Skip to main content
sharethis

แบรดลี่ย์ แมนนิ่ง นายสิบตรีประจำการกองทัพสหรัฐฯ ที่เป็นผู้ส่งข้อมูลลับของทางการให้วิกิลีกส์กำลังถูกดำเนินคดีในชั้นศาล โดยขณะที่นักวิชาการสหรัฐฯ ออกมาแสดงความกังวลเรื่องผลกระทบต่อเสรีภาพสื่อ 


เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2013 ทางการสหรัฐฯ ได้เริ่มการดำเนินคดีในชั้นศาลกับแบรดลีย์ แมนนิ่ง ทหารสหรัฐฯ ที่ถูกจับกุมตัวเมื่อราวสามปีที่แล้วเนื่องจากเป็นผู้ทำให้ข้อมูลลับของทางการสหรัฐฯ รั่วไหลและถูกนำไปเผยแพร่ในเว็บไซต์วิกิลีกส์

เขาถูกตั้งข้อหา 22 กระทง ซึ่งแมนนิ่งยอมรับผิด 10 กระทง เว้นแต่ข้อหาที่ร้ายแรงที่สุดคือ "ให้ความช่วยเหลือศัตรู" ซึ่งมีโทษสูงสุดคือประหารชีวิต แม้ว่าทางการสหรัฐฯ จะประกาศว่าจะไม่มีการลงโทษหนักสุดแต่แบรดลี่ย์ก็ยังมีโอกาสถูกสั่งจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่มีการภาคทัณฑ์บน

การดำเนินคดีมีขึ้นที่ศาลทหาร ฟอร์ทมี้ด แมรี่แลนด์ โดยที่แบรดลี่ย์ แมนนิ่ง ถูกกล่าวหาว่าได้ส่งข้อมูลโทรเลขทางการทูต 250,000 ข้อความ และรายงานจากพื้นที่สงคราม 500,000 ฉบับ จากสงครามอิรักและอัฟกานิสถานในช่วง ปี 2009 ถึง 2010

ในการดำเนินคดีเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ที่ผ่านมา เริ่มต้นโดยการที่ร้อยเอก โจ มอร์โรว์ กล่าวต่อศาลว่า แมนนิ่งทำไปเพราะต้องการสร้าง "เรื่องอื้อฉาว" ขณะที่คำแถลงจากฝ่ายอัยการระบุว่าแมนนิ่งมีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับจูเลียน อัสซานจ์ ผู้ก่อตั้งวิกิลีกส์จากการช่วยตัดต่อวิดีโอเฮลิคอปเตอร์ของสหรัฐฯ โจมตีใส่พลเรือนในกรุงแบกแดด และศาลก็แสดงหลักฐานการแชทกันระหว่างแมนนิ่งกับอัสซานจ์

แบรดลีย์ แมนนิ่งกล่าวว่า ที่เขาปล่อยข้อมูลให้กับวิกิลีกส์เนื่องจากต้องการเผยให้เห็นความโหดเหี้ยมของกองทัพสหรัฐฯ ที่ปฏิบัติอย่างไม่ใยดีต่อชีวิตมนุษย์ในอิรักและอัฟกานิสถาน โดยที่เขาไม่เชื่อว่าข้อมูลดังกล่าวจะถือว่าเป็นภัยต่อสหรัฐฯ

สำหรับข้ออ้างเรื่องการให้ความช่วยเหลือศัตรูนั้น พันเอก เดนิส ลินด์ หนึ่งในผู้พิพากษาศาลอาญาทหารกล่าวว่าฝ่ายอัยการมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า แบรดลี่ย์ แมนนิ่ง ได้ให้ข้อมูลด้านการข่าวอย่างจงใจแก่กลุ่มอัล-เคด้า แม้ว่าจะเป็นช่องทางอ้อมอย่างวิกิลีกส์ก็ตาม และตัวผู้ต้องหาเองต้องมี "เจตนาชั่วร้ายในแบบที่เขารู้ตัวว่าเขากำลังทำ"

ลอวเรนซ์ ไทรบ์ ศาตราจารย์ด้านกฏหมายรัฐธรรมนูญจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้เคยสอนวิชากฏหมายแก่ปธน.โอบามา และเคยเป็นที่ปรึกษากระทรวงยุติธรรมในรัฐบาลโอบามาสมัยแรกแสดงความเห็นในประเด็นนี้ว่า การฟ้องร้องแมนนิ่งเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง

"การสั่งฟ้องบุคคลใดก็ตามด้วยข้อหาร้ายแรงอย่าง 'ให้ความช่วยเหลือศัตรู' โดยตัดสินจากข้อเท็จจริงเพียงแค่ว่าบุคคลผู้นั้นได้โพสต์ข้อความลงบนเว็บ และด้วยวิธีนี้ทำให้เขา 'ได้ให้ข้อมูลด้านการข่าวอย่างจงใจ' แก่ใครก็ตามที่สามารถเข้าถึงมันได้ เป็นการตัดสินที่อันตราย" ไทรบ์กล่าว

ลอวเรนซ์ ไทรบ์ กล่าวอีกว่ากรณีของแมนนิ่งจะส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความเห็น บรรยากาศที่ชวนให้รู้สึกไม่ปลอดภัยบนโลกอินเทอร์เน็ต และอาจจะส่งผลเสียต่อเรื่องความมั่นคงของชาติในแบบที่มองไม่เห็น

ก่อนหน้านี้ในปี 1971 ก็มีชายผู้หนึ่งชื่อ แดเนียล เอลส์เบิร์ก ถูกกล่าวหาว่าเขาเป็นผู้ปล่อยข้อมูลของกระทรวงกลาโหม สหรัฐฯ ในเรื่องสงครามเวียดนามให้กับหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ ซึ่งปัจจุบันนี้คดีของเขาถูกยกเลิกไปแล้ว

แดเนียลบอกว่า การดำเนินคดีแมนนิ่งถือเป็นเรื่องหนักหนากว่าที่เขาเคยเจอมา เขายังบอกอีกว่ารัฐบาลโอบามาพยายามทำให้การรายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนกลายเป็นอาชญากรรม และหากรัฐบาลยังทำเช่นนี้ต่อไปก็เป็นการยากที่จะเปิดโปงการทุจริตและการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

 

ชวนย้อนดูข้อมูลที่แบรดลีย์เผยแพร่

นอกจากเรื่องการดำเนินคดีในศาลแล้ว แมนนิ่งก็ตกอยู่ท่ามกลางข้อถกเถียงเรื่องข้อมูลลับทางราชการในยุคดิจิตอล และการต่อสู้ระหว่างกองทัพสหรัฐฯ และวิกิลีกส์

ขณะเดียวกันก็มีปฏิกิริยาหลากหลายในเรื่องนี้ บ้างก็อ้างว่าข้อมูลจากโทรเลขทางการทูตบางอย่างก็เป็นแค่เรื่องซุบซิบนินทา และข้อมูลสงครามก็ช่วยยืนยันสิ่งที่พวกเราสงสัยกันอยู่แล้ว ขณะที่คนอื่นๆ เช่นผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง เกลน กรีนวัลด์ กล่าวว่าข้อมูลที่รั่วไหลได้เผยให้เห็นถึงความฉ้อฉลหลอกลวง ความโหดเหี้ยม และอาชญากรรมของฝ่ายสหรัฐฯ

ซึ่งทางเว็บไซต์ Channel4 ก็ได้ย้อนนำเสนอข้อมูลที่รั่วไหลบางส่วนและผลกระทบ

กรณีแรกคือข้อมูลที่วิกิลีกส์ตั้งชื่อว่า "Collateral Murder" ซึ่งเผยแพร่ภาพวิดีโอทีมทหารอากาศของสหรัฐหัวเราะหลังจากที่ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศได้คร่าชีวิตประชาชนไปสิบกว่าคน รวมถึงผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ชาวอิรักสองคน วิดีโอคลิปนี้เชื่อว่าเป็นวิดีโอคลิปตัวแรกที่พลทหารแมนนิ่งปล่อยออกมาในเดือน เม.ย. 2010 และทำให้ทราบว่ากองทัพสหรัฐฯ พยายามปกปิดข้อมูลเรื่องการเสียชีวิตของผู้สื่อข่าวและประชาชน

กรณีต่อมาคือ ตัวเลขการเสียชีวิตของพลเรือน ซึ่งก่อนหน้านี้มีการอ้างว่าไม่มีบันทึกตัวเลขประชาชนผู้ถูกสังหารจากปฏิบัติการในอิรัก แต่ในข้อมูลที่เผยแพร่จากแมนนิ่งไปสู่วิกิลีกส์ทำให้ทราบว่า มีบัญชีผู้เสียชีวิตจากปฏิบัติการในอิรักอยู่จริง

โดยจากข้อมูลระบุว่า มีผู้เสียชีวิตราว 109,000 คน จากปฏิบัติการ 6 ปีในอิรัก ในจำนวนนั้นมี 66,081 คนที่เป็นพลเรือนไม่มีอาวุธ ซึ่งองค์กร Iraq Body Count ของอังกฤษก็ได้ระบุตัวตนของพลเรือนผู้เสียชีวิตได้ 15,000 คน จากข้อมูลที่รั่วไหลจากบันทึกสงคราม

กรณี่ต่อมาคือเรื่องการทรมาน ข้อมูลจากบันทึกสงครามในอิรักยังได้เปิดเผยหลักฐานแสดงการทรมานผู้ต้องขัง โดยที่สำนักงานข่าวสืบสวนสอบสวนได้ทำการวิเคราะห์แฟ้มข้อมูล 400,000 แฟ้ม จนกระทั่งพบเอกสารลับที่เผยให้เห็นการใช้กำลังกับผู้ต้องขังชาวอิรัก แม้กระทั่งหลังจากเกิดกรณีอื้อฉาวในเรือนจำอาบู การิบ*

โดยรายงานดังกล่าวพูดถึงการที่ทหารและนาวิกโยธินสหรัฐฯ ใช้กำลังกับผู้ต้องขัง บังคับให้พวกเขาขุดหาระเบิดที่ทำขึ้นเอง และการกระทำทารุณอื่นๆ

มีเหตุการณ์หนึ่งถูกบันทึกเมื่อปี 2007 ผู้ต้องขังรายหนึ่งเปิดเผยว่าเขาถูกแทงด้วยไขควงที่ด้านขวาและส่วนบนของหลัง ถูกจับเฆี่ยนด้วยสายไฟและสายยางที่แขน ขาและหลัง ถูกจับช็อตไฟฟ้า และถูกล่วงละเมิดทางเพศด้วยสายยางฉีดน้ำ

มีอีกเรื่องหนึ่งที่น่าตกใจพอๆ กับเรื่องการทรมานคือการที่มีรายงานเรื่องการใช้กำลังกับชาวอิรักแต่ไม่มีการสืบสวนเรื่องดังกล่าว มีแฟ้มข้อมูลเปิดเผยว่าทางการสหรัฐฯ ล้มเหลวในการสืบสวนข้อมูลรายงานเรื่องการที่ตำรวจอิรักทรมานและกระทั่งสังหารผู้คน มีคดีราว 1,300 คดีเกี่ยวกับการทรมานและล่วงละเมิดผู้ต้องขังชาวอิรักในสถานีตำรวจและในฐานทัพโดยชาวอิรักด้วยกันเอง

ข้อมูลบ่งชี้ว่า กองกำลังผสมที่เข้าร่วมสงครามอิรักได้รับทราบหรือได้รายงานเรื่องต่างๆ ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทุบตี, การใช้ไฟฟ้าช็อต, การล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งทั้งหมดนี้มีการบันทึกเป็นรายวัน แต่ก็มีคำสั่งทหารที่มอบให้กับกองทัพสหรัฐฯ สองฉบับหลังจากเหตุการณ์เรือนจำอาบู การิบ ที่บอกว่าพวกเขาต้องรายงานเรื่องการล่วงละเมิดที่เกิดจากชาวอิรักด้วยกันเอง แต่ถ้าหากว่ากองกำลังผสมไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องก็ไม่จำเป็นต้องมีการสืบสวนต่อจากนั้น

อีกกรณีหนึ่งคือเรื่องที่รั่วจากข้อมูลทางการทูต เผยให้เห็นว่าบริษัท DynCorp ซึ่งเป็นบริษัทการทหารภายใต้การจ้างวานของกลาโหมสหรัฐฯ ได้มีส่วนพัวพันกับการค้ามนุษย์ที่เป็นเด็ก และมีการนำเด็กผู้ชายหลายคนที่ถูกซื้อตัวจากผู้ค้ามนุษย์มาเป็นผู้ให้ความบันเทิงแก่เจ้าหน้าที่ทหารเกณฑ์ชาวอัฟกัน

การเปิดเผยในเรื่องดังกล่าว ทำให้มีการเรียกร้องให้มีการนำเหล่าผู้ถูกจ้างวานออกจากประเทศอัฟกานิสถาน


เชิงอรรถ

*กรณีเรือนจำ อาบู การิบ เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2003 ถึง ต้นปี 2004 โดยทหารในเรือนจำดังกล่าวกระทำทารุณทางร่างกาย จิตใจ รวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้ต้องขัง


เรียบเรียงจาก

What did WikiLeaks and Bradley Manning do for us?, Channel4, 03-06-2013

Bradley Manning trial begins three years after arrest, The Guardian, 03-06-2013

Bradley Manning trial 'dangerous' for civil liberties – experts, The Guardian, 03-06-2013
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net