Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ได้แถลงที่สนามทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุดรธานี อธิบายอย่างชัดเจนว่า สาเหตุสำคัญในการเสนอมพระราชบัญญัติปรองดองแห่งชาติ ก็เพื่อที่จะนำ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับประเทศไทย และยังแสดงการคาดหมายว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะได้กลับบ้านก่อนปีใหม่อย่างแน่นอน ประเด็นอยู่ที่ว่า การนำเอา พ.ต.ท.ทักษิณกลับประเทศไทย คงไม่ใช่เรื่องที่ผิด และเป็นสิ่งที่สมควรด้วยซ้ำ แต่ต้องไม่แลกเปลี่ยนกับการนิรโทษให้กับกลุ่มฆาตกรที่สังหารประชาชน
 
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถูกโค่นอำนาจโดยการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ ในระหว่างที่อยู่ต่างประเทศ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการลี้ภัยครั้งแรก จนถึงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ พ.ต.ท.ทักษิณได้กลับมาประเทศไทย ในสมัยที่ นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ในที่สุด พ.ต.ท.ทักษิณก็ต้องลี้ภัยจากประเทศไทยอีกครั้งตั้งแต่วันที่ ๑๑ สิงหาคม ปีเดียวกัน เพราะถูกศาลตัดสินคดี มาจนถึงขณะนี้ มีคดีความของ พ.ต.ท.ทักษิณที่ยังค้างอยู่ทั้งสิ้น ๙ คดี แต่เป็นคดีที่ศาลตัดสินแล้ว ๕ คดี นอกนั้นยังอยู่ในชั้นศาล
 
อย่างไรก็ตาม คงจะต้องอธิบายว่า คดีทั้งหมดนี้เป็นการดำเนินคดีที่มาจากกระบวนการอันไม่ชอบธรรม และเป็นผลพวงรัฐประหารทั้งสิ้น เพราะหลังจากการยึดอำนาจ คณะรัฐประหารได้ออกประกาศคณะ คปค. ลงวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ ให้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เพื่อมุ่งที่จะสอบสวนความผิดในการดำเนินงานของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคณะรัฐมนตรี คณะกรรมชุดนี้มีระยะเวลาการทำงานจนถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๑ ปัญหาแรกสุด คือ ตัวบุคคลในคณะ คตส.ที่ได้รับการแต่งตั้งจากฝ่ายรัฐประหาร ล้วนแต่มิได้เป็นคนที่ใจเป็นกลาง แต่เป็นพวกอคติและเป็นศัตรูของ พ.ต.ท.ทักษิณแทบทั้งสิ้น ความผิดของ พ.ต.ท.ทักษิณจึงถูกตั้งไว้ล่วงหน้า
 
ถึงกระนั้น คณะกรรมการชุดนี้กลับไม่ประสบความสำเร็จเลยในการพิสูจน์ให้ประชาชนทั่วไปเห็นว่า มีการทุจริตคอรับชั่นอย่างมโหฬารในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพราะไม่สามารถที่จะหาหลักฐานความผิดที่เป็นจริงมาแสดงต่อสาธารณชน นอกจากนี้ การดำเนินคดีที่เกิดขึ้นก็ขัดหลักการยุติธรรมที่ควรจะเป็น กล่าวคือ การดำเนินคดีโดยทั่วไปจะถือหลักการแยกผู้สอบสวนกับผู้พิจารณาสั่งฟ้อง เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ต้องหา ดังนั้นในคดีทั่วไป ตำรวจเป็นผู้สอบสวน แต่จะไม่มีอำนาจในการยื่นฟ้อง ต้องเสนอให้อัยการเป็นผู้พิจารณาฟ้อง แต่ในกรณีนี้ คตส.เป็นผู้สอบสวนและยื่นฟ้องต่อศาลเองเสีย ๔ คดี และยื่นต่ออัยการสูงสุดให้พิจารณาฟ้อง ๗ คดี แต่ศาลไทยก็ยังอุตส่าห์รับฟ้องทุกคดี
 
คดีสำคัญที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถูกศาลตัดสินลงโทษจนต้องหนีไปต่างประเทศนั้นคือ คดีทุจริตประมูลซื้อที่ดินรัชดาภิเษก ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้อง พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลยที่ ๑ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตรเป็นจำเลยที่ ๒ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  โดยคดีนี้เริ่มจาก เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๖ คุณหญิงพจมานได้ทำการประมูลซื้อที่ดินริมถนนเทียมร่วมมิตร ย่านถนนรัชดาภิเษก ใกล้กับศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เนื้อที่ประมาณ ๓๓ ไร่ ด้วยราคา ๗๗๒ ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ในการกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ร่วมลงนามยินยอมในฐานะคู่สมรส ปรากฏว่าศาลตัดสินว่า การซื้อที่ดินนั้นถือเป็นถือโมฆะให้คุณหญิงพจมานคืนที่ดิน และให้กองทุนคืนเงินแก่คุณหญิงพจมานพร้อมดอกเบี้ย แต่ พ.ต.ท.ทักษิณแต่เพียงผู้เดียวที่ศาลพิพากษาว่ามีความผิดต้องโทษจำคุก ๒ ปี คำตัดสินของศาลในกรณีนี้จึงไม่อาจหาเหตุผลรองรับได้ และเรื่องนี้ก็ไม่สามารถเป็นข้อพิสูจน์ถึงการทุจริตของ พ.ต.ท.ทักษิณ
 
ต่อมา ในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๓ องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เริ่มอ่านคำพิพากษาในคดีที่อัยการสูงสุด ยื่นคำร้องขอให้ยึดทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในข้อหาร่ำรวยผิดปกติศาลฎีกามีคำวินิจฉัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณใช้อำนาจหน้าที่ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจของตน อันมีผลทำให้มูลค่าหุ้นของ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น สูงขึ้น จึงให้ยึดเงินค่าขายหุ้นส่วนที่เพิ่มขึ้นและเงินปันผลรวม ๔.๖ หมื่นล้านให้ตกเป็นของแผ่นดิน ปัญหาของคดีนี้คือ ศาลไม่อาจพิสูจน์ให้เห็นได้เลยว่า พ.ต.ท.ทักษิณใช้อำนาจหน้าที่ผิดอย่างไร ก็ในเมื่อสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ หุ้นก็ขึ้นทั่วทั้งตลาด
 
สำหรับ คดีเลี่ยงภาษีการซื้อขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น มูลค่า ๓๗๘ ล้านบาท ซึ่ง คตส.ได้มอบหมายให้อัยการส่งฟ้อง คุณหญิงพจมาน นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และนางกาญจนาภา หงส์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน โดยศาลอาญาได้พิพากษาให้จำคุกคุณหญิงพจมานและนายบรรณพจน์ คนละ ๓ ปี ส่วนนางกาญจนาภา ๒ ปี ปัญหาของคดีนี้ก็คือ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๐ ก่อน พ.ต.ท.ทักษิณตั้งพรรคเพื่อไทยด้วยซ้ำ จึงไม่อาจโยงกับการทุจริตอันใดได้เลย ยิ่งกว่านั้น ศาลอุทธรณ์ได้ยกฟ้องคดีนี้แล้วตั้งแต่วันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๔ และอัยการสูงสุดไม่ฏีกา
 
ส่วนคดีทุจริตจัดซื้อต้นกล้ายางพารา ๙๐ ล้านต้น ที่มีการยื่นฟ้อง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายเนวิน ชิดชอบ อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ กับพวก รวม ๔๔ คน ศาลฎีกาให้ยกฟ้องจำเลยเนื่องจากพบว่าไม่ได้กระทำความผิด
 
คดีทุจริตโครงการออกสลากเลขท้ายพิเศษ ๒ ตัว ๓ ตัว หรือเรียกกันว่า หวยบนดิน ซึ่ง คตส.ยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทั้งคณะและผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ศาลฎีกาฯตัดสินให้จำคุกนายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง ๒ ปี นายสมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลังและประธานคณะบอร์ดกองสลาก ๒ ปี และ นายชัยวัฒน์ พสกภักดี อดีต ผอ.กองสลาก ๒ ปี แต่เนื่องจากจำเลยทั้งสามไม่เคยทำผิดมาก่อน ให้รอลงอาญา สำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้เดินทางมารับฟังคำพิพากษา จึงมีการออกหมายจับ ปัญหาของคดีนี้ก็เป็นเช่นเดียวกัน ก็คือไม่อาจจะอธิบายการทุจริตของคณะรัฐบาลได้เลย เพราะการออกหวยบนดินทำให้รัฐได้เงินเพิ่ม การลงโทษของศาลต่อจำเลย ๓ คนเป็นเพียงความผิดทางข้อกฎหมายเท่านั้น
 
ส่วนคดีอื่นที่ศาลออกหมายจับ พ.ต.ท.ไว้ ก็เช่น ๑. คดีแจ้งทรัพย์สินเป็นเท็จเพราะไม่ได้แจ้งการครอบครองหุ้นชินคอร์ปฯ ๖ ครั้ง ๒.คดีปล่อยเงินกู้รัฐบาลพม่า ๔,๐๐๐ ล้าน ๓. คดีทุจริตออกพระราชกำหนดแปลงค่าภาษีสัมปทานกิจการโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพสามิตเพื่อเอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัทชินคอร์ปฯ ๔. คดีทุจริตธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้บริษัทกฤษดามหานครทั้งหมดล้วนเป็นคดีที่หลักฐานอ่อน และไม่สามารถพิสูจน์การทุจริตหรือฉ้อโกงประเทศชาติของ พ.ต.ท.ทักษิณได้เลยแม้แต่คดีเดียว
 
จากตัวอย่างคดีเหล่านี้ จึงสรุปได้ว่า คดีทั้งหลายที่สอบสวนและดำเนินการโดย คตส.จึงเป็นเรื่องเหลวไหล และถือได้ว่าเป็นเรื่องใช้อำนาจศาลมากลั่นแกล้งทางการเมืองต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
 
เมื่อเป็นเช่นนี้ การนำ พ.ต.ท.ทักษิณกลับบ้านด้วยวิถีทางอันเหมาะสม รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ควรที่จะใช้การออกพระราชกำหนดล้มล้างผลพวงคณะรัฐประหาร โดยถือว่า คำสั่งคณะรัฐประหารทั้งหมดเป็นโมฆะ และปราศจากผล แล้วนำคดีทั้งหลายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาพิจารณาใหม่ ในกฎหมายปกติ ภายใต้กระบวนการอันโปร่งใส
 
เมื่อเป็นเช่นนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็จะกลับบ้านได้อย่างภาคภูมิ และไม่ต้องไปนิรโทษกรรมฆาตกร
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net