Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
ในตอนที่ผ่านมาผู้เขียนได้กล่าวถึงปรากฏการณ์การขยายตัวจากของสวนยางพารา และการที่ยางพาราได้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับต้นๆของภาคอีสาน และได้เสนอว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวถูก “มอง” ด้วยสายตาแตกต่างกัน ที่อาจแบ่งได้เป็น 2 ขั้ว  คือฝ่ายหนึ่งเห็นว่ายางพาราเป็นพืชที่มีอนาคตและเป็นโอกาสอันดีของชาวอีสาน  แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็มองด้วยความวิตกกังวลว่า การทำสวนยางพาราต้องลงทุนสูง และมีความเสี่ยงสูงที่จะนำไปสู่หนี้สิน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงทางอาหาร    

จากมุมมองของ “คนนอก” ที่กล่าวมา จึงน่าสงสัยว่า แล้วเกษตรกรคิดอย่างไร บทความนี้ผู้เขียนจะทำความเข้าใจการทำสวนยางพาราจากมุมมองของเกษตรกร หรืออาจจะเรียกว่ามุมมองของ “คนใน”  โดยจะหยิบยืมส่วนหนึ่งของบทวิเคราะห์ของ Andrew Walker ในบทความเมื่อไม่นานนี้ของเขา[1] คือการพิจารณาว่าการตัดสินใจของเกษตรกรทางการผลิตเป็นเรื่อง “การทดลอง” (experimental orientation) ดังที่บทความซึ่งศึกษาเกษตรกรในหมู่บ้านแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ ในการตัดสินใจเข้าสู่การผลิตพืชแบบพันธะสัญญากับบริษัทการเกษตร  Walker เห็นว่าการเลือกตัดสินใจปลูกพืชของเกษตรกร เป็นเรื่องการทดลอง หมายถึง มันมีฐานมาจากประสบการณ์ในอดีต การประเมินทางเลือกในปัจจุบัน แล้วก็ “ลองทำดู”  และการทำดูก็เป็นไปพร้อมๆกับการต่อรองกับตลาด (เช่นเจ้าที่ดิน พ่อค้าคนกลาง นายทุนเงินกู้ นายหน้าบริษัทส่งเสริมการผลิต)  ภายใต้บรรทัดฐานเชิงคุณค่าในสังคมวัฒนธรรมของพวกเขา

จากแนวคิดเรื่องการทดลอง ผู้เขียนจะนำมาใช้พรรณนาวิเคราะห์ข้อมูลในหมู่บ้านศึกษาของตัวเอง แต่จะนำแนวคิดการทดลองมาผนวกกับ “การจัดการความเสี่ยง”  เพราะผู้เขียนเห็นว่าในหมู่บ้านแห่งนี้ ชาวสวนยางได้แสดงให้เห็นการจัดการความเสี่ยงในการผลิตอย่างชัดเจน สำหรับการจัดการความเสี่ยงผู้เขียนให้นิยามว่า “การตระหนักถึงความเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหายของการผลิต และการหาหนทางหลบเลี่ยงความเสี่ยง หรือบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดจากความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด ”

 บทความนี้อาศัยข้อมูลจากการวิจัยของผู้เขียน[2] ที่เก็บข้อมูลภาคสนามที่หมู่บ้านศรีเจริญ ใน อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เมื่อปี 2553 หมู่บ้านแห่งนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ คือประมาณร้อยละ 45 มีอาชีพทำสวนยางพารา พื้นที่สวนยางพาราคิดเป็นจำนวนประมาณร้อยละ 80 ของที่ดินทำกินของหมู่บ้าน[3]

 

การตัดสินใจ

เราอาจเริ่มต้นเรื่องชาวสวนยางพาราอีสานด้วยคำถามว่า อะไรคือเหตุผลของการตัดสินใจหันมาลงทุนลงแรงทำสวนยางพารา ซึ่งคนส่วนหนึ่งอาจมีคำตอบตามที่เชื่อกันมาว่า การตัดสินใจปลูกพืชของเกษตรกรมักเป็นไปตามกระแสนิยม ประกอบกับแรงส่งจากการสนับสนุนของรัฐ และเทคนิคการขายของบริษัทการเกษตรเป็นแรงดึงดูด คำตอบนี้ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น เมื่อเห็นว่าในที่สุดแล้วเกษตรกรผู้ไม่ประสีประสา และมักตกเป็นเหยื่อ ก็ต้องมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขเรื่องหนี้สินและราคาพืชผล ครั้งแล้วครั้งเล่า              

แต่ข้อมูลในหมู่บ้านกรณีศึกษาพบว่ามีเหตุผลซับซ้อนกว่านั้นมาก ผู้เขียนพบว่า การตัดสินใจปลูกพืชเป็นกระบวนการไตร่ตรอง และพยายามหาทางเลือกในการดำรงชีวิตเท่าที่จะทำได้  โดยปกติการตัดสินใจปลูกพืชที่ไม่คุ้นเคย  เกษตรกรใช้ประสบการณ์จากการปลูกพืชที่ผ่านมา มาพิจารณาความเหมาะสมที่จะปลูกพืชชนิดใหม่  ดังที่ชาวบ้านแห่งนี้ได้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลังมาก่อน พืชทั้งสองเคยเป็นแหล่งรายได้ที่ดี แต่นานวันเข้าก็พบว่าปัญหาต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ราคาผลผลิตไม่แน่นอน ดินเสื่อมความสมบูรณ์ และต้องอยู่ภายใต้การพึ่งพาเถ้าแก่รับซื้อผลผลิตที่มีไม่กี่เจ้า สถานการณ์ที่ชาวบ้านสรุปตรงกันก็คือ การฝากชีวิตไว้กับพืชชนิดเดิมไม่ค่อยมีอนาคต ท่ามกลางทางเลือกที่มีไม่มากนัก การมีพืชชนิดใหม่อย่างยางพารา จึงถูกพิจารณาว่า เป็นทางเลือกที่เหมาะสมหรือไม่   

ดังนั้นในช่วงต้นศตวรรษ 2530 เมื่อทางการเริ่มเข้ามาส่งเสริมการปลูกยางพารา จึงไม่มีผู้หันมาปลูกยางกันมากอย่างที่คิด แต่ชาวบ้านต่างประเมินและเลือกหนทางเลี้ยงครอบครัวแตกต่างกันออกไป บางคนยังปลูกข้าวโพดและมันสำปะหลังสืบมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุผลที่ว่า “ได้ค่าตอบแทนน้อยลง แต่คุ้ยเคยและได้เงินเร็วกว่า” บางคนหันมาปลูกพืชสวนครัวหรือพืชสวนชนิดอื่นๆเสริม บางคนหันมาทดลองปลูกยางพาราในพื้นที่ส่วนหนึ่ง เพราะ “ลองเบิงก่อน”  ในขณะที่หลายครอบครัวก็ใช้วิธีการเหมือนชาวบ้านทั่วไปในอีสานคือ หันไปพึ่งพารายได้จากนอกภาคเกษตรด้วยอาชีพที่หลากหลาย ทั้งในท้องถิ่นหรือย้ายไปทำงานต่างถิ่น อย่างไรก็ตาม ในต้นทศวรรษ 2540 ชาวบ้านได้หันมาปลูกยางพารากันมากขึ้น จนกระทั่งยางพาราได้กลายเป็นอาชีพหลักของหมู่บ้าน

               

การจัดการทรัพยากรการผลิต  

การทำสวนยางพาราให้ประสบความสำเร็จขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ              

อาจประมวลปัญหาหรือ “โจทย์” ของการทำสวนยางพารา ตามมุมมองของชาวบ้าน ได้หลายประการดังนี้ หนึ่ง ยางพาราเป็นพืชสวน ใช้เวลาหลังจากปลูกปีแรกถึงปีที่ 7-8 จึงจะเริ่มให้ผลผลิต ลักษณะเช่นนี้หมายความว่าการทำสวนยางต้องใช้เงินทุนสูง ทั้งในช่วงปีแรก และใช้ต่อเนื่องมาหลังจากนั้น ความกังวลก็คือ ในระหว่างรอผลผลิตจะมีรายได้จากที่ใดมาเลี้ยงดูครอบครัว สอง ยางพาราเป็นพืชยืนต้น ที่ดินเพาะปลูกต้องมีความมั่นคงในการถือครอง ควรเป็นที่ดินมีเอกสารสิทธิ์ที่มั่นคง อีกทั้งจะต้องมีที่ดินในเนื้อที่มากพอที่จะให้ผลตอบแทนในระดับที่คุ้มกับการลงทุน สาม ยางพาราต้องใช้แรงงานสูงและใช้แรงงานแบบสม่ำเสมอเกือบทั้งปี นับจากปีแรกที่ได้ปลูกต้นยางจนถึงกรีดยางและแปรรูปยาง ดังที่ทราบกันดีว่า ชาวสวนยางปักษ์ใต้และภาคตะวันออกต้องจ้างแรงงานจากอีสานไปกรีดยาง เพราะขาดแคลนแรงงาน สี่ เมื่อได้ผลผลิตแล้วจะนำไปขายที่ใด การขนส่งยางไปขายที่ไกลๆเป็นการเพิ่มต้นทุนในการผลิต   

โจทย์ทั้งหมดนี้อาจแปลความหมายได้ว่า เกษตรกรต้องมีความสามารถในการจัดการทรัพยากรการผลิต 4 ประการ คือ ความรู้ ที่ดิน เงินทุน และแรงงาน ในหมู่บ้านแห่งนี้พบว่า โดยทั่วไปชาวบ้านมีแบบแผนการจัดการทรัพยากรการผลิตแต่ละประเภทตามลักษณะดังต่อไปนี้            

ความรู้  ความรู้เป็นสิ่งสำคัญของการผลิต ในฐานะที่ทำไร่ข้าวโพดและมันสำปะหลังมาก่อน จึงกล่าวได้ว่าชาวบ้านศรีเจริญ มีทักษะและความรู้ทางการเกษตรเป็นพื้นฐาน สำหรับยางพาราซึ่งเป็นพืชชนิดใหม่ แหล่งความรู้มาจากการสนับสนุนของหน่วยงานรัฐ ได้แก่เกษตรอำเภอ และสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวยยางพารา (สกย.) สำหรับเงื่อนไขพิเศษของหมู่บ้านนี้ ต้องยกให้เป็นคุณูปการของทรัพยากรบุคคลคนสำคัญ ที่เป็นนักบุกเบิกและทดลอง และกลายเป็นแหล่งความรู้ของชาวบ้านคนอื่นๆ คือ  “พ่อใหญ่ทอง”  

นายทองเป็นบรรพบุรุษรุ่นบุกเบิกของหมู่บ้าน เป็นบุคคลแรกที่ปลูกเริ่มปลูกข้าวโพด เมื่อเกษตรอำเภอได้เข้ามาส่งเสริมครั้งแรกในทศวรรษ 2510 จากนั้นได้ทดลองปลูกพืชหลากหลายชนิด แม้กระทั่งที่ไม่น่าจะปลูกได้ในท้องถิ่น เช่น กาแฟ มะขามหวาน เงาะ ทุเรียน มีทั้งที่ประสบความสำเร็จและไม่สำเร็จ ในวัยหนุ่มด้วยความอยากเรียนรู้ได้ไปรับจ้างกรีดยางที่ภาคใต้ และเมื่อเข้าบั่นปลายชีวิตในช่วงปี 2530 เมื่อทางการมาสนับสนุนให้ทำสวนยาง ท่านเป็นคนแรกที่ได้ทำสวนยางพารา และประสบความสำเร็จสามารถกรีดยางขายได้เป็นคนแรก จากนั้นชาวบ้านคนอื่นๆจึงได้ทดลองทำตาม    

ที่ดิน  เมื่อมีความรู้ความมั่นใจพอจะลงมือทำสวนยางพารา ปัจจัยต่อมาคือการมีที่ดินที่เหมาะสม และดังได้กล่าวมาแล้วว่า การทำสวนยางพาราเป็นการลงทุนระยะยาว มีความเสี่ยง และชาวบ้านก็ต้องคำนึงถึงการประคับประคองครอบครัวในระยะเฉพาะหน้าด้วย ดังนั้น เกษตรกรแต่ละครัวเรือนจะคำนึงถึงปริมาณที่ดินที่มี  ที่ตั้ง และความมั่นคงในการถือครอง[4] และหารูปแบบการผลิตที่เหมาะสม

ในหมู่บ้านแห่งนี้พบว่า ได้เกิดแบบแผนการจัดการที่ดินเพื่อลดความเสี่ยง ที่อาจเรียกว่า กระบวนการจัดสรรที่ดินครัวเรือนเพื่อลดความเสี่ยง หรือ “เฮ็ดเป็นส่วนๆ”  คือชาวบ้านจะวางแผนการผลิตเหนือที่ดินทำกินทั้งหมด โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ แล้วจะใช้ที่ดินสำหรับทำสวนยางพาราที่ละส่วน ในขณะที่ที่ดินส่วนอื่นๆก็ยังปลูกพืชที่จะให้ผลตอบแทนในระยะสั้น (ผักสวนครัว ข้าวโพด มันสำปะหลัง) ต่อไป การเพิ่มพื้นที่สวนยางพาราจะค่อยๆเพิ่มไปตามกำลัง หลายครอบครัวไม่ได้ใช้พื้นที่ทั้งหมดสำหรับทำสวนยาง แต่จะเหลือไว้ปลูกพืชอื่นๆเพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาพืชชนิดเดียว และแต่ละครัวเรือนจะมีสูตรการจัดสรรที่ดินในแบบที่แตกต่างกัน นอกจากนี้หากเราสังเกตจะเห็นอีกว่า ในแปลงสวนยางพาราที่เริ่มต้น ก็จะใช้ที่ว่างระหว่างแถวปลูกพืชระยะสั้น เรียกว่า ปลูกพืชแซมยาง  เป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดผลตอบแทนในขณะที่รอคอยผลผลิตจากยาง การปลูกพืชแซมยางทำได้จนกระทั่งยางเติบโตถึงปีที่ 5-6  ทั้งหมดนี้ทำให้ภูมิทัศน์สวนยางพาราในอีสานหลายพื้นที่ มีความแตกต่างจากสวนยางพาราในภาคใต้ ที่เป็นแปลงใหญ่ติดต่อกัน แต่ในอีสานจะเป็นแปลงย่อยๆ สลับหรือแซมไปด้วยพืชชนิดอื่น ซึ่งเป็นวิธีจัดการความเสี่ยงในการผลิตรูปแบบหนึ่ง

เงินทุน สิ่งที่เรียกว่าทุน อาจรวมเอาปัจจัยหลายประเภท เช่น ที่ดิน เงินสด ทรัพย์สิน ความรู้  เครือข่ายทางสังคม ฯลฯ แต่ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะเงินทุน โดยปกติชาวบ้านไม่ได้แยกเงินทุนอย่างชัดเจน ระหว่างทุนในการผลิต กับเงินใช้จ่ายเลี้ยงดูครอบครัวประจำวัน ดังได้กล่าวแล้วว่าชาวบ้านจะปลูกพืชระยะสั้นไปด้วยเพื่อให้มีเงินทุนหนุนเวียน ในระหว่างที่ยางพารายังไม่ให้ผลตอบแทน ผู้เขียนพบว่า ชาวบ้านหลายครอบครัวมองว่ายางพาราเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต (ในขณะที่ปัจจุบันก็พึ่งพาพืชระยะสั้น และรายได้จากทางอื่นๆไปด้วย) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งยางพาราเป็น “เงินออม” หรือชาวบ้านบางคนเรียกว่าเป็น “ออมสิน” ที่จะได้เก็บกินเก็บใช้ในอนาคต โดยนัยนี้จึงหมายความว่า ชาวบ้านได้วางทางเลือกทางเศรษฐกิจไว้หลายทาง ไม่ได้ทุ่มไปที่ยางพารา หรือรายได้จากทางใดทางหนึ่งเพียงอย่างเดียว   

สำหรับเงินทุนที่ใช้ในการทำสวนยางพาราของชาวบ้านศรีเจริญ มีแหล่งเงินสินเชื่อจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์  นอกจากนั้นยังได้รับทุนจากหน่วยงานรัฐในหลายวาระโอกาส เช่น จาก สกย. ในรูปปุ๋ย โครงการสินเชื่อพิเศษ ในปี 2543 – 2549 มีโครงการส่งเสริมการปลูกยางพารา 1 ล้านไร่ สนับสนุนต้นกล้ายางพารา และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ  ในช่วงเดียวกันนี้มีกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งได้กลายเป็นแหล่งเงินกู้สำคัญที่ช่วยประคับประคองครัวเรือนฐานะปานกลาง และยากจน ที่ต้องการจะทำสวนยางพาราให้สามารถทำได้   

แรงงาน เป็นตัวแปรสำคัญ เมื่อชาวบ้านปลูกพืชชนิดอื่น พร้อมกับการทำสวนยางพารา ทำให้มีความต้องการแรงงานสูงขึ้น ยิ่งสวนยางพาราขยายตัวมากขึ้น ความต้องการแรงงานยิ่งมากขึ้น ทำให้แรงงานเข้าสู่ภาวะใกล้ขาดแคลนหรือขาดแคลนในบางโอกาส โดยปกติชาวบ้านจะใช้แรงงานของครัวเรือนเป็นหลัก มีการแลกเปลี่ยนแรงงานระหว่างเครือญาติบ้าง แต่ทำได้จำกัด ในการผลิตที่เกินกำลังจะจ้างแรงงานมาช่วยเท่าที่จำเป็น สภาวะแรงงานเข้าใกล้ขาดแคลน เป็นปัญหาของผู้จ้างงานที่เผชิญกับค่าจ้างแรงงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้น แต่สำหรับแรงงานรับจ้าง (ส่วนใหญ่เป็นคนมีที่ดินทำกินน้อยหรือไม่มี) นี่คือโอกาสอันดี   

จากประสบการณ์ของชาวสวนยางในพื้นที่นี้พบว่า พื้นที่ทำสวนยางพาราประมาณ 20 ไร่ จะเหมาะสมกับครัวเรือนที่มีแรงงาน 3 คน (พ่อ-แม่-ลูก) เพื่อจะรับมือกับงานประจำวันในการกรีดยาง และแปรรูปยางเป็นแผ่น  นั่นหมายความว่า หากจะทำการผลิตในพื้นที่มากขึ้นก็จะต้องจ้างแรงงานมาช่วย ซึ่งเจ้าของสวนต้องคำนวณว่าจะคุ้มค่าหรือไม่ สำหรับค่าจ้างแรงงานสวนยางในพื้นที่นี้ ในช่วงปี 2553   ราคาอยู่ในช่วง 180-250 บาท/วัน วิธีการจ้างแรงงานแบบหนึ่งที่พัฒนาขึ้นมา (ในทำนองเดียวกับในภาคใต้) คือ การจ่ายค่าแรงเป็นส่วนแบ่งผลผลิตในอัตรา 60 : 40 หมายถึงเมื่อกรีดยางและเก็บน้ำยางได้แล้ว เจ้าของสวนจะได้ผลผลิตร้อยละ 60 ส่วนแรงงานจะได้ผลผลิตร้อยละ 40 เป็นค่าตอบแทน สำหรับเจ้าของสวนการจ้างแรงงานแบบนี้ถือเป็นการจ่ายค่าจ้างที่สูง  แต่นายจ้างก็ไม่มีทางเลือกอื่น สถานการณ์นี้แสดงให้เห็นภาวะขาดแคลนแรงงาน และการที่แรงงานเป็นต้นทุนการการผลิตที่สำคัญในพื้นที่นี้   

 ความขาดแคลนแรงงานนำไปสู่การหาทางออก ที่ชาวสวนคิดคำนวณแล้วว่าเป็นทางที่พอรับได้ คือเปลี่ยนจากการขายยางแผ่น มาขายยางก้อน ในการทำยางแผ่น ชาวสวนจะต้องรวบรวมน้ำยาง ที่ได้จากการกรีดยางในแต่ละวัน มาผ่านกรรมวิธีที่ต้องใช้เวลาและแรงงานมาก แต่การทำยางก้อน เมื่อได้น้ำยางในถ้วยที่ติดอยู่ที่ต้นยางแล้ว หยดกรดชนิดหนึ่งลงไป ยางจะจับเป็นก้อน แล้วรวบรวมก้อนยางขายได้เลย ซึ่งเป็นการประหยัดแรงงาน แต่ราคายางก้อนจะต่ำกว่าราคายางแผ่นประมาณ 1/3 ถึง 1/4 เท่า แม้จะน้อยกว่าแต่ชาวสวนในพื้นที่นี้ส่วนใหญ่ก็พากันขายยางก้อน เพราะคิดแล้วว่าเป็นทางออกที่ดีกว่า จึงอาจเรียกได้แนวทางนี้คือการทดลองและหาทางเลือกอีกหนทางหนึ่ง  

ทรัพยากรการผลิตทั้ง 4 ประเภท คือปัจจัยที่เกษตรกรต้องบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพ จะเห็นว่าทรัพยากรทั้ง 4 ประเภท สัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก และยังแปรเปลี่ยนไปตามเงื่อนไข ณ ช่วงเวลาหนึ่งๆด้วย ในทางปฏิบัติครัวเรือนเกษตรกรมีความสามารถไม่เท่ากันในการจัดการทรัพยากร  ผู้เขียนพบว่า ความสามารถแปรตามฐานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือน ทั้งนี้ฐานะทางเศรษฐกิจมีพื้นฐานมาจากจำนวนการถือครองที่ดินที่ได้สะสมมาก่อน ครัวเรือนฐานะเศรษฐกิจต่างกัน[5] มีความสามารถจัดการทรัพยากรการผลิตเพื่อทำสวนยางพาราแตกต่างกันดังนี้

ครัวเรือนร่ำรวย ซึ่งในหมู่บ้านนี้ได้แก่กลุ่มที่มีที่ดินมากกว่า 20 ไร่ ขึ้นไป กลุ่มนี้มีทางเลือกมากกว่าในการจัดสรรที่ดินเข้าสู่สวนยาง บางครอบครัวทำสวนยางในพื้นที่มากกว่าร้อยละ 80   ของที่ทำกิน ขณะที่ครอบครัวอื่นๆมีขนาดการทำสวนยางแตกต่างกันไป ในกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากกว่า เนื่องจากสามารถใช้ที่ดินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืมได้มากกว่า มีทางเลือกในการใช้แรงงานมากกว่า บางครัวเรือนใช้แรงงานของตน บางครัวเรือนจ้างชั่วคราว บางครัวเรือนจ้างแบบแบ่งส่วนผลผลิต กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ปรับตัวเข้าสู่สวนยางพาราได้ราบรื่น มีความเสี่ยงและความกดดันจากการปรับเปลี่ยนการผลิตน้อย สวนยางพาราสามารถเป็นอาชีพหลักของครอบครัว และสามารถสร้างสมฐานะให้ร่ำรวยขึ้นอีก  

ครัวเรือนปานกลาง ได้แก่กลุ่มมีที่ดินมากกว่า 10- 20 ไร่  กลุ่มนี้มีข้อจำกัดในการจัดสรรที่ดินเข้าสู่สวนยางพารา  หลายครอบครัวต้องปลูกพืชแซมยางในช่วงการปรับเปลี่ยนการผลิต การเข้าถึงสินเชื่อทำได้จำกัด เพราะมีหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่มาก กลุ่มนี้จะถูกบีบคั้นจากการต้องหารายได้เลี้ยงครอบครัวก่อนที่ยางจะให้ผลผลิต นับจากช่วงปี 2543 กองทุนหมู่บ้านกลายเป็นที่พึ่งสำคัญของคนกลุ่มนี้ การใช้แรงงาน จะอาศัยแรงงานในครัวเรือนเป็นหลัก มีการจ้างงานเท่าที่จำเป็น กลุ่มนี้ค่อนข้างมีความเคร่งเครียดและคร่ำเคร่งทำงานหนัก แต่หากสามารถทำสวนยางในขนาด 20 ไร่ได้ ก็สามารถถีบตัวไปสู่การมีรายได้ที่มั่นคงมากกว่าเดิม

ครัวเรือนยากจน ได้แก่ผู้มีที่ดินมากว่า 0 ไร่ – 10 ไร่  กลุ่มนี้มีข้อจำกัดมากในการจัดสรรที่ดินเข้าสู่สวนยางพารา  พบว่าผู้ที่ตัดสินใจทำสวนยาง ส่วนใหญ่จะใช้ที่ดินประมาณ 4- 5 ไร่ เพื่อทำสวนยาง ในขณะที่จัดสรรที่ดินส่วนหนึ่งไว้ปลูกพืชระยะสั้น  โดยหวังว่าในอนาคตสวนยางจะเป็นรายได้เสริมทางหนึ่งของครอบครัว กลุ่มนี้เข้าถึงสินเชื่อได้น้อย พึ่งพาแหล่งเงินสินเชื่อระยะสั้นหลายแหล่ง รวมทั้งกองทุนหมู่บ้าน ที่มีความสำคัญต่อพวกเขามาก  ใช้แรงงานในครัวเรือนเป็นหลัก หากมีโอกาสก็จะไปรับจ้างแรงงาน  กลุ่มนี้มีความคร่ำเคร่งและต้องทำงานหนักมากที่สุด แต่หากสามารถทำสวนยางพาราได้สำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมาย  จะช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น  

การปรับเปลี่ยนการผลิตเข้าสู่สวนยางของเกษตรกรดังกล่าวมานี้ ต้องเน้นด้วยว่าความสำเร็จเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขสำคัญ  คือราคาพาราอยู่ในช่วง “ขาขึ้น”[6] และพวกเขาก็ยังเผชิญความเสี่ยงสูงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง (จะกล่าวถึงตอนหน้า) เราอาจเปรียบเทียบแบบแผนการจัดการทรัพยากรการผลิตเพื่อทำสวนยางพาราของเกษตรกรทั้งสามกลุ่มได้ดังตารางต่อไปนี้

 

แบบแผนการจัดการทรัพยากรการผลิตเพื่อทำสวนยางพาราของเกษตรกร

จำแนกตามระดับการถือครองที่ดิน/ฐานะเศรษฐกิจ

การถือครองที่ดิน/ระดับฐานะ

การจัดการที่ดิน

การจัดการเงินทุน

การจัดการแรงงาน

ผลที่เกิดขึ้น

ที่ดินมาก/ฐานะรวย

(ที่ดินมากกว่า 20ไร่)

การจัดสรรที่ดินเข้าสู่สวนยาง และปลูกพืชแซมยางได้ดี

 

สามารถเข้าถึงเชื่อได้ดีกว่าและ

ในวงเงินสูง (เนื่องจากมีที่ดินเป็นหลักหลักทรัพย์ค้ำประกันจำนวนมาก)

ใช้แรงงานในครัวเรือน แต่ก็สามารถจ้างแรงงานมาช่วยหากจำเป็น บางกรณีจ้างแรงงานประจำ ทำให้มีความมั่นคงด้านแรงงาน

ปรับตัวเข้าสู่สวนยางได้อย่างราบรื่น  ความเสี่ยงและความตึงตัวด้านการลงทุนน้อย ไม่คร่ำเคร่งทำงานหนักมาก สร้างสมฐานะได้ดี ยึดสวนยางพาราเป็นอาชีพหลักได้สบายๆ

ที่ดินปานกลาง/ฐานะปานกลาง

(ที่ดินมากกว่า 10 ไร่ – 20 ไร่)

การจัดสรรที่ดินเข้าสู่สวนยางพาราและการปลูกพืชแซมยางทำได้ค่อนข้างจำกัด

 

สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ค่อนข้างจำกัดและในวงเงินจำกัด เพราะมีหลักทรัพย์ที่ดินจำกัด พึ่งพาแหล่งสินเชื่อชุมชน เช่นกองทุนหมู่บ้านสูง

ใช้แรงงานในครัวเรือนเป็นหลัก

และจ้างแรงงานชั่วคราวเท่าที่จำเป็น

ปรับตัวเข้าสู่สวนยางพาราได้อย่างค่อนข้างลำบาก มีความตึงตัวและความเสี่ยงในการจัดการเงินทุนสูง ต้องทำงานหนักทั้งในการทำสวนยางและหารายได้ด้วยหนทางอื่นๆ 

ที่ดินน้อย/ฐานะยากจน

(ที่ดินมากกว่า 0  ไร่ -10 ไร่

การจัดสรรที่ดินเข้าสู่สวนยางพาราและปลูกพืชแซมยางยางพาราทำได้น้อยหรือไม่ได้เลย เพราะมีที่ดินน้อย

เข้าถึงสถาบันสินเชื่อได้จำกัด

และในวงเงินน้อย พึ่งพาแหล่งสินเชื่อชุมชนมากและหลายแหล่ง โดยเฉพาะกองทุนหมู่บ้าน

ใช้แรงงานในครัวเรือนเป็นหลัก ไม่มีการจ้างแรงงานเลย

ปรับตัวเข้าสู่สวนยางพาราได้ยากลำบาก  มีความตึงตัวและความเสี่ยงด้านการลงทุนสูง ต้องทำงานหนักทั้งในสวนยางและเพื่อหารายได้จากงานอื่นๆ  สวนยางพารามีฐานะเป็นรายได้เสริมของครัวเรือน

 

ความรู้สึกนึกคิด

นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคมชนบทท่านหนึ่งเสนอว่า ที่ผ่านมาการศึกษาสังคมชนบทหรือสังคมเกษตรกรรมในประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งประเทศไทย  มักให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์เรื่อง “การผลิต” เป็นหลัก สิ่งที่ควรปรับปรุงก็คือ การให้ความสำคัญกับการเข้าใจสังคมชนบทผ่านแง่มุมของ “การบริโภค” เพื่อจะสามารถเข้าใจชนบทท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงอย่างซับซ้อนได้มากขึ้น

 การวิเคราะห์การบริโภค จะนำไปสู่ประเด็นที่น่าสนใจประการหนึ่งคือเรื่อง “ความหมาย”  ชนบทเกี่ยวข้องกับเรื่องความหมายอย่างน้อยในสองแง่มุม ในแง่มุมหนึ่งชนบทเป็นพื้นที่ที่ “ถูกบริโภค” กล่าวคือ ชนบทคือพื้นที่ที่ถูกให้ความหมาย เพื่อสนองจินตนาการหรือเป้าหมายทางการเมืองบางประการของชนชั้นนำ ดังที่ชนบทไทยถูกให้ความหมายว่า เป็นรากฐานของสังคมไทย มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เคยอิสระจากรัฐและตลาด มีความสามารถในการพึ่งตัวเอง มีความสุขได้ท่ามกลางความพอเพียง  ฯลฯ ชนบทยังถูกบริโภคอีกหลากหลายแบบ เช่นในยุคการท่องเที่ยว ชนบทถูกนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้า ความเป็นชนบท “ดั้งเดิม”  ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาเพื่อตอบสนองตลาดการท่องเที่ยว ฯลฯ [7]

แต่ชนบทไม่ได้ถูกบริโภคเท่านั้น ในอีกแง่มุมหนึ่งชาวชนบทก็เป็น “ผู้บริโภค” ความหมายด้วย ในภาวะที่ชนบทไม่เคยแยกขาดจากรัฐและตลาด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคโลกาภิวัตน์ ที่มีทั้งการย้ายถิ่นไปมาของคนชนบท และการติดต่อสัมพันธ์หรือรับข่าวสารอย่างเข้มข้น จึงทำให้ชาวชนบทบริโภคความหมายอย่างกว้างขวาง เกิดเป็นความรู้สึกนึกคิด ความใฝ่ฝัน ความคาดหวัง และบรรทัดฐานทางสังคมแบบใหม่ๆ[8]  ในแง่มุมที่สองนี้เอง ที่ผู้เขียนเห็นว่าช่วยทำให้เข้าใจชาวสวนยางบ้านศรีเจริญได้ดีขึ้น

ในระหว่างทำวิจัยภาคสนาม เมื่อผู้เขียนถามชาวบ้านว่า ทำไมจึงทำสวนยาง หลายคนตอบอย่างไม่ลังเลว่า “อยากเป็นเถ้าแก่” ในหมู่บ้านนี้มีเถ้าแก่สวนยางหลายคนเป็นตัวอย่างให้เห็น สัญลักษณ์ของเถ้าแก่สวนยางคือ รถปิคอัพรุ่นใหม่ล่าสุดคันโต  การเปลี่ยนบ้านให้เป็นบ้านคอนกรีตทันสมัย การมีเครื่องเสียงร้องคาราโอเกะดังๆ และสามารถจัดงานเลี้ยงในโอกาสสำคัญได้อย่างเอิกเกริก  ความอยากเป็นเถ้าแก่อาจเป็นเหตุผลที่ “ไม่ค่อยมีเหตุผล” ในสายตาชาวเมือง แต่สำหรับชาวบ้านจำนวนมาก ปฏิเสธได้ยากว่านี่คือแรงผลักดันสำคัญ

ในทางวิชาการการ ความอยากมีชีวิตทันสมัยไม่ใช่ปัญหาในตัวมันเอง  แต่ที่สงสัยกันมานานก็คือ เหตุใด เมื่อชาวบ้านได้กำไรจากการผลิต จึงไม่นำเงินนั้นไปลงทุนให้การผลิตก้าวหน้าขึ้น เช่นซื้อเครื่องจักรเครื่องยนต์ ปรับปรุงที่ดินหรือสถานประกอบการ แต่กลับนำเงินไปทุ่มกับสิ่งของฟุ่มเฟือย

การเก็บข้อมูลภาคสนามทำให้พบว่า ในความจริงชาวบ้านมีความพยายามค้นคิดทดลองอย่างมาก ในการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต แต่สิ่งที่ไม่อนุญาตให้ทำได้ก็คือ ข้อจำกัดจากราคาพืชผลการเกษตร ในกรณียางพารา ชาวบ้านตระหนักดีว่าราคายางมีขึ้นมีลง ซึ่งเป็นไปนอกเหนือการควบคุมของพวกเขา การลงทุนในสวนยางมากเกินไปทั้งที่ไม่มีหลักประกันด้านราคาจึงเป็นเรื่องไร้เหตุผล ยังไม่รวมถึงถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขอื่นๆ คือหมู่บ้านนี้ไม่สามารถขยายที่ดินทำกินได้อีกแล้ว จะซื้อที่ดินเพื่อนบ้านก็ไม่มีใครขาย และที่สำคัญคือเรื่องแรงงานซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมากของการผลิต เมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่ได้รับ   

เมื่อไม่สามารถจะลงทุนทางการผลิตทางการเกษตรได้ สิ่งที่ดูจะมีเหตุผลและสัมผัสได้ก็คือการลงทุนกับการบริโภค การบริโภคที่ดี ไม่เพียงนำความสุขสบายมาให้ แต่เป็นการแสดงถึงการเป็นผู้มี “บารมี” และการมีบารมีก็หมายถึงการมีโอกาสที่ดีในชีวิต เช่นได้เป็นเอเย่นต์ขายปัจจัยการเกษตร เป็นหัวคะแนน เป็นนักการเมืองท้องถิ่น ฯลฯ เรื่องที่เป็นไปในทำนองเดียวกันที่เห็นได้ชัดอย่างมากคือ การลงทุนกับการศึกษาของบุตรหลาน ดังที่ชาวบ้านแทบทุกครัวเรือนที่มีเงิน จะส่งเสียให้ลูกเรียนชั้นสูงที่สุดในสถาบันที่ดีที่สุด เพื่ออนาคตที่ดีข้างหน้า ซึ่งอยู่ไกลจากภาคเกษตรออกไป ดังที่พวกเขามักกล่าวว่า ไม่มีใครอยากมีอนาคตเป็นชาวไร่ชาวสวนต่อไป  

ดังนั้นผู้เขียนเสนอว่า ชาวบ้านไม่ได้แยกมิติทางการผลิตและการบริโภคจากกัน แต่ทั้งสองรวมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตครอบครัว เป็นการลงทุนเพื่อฝ่าฟันอุปสรรคในชีวิตประจำวัน การคิดคำนวณถึงอนาคต และเป็นปฏิบัติการทดลอง และจัดการความเสี่ยง ท่ามกลางข้อจำกัดต่างๆ  เราอาจเข้าใจเรื่องนี้ได้มากขึ้นจากการแสดงออกทางการเมืองของพวกเขา

ดังได้กล่าวมาแต่ต้นแล้วว่า การขยายตัวอย่างก้าวกระโดดของสวนยางพาราในหมู่บ้านแห่งนี้เกิดขึ้นเมื่อมีโครงการส่งเสริมการปลูกยางพารา 1 ล้านไร่ และโครงการกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อครัวเรือนฐานะปานกลางและยากจน โครงการทั้งสองนี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย และยังมีเรื่องปัจจัยภายนอกที่ไม่เกี่ยวกับพรรคไทยรักไทยโดยตรง แต่ชาวบ้านก็รู้สึกว่าเป็นผลงานของรัฐบาลก็คือ ในระหว่างทศวรรษ 2540 เป็นช่วงที่ยางพาราราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้ทำให้เศรษฐกิจของชาวบ้านดีขึ้นกว่าเดิมมาก จึงไม่น่าประหลาดใจที่จะพบว่า เกือบทั้งหมู่บ้านเป็นผู้นิยมพรรคไทยรักไทย

ในช่วงที่ผู้เขียนเก็บข้อมูลระหว่างปี 2553 เป็นช่วงเดียวกันกับการชุมนุมที่กรุงเทพฯ มีชาวบ้านในหมู่บ้านจำนวนหนึ่งภูมิใจแสดงตนว่าเป็นคนเสื้อแดง อีกจำนวนหนึ่งลงทุนลงแรงไปร่วมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายในการชุมนุมที่กรุงเทพฯ  อะไรคือแรงผลักดันนี้ ? กล่าวให้ง่ายที่สุด ในความรู้สึกนึกคิดของพวกเขา เรื่องสวนยางกับการชุมนุมทางการเมือง ได้กลายเป็นเรื่องเดียวกัน การแสดงออกทางการเมืองในครั้งนี้ อาจมองได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการ “ทดลอง” (ในแง่มุมของ “การต่อรอง” ตามที่ Walker เสนอ) และการจัดการความเสี่ยง เพราะที่ผ่านมาไม่มีพรรคการเมืองพรรคใดให้โอกาสที่ดีในการทำมาหากิน ดังที่ได้รับจากพรรคนี้มาก่อน การไปร่วมชุมนุมจึงเป็นทั้งการปกป้อง พร้อมกันนั้นก็สร้างข้อผูกมัดเพื่อต่อรองต่อกับพรรคการเมืองที่ตนสนับสนุน

ขณะเดียวกันในอีกมิติหนึ่งการแสดงออกทางการเมือง ก็เป็นการบริโภคความหมายด้วย เพราะการเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหว  ทำให้พวกเขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของคนกลุ่มเดียวกันที่ถูกละเลย กล่าวให้กว้างออกไปอีก ความหมายใหม่ทางการเมืองนี้ ยังสอดคล้องกับสำนึกความเป็นเกษตรกรยุคใหม่ ที่อยากจะก้าวหน้า ทันสมัย ร่ำรวย มีปากมีเสียง มีคนนับหน้าถือตา เหมือนกับที่คนกลุ่มอื่นๆในสังคมเป็น.

บทความนี้พยายามให้แนวคิดและข้อมูล เพื่อช่วยทำความเข้าใจอาชีพและความรู้สึกนึกคิดของชาวสวนยางพาราอีสาน ในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมชนบท คาดว่าบทความจะช่วยลดช่องว่างของความเข้าใจที่มีต่อชาวชนบท ซึ่งช่องว่างดังกล่าวกลายเป็นเงื่อนไขของปัญหาทางการเมืองและปัญหาการพัฒนา ที่ท้าทายเราอย่างแหลมคมในปัจจุบัน.    

 




[1] Walker, Andrew. 2009.  “ “Now the company have come” : Local values and contract farming in northern Thailand” in Caouette , D. and S. Turner. (eds.) Agrarian angst and rural resistance in contemporary Southeast Asia . UK. : Routledge.

[2] พฤกษ์ เถาถวิล และนิตยา บุญมาก. 2554. “การปรับเปลี่ยนการผลิตเข้าสู่สวนยางพาราของเกษตรกรในตะวันออกเฉียงเหนือ  : นโยบายรัฐ ตลาด และกลยุทธ์การผลิตของครัวเรือน” ใน วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เสรีนิยมใหม่ในเศรษฐกิจอีสาน.ฉบับพิเศษ (1) 

[3] ประชากรบ้านศรีเจริญในปัจจุบัน (2553) มี 134 ครัวเรือน แบ่งสัดส่วนอาชีพหลักได้ดังนี้

สวนยางพารา         60           ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ       45            ของครัวเรือนทั้งหมด

รับจ้างทั่วไป          27            ครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ       20            ของครัวเรือนทั้งหมด

ข้าราชการ              15            ครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ       11            ของครัวเรือนทั้งหมด

สวนทั่วไป             14            ครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ       10            ของครัวเรือนทั้งหมด

บ้านเช่า                   11            ครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ       8              ของครัวเรือนทั้งหมด

ค้าขาย                     7              ครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ       6              ของครัวเรือนทั้งหมด

    การจำแนกกลุ่มผู้ทำสวนยางตามจำนวนเนื้อที่ จากจำนวนทั้งหมด 60 ครัวเรือน  (พ.ศ. 2553 )

0 – 10     ไร่                           19            ครัวเรือน

มากกว่า 10 ไร่  – 20ไร่         26            ครัวเรือน

มากกว่า 20 ไร่                        5              ครัวเรือน

[4] หมู่บ้านนี้ที่ดินส่วนใหญ่ มี นส.3 และ นส.4 (โฉนด) ที่ดินส่วนหนึ่งเป็นที่ สปก.

[5] การแบ่งกลุ่มฐานะทางเศรษฐกิจใช้จำนวนการถือครองที่ดินเป็นเกณฑ์ เพราะถือว่าที่ดินเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของเกษตรกร  เนื่องจากในหมู่บ้านนี้จำนวนการถือครองที่ดินค่อนข้างคงตัวนับจากต้นทศวรรษที่ 2530 หรือในทศวรรษที่เริ่มทำสวนยางพารา  เพื่อลดความซับซ้อนจนเกินไปของการเคราะห์ผู้เขียนจะถือว่า โครงสร้างการถือครองที่ดินนับจากทศวรรษ 2530 จนถึงปัจจุบัน มีค่าคงตัว ซึ่งทำให้แบ่งกลุ่มทางเศรษฐกิจตามจำนวนการถือครองที่ดินได้ดังนี้

ระดับชั้นทางเศรษฐกิจ

การถือครองที่ดิน (ไร่)

จำนวน (ครัวเรือน)

เกษตรกรรวย

เกษตรกรปานกลาง

เกษตรกรยากจน

เกษตรกรไร้ที่ดิน (จนมาก)

 

>  20

> 10  -  20

> 0 -10 ไร่

ไม่มีที่ดินทำกินเลย

10

67

50

7

รวม  134

 

[6]  ราคายางในทศวรรษ 2540 เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เช่นราคายางแผ่น กิโลกรัมละ 40-50 บาท สูงขึ้นในระดับร้อยบาทหรือสูงกว่านั้น  ดูสถิติราคายางเวปไซต์สถาบันวิจัยการยางกรมวิชาการเกษตร  http://www.rubberthai.com/statistic/stat_index.htm 

[7] Rigg, Jonathan and Mark Ritchie 2002. “Production, consumption and imagination in rural Thailand” . in Journal of Rural Studies 18 : 359-371.

[8] อานันท์  กาญจนพันธุ์ 2554. “ชนบทอีสานปรับโครงสร้าง ชาวบ้านปรับอะไร”  ใน วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เสรีนิยมใหม่ในเศรษฐกิจอีสาน. ฉบับพิเศษ (1) 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net