Skip to main content
sharethis

ประชุมคณะทำงานพูดคุยสันติภาพ ถก 3 ใน 5 ข้อเสนอบีอาร์เอ็น รับประเด็นความยุติธรรม ช่วยคนถูกคดีจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชี้ยังไม่ถึงเวลาให้มาเลเซียเป็นคนกลาง ปฏิเสธเรียก “ผู้ปลดปล่อย” ชี้เป็นประเด็นอ่อนไหว แต่ให้ตั้งคณะทำงานศึกษาความหมายให้ชัดเจน แนะ สมช.ตั้งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเป็นทีมที่ปรึกษาคณะเจรจาฝ่ายไทย


อาซิส เบ็ญหาวัน
 

 

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2556 ที่โรงแรมซีเอส.ปัตตานี มีการประชุม “คณะทำงานพิจารณาแนวทางการพูดคุย เพื่อสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้ที่มีความเห็นต่างกัน” ซึ่งตั้งโดยสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) เป็นครั้งแรก มีผู้เข้าร่วม 14 คน โดยมีนายอาซิส เบ็ญหาวัน เป็นประธาน

นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล เลขานุการคณะทำงานฯ เปิดเผยหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีการพิจารณาข้อเสนอของขบวนการบีอาร์เอ็นจำนวน 3 ข้อจากทั้งหมด 5 ข้อ ซึ่งผลการพิจารณาของคณะทำงานจะนำเสนอต่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อนำเสนอต่อคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทย ก่อนวันนัดพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็น (BRN) ในวันที่ 13 มิถุนายน 2556 ต่อไป

นายไชยยงค์ เปิดเผยว่า สำหรับทั้ง 3 ข้อที่คณะทำงานพิจารณา ได้แก่ 1.ประเด็นความยุติธรรม ที่ฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นเรียกร้องให้ปลดปล่อยผู้ที่ถูกคดีความมั่นคงทั้งหมดนั้น เนื่องจากประเทศไทยเป็นนิติรัฐ (ปกครองด้วยกฎหมาย) คณะทำงานจึงมีความเห็นว่า สำหรับผู้ที่มีหลักฐานชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุ ก็ต้องปล่อยให้ดำเนินการไปตามกระบวนการยุติธรรม

นายไชยยงค์ เปิดเผยต่อไปว่า แต่สำหรับบุคคลที่ถูกคดีที่มาจากการออกหมายพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) คณะทำงานจะพิจารณาว่า มีการดำเนินการด้วยความยุติธรรมหรือไม่ เนื่องจากผู้ที่ถูกดำเนินคดีที่ถูกควบคุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาก่อน มีจุดอ่อนตรงที่เป็นการถูกซัดทอดจากบุคคลอื่น ทั้งที่ผู้ที่จะตกเป็นผู้ต้องหาได้มี 2 กรณีเท่านั้นคือ มีพยานบุคคลหรือพยานหลักฐานยืนยัน
นายไชยยงค์ เปิดเผยว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในการควบคุมตัวบุคคลต้องสงสัย มันง่ายมากที่จะเกิดความผิดพลาด ซึ่งคณะทำงานฯ จะเข้าไปพิจารณาว่าเป็นอย่างไร หากพบว่ามีความผิดพลาดจริง คณะทำงานก็จะดำเนินการในส่วนนี้

นายไชยยงค์ เปิดเผยอีกว่า ข้อที่ 2 ประเด็นที่ขบวนการบีอาร์เอ็นต้องการให้มาเลเซียเป็นคนกลาง (Mediator) ในการเจรจา และการให้องค์การการประชุมอิสลาม หรือ โอไอซี (OIC) หรือตัวแทนกลุ่มประเทศอาเซียนมาเป็นสักขีพยานนั้น คณะทำงานฯ มองว่ายังไม่ถึงเวลา เนื่องจากยังอยู่ในช่วงของการพูดคุย ยังไม่ถึงระดับการเจรจา

“กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพครั้งนี้ยังอีกยาวไกล หากถึงขั้นการเจรจาเมื่อไหร่ ทางคณะทำงานฯ จะพิจารณาอีกครั้งในอนาคต” นายไชยยงค์ กล่าว

นายไชยยงค์ เปิดเผยต่อไปว่า ส่วนข้อที่ 3 ประเด็นที่ให้รัฐไทยเรียกขบวนการบีอาร์เอ็นว่า เป็นองค์กรปลดปล่อยชาวมลายูปาตานี ทางคณะทำงานฯ เห็นว่า ต้องกลับไปศึกษาคำว่า “ผู้ปลดปล่อย” ว่ามีความหมายว่าอย่างไร เช่น หมายถึงปลดปล่อยผู้ต้องขัง หรือ ปลดปล่อยอัตลักษณ์ หรือปลดปล่อยรัฐกันแน่ เป็นเรื่องที่จะต้องไปศึกษาให้ชัดเจนเพราะเป็นประเด็นที่อ่อนไหว

นายไชยยงค์ เปิดเผยด้วยว่า คณะทำงานฯ มีข้อเสนอต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยสันติภาพขึ้นมา เพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะตัวแทนพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทย เช่น คณะทำงานผู้ที่เชี่ยวชาญภาษามลายู เพื่อแปลเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยเพื่อสันติภาพหรือเอกสารของขบวนการบีอาร์เอ็น เป็นต้น

นายอาซิส เบ็ญหาวัน ประธานคณะทำงานฯ เปิดเผยหลังการประชุมว่า คณะทำงานฯ เสนอให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญภาษามลายูและเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่มาแปลข้อเสนอของขบวนการบีอาร์เอ็นทั้งหมด เนื่องจากข้อเสนอดังกล่าว เป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และเพื่อป้องกันการคลาดเคลื่อนตามความต้องการของบีอาร์เอ็น
 

ประธานสภาประชาสังคมวอน 2 ฝ่ายอย่าสร้างทางตัน
นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาภาคประชาสังคมชายแดนภาคใต้ กล่าวแสดงความเห็นกรณีขบวนการบีอาร์เอ็นเผยแพร่คลิปวิดีโอครั้งที่ 3 ว่า ส่วนตัวมองว่า คู่เจรจาทั้งสองฝ่ายไม่ควรเร่งรีบให้เสียบรรยากาศ แต่ละฝ่ายยังไม่ควรยกประเด็นที่จะเป็นประเด็นที่จะถึงทางตัน เช่น ฝ่ายบีอาร์เอ็น ก็ไม่น่าที่จะรีบช่วงชิงโอกาสทางการเมือง ตั้งประเด็นที่ทำให้ฝ่ายรัฐถึงทางตันเร็ว

“ส่วนฝ่ายรัฐบาลไทยก็เช่นกัน เรื่องที่จะหยิบขึ้นมาพูดก็ไม่ควรให้ฝ่ายบีอาร์เอ็นถึงทางตัน ในช่วงนี้เพราะเป็นช่วงการสร้างบรรยากาศความไว้วางใจ ต้องค่อยพูดค่อยคุยอย่างสร้างสรรค์ ถ้าไปยกประเด็นซึ่งเป็นประเด็นทางเทคนิคเช่น คดีก่อเหตุต่างๆ คดีทำร้ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฝีมือของฝ่ายใด ก็ควรจะเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ดำเนินการต่อไป สอบสวน พิสูจน์หลักฐาน นำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก็ให้ดำเนินการไป บีอาร์เอ็นและรัฐบาลไทย ไม่ควรเอาเรื่องเหล่านี้มาเป็นข้อขัดแย้ง หรือข้อขัดข้องที่จะเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการสันติภาพ” นายประสิทธิ์ กล่าว

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า การพูดคุยระหว่างกันในวันที่ 13 มิถุนายน 2556 นี้ ควรเป็นประเด็นที่สร้างสรรค์ ที่จะนำไปสู่กระบวนการสันติภาพ และเกิดสันติสุข ต้องค่อยๆ พยายาม อย่าเร่งรีบทำให้เสียกระบวน ถ้าหากกระบวนการสันติภาพล้มลง ก็จะไม่มีใครได้ประโยชน์ ทั้งฝ่ายรัฐบาลไทย และฝ่ายบีอาร์เอ็น

“การพูดคุยถือเป็นการดีที่ได้พูดคุยระหว่างกัน อย่ายกประเด็นที่เป็นเรื่องเทคนิคมาเป็นประเด็นปัญหา ซึ่งกรณีฝ่ายบีอาร์เอ็น นำประเด็นทางเทคนิคขึ้นมาพูดนั้น ก็คงต้องย้อนกลับไปดูว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547  ใครที่ออกมาทำร้ายเจ้าหน้าที่ 300-400 คน อย่าไปพูดถึงเฉพาะ ตากใบ ไอปาร์แย กรือเซะ สะพานกอตอ  ซึ่งบางกรณีก็ผ่านมา 30-40 ปีแล้ว” นายประสิทธิ์ กล่าว

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการยกเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาทำให้บรรยากาศสันติภาพเสีย เพราะโอกาสในการพูดคุยครั้งนี้เป็นนาทีทองของทั้งสองฝ่าย ต้องคุยกันไป ไม่ทำลายบรรยากาศการพูดคุย เพราะตนเห็นว่าไทยสามารถยุติสงครามคอมมิวนิสต์ในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นกรณีตัวอย่างของโลก และถ้าสามารถยุติความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ ทั่วโลกก็จับตามอง บรรยากาศที่สร้างสรรค์เช่นนี้ ก็หวังให้เกิดสันติภาพและสันติสุขได้จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net