บาท  สมัยทักษิณได้ตันละ 14,000 บาท   ยิ่งลักษณ์ได้ตันละกว่า 12,000 – 14,000 บาท  มันก็ดี ชาวนาตอนนี้ลืมตาอ้าปากได้   สมัยนี้ทำ 2 ปี 30 ไร่กว่า ชาวนาเดี๋ยวนี้มีรถกันทุกคนแล้ว  ดูรู้เลย”

สมชาย ม่วงศรี (64 ปี)  ชาวนาในทุ่ง ม.11 ต.ผักไห่ อีกราย ซึ่งแต่เดิมเป็นคนรับจ้างทำนาในทุ่งนี้มาตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งได้แต่งงานกับลูกสาวชาวนาซึ่งมีที่นาอยู่ 13 ไร่  เขาเป็นคนแรกในทุ่งที่บุกเบิกนาฟางลอยมาเป็นนาปรังเมื่อหลายสิบปีก่อน เมื่อทำนาปรังได้ผลดีก็ค่อยๆ เช่าที่นาเพิ่มขึ้น   เขาเห็นว่าแนวโน้มราคาเช่านาเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอดตามราคาข้าว จากแต่เดิมเคยจ่ายค่าเช่าเป็น ปีต่อปี เมื่อถึงยุค นายกสมัคร สุนทรเวช ซึ่งราคาข้าวดี ก็หันมาจ่ายค่าเช่าเป็น ฤดูปลูกต่อฤดูปลูก   ปัจจุบันเขาทำนาตัวเองและเช่า รวม 34 ไร่ ค่าเช่าที่นาของเขายังคงไร่ละ 1,000 บาท เท่ากับยุคประกันรายได้ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เพราะทำสัญญาเช่ากับเจ้าของนาซึ่งมีอายุสัญญา 5 ปี และ 6 ปี  และแม้เขาจะอยากเช่าที่นาเพิ่มอีก แต่ก็หาที่นาทำได้ยาก เพราะคนเช่านาแข่งกันเช่าและสู้ราคาไม่ไหว 

“ปรับทำนาปรังก่อนสมัครเป็นนายกไม่กี่ปี ตอนนั้นค่าน้ำมันถูกกว่าสมัยนี้ ค่าปรับเลยไม่แพง เริ่มทำ 13 ไร่ก่อน ครั้งแรกเจ๊ง ครั้งที่ 2 ถึงได้ทุนคืน  พอถึงสมัครเป็นนายกก็ได้กำไร แต่โดนโรงสีโกง จ่ายให้แค่ 60 % ของราคาข้าวเต็ม 140,000 บาท [3]   โครงการจำนำข้าวยิ่งลักษณ์ดี เที่ยวนี้ข้าวดีด[4]  เยอะหน่อยก็ยังได้ไม่มาก  รุ่นอภิสิทธิ์แย่หน่อย ได้ตันละ 5,000 – 6,000 ส่วนต่างนิดหน่อย  บ้านนอกอย่างเราก็ต้องเลือกพรรคที่ให้ผลตอบแทนเราดี แบบนี้พอเหลือมั่ง ลืมตาอ้าปากได้  ของประชาธิปัตย์ได้น้อยมากแต่ไม่ขาดทุน”

 

ความหวังปลดหนี้และได้เป็นเจ้าของที่นาของ สมดี    

นายสมดี ตันติโน (49 ปี)  หนุ่มมหาสารคาม เคยมีอาชีพหลากหลาย ตั้งแต่ ทำงานก่อสร้าง และเป็นลูกจ้างอยู่ในเรือประมงอยู่ 7 – 8 ปี  จนเมื่ออายุ 30 ปีเขากลับมาอยู่ ม. 9 ต.หนองน้ำใหญ่ บ้านเกิดของ บุญนาค -ภรรยา  จึงเริ่มอาชีพปั่นไอศครีมกะทิเร่ขายปลักอยู่ราว 2 ปี ควบคู่ไปกับการทำนา 30 ไร่  แล้วค่อยๆ หาที่นาเช่าเพิ่มขึ้นกว่า 100 ไร่ ได้จึงเลิกขายไอศครีมไปในที่สุด 

สมดีเล่าว่า นาแถบนี้มักมีนายทุนมากว้านซื้อทีเดียวเป็นแปลงติดต่อกัน  ในทุ่งหน้าโคกที่เขาเช่านาทำนั้น ก็มีบ่อดูดทรายอยู่หลายแห่ง และมีแนวโน้ว่าธุรกิจบ่อทรายจะต้องการทรายเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง      ชาวนาบางรายซึ่งขายที่นาที่เป็นแหล่งขุดทรายมักขายนาได้ราคาดีก็จะไปหาซื้อที่นาแห่งใหม่ที่ราคาถูกกว่าทำนา หรือเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่น 

“ตอนนี้มีนายทุนมากว้านซื้อไร่ละ  120,000 บาท  ปีนี้ (2556) ค่าที่มันเพิ่งจะมาขึ้น    มาซื้อ 1,000 กว่าไร่ ในทุ่งหน้าโคกไปยันอมฤต  แต่ก่อน 10 ปีมาแล้วไร่ละ 80,000 บาท ยังขายไม่ได้เลย ไม่มีใครเอา   ตรงที่เช่าทำนายังไม่ได้ขาย แต่เจ้าของเขาก็อยากได้เงิน  เขาก็บอกว่าขาย  ถ้าเขาขาย เจ้าของใหม่เขาไม่ให้ทำเลย  แต่คนเช่าเขารั้นทำกัน ก็ซื้อของเตรียมไว้หมดแล้ว” 

ย้อนกลับไปเมื่อ ปี 2552  หลังชาวนาขายข้าวได้ราคาข้าวแพงจากรัฐบาลสมัคร  สุนทรเวช ไม่นาน  เจ้าของนาคนเดิมขายที่สมดีเคยเช่าทำนาขายที่นาให้คนชาวกรุงเทพฯ และห้ามไม่ให้เขาทำนานั้นอีก ทั้งที่มีสัญญาเช่า 6 ปี     ทำให้เขาขาดที่นาทำกินไปหลายสิบไร่  เขาตัดสินใจขอยืมเงินจากน้องสาวซึ่งทำงานอยู่ต่างประเทศมาซื้อที่นา 38 ไร่ ในทุ่งลาดชะโด ม.11 ด้วยมูลค่า 3 ล้านบาทโดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย   แล้วลงทุนปรับที่เป็นนาปรังและเช่าที่นาเพิ่ม    แต่ปีต่อมา การทำนากว่า 140 ไร่ ของเขากลับไม่ประสบความสำเร็จ    เพราะนาปรังครั้งที่ 1 ปี 2553 นั้นเขามีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่แพร่ระบาดรุนแรง  ส่วนนาปรังครั้งที่ 2 ปีเดียวกันเจอภัยแล้งต้นฤดูจนต้องทอยน้ำจากแม่น้ำใหญ่เข้านาถึง 4 ทอด แต่ในช่วงก่อนเกี่ยวข้าวกลับมีน้ำเหนือไหลบ่าจนคลองชลประทานต้องระบายเข้าทุ่งนาปกติกว่า 10 วัน  จนต้องเกี่ยวเขียวแต่ขายข้าวไม่ได้  เขาขาดทุนกว่า 500,000 บาท และเป็นหนี้ปัจจัยการผลิตที่ร้านให้เครดิตในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 บาท/เดือน ซึ่งโดยปกติลูกหนี้มักต้องชำระกันหนี้หลังการเก็บเกี่ยวเพื่อที่จะนำปัจจัยการผลิตงวดใหม่มาใช้ในรอบถัดไป 

เมื่อประกอบกับความไม่พอใจกับแหล่งรับซื้อข้าวของโครงการรับจำนำที่มีเพียงแห่งเดียวในอำเภอผักไห่  ซึ่งเขาเห็นว่าโรงสีที่สุพรรณบุรีมักซื้อข้าวในราคาที่ให้ชาวนาดีกว่าที่ผักไห่ แถมยังไม่ต้องจ่ายค่าขนข้าวให้กับรถรับจ้างด้วย เพราะโรงสีจ่ายส่วนนี้แทน    ส่วนโรงสีที่ผักไห่มักกดราคาโดยอ้างความชื้นข้าวและทำให้เขาขายข้าวได้ราคาแค่เพียงตันละ  10,700 – 11,000 บาท ในฤดูนาปรังครั้งที่2 ปี 2555 ที่ผ่านมา และยังได้รับเงินสดช้ากว่ากำหนด  อีกทั้งกระบวนการขั้นตอนในโครงการจำนำข้าวมีความยุ่งยาก  ทำให้เขาเห็นว่า โครงการประกันรายได้ตอบสนองกับเขามากกว่าโครงการรับจำนำข้าว  แม้การขายข้าวและได้รับค่าชดเชยส่วนต่างอัตราประกันราคาข้าวไม่เคยถึงตันละ 10,000 บาท  แต่ก็ยังทำให้เขาได้รับเงินสดทันทีที่นำข้าวไปขายเพื่อนำเงินสดนั้นมาลงทุนรอบใหม่ และหากผลผลิตต้องประสบภัยหายนะจากแมลงระบาดและน้ำท่วม เขาก็ยังได้ค่าชดเชยส่วนต่างจากราคาขายข้าวด้วย แม้จะได้ตามโควต้าครอบครัวละ 25 ตัน/ครอบครัวก็ตาม 

 

สมดีปรับเทคนิคการผลิตเตรียมรับเปิดเสรี AEC

เมื่อมีโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์   สมดียังจ่ายค่าเช่านาเท่าเดิม  ค่าปุ๋ยค่ายาไม่เพิ่มสูงขึ้นมากนัก เช่นเดียวกับค่าจ้างฉีดพ่นสารเคมี  ค่าเกี่ยวข้าว และค่าขนข้าว  ส่วนการตีเทือกและปั่นนานั้นเขาลงแรงเอง   เขาหาวิธีประหยัดต้นทุนโดยการเช่ายืมรถปั่นนาจากญาติที่ทำนาอยู่ด้วยกัน คิดค่าเช่าเป็นเงินไร่ละ 100 บาท และต้องจ่ายค่าน้ำมันเอง ซึ่งเนื้อที่นา 1 ไร่ใช้น้ำมันประมาณ 2 ลิตร   ในขณะที่หากญาติผู้นั้นต้องการปั่นนา 40 กว่าไร่นั้น ก็ต้องจ้างเขาขับรถปั่นในอัตราจ้างไร่ละ  20 บาท  ส่วนค่าจ้างปั่นนาทั่วไปมีราคาไร่ละ  200 – 300 บาท  

เขายังติดตามฟังข่าวและรายการความรู้ทางการเกษตรเป็นประจำจากรายการ “สีสันชีวิตไทย  วิทยุเพื่อการเกษตรและอาชีพเสริม” ทางคลื่นวิทยุกองพล ปตอ.   และนำความรู้การทำน้ำหมักสมุนไพรแบบต่างๆ มาปรับใช้รวมทั้งยังบริโภคปัจจัยการผลิตบางชนิดที่โฆษณาในรายการนี้ด้วย    

“มีเวลาอีก 2 ปี  คนจัดรายการเป็นทหาร รายการนี้ดังมาก  เขาบอกให้เราลดต้นทุน   จะลดต้นทุนจริงๆ ก็ตอนเปิดอาเซียนนี่แหละ  เขาว่าเปิดเสรีข้าวก็จะเอาของนอกเข้ามาได้  อย่างเรารัฐบาลเคยช่วยเหลือเกวียนละหมื่นกว่าก็สู้กับเขาสิ  ถ้าสู้ไม่ได้ก็ต้องลดราคาต่ำกว่า  อย่างของเขา 6,000 บาท คุณก็ต้องขาย 6,000 บาท   ที่เขาเอาข้าวเวียดนามมาขาย  ถังละ 30 – 40 บาท ทำไมถูกอย่างนั้น    ตอนนี้ก็ลดต้นทุนอยู่  ลดปุ๋ยไปเยอะแล้วนะ  ทุกทีใช้ 5 ตัน นี่แค่ตันเดียว  ยาเราก็เอาจำเป็นที่ฉีด”  

นอกจากจะใช้น้ำหมักสมุนไพรแล้ว เขายังใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช สารเคมีกำจัดแมลง ฮอรโมน  โดยนำอุปกรณ์เครื่องฉีดพ่นแบบลากสายมาใช้เพื่อประหยัดค่าจ้างแรงงานที่ฉีดแบบเครื่องฉีดพ่นสะพายหลังได้ถึงไร่ละ  25 – 30 บาท  และการใช้เครื่องหว่านปุ๋ยเคมีผสมกับปุ๋ยอินทรีย์ อัตราส่วน 2 : 1  ทำให้การหว่านปุ๋ยกระจายตัวได้มากขึ้น  ปริมาณปุ๋ยที่ใช้ลดลจากไร่ละ 50 – 70 กก. เป็น ไร่ละ 25 - 30 กก.  ซึ่งทำให้เขาได้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจคือไม่ต่ำกว่าไร่ละ  85 ถัง   เขายังตั้งข้อสังเกตอีกว่าปุ๋ยอินทรีย์ดีต่อต้นข้าวก็จริง แต่หากใส่มากเกินไปจะทำให้ดินนุ่มและทำให้รถเกี่ยวข้าวตกหล่มได้ง่าย

สิ้นปีการเพาะปลูก 2555/56  เขาทำนาได้กำไรเพิ่มขึ้น และเพิ่งล้างหนี้เก่าเมื่อปี 2553  จากการทำนา  120 ไร่  โดยแบ่งส่วนที่ดินในการขึ้นทะเบียนชาวนา ให้กับตัวเอง   ลูกเขยคนโตซึ่งทำงานเป็นขับรถรับ-ส่ง คนงานในโรงงาน กับ ลูกเขยคนเล็กที่เพิ่งปลดประจำการทหารเกณฑ์เมื่อไม่นาน   และลูกชายคนเล็ก คนละ 40 ไร่     และเมื่อสิ้นเดือนมีนาคม 2556 นี้  ครอบครัวของสมดีทยอยเกี่ยวข้าวไปเกือบหมดแล้ว   ด้วยสภาพแล้งจัดตอนเกี่ยวทำให้ปีนี้ขายข้าวได้ตันละ  12,500 – 13,000 บาท  เขาคิดว่าราคานี้น่าพอใจ   และทำให้เหลือกำไรจากขายข้าวอยู่ราว 500,000 บาท  ค่าเช่านาปีนี้ยังจ่ายอยู่ที่ไร่ละ 13 ถัง  ส่วนปีหน้าเจ้าของนาเช่าขอขึ้นค่าเช่าเป็น 15 ถัง โดยเก็บค่าเช่า ณ วันที่ขายตามราคาใบเสร็จจากโรงสี     อย่างไรก็ตามเขายังกังวลว่าเขาต้องรอเงินสดจาก ธกส. นาน  และในเดือนพฤษภาคมอาจจะไม่ได้ทำนาปรังครั้งที่ 2 ถ้าไม่มีน้ำปล่อยมา   แต่หากยังพอมีน้ำในลำรางเหลืออยู่บ้าง เขาอาจจะต้องปรับตัวไปปลูกพืชผักอายุสั้นที่ทนแล้ง ตามหัวคันนาแทน

 

การปรับตัวของชาวนาเช่าที่ถูกเรียกนาคืน

ประทุม มหาชน (62 ปี) ชาวนา ม. 9 ต.หนองน้ำใหญ่ ไม่โชคดีจากการเช่านาอย่าง สำราญ และสมชาย และไม่มีกำลังทุนสะสมมากพอที่จะจับจองที่นาเป็นของตัวเองได้อย่างสมดี

ประทุม เป็นชาวนาในทุ่งลาดชะโดอีกรายที่ถูกเรียกนาคืน    ปี 2555  เจ้าของนาเรียกคืนนาเช่า 18 ไร่ ล่วงหน้าก่อน 1 ปี  ทำให้เธอได้ขายข้าวนาปรังเข้าโครงการได้ 2 เที่ยว ปัจจุบันเธอทำแค่ที่นาตัวเองขนาด 11 ไร่ ในทุ่งนาคูที่อยู่ห่างออกไปจากทุ่งลาดชะโดราว 6 กิโลเมตร  นาของเธอได้ผลผลิตดีไม่เคยต่ำกว่า 90 ถัง/ไร่  และแม้อยากจะทำนาอีกแต่ก็ไม่มีที่นาให้เช่าทำ และไม่คิดลงทุนเช่าที่นาฟางลอยเพื่อบุกเบิกดินที่เป็นนาปรังอีก    อย่างไรก็ตาม เสน่ห์  สามีวัย 64 ปีของประทุม เปิดร้านเหล็กดัดในหมู่บ้านมาหลายปีแล้ว  โดยมีลูกชายคนโต วัย 39 ปี ช่วยงานทั้งในนาและในร้านเหล็กดัดและทำไร่ที่นครสวรรค์ซึ่งเป็นที่ดินของภรรยา   ส่วนลูกสาวอีก 2 คน นั้นเป็นนางพยาบาลและทำงานโรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ พระนครศรีอยุธยา   

ประเสริฐ พุ่มพวง (46 ปี)   หลังจากเรียนจบชั้น ม.6 และเคยทำงานทั้งในโรงงานเย็บหนัง เป็นช่างในบริษัท และวิ่งขายกุ้งอยู่ 6 ปี แม้จะมีเงินสดผ่านเข้าออกมือของเขาจำนวนมาก แต่ประเสริฐเริ่มเหนื่อยหน่ายกับงานแล้วหันกลับมาทำนา  ด้วยความคิดว่า ทำนาอิสระกว่าทำงานในโรงงาน  และโอกาสถูกโกงจากการทำนาน้อยกว่าการเป็นช่างรับเหมาของบริษัท 

เขาต้องการเช่าที่นาประมาณ 30 ไร่/ฤดูปลูก  นอกจากเขาจะเช่าแปลงนาหลังบ้านขนาด 10 ไร่ ซึ่งเป็นของพี่สาวแล้ว เขายังต้องหานาเพิ่มอีกหลายแปลง  ทั้งในทุ่งลาดชะโดม.9 และที่ทุ่งลำตะเคียน ต.ลำตะเคียน  ซึ่งห่างจากบ้านเขาไปราว 10 กม.     

นาเช่าที่ลำตะเคียนขนาด 6 ไร่ ซึ่งประเสริฐเช่ามากว่า 10 ปี นั้นเจ้าของนาคนเดิมเพิ่งขายให้กับเจ้าของใหม่เมื่อ 6 – 7 ปีก่อน  ดีที่เขายังตกลงของเช่าต่อจากเจ้าของนาใหม่ได้  และทำสัญญาปีต่อปีมาโดยตลอด   เมื่อมีโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ปี 2555  ค่าเช่านายังคงค่าเช่าที่ไร่ละ 1,000 บาท   ส่วนแปลงนาอีกแปลงที่ประเสริฐเช่าในทุ่งลาดชะโด ม. 9 ขนาด 6 ไร่ ซึ่งเช่าทำนามานานกว่า 10 ปีนั้น เขาทำสัญญาเช่า ฤดูปลูกต่อฤดูปลูก โดยมีเงื่อนไขเหมือนกันทุกปีว่า ในช่วงฤดูนาปรังครั้งที่ 2    ประเสริฐต้องงดทำนาเพื่อให้เจ้าของนาเรียกนากลับไปทำนาฟางลอยเอง   เมื่อเริ่มเข้าสู่การทำนาปรังครั้งที่ 1 ต้นปี 2555 นั้น จุกต้องจ่ายค่าเช่านาปรังแปลงนี้เพิ่มจากไร่ละ  1,000 บาท เป็น 1,400 บาท  โดยที่เจ้าของนาให้เหตุผลว่าราคาข้าวที่ขายได้เพิ่มขึ้น

ทำนาลดต้นทุนของประเสริฐ

เมื่อต้นทุนค่าเช่านาเพิ่มขึ้น ประเสริฐจึงหันมาลดต้นทุนการผลิตในด้านอื่นแทน   เขาเคยดูรายการโทรทัศน์เพื่อฟังเช็คข่าวการเกษตรอยู่เป็นประจำในช่วงเช้ามืด และหันมาสนใจทดลอง บิเวอเรีย [5] สมุนไพร และน้ำหมักชีวภาพ เพื่อควบคุมศัตรูพืชแทนสารเคมีกำจัดแมลง   แต่จะต้องรักษา ผลผลิต/ไร่ ให้ไม่ต่ำกว่า 80 ถัง   เขาจึงใช้วิธีหว่านพันธุ์ข้าวหนาไร่ละ 3  ถัง  โดยเลือกซื้อพันธุ์ข้าวจากนาที่เขาเห็นว่าสวยดีแล้วนำมาตากแห้งเองเพื่อประหยัดต้นทุน แต่ยังจำเป็นต้องควบคุมวัชพืชด้วยสารเคมีกำจัดวัชพืช     

การทำนาปรังลดต้นทุนนาในฤดูปลูกครั้งแรก ปี 2555 นั้นเขายังใช้ปุ๋ยเคมีผสมกับปุ๋ยอินทรีย์  และเมื่อผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ  เขาจึงขยายการทดลองเพิ่มในแปลงนาปรังครั้งที่ 2 ที่เขาทำทั้ งหมด แต่งดการใช้ปุ๋ยเคมี และใช้ปุ๋ยอินทรีย์สำเร็จรูป และฮอร์โมนไข่ ทดแทน    ซึ่งผลผลิตน่าพอใจคือไร่ละ 90 – 100 ถัง เขายังบอกด้วยว่าที่ทุ่งลำตะเคียน เริ่มมีคนทดลองนาลดต้นทุนอย่างเขาราว 100 ไร่แล้ว  เขายังหวังว่าผลกำไรที่ได้จากการทำนา จะมีมากพอเพื่อสะสมทุนไว้ซื้อที่นาเป็นของตัวเอง   และการเป็นสมาชิก ธกส. จะช่วยให้เขาสามารถนำโฉนดเข้าไปฝากธนาคารเพื่อให้เป็นหลักค้ำประกันเงินกู้ได้    

เมื่อเปรียบเทียบ ต้นทุน – กำไร จากการทำนาในโฉนดเช่าระบุขนาด 10 ไร่ ซึ่งพื้นที่ใช้ทำนาจริง 7 ไร่  ประเสริฐเสียค่าเช่านาในราคาเต็มตามโฉนดและได้ค่าชดเชยส่วนต่างราคาประกันในโครงการประกันรายได้ เมื่อปี 2554 ตรงตามที่นำโฉนดไปขึ้นทะเบียน  คือไร่ละ 78 ถัง จากอัตราชดเชยตันละ 2,818 บาท ณ วันที่เกี่ยวข้าวขายตามที่ขึ้นทะเบียนไว้  ปีนี้มีเพลี้ยระบาดพอสมควร เขาผลิตข้าวได้ 6.69 ตัน และขายได้ในราคาตันละ 6,800 บาท เมื่อเทียบ ต้นทุน-กำไร ที่เขาขายข้าวในโครงการรับจำนำปี 2555 ในราคา 11,000 บาท ซึ่งได้ใช้วิธีการผลิตเพื่อลดต้นทุน   ได้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อยคือ 7 ตัน  และใช้ตัวเลขของการผลิตปี 2555 เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของผลกำไร ระหว่างการเช่านาในระบบปกติ กับระบบที่โฆษณาปุ๋ยอินทรีย์ที่ระบุว่าจะบริษัทดังกล่าวมีที่นาอยู่จำนวนหนึ่งซึ่งให้ชาวนาที่อยากทำนาอินทรีย์เข้าไปใช้ประโยชน์จากการทำนาอินทรีย์  และหากขายข้าวได้กำไรบริษัทต้องการเพียงผลกำไรครึ่งหนึ่งเท่านั้น

จะเห็นชัดเจนว่า  ระบบการผลิตแบบลดต้นทุนของประเสริฐในปี 2555  ลดต้นทุน/ไร่  และต้นทุน/ตัน  จากปี 2554 ได้ ถึง 18 และ 23 %     ข้าวที่ขายเข้าโครงการจำนำมีผล กำไร/ไร่ และกำไร/ตัน สูงสุด ที่ 5,741 บาท  รองลงมาคือ  ปี 2554 ที่ขายในโครงการประกันราคา คือ 4,450 และ  4,660 บาท   ส่วนการผลิตในระบบโฆษณา ประเสริฐได้ประโยชน์น้อยที่สุด คือเพียง  3,174  บาทเท่านั้น  (ดูตารางข้างล่างประกอบ)ที่น่าสนใจก็คือ ในระบบโฆษณาดังกล่าว หากประเสริฐยิ่งขวนขวายหาวิธีลดต้นทุนมากเท่าไหร่ ผลกำไรที่ได้เพิ่มขึ้นของประเสริฐก็จะถูกหักครึ่งหนึ่งเสียก่อนทุกครั้งเสมอ  จึงเป็นที่น่าดีใจว่า นี่เป็นเพียงภาพจำลองที่ประเสริฐยังไม่ได้เข้าไปใช้ที่ดินของบริษัทปุ๋ยอินทรีย์นี้เพื่อทำการผลิตของบริษัทดังกล่าว  

นอกจากการทำนาแล้ว ประเสริฐยังรับจ้างหว่านปุ๋ย ฉีดพ่นสารกำจัดแมลง ทั้งในทุ่งลาดชะโดและลำตะเคียน  เขามีลูกค้าประจำกว่า 40 ราย    เมื่อมีการขยายที่นาปรังในทุ่งลาดชะโดเพิ่มขึ้น   เขามีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำนาลดต้นทุนแต่เสียโอกาสในการออกรับจ้างฉีดพ่นสารกำจัดแมลง    และเขายังคงหารายได้เสริมจากการรับจ้างหว่านปุ๋ย    ตีเทือก และรับเหมาทาสีบ้านแทน    

“ตอนที่รับจ้างออกฉีดยาหว่านปุ๋ยก็เยอะทุกวัน    ถ้ารับทุกวันก็มีทุกวัน  ใน 1 ฤดูปลูก ถ้ารับจ้างฉีดยาหว่านปุ๋ยหว่านข้าวประมาณ 30 วัน ค่าจ้างไร่ละ 50 บาท  เฉลี่ยวันละ 400 บาท  ประมาณวันละ 10 ไร่  แต่เราไม่ได้รับ   เพราะห่วงทำของตัวเองมากกว่า  จังหวะชนกัน    ตอนนี้หันมารับจ้างย่ำนา (ตีขลุบหรือตีเทือก) ได้ไร่ละ 200 บาท  ปีนี้รับไป 2 แปลง  10 กว่าไร่  แต่รุ่นเปิดใหม่ไม่แน่ เพราะมีหลายเจ้า  ปีนี้เปิดเยอะ ทุ่งนี้ตอนนี้วิ่งไปเปิดหมดแล้ว  เมื่อก่อนเป็นนาปีหมดเดี๋ยวนี้ไปดูใหม่เป็นนาปรังหมดแล้ว”

เขายังหวังว่าผลกำไรที่ได้จากการทำนา จะมีมากพอให้เขาสะสมทุนไว้ซื้อที่นาเป็นของตัวเอง   ซึ่งมีจ่ายค่าใช้จ่ายประจำวัน วันละ 300 บาท  และมีค่าใช้จ่าย 2,000 บาท/สัปดาห์ จากการที่เขาต้องพาภรรยาที่ป่วยจากที่เคยทำงานในโรงงานอุตสากรรมไปล้างไตที่โรงพยาบาลในตัวเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งห่างจากบ้านราว 25 ก ม. แม้เธอจะมีบัตรทอง 30 บาทยุคใหม่ก็ตาม    

จะเห็นว่า ทุกกรณีศึกษาที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น  ชาวนาได้เข้าสู่ระบบการผลิตเชิงอุตสาหกรรมในระบบทุนนิยมเต็มรูปแบบ  แต่ละรายต่างพยายามหาช่องทางเข้าถึงปัจจัยการผลิตสำคัญอย่าง ที่ดิน และน้ำ และทำนาในขนาดที่มากพอจะให้เกิดความประหยัดจากการเพิ่มขนาดการผลิต (economic of scale) ควบคู่ไปกับการแสวงหาความรู้ และนำมาปรับใช้เทคนิคการผลิตเพื่อลดต้นทุนในแบบต่างๆ      ส่วนชาวนารายย่อยที่ขาดแคลนทุนจะปรับตัวเป็นแรงงานรับจ้างในอุตสาหกรรมข้าวภาคกลางอย่างไร  โปรดติดตามตอนหน้า



[1]  บทความชุดที่สังเคราะห์ขึ้นจาก กรณีศึกษา  “โครงการจำนำข้าว: โอกาสและกลยุทธ์การลดต้นทุนและพัฒนาการผลิตของชาวนารายย่อยและแรงงานในอุตสาหกรรมข้าว”  กรณีศึกษา  ต.หนองน้ำใหญ่ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา  และ  ต.สระแก้ว  อ.เมือง  จ.สุพรรณบุรี   ระหว่าง มกราคม – พฤษภาคม 2556   โดยการสนับสนุนของ ประชาไท และ  ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

[2] ดูเพิ่มเติมที่  http://www.reic.or.th/law/lawfile/law030826120223.pdf

[3] ดูเพิ่มเติมที่   “ชาวนาร้อง"ดีเอสไอ"ถูกโกงค่าข้าว”  มติชน 23-03-2551  และ  ‘ดีเอสไอ’ ช่วยเคลียร์โรงสีเบี้ยวชาวนา” มติชน 24 ส.ค. 51  

[4] ข้าวดีด เป็น วัชพืชที่ขึ้นปนในนาข้าว มีลักษณะคล้ายต้นข้าวมาก เมื่อปลูกข้าว ข้าวดีดจะโตไปพร้อมกับข้าว สังเกตแยกแยะได้ยาก จนกระทั่งข้าวดีดออกรวง ต้นจะสูงกว่าและออกรวงไวกว่าข้าว ช่วงนี้ชาวนาในเขตผักไห่และสุพรรณบุรีมักจะใช้วิธีกำจัดข้าวดีดด้วยวิธีการตัด(เฉาะข้าวดีดทิ้ง) เพราะปล่อยให้ข้าวดีดแก่และเมล็ดร่วงหล่นจะทำให้ผลผลิตนาข้าวเสียหาย 10 – 100 %

[5]ชื้อราบิวเวอร์เรีย ( Beauveria bassiasna )  จุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคกับแมลง  สามารถทำลายแมลงได้หลายชนิด  กลไกการเข้าทำลายคือ เมื่อสปอร์ของเชื้อราสัมผัสกับผิวของแมลงในสภาพความชื้นที่เหมาะสม  จะงอกเส้นใยแทงผ่านผิวหนังเข้าไปในลำตัวแมลง แล้วขยายจำนวนเจริญอยู่ภายในโดยใช้เนื้อเยื่อของแมลงเป็นอาหาร แมลงจะตายในที่สุด ภายในระยะเวลาต่างๆ ขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด และวัยของแมลง โดยทั่วไปประมาณ 3 - 14 วัน ในข้าว ใช้กำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยไฟ บั่ว และหนอนห่อใบ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท