Skip to main content
sharethis

พิษ 300 บาทนายจ้างหั่น ชั่วโมงทำงาน คนไทยอ่วมหนี้ครัวเรือนรัดคอ

สศช.เผยภาวะสังคมไตรมาสแรกปี 56 อานิสงส์ค่าแรง 300 พ่นพิษแรงงานถูกลดชั่วโมงทำงานลง หลังผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่กำไรลดลง ชี้ผู้มีรายได้น้อยใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินตัวกินเหล้าสูบบุหรี่ เตือนรักษาวินัยการเงินแจงที่มาหนี้ครัวเรือนพุ่งเพราะนโยบายรถคันแรก

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 1 ปี 2556 ว่าการจ้างงานในไตรมาสที่ 1 เพิ่มขึ้น 1.3% โดยมีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.71% ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 1 ปีที่ผ่านมา ขณะที่การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 ม.ค.56 ที่ผ่านมายังไม่สะท้อนผลกระทบในภาพรวมของการเลิกจ้างงาน แม้ผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจที่การส่งออกในไตรมาสแรกที่ ขยายตัว 4.5% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 9% ทำให้ผลประกอบการมีกำไรลดลง แต่นายจ้างยังไม่เลิกจ้างคนงาน เพราะแรงงานหายากและอาจถูกแย่งงานไปบริษัทอื่นได้ง่าย แต่ผู้ประกอบการจะใช้วิธีการปรับชั่วโมงการทำงานลง โดยพบว่า ชั่วโมงการทำงานของภาคเอกชนลง 1.3% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อยู่ที่สัปดาห์ละ 46.2 ชั่วโมง และแรงงานภาคเอกชนที่ทำงานสัปดาห์ละ 50 ชั่วโมงขึ้นไปมีจำนวนลดลง 8.2% ส่วนผู้ที่ทำงานต่ำกว่าระดับการศึกษาพบว่า มีจำนวนเพิ่มขึ้น 12.1% หรือ 380,000 คน

อย่างไรก็ตาม การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ได้ทำให้ช่องว่างระหว่างค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนของผู้ที่ได้รับค่าจ้างสูงสุด กับผู้ที่ได้รับค่าจ้างต่ำสุดในองค์กรลดลงจากปี 2553 ช่องว่างต่างกัน 7 เท่าลดลงเหลือ 6.7 เท่าในปี 54 และ 6.9 เท่าในปี 55 และไตรมาสแรกปี 56 ลดลงเหลือ 6.1 เท่า อย่างไรก็ตามคนยากจนจะใช้จ่ายค่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ค่อนข้างสูง มากกว่ากลุ่มคนรวย

ขณะเดียวกันครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยยังใช้จ่ายฟุ่มเฟือยมากขึ้น และเสี่ยงต่อการเป็นหนี้ สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมการบริโภคของผู้มีรายได้น้อยที่เปลี่ยนไป ดังนั้นครัวเรือนรายได้น้อยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาวินัยทางการเงิน อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในครัวเรือนผู้ประกอบอาชีพอิสระกว่า 1.6 ล้านครัวเรือนหรือ 7.8% ของครัวเรือนทั้งหมดที่ไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และการปรับเพิ่มเงินเดือนปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท

สำหรับคุณภาพชีวิตด้านการศึกษาพบว่า เด็กไทยยังไม่ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานครบทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มยากจน และกลุ่มเด็กมีความเสี่ยงทั้งเด็กด้อยโอกาส และเด็กในสลัมที่ต้องช่วยพ่อแม่ทำงานจึงไม่ได้เข้ารับการศึกษา ซึ่งเด็กยากจนในเมืองใหญ่เช่น กทม.และปริมณฑล มีโอกาสในการได้รับการอบรมดูแลในช่วงปฐมวัยน้อย ส่วนบริการด้านสุขภาพแม้คนจนจะมีโอกาสเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขมากขึ้น แต่บริการสาธารณสุขของไทยยังมีปัญหาด้านคุณภาพและความเหลื่อมล้ำในการกระจาย ทรัพยากรที่ยังคงกระจุกตัวใน กทม.และภาคกลาง

ด้านนางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการ สศช.กล่าวว่า แม้ว่ารายได้โดยรวมของประชาชนจะเพิ่มขึ้น แต่รายจ่ายก็เพิ่มขึ้นตามและสร้างหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 3 ไตรมาสติดต่อกันและมีแนวโน้มการค้างชำระมากขึ้น โดยเฉพาะหนี้สินในหมวดซื้อรถยนต์จากโครงการรถยนต์คันแรก โดยตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้ว่าหนี้สินภาคครัวเรือนยังเพิ่มต่อเนื่อง ซึ่งตัวเลขสิ้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมายอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภค บริโภคส่วนบุคคลอยู่ที่ 2.96 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว โดยสินเชื่อเพื่อการซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้น 33.7% ส่วนการผิดนัดชำระหนี้ก็เพิ่มขึ้นเช่นกันในไตรมาสแรกปีนี้ ซึ่งพบว่ามูลค่าสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่ผิดนัดชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไปเพิ่มขึ้น 38.9% คิดเป็นมูลค่า 8,553 ล้านบาท ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลจากสินเชื่อเพื่อการบริโภค อุปโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 17.7% มีมูลค่า 60,204 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วน 23.5% ของเอ็นพีแอลรวม”.

(ไทยรัฐ, 28-5-2556)

 

เตรียมส่งแรงงานกลับลิเบีย 3 ปีตั้งเป้าขน 20,000 คน

28 พ.ค.56 - นายจักรกฤษณ์ สุวรรณสาร ประธานบริษัทจัดหางานเงินและทองพัฒนา จำกัด และประธานบริษัทในเครือซิลเวอร์แอนด์โกลด์ กรุ๊ป เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การเมืองของลิเบียที่เริ่มสงบ บริษัทจะเริ่มทยอยส่งคนงานกลับไปทำงานในลิเบีย โดยก่อนวันที่ 15 มิ.ย.นี้ คนงานจะต้องเดินทางกลับไป 200 คน แล้วส่งต่อไปอีกเรื่อยๆไม่ต่ำกว่าเดือนละ 200 คน จนครบ 6,400 คน โดยบริษัทฯจะต้องส่งแรงงานกลับไปในระยะเวลา 1 ปี เพื่อไปสานต่อโครงการเก่า ส่วนโครงการใหม่ก็คงจะตามมาในเร็ววันเช่นกัน

นายจักรกฤษณ์ กล่าวว่า จะส่งแรงงานไปลิเบียทั้งหมดประมาณ 20,000 คนใน 3 ปี โดยปัจจุบันมีแรงงานไทยอยู่ในลิเบียไม่ถึง 500 คน โดยจ้างขั้นต่ำของแรงงานที่ผ่านบริษัทคือ 550 เหรียญสหรัฐฯต่อเดือน ไม่ รวมโอทีและสวัสดิ์การณ์ต่างๆ ซึ่งสูงกว่าอัตราของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน

“ขณะนี้บริษัทที่เป็นเจ้าของโครงการต่างๆที่หยุดไปในช่วงสงครามในลิเบีย ได้กลับมาเซ็นสัญญากับรัฐบาลแล้ว ซึ่งทุกบริษัทจะต้องเริ่มงานในเร็วๆนี้ โดยแรงงานหลักที่ส่งกลับไป เป้าหมายคือ เพื่อฟื้นฟูประเทศ ทั้งที่อยู่อาศัย และระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โดยรัฐบาลลิเบียกำลังเร่งสร้างที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จากภัยสงครามให้แล้วเสร็จ”

ล่าสุดรัฐบาลลิเบียได้เซ็นสัญญากับบริษัทรับเหมาที่ใหญ่ที่สุดของจีน เพื่อจะสร้างบ้าน 20,000 หลัง ที่เมืองเบงกาซี ในขณะที่บริษัทคู่ค้าก็ได้โครงการสร้างบ้านที่เมืองทาจูรา 10,200 หลัง โดยแรงงานที่จะส่งออกไปครั้งนี้มีทุกระดับ ทั้งแรงงานก่อสร้างไปถึงธุรกิจบ่อน้ำมัน โดยแรงงานไทยเป็นที่ยอมรับของลิเบีย แม้ว่าราคาจะแพงกว่าชาติอื่น

(แนวหน้า, 28-5-2556)

 

วิกฤติแรงงานลามธุรกิจโรงแรม

นายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมโรงแรมในประเทศ รวมถึงอาเซียน เริ่มขาดแคลนอย่างมาก โดยโรงแรมปัจจุบันมีอัตราจ้างได้ 85-90%เท่านั้น หรือจากเดิมที่โรงแรมส่วนใหญ่จะจ้างบุคลากรทุกระดับ ตั้งแต่ระดับล่าง-ระดับบนของโรงแรมได้ 600 คนแต่เหลือเพียง 400-500 คนถือว่ามากที่สุดแล้ว

"เบื้องต้นเมื่อเดือนมี.ค.ทีเอชเอได้เข้าร่วมประชุมกับสมาคมโรงแรมและ ภัตตาคารอาเซียน (อาร่า) เพื่อหารือร่วมกันถึงแนวทางจัดการการขาดแรงงาน และทีเอชเอจะนำเรื่องนี้ไปนำเสนอกับรัฐบาลเพื่อช่วยสนับสนุนในเรื่องนี้ต่อ ไป"

ทั้งนี้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในโรงแรมของประเทศในอาเซียนนั้น แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีคน แต่ไม่มีทักษะด้านฝีมือ คือกลุ่มประเทศ กัมพูชา ลาว พม่า และ เวียดนาม(ซีแอลเอ็มวี) และ กลุ่มที่มีคนน้อย แต่มีทักษะด้านฝีมือ คือ ไทย  มาเลเซีย สิงคโปร์และอินโดนีเชีย ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้จะแลกเปลี่ยนความรู้และส่งเสริมการพัฒนาร่วมกัน เพื่อช่วยผลักดันให้แรงงานในกลุ่มโรงแรมมีฝีมือและจำนวนบุคลากรเพิ่มขึ้น

"จริง ๆ แล้วขณะนี้ โรงแรมจ่ายฐานเงินเดือนมากกว่าแรงงานขั้นต่ำอยู่แล้ว แต่ประชาชนก็เริ่มไปทำงานในสายเกษตรกร หรือ อุตสาหกรรมมากขึ้นด้วย และหากจะพัฒนาจริง ๆ คงอีก 3-4 ปี หรือเห็นผลเมื่อเข้าสู่อาเซียน หรือเออีซี ดังนั้นจึงต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยสนับสนุนเรื่องการเคลื่อนย้ายบุคลากร เพื่อไปอบรมในประเทศอาเซียนด้วย”

(เดลินิวส์, 28-5-2556)

 

คนไทยแห่เก็บลูกเบอร์รี่ที่ฟินแลนด์

รายงานในเว็บไซต์ วายแอลอี อูติเซต ของฟินแลนด์ เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ระบุว่า แรงงานต่างชาติที่ตั้งใจไปทำงานเก็บผลไม้ป่า ลูกเบอร์รี่ ที่ประเทศฟินแลนด์ จะเริ่มเดินทางไปยังฟินแลนด์ในช่วงกลางเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อน และคาดว่าปีนี้จะมีแรงงานต่างชาติประมาณ 2,500 คน เดินทางไปเพื่อการนี้ เพิ่มขึ้นเกือบ 10 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยคนงานส่วนใหญ่ยังคงเป็นชาวไทย รองลงไปประมาณเกือบ 400 คน เป็นชาวยูเครน และเบลารุส

รายงานระบุว่า คนงานเกือบทั้งหมดจะเดินทางตรงไปยังภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของฟินแลนด์ โดย บริษัทโคร์วาตุนตูริน มาร์ยา จำกัด เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่รับซื้อผลเบอร์รี่เป็นจำนวนมาก ตั้งใจจะให้คนงานเริ่มเก็บลูกเบอร์รี่จากเขตพีร์คันมา แล้วย้ายขึ้นไปทางเหนือ

นอกจากนั้น ยังจะมีการเปิดโทรศัพท์สายด่วน เบอร์รื่ โฟน ฮ็อตไลน์ และบริการอีเมล สำหรับรายงานปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเก็บลูกเบอร์รี่ ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. ซึ่งแรงงานต่างชาติเริ่มเดินทางถึงฟินแลนด์

ปีที่แล้ว บริการแจ้งเหตุได้รับแจ้งเรื่อง 55 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องร้องทุกข์

โดย 21 ครั้งในจำนวนนี้เป็นการแจ้งจากชาวบ้านว่า กลุ่มคนงานเก็บลูกเบอร์รี่ใกล้เขตหมู่บ้านมากเกินไป 15 เรื่องเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ทั่วไป เกี่ยวกับวิธีการเก็บผลเบอร์รี่ ส่วนอีก 11 เรื่องเป็นความเห็นทั่วไป เช่น เกี่ยวกับการทิ้งขยะเลอะเทอะ

ที่เขตแลปแลนด์ ทางภาคเหนือ หลายบริษัทที่รับซื้อเบอร์รี่บรรลุข้อตกลงเมื่อวันจันทร์ (27 พ.ค.)
 
เกี่ยวกับหลักการทั่วไปในการตั้งกฎเกณฑ์การเก็บลูกเบอร์รี่ หลักการดังกล่าวตั้งขึ้นเพื่อป้องกันความขัดแย้ง ระหว่างชาวฟินแลนด์ท้องถิ่น กับกลุ่มคนงานเก็บลูกเบอร์รี่ ที่อาจจะไม่รู้กฎหมายและขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวฟินแลนด์ ซึ่งกฎเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นจะมีการเผยแพร่ต่อกลุ่มคนงานต่างชาติโดยทั่วถึงกัน.

(เดลินิวส์, 29-3-2556)

 

ระดมความคิด ยุทธศาสตร์แรงงานในไทย

องค์กรแรงงานภาครัฐและเอกชน เร่งวางยุทธศาสตร์รับมือแรงงานต่างด้าวที่อาจทะลักเข้าไทย หลังใช้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เผยแรงงานต่างด้าวเสียค่าใช้จ่ายสูงเพื่อมาทำงานในไทย ที่สุดจึงเลี่ยงกฎหมาย กลายเป็นแรงงานเถื่อน เสนอทางออก ปัญหาจะลดทันทีหากนายจ้างรับผิดชอบค่าใช้จ่ายร่วมกับแรงงาน

24 เมษายน ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงาน ร่วมกับ บ. ซิลเวอร์แอนด์ โกลด์ แมนเนจเมนท์ จำกัด (SGMT) จัดสัมมนา เรื่อง “ยุทธศาสตร์ด้านแรงงานในไทย ภายใต้แรงกระตุ้น 300 บาท” โดยมี นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน และได้รับเกียรติจากเอกอัครราชทูตกัมพูชา, เอกอัครราชทูตเวียดนาม, เลขานุการทูต สปป.ลาว ประจำประเทศไทย,ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน, ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม, กอ.รมน. และผู้บริหารองค์การเอกชนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมระดมความคิด

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ด้านแรงงาน มีความสำคัญต่อทุกประเทศ และเป็นกลไกสำคัญทำให้อาเซียนเดินหน้าสู่ความสำเร็จร่วมกัน

“รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการวางยุทธศาสตร์แรงงานทั้งการยกระดับรายได้ แรงงานให้เท่าเทียมกันทั่วประเทศ(ขั้นต่ำวันละ 300 บาท) และคุ้มครองสิทธิแรงงานทั้งไทยและต่างด้าวที่ถูกกฎหมายตามมาตรฐานสากล โดยไม่เลือกปฏิบัติ”

มีความเห็นตรงกันว่า ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทำให้แรงงานต่างด้าวมาทำงานในไทยมากขึ้น ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เพราะขณะนี้หลายอุตสาหกรรมหาแรงงานไทยมาทำงานไม่ได้เลย
มองด้านตัวเลข ปัจจุบันไทยมีแรงงานกัมพูชาทั้งที่ถูกและผิดกฎหมาย ราว 500,000 คน ส่วนแรงงานสปป. ลาว มีประมาณ 200,000 คน ซึ่งแรงงานชาวลาวมักมีปัญหาอายุน้อยกว่าเกณฑ์ (อายุ 12-18 ปี)และส่วนใหญ่ทำงานในภาคเกษตร หรือเป็นแม่บ้าน ซึ่งเป็นงานที่แรงงานไทยไม่นิยมทำ

สิ่งที่ทุกฝ่ายกังวลคือ แรงงานลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ที่มีมากขึ้น ทำให้ยากต่อการกำกับดูแล รัฐบาลไทยจึงพยายามผลักดันให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาอยู่ในระบบอย่างถูกกฎหมาย

(คมชัดลึก, 30-5-2556)

 

"ชัชชาติ" ยันไม่มีปัญหาจ่ายเงินเดือนพนักงานแอร์พอร์ตลิงก์

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยืนยันไม่มีปัญหาการจ่ายเงินเดือนแก่พนักงานแอร์พอร์ตลิงก์ แต่เป็นการสื่อสารที่ผิดพลาด เนื่องจากแอร์พอร์ตลิงก์อยู่ภายใต้การควบคุมของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ต้อง จัดส่งรายได้ แต่อาจล่าช้า และวันนี้จะมีการหารือกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เข้าใจในทิศทางเดียวกัน

ส่วนกรณีศาลปกครองกลางพิพากษาว่าการรถไฟฯ ไม่มีอำนาจจัดเก็บค่าเช่าแผงตลาดนัดจตุจักรนั้น จะต้องศึกษาคำพิพากษาให้ชัดเจนและยังมีช่องทางยื่นศาลปกครองสูงสุดซึ่งอาจมี คำพิพากษาที่เป็นผลดีต่อผู้ค้า  ทั้งนี้จะนัดผู้ว่าฯ การรถไฟฯ มาหารือแนวทางต่อไป

ด้านนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ถึงงบประมาณในการจัดซื้อรถตู้รับส่งนักเรียนของกระทรวงฯ ว่าเป็นไปตามขั้นตอนและหลักเกณฑ์ของสำนักงบประมาณ ยืนยันความโปร่งใสในทุกขั้นตอน

ทั้งนี้ ก่อนการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 วันที่ 3 นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ปฏิเสธข่าวลือการปลด นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ออกจากตำแหน่ง ยืนยันนายสมศักดิ์ ไม่ได้มาทำหน้าที่ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา เนื่องจากมีปัญหาเรื่องสุขภาพ

ขณะที่การอภิปรายของสมาชิกในช่วงเช้าที่ผ่านมา ส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้านสลับกันอภิปราย โดยฝ่ายค้านยังมุ่งอภิปรายงบของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงที่สุด


(ประชาชาติธุรกิจ, 31-5-2556)

 

สอศ.ขอบรรจุครูเพิ่ม หลังต้องเจียดรายหัวมาจ่าย 2 พันล.บาทต่อปี

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติตามที่ สอศ.เสนอกรอบอัตรากำลังข้าราชการและพนักงานราชการ เพิ่มเติมในปี 2557-2559 จำนวน 15,973 อัตรา แบ่งเป็นข้าราชการ 1,409 อัตรา พนักงานราชการทั่วไป สายผู้สอน จำนวน 10,000 อัตรา และสายสนับสนุน จำนวน 4,564 อัตรา ซึ่ง สอศ.จะเสนอให้คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) พิจารณาอีกครั้ง สำหรับเหตุผลที่จะต้องเพิ่มอัตรากำลังข้าราชการและพนักงานราชการสังกัด สอศ.นั้น เพราะขณะนี้จำนวนบุคลากรทั้งข้าราชการและพนักงานราชการสังกัด สอศ.ไม่เพียงพอต่อการความต้องการที่แท้จริง โดยปัจจุบัน สอศ.มีนักศึกษาอยู่ 684,760 คน ข้าราชการครู 14,856 คน พนักงานราชการ 3,498 คน และลูกจ้างชั่วคราวทำหน้าที่สอน จำนวน 19,998 คน
      
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนนักเรียนต่อครู จะเห็นว่าไม่เพียงพอ เพราะปัจจุบันจำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้น และสัดส่วนนักเรียนต่อครูผู้สอนที่เหมาะสมอยู่ที่ 40 ต่อ 1 ทำให้ที่ผ่านมาวิทยาลัยต่างๆ ต้องจ้างลูกจ้างชั่วคราวมาสอนเพิ่ม เพราะอัตรากำลังข้าราชการของ สอศ.ลดลงถึง 80% โดยวิทยาลัยต้อเจียดเงินงบประมาณรายหัวของนักศึกษามาจ่ายเป็นค่าจ้างให้ ลูกจ้างชั่วคราว ถึง 2,356 ล้านบาทต่อปี ทั้งที่ความจริงแล้วเงินรายหัวจำนวนนี้ควรจะต้องใช้ในการพัฒนาคุณภาพการ ศึกษา หรือจัดซื้ออุปกรณ์การเรียนเพิ่มเติม
      
ด้าน นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการ กอศ.กล่าวว่า สอศ.จะเสนอกรอบอัตรากำลังฯ ดังกล่าวไปยัง คปร.ซึ่งก็จะรอเพียงการอนุมัติเมื่อได้กรอบอัตรากำลังมาแล้วจึงจะดำเนินการ กำหนดแนวทางในการสอบบรรจุแต่งตั้งต่อไป


(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 2-6-2556)

 

บอร์ด ร.ฟ.ท.โยนคมนาคมตัดสินยุบแอร์พอตลิงก์ พนักงานแฉกลุ่มอำนาจตั้งโต๊ะกินรวบสัมปทานรถตู้-ขายตั๋ว

บอร์ด ร.ฟ.ท.ชี้ไม่มีอำนาจยุบบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. โยนคมนาคมและ ครม.ตัดสินใจ “สร้อยทิพย์” ยันการเงินแอร์พอร์ตลิงก์ไม่มีปัญหาอยู่ในขั้นตอนอนุมัติ พร้อมจ่ายทันที ปราม “CEO ป้ายแดง” แนะประสาน ร.ฟ.ท.ใกล้ชิดเพื่อแก้ปัญหา วงในแฉแหลกปมแอร์พอร์ตลิงก์ป่วน เหตุมีกลุ่มอำนาจกินรวบผลประโยชน์ พนักงาน ปูดระดับบิ๊กเอี่ยวผลประโยชน์ดึงคนใกล้ชิดฮุบสัมปทานรถตู้ ขายตั๋ว
      
นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด ร.ฟ.ท.เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้รับทราบข้อเสนอของนายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. กรณียุบบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (แอร์พอร์ตลิงก์) กลับมาเป็นหน่วยธุรกิจ (Business Unit) ของ ร.ฟ.ท. แต่ยังสามารถให้ความเห็นชอบใดๆ ได้เนื่องจากเป็นเรื่องของนโยบายที่จะตัดสินใจ แล้วยังมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของ ร.ฟ.ท.กรณีที่ให้ตั้งหน่วยธุรกิจ 3 หน่วยหากต้องมีเพิ่มอีก 1 หน่วยจะต้องนำเสนอ ครม.พิจารณา ส่วนบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.นั้น ทางคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.) ได้มีคำสั่งผ่านกระทรวงคมนาคมตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2555 ให้ทำโมเดลการบริหารและแผนธุรกิจเสนอภายใน 6 เดือน ดังนั้นจึงให้แอร์พอร์ตลิงก์เร่งสรุปโมเดลการบริหารเพื่อนำมาประกอบการ พิจารณาเสนอกระทรวงคมนาคมต่อไป
      
ทั้งนี้ ยืนยันว่าในส่วนของการบริหารและการเงินของแอร์พอร์ตลิงก์ไม่ได้มีปัญหาใดๆ โดยอยู่ในขั้นตอนการจัดจ้าง โดย ร.ฟ.ท.ในฐานะบริษัทแม่มีหน้าที่จ่ายค่าจ้างแอร์พอร์ตลิงก์บริษัทลูกให้ทำ หน้าที่เดินรถ ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นความไม่เข้าใจภายใน ซึ่งบอร์ดได้กำชับทั้งผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.เร่งรัดสัญญาการจัดจ้างแล้ว รวมถึงเตือนนายพีรกันต์ แก้ววงศ์วัฒนา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (CEO) ในการทำงานที่ต้องประสานกับ ร.ฟ.ท.อย่างใกล้ชิด โดยตามระเบียบแอร์พอร์ตลิงก์จะต้องทำหน้าที่เดินรถตามสัญญาจ้างของ ร.ฟ.ท. โดยจะต้องส่งรายได้ให้ ร.ฟ.ท.และได้รับค่าจ้างเดินรถ ขณะที่ตามระเบียบรายได้ของ ร.ฟ.ท.ทั้งหมดจะต้องถูกส่งเข้ารัฐ
      
“เรื่องตั้งหน่วยธุรกิจหรือยุบบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด เป็นเรื่อวระดับนโยบาย เกินอำนาจบอร์ด จึงให้ทุกฝ่ายไปรวบรวมข้อมูลรายละเอียดเพื่อนำเสนอระดับนโยบายพิจารณาต่อไป ส่วนการบริหาร หากแอร์พอร์ตลิงก์ต้องการความคล่องตัวทางการเงินสามารถทำแนวทางที่เหมาะสม เสนอมา โดยศึกษากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องประกอบมาด้วย บอร์ดพร้อมพิจารณา เช่น ปัจจุบันแอร์พอร์ตลิงก์มีรายได้ประมาณ 1.5 ล้านบาท/วัน หรือ 45 ล้านบาท/เดือน มีรายจ่ายประมาณ 15 ล้านบาท/เดือน แอร์พอร์ตลิงก์เคยบอกว่า หากมีเงินสดหมุนเวียน 5 แสนบาท/วันจะทำให้มีความคล่องตัวมากขึ้น เป็นต้น” นางสร้อยทิพย์กล่าว
      
รายงานข่าวแจ้งว่า ภาพความขัดแย้งระหว่างผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. กับแอร์พอร์ตลิงก์ลึกๆ แล้วเป็นผลมาจากความต้องการผลประโยชน์ ซึ่งผู้มีอำนาจในแอร์พอร์ตลิงก์กำลังจัดสรรกันอยู่ โดยให้การสนับสนุน CEO ที่อยู่ระหว่างการสร้างผลงานในการทำงานช่วงแรกมาเป็นกันชนไม่ให้ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.ซึ่งรู้เรื่องเข้ามาขัดขวาง โดยการดึงแอร์พอร์ตลิงก์กลับไปเป็นหน่วยธุรกิจของ ร.ฟ.ท. โดยก่อนหน้านี้พนักงานแอร์พอร์ตลิงก์ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงคมนาคมเพื่อให้ ตรวจสอบความเหมาะสมกรณีที่นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ ประธานบอร์ดแอร์พอร์ตลิงก์ทำหน้าที่รักษาการ CEO ด้วย และขณะนี้ได้มีการตั้งข้อสังเกตในการดำเนินงานหลายเรื่องที่ถูกต้อง และเข้าข่ายการเอื้อประโยชน์ให้พรรคพวก
      
เช่น การตั้งเคาน์เตอร์ฟรีในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อขายตั๋วรถด่วน Express Line โดยพ่วงขายตั๋วรถตู้ วิ่งรถเชื่อมส่งต่อผู้โดยสารจากสถานีไปถึงปลายทางราคารวม 250 บาท (ค่าโดยสารแอร์พอร์ตลิงก์ 90 บาท) แก่ผู้โดยสาร ซึ่งทางบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ไม่ยอมเนื่องจากเข้าข่ายธุรกิจต้องมีการแบ่งรายได้ ทำให้ต้องเสนอเรื่องกันใหม่ ส่งผลให้เปิดบริการล่าช้าจากกำหนดที่ต้องเปิดเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา
      
ซี่งพนักงานแอร์พอร์ตลิงก์ให้ข้อมูลว่า เรื่องสัมปทานวิ่งรถเชื่อมส่งต่อผู้โดยสารจากสถานีไปถึงปลายทางนั้น ภายในบริษัททราบกันดีว่าบริษัทที่จะเข้ามาดำเนินการเป็นเจ้าของโรงแรมย่าน รัชดาฯ และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้บริหารระดับสูงของแอร์พอร์ตลิงก์ โดยมีแผนจะวิ่งรถในเส้นทางสุขุมวิท สีลม รัชดาฯ และข้าวสาร ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาบริการที่เป็นบริการเสริมเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารและ เป็นการส่งเสริมการขายเพื่อให้มีผู้ใช้บริการมากขึ้น เช่น ดีลเลอร์ขายตั๋ว ล่าสุดได้ให้บริษัท HIS เข้ามารับสัมปทานไปโดยไม่เปิดประมูล รวมถึงบริการแท็กซี่ ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดสรรให้กลุ่มที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้บริหาร ระดับสูงเข้ามารับผลประโยชน์ทั้งสิ้น

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 2-6-2556)

 

ชี้เปิดเสรีอาเซียน แรงงานไทย 7 สาขาเสี่ยงถูกแย่งอาชีพ

เผยผลการวิจัยการเคลื่อนย้ายแรงงานของการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แรงงานไทยได้เปรียบเรื่องงานบริการ และปรับตัวได้เร็ว ขณะที่ด้อยเรื่องภาษาอังกฤษ ชี้แรงงานไทยใน 7 กลุ่มอาชีพตามข้อตกลงอาจถูกแย่งอาชีพจากแรงงานประเทศที่ค่าจ้างต่ำกว่า จี้ ก.แรงงานเร่งพัฒนาศักยภาพ
      
รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยผลรายงานการวิจัยการเตรียมการรองรับการเคลื่อนย้ายของแรงงานสู่ประชาคม เศรษฐกิจอาเซียน (เอซี) ที่กระทรวงแรงงานมอบหมายให้วิจัย โดยผลวิจัยดังกล่าวมีข้อสรุปว่า การเปิดเออีซีในปี 2558 จะทำให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี ทำให้ตลาดแรงงานมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และแรงงานจากทั้ง 10 ประเทศสมาชิกเออีซีมีการแข่งขันกันสูง ซึ่งในส่วนของแรงงานไทยมีจุดเด่นในเรื่องการมีอัธยาศัยที่ดี มีใจรักงานบริการ ปรับตัวและเรียนรู้งานต่างๆ ได้เร็ว แต่มีจุดอ่อนด้านทักษะภาษาอังกฤษ เทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) ระเบียบวินัยและการบริหารงาน ไม่กล้าตัดสินใจและขาดการวางแผนอย่างเป็นระบบ
      
ผลวิจัยยังได้ระบุถึงผลกระทบการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมืออย่างเสรีของเออี ซีในด้านบวกว่าจะสามารถแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานได้ เนื่องจากแรงงานต่างชาติที่มีฝีมือจะเข้ามาทำงานในไทยได้สะดวกขึ้น และทำให้แรงงานไทยมีการพัฒนาศักยภาพเพิ่มขึ้นเพราะมีการแข่งขันมากขึ้น
      
ส่วนด้านลบนั้น แรงงานฝีมือไทยซึ่งมีข้อตกลงยอมรับร่วมในคุณสมบัตินักวิชาชีพของอาเซียนใน 7 สาขา ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกรสถาปนิก นักบัญชี และช่างสำรวจ อาจจะถูกแย่งงาน รวมทั้งการเข้ามาทดแทนของแรงงานที่มีค่าตอบแทนต่ำกว่าไทย อีกทั้งบุคลากรวิชาชีพบางส่วนอาจจะเคลื่อนย้ายออกไปทำงานต่างประเทศมากขึ้น ดังนั้น กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเตรียมความพร้อมให้แก่แรงงาน ไทยทั้งด้านภาษาต่างประเทศ และไอที พร้อมกับเรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศสมาชิกเออีซี

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 2-6-2556)

 

ม.เกษตรเพิ่มเงินพนักงานมหาวิทยาลัย

รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณบดี มก. ครั้งที่ 7/2556 มีมติอนุมัติให้ใช้เงินรายได้ส่วนกลาง ในการปรับเงินเพิ่มตามคุณวุฒิ ของปีงบประมาณ พ.ศ.2555 จำนวน 76 ล้านบาท และปีงบประมาณ พ.ศ.2556 จำนวน 105 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น 181 ล้านบาท ให้แก่พนักงานมหาวิทยาลัย ที่บรรจุก่อนวันที่ 1 มกราคม 2555 โดยจ่ายเป็นเงินตกเบิก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 รวม 17 เดือน และจะได้รับค่าจ้างในอัตราที่ปรับใหม่ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2556 เป็นต้นไป เพื่อให้พนักงาน มก.ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม และเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่บุคลากร

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2555 มีมติเห็นชอบการปรับเงินเดือนแรกบรรจุตามคุณวุฒิการศึกษาของข้าราชการและ เจ้าหน้าที่ของรัฐระหว่างปี พ.ศ.2555-2557 โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 และสำนักงาน ก.พ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดเงินเดือนให้กับข้าราชการใหม่ โดยปรับอัตราเงินเดือนให้สูงขึ้น รวมถึงข้าราชการที่บรรจุก่อนวันที่ 1 มกราคม 2555 จะได้รับเงินปรับเพิ่มตามคุณวุฒิตามเกณฑ์ที่ ก.พ.กำหนดด้วย อย่างไรก็ตาม มก.ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานแก่บุคลากรทุกระดับกว่า 10,000 คน ทั้ง 4 วิทยาเขต คือ บางเขนกำแพงแสน ศรีราชา และเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อขวัญกำลังใจและประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้นแล้ว ยังส่งผลต่อดัชนีความสุขของประชากรในประเทศอีกด้วย

(บ้านเมือง, 4-6-2556)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net