ปรากฏการณ์ไทยกายฟอกซ์ : ภาวะหลังสมัยใหม่ที่คนไทยไม่อยากเรียน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เกริ่นนำ

ที่ประเทศไทย ในสังคมจำลองอย่างระบบโซเชียลเน็ตเวิร์ก (Social Network) ได้เกิดปรากฎการณ์ “หน้ากากกายฟอกซ์” (Guy Fawkes mask) ซึ่งเคลื่อนไหวมาจากกลุ่มที่สนับสนุนให้ประชาชนต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ และแน่นอน ผู้ริเริ่มเคลื่อนไหวเหล่านั้น คงได้รับอิทธิพลมาจากภาพยนตร์ เรื่อง วี ฟอร์ เวนเด็ตตา (V For Vendetta, 2005) เป็นส่วนใหญ่ และอาจรู้จักที่มาที่ไปทางประวัติศาสตร์เป็นส่วนน้อย ที่น่าสนใจ คือ “ภาวะลักลั่นย้อนแย้ง” ซึ่งแสดงให้เห็นร่องรอยความไม่ต่อเนื่องของระบบคิดที่ยืนอยู่บนรากฐานเดิมๆ ของโลกทัศน์เก่า กำลังเปิดเผยให้เราเห็นพรมแดนของการปะทะกันของโลกสมัยใหม่และหลังสมัยใหม่ โดยที่ “ความไม่ต่อเนื่อง” (Discontinuity) อันเป็นตัวแทนของโลกหลังสมัยใหม่ กำลังบ่งบอกเราว่า “ภาวะลักลั่นย้อนแย้ง” ของวาทกรรมทางการเมืองหรือแนวคิดทางการเมืองในประเทศไทย ไม่เพียงแต่เป็นตรรกะวิบัติ (Fallacy Logic) เท่านั้น ยังสะท้อนให้เห็นถึง “ความสับสนภายในตนทางจิตวิทยา” ซึ่งแสดงออกให้เห็นจากพฤติกรรมไม่ต่อเนื่องที่ยากจะอำพรางอีกด้วย เพราะการผลิตซ้ำผ่านระบบโซเชียลเน็ตเวิร์กเพื่อสร้างปรากฏการณ์สำหรับผู้ที่ไม่เข้าใจเรื่องการผลิตซ้ำแบบนักโฆษณาการตลาดมือทองแล้ว ก็จะเกิดภาวะที่จะยากควบคุมได้ ที่สุด การกระทำดังกล่าวย่อมกลายเป็นไม่สำเร็จตามความตั้งใจไป เพราะปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมีข้อจำกัดคือเรียกร้องให้มีการอธิบายอย่างหลังสมัยใหม่ (Post-Modern Trend) ซึ่งเป็นเรื่องที่นักคิดชาวไทยไม่คุ้นชิน กระนั้น การอธิบายแบบนี้ก็กลับลักลั่นย้อนแย้งในตัวเองอีก เพราะประเทศไทยมิได้ยอมรับเกี่ยวกับการคืนสิทธิความเท่าเทียมของมนุษย์ในประเทศนี้โดยการปฏิบัติ? แต่ก็นั่นแหละ “ความลักลั่นย้อนแย้ง เป็นงานของหลังสมัยใหม่โดยตรง”
 

เนื้อหา

1. การผลิตซ้ำเป็นคำสำคัญของศตวรรษที่ 21
ในภาพยนตร์เรื่อง วี ฟอร์ เวนเด็ตตา จงใจแสดงให้เห็น “การผลิตซ้ำ” ของรัฐบาลเผด็จการ ในระดับที่เรียกว่า ครอบงำ ก็ว่าได้ ซึ่งการ “ผลิตซ้ำ” นี้มีผลโดยตรงต่อผู้บริโภคสื่อ หรือที่จะเรียกว่า ผู้เสพสัญญะ ก็ได้ บทพูดของท่านผู้นำในท้องเรื่องสะท้อนให้เห็นถึงอำนาจแห่งการกดบังคับอย่างชัดเจน เป็นต้นประโยคที่กล่าวว่า “Any unauthorized personnel, will be subject to arrest. This is for your protection.”(บุคคลที่ไม่ได้รับการอนุญาตจะถูกจับกุม เพื่อความปลอดภัยของคุณ) คำว่า “ความปลอดภัยของคุณ” เป็นสิ่งที่ตรงกับความรู้สึกเบื้องลึกของมนุษย์ที่รักตัวกลัวตาย แน่นอนที่สุด จะมีมนุษย์ส่วนหนึ่งเห็นด้วยที่จะฆ่าชีวิตมนุษย์อีกกลุ่มหนึ่งได้ด้วยคำๆนี้ นั่นเป็นตรรกะของโลกทัศน์เดิม “Disease-ridden degenerates. They had to go.” (ภัยร้ายของสังคมต้องหายไป) ซึ่งในศตวรรษที่ 21 เรื่องนี้ถูกพิสูจน์กันในระดับประสบการณ์และปฏิบัติการเชิงนโยบายแล้วว่า “ไม่จริง” เป็นศิลปะแห่งการชวนเชื่อรูปแบบหนึ่ง เราไม่อาจกำจัดสิ่งที่เรียกว่าภัยร้ายนี้ได้อย่างสิ้นซาก และในประวัติศาสตร์ไม่เคยมีใครทำสำเร็จ แต่ที่สำเร็จคือการถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของ “พวกชาตินิยม” (Nationalism) เพราะการผลิตซ้ำแบบที่ว่า (ในภาพยนตร์เสนอให้เห็นว่าท่านผู้นำควบคุมสื่อและครอบงำประชาชนผ่านสื่อสารมวลชนทุกรูปแบบ) ทำให้เกิด “ภาวะเกินจริง/เสมือนจริง” (Hyper-reality) กล่าวคือ ไม่จำเป็นว่าสิ่งที่กำลังสื่ออยู่เป็นความจริงเอาเป็นว่าผลิตซ้ำให้มากพอจนเชื่อว่าจริงเป็นใช้ได้
 

2. ความจริงในโลกหลังใหม่ไม่ผูกขาดกับสัจธรรมหรือตัวแบบในอดีต
โบดริยาร์ด (Baudrillard) นักคิดหลังสมัยใหม่เสนอว่า ผู้คนในศตวรรษนี้ ตกอยู่ภายใต้โลกที่เต็มไปด้วยกฎเกณฑ์ทางสัญลักษณ์ที่ถูกสร้างและผลิตซ้ำ นั่นคือโลกของการจำลองและสร้างภาพใหม่ (Simulacra and Simulation) กล่าวคือ ทุกอย่างถูก “ผสมใหม่” (Re-mix) และไม่จำเป็นว่าต้องสอดคล้องตรงกันกับความจริง แต่เป็นเรื่องของความเชื่อว่าจริง และจากนั้นก็เป็นขั้นตอนของการผลิตซ้ำ จนสามารถสถาปนาความจริงใหม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น แม้ว่าเรื่องของกายฟอกซ์และภาพยนตร์เรื่อง วี ฟอร์ เวนเด็ตตา จะย้อนแย้งกับการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการมากเพียงไร แต่ถ้ามีการผลิตซ้ำที่มากพอ และการครอบงำที่เบ็ดเสร็จ ชุดความคิดนี้จะกลายเป็นความจริงใหม่ ถึงเราก็กล่าวหรือพิสูจน์ว่า เรื่องนี้ไม่จริงเมื่ออ้างหลักฐานจากต้นกำเนิดหรือจุดประสงค์ของการกำเนิด ก็ไม่อาจจะลบความจริงใหม่ที่ถูกสถาปนาขึ้นได้ เว้นแต่จะตกลงใจกันลดทอนความสำคัญของวาทกรรมนี้ลง เรื่องนี้ ใช้กับประวัติศาสตร์ที่ถูกสร้างใหม่ได้เช่นกัน เพราะประเด็นไม่ได้อยู่ที่อะไรจริงหรือเท็จอีกแล้วในศตวรรษที่ 21 ประเด็นอยู่ที่เสพสัญญะมาอย่างไร? และอยากจะเชื่ออย่างไร? ฉะนั้น ความคิดแบบสมัยใหม่ (Modernity) แม้กระทั่งความคิดแบบปฏิฐานนิยม (Positivism) จึงขาดความต่อเนื่องไปโดยปริยายในศตวรรษที่ 21 เพราะความจริงเดิมถูกฉีกทึ้งและแบ่งออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ใครที่อ้างว่าเป็นความจริงแท้จึงน่าสงสัยมากในศตวรรษที่ 21 เพราะอาจเกิดปัญหาเรื่องการพิสูจน์ดังกล่าว นี่เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในยุคนี้
 

3.โฉมหน้าที่ถูกเปิดเผยของปีศาจในคราบนักบุญ
“That with devotion's visage and pious action, we do sugar o'er the devil himself.” (ใบหน้าที่เปี่ยมด้วยศรัทธาและความเคร่งศาสนา คือหน้ากากของปีศาจที่สร้างขึ้นในตน) ประโยคนี้ถูกใช้(ผลิตซ้ำ) ในภาพยนตร์เรื่อง วี ฟอร์ เวนเด็ตตาด้วย แต่เป็นประโยคที่ยืมมาจาก แฮมเล็ต ของ เช็กสเปียร์ (Hamlet III,I) ซึ่งตัวเอกของเรื่อง กลับใส่หน้ากากเสียเอง ทั้งยังพูดติดตลกว่า “I'm merely remarking upon the paradox of asking a masked man who he is.” (ไม่ย้อนแย้งหรือที่จะมาถามว่าคนใส่หน้ากากอย่างผมคือใคร?) บทสนทนานี้สะท้อนให้เห็นว่า เรามักสงสัยคนที่ปกปิดตัวเองเสมอ แต่ไม่สงสัยการปกปิดความชั่วร้ายที่ถูกสร้างขึ้นอย่างแนบเนียน ซึ่งความชั่วร้ายนั่นอาจมีผลกับเราเสียด้วย เรื่อง “หน้ากาก” (Mask) นี้ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึง ความไม่รู้อะไรจริงอะไรเท็จในศตวรรษนี้ได้ดี เพราะถ้าผ่านการผลิตซ้ำด้วยสื่อแล้ว อะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น เราจะหาความจริงได้อย่างไร? ถึงแม้จะไม่ง่ายนักแต่เราอาจทำได้จากการวิเคราะห์วาทกรรม (Discourse Analysis) หรือไม่ก็รื้อดูที่มาที่ไปอันไม่ต่อเนื่องของระบบคิดตามแนวคิดหลังสมัยใหม่ ซึ่งวิธีการแบบสมัยใหม่ไม่รองรับในเรื่องนี้ เนื่องจากยังเรียกร้องจารีต แบบแผน ความสม่ำเสมอ จึงมีข้อด้อยทำให้ไม่เท่าทันความคิดที่ผันแปร ในศตวรรษที่ 21 นี้เองด้วยท่าทีแบบช่างสงสัย (Skeptics) ก็ได้ช่วยเผยโฉมหน้าของปีศาจในคราบนักบุญไม่มากก็น้อย นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องการยอมรับ แต่ในชีวิตจริงการเปิดเผยเช่นนี้กลับเป็นสงครามแห่งการสาดโคลนผ่านสื่อไปเสียอีก?
 

4.การเล่นคำของหลังสมัยใหม่: การติดตามความซับซ้อนของมนุษย์?
ข้อวิจารณ์สำคัญประการหนึ่งที่นักคิดหลายคนมีต่อแนวคิดหลังสมัยใหม่ คือ พฤติกรรมที่ราวกับเป็นการเล่นคำ ฟังแล้วไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนนัก (ปลายเปิด) หรือเป็นลักษณะการตั้งคำถามซ้อน (ตอบคำถามด้วยคำถาม) หรือแม้แต่การยินดีและเบิกบานที่จะใช้ตรรกะวิบัติบางประเภทอย่างมีศิลปะ รวมถึงการแสดงอารมณ์ความรู้สึกด้วย นั่นทำให้การสื่อสารผ่านแนวคิดหลังสมัยใหม่มีลักษณะที่ซับซ้อน (Complexity) หลายครั้งคลุมเครือ (Obscure) แต่ที่จริงแล้ว นั่นเป็นเพียงผลของความพยายามที่จะอธิบายสังคมหรือมนุษย์ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างซับซ้อนเท่านั้น เพราะในเมื่อประวัติศาสตร์เริ่มให้เบาะแสกับเราว่า บางสิ่งก็เป็นเรื่องที่ประกอบสร้างและผลิตซ้ำขึ้นโดยรัฐเพื่อให้เกิดผลทางจิตวิทยากับประชาชน และเรื่องนั้นห่างไกลจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงดังที่มีหลักฐานในประวัติศาสตร์ แบบนี้จึงทำให้การเสพสัญญะหรือข้อมูลสำเร็จรูปไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป ทุกอย่างจึงมีบริบท (Context) ของมันเอง มีทิศทางและเจตนาที่แสดงออกผ่านประวัติศาสตร์ ซึ่งการถอดรื้อ-รื้อสร้าง (Re/Deconstruct) เป็นผลให้มีการนิยามหรือทบทวนความหมายเสียใหม่ เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ของมนุษย์และสังคมด้วยวิธีใหม่ๆ เป็นต้น การนิยามเรื่อง “ความเหนือจริง” (Hyper-reality)  ของโบดริยาร์ด นั่นเอง ตราบใดที่ยังมีระบบสังคมเงินเดือน มีผู้บริโภค มีสื่อสารมวลชน การบริโภคสัญญะย่อมเกิดขึ้นจริงวันยันค่ำ อาจกล่าวได้ว่า ถ้าเราไม่เปิดใจกับความซับซ้อนดังกล่าว เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า รู้เท่าทันโฆษณาชวนเชื่อ? ซึ่งก็เป็นภาพยนตร์เรื่องนี้อีกที่สร้างรูปแบบประโยคผ่านการเขียนบทได้อย่างน่าสนใจ ทั้งคลุมเครือและซับซ้อน
 

5.พรมแดนที่บีบคั้นให้ต้องคิดด้วยตัวเอง
ภาพยนตร์เรื่องวี ฟอร์ เวนเด็ตตา มีฉากสำคัญที่ “วี” สร้างเรื่องขึ้นเพื่อให้สอนอะไรบางอย่างให้กับ “อีวี่” กล่าวคือ “วี” เองก็ใช้เรื่องที่ประกอบสร้างขึ้นเพื่อสอนให้อีวี่ได้เข้าใจอะไรบางอย่าง ซึ่งมิตินี้คู่ขนานกันไปกับภาพพจน์ของการประกอบสร้างเรื่องของรัฐบาลเผด็จบาลเพื่อครอบงำประชาชน ทั้งสองพฤติการณ์ล้วนเป็น “การประกอบสร้างขึ้น” ทั้งสิ้น หากแต่ ต่างเป้าหมายกัน โดยอ้างถึงคำกล่าวที่ว่า “that artists use lies to tell the truth.”(ศิลปินใช้เรื่องโกหกเพื่อบอกความจริง) และ “Because you believed it, you found something true about yourself.” (เพราะคุณเชื่อเรื่องโกหกนั่น ที่สุด คุณพบความจริงภายในตัวคุณ) ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่ “จริงหรือเท็จ” อีกต่อไป หากแต่อยู่ที่ “ความจริงภายในตัว” ซึ่งถ้าเราคล้อยตามความคิดที่ว่า เป็นการยากมากที่เราจะรู้ว่าอะไรจริงอะไรเท็จในโลกแห่งการผลิตซ้ำ สิ่งเดียวที่เราจะรู้ได้ชัดเจนคือความจริงภายในตัวเรา และภาพยนตร์ได้สะท้อนความกราดเกรี้ยวของอีวี่เป็นตัวแทนจิตใจของมนุษย์ทุกคนได้เป็นอย่างดี เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนนี้คือ “คิดด้วยตัวเอง” (จากห้องขัง) และ “สงบนิ่งไม่หวาดกลัว” ดังที “วี” บอกไว้ว่า “Beneath this mask there is an idea, and ideas are bulletproof.”(ภายใต้หน้ากากมีความคิด และหลายๆ ความคิดกันกระสุนได้) ประเด็นในภาพยนตร์ คือ เพื่อที่จะคิดเองได้นั้น (เสรีภาพ) จำเป็นต้องผ่านการตระหนักรู้ว่าเราเป็นผู้ถูกคุมขัง เป็นผู้ถูกกระทำ จนก้าวข้ามอารมณ์ความรู้สึกทั้งหลาย จนรู้ว่าอะไรจำเป็นกับชีวิตของเราที่สุด ไม่ใช่แค่เพียงกันเลียนแบบกันหรือเอาการตัดสินใจของคนหมู่มากมาเป็นที่ตั้งเท่านั้น
 

6.ภาวะย้อนแย้งของระบบคิด ความเกรี้ยวกราด และเรื่องโกหก?
ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบโซเชียลเน็ตเวิร์ก (Social Network) ทำให้ข้อมูลกลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และบางครั้งขาดบริบท (Context) ที่ควรจะเป็นไปโดยปริยาย ในทางปฏิบัติใครสักคนสามารถใช้เมาส์คัดลอกคำพูดเพียงประโยคเดียวของใครคนหนึ่งและนำไปตีความในทางไม่สร้างสรรค์ได้มากมาย รวมถึงการผลิตซ้ำเพื่อสื่อสารการตีความดังกล่าว ซึ่งในระบบเดียวกันนี้เอง จึงทำให้เกิดภาวะย้อนแย้งของระบบคิดอย่างสูงมากและเป็นที่ชัดเจนแล้วว่ามีผลทางจิตวิทยากับผู้ที่เสพสัญญะเหล่านั้น แน่นอนที่สุด ไม่ต่างอะไรจากการไฮด์ปาร์คเพื่อปลุกระดมประชาชนผู้กำลังอยู่ในความรู้สึกที่สับสน ให้ก่อเหตุรุนแรง ความกราดเกรี้ยวดังกล่าวเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นความไม่สำเร็จของเป้าหมายตามที่คิด และความยึดมั่นอยู่กับเรื่องโกหกหรือเรื่องจริงก็ทำบดบังปัญญาของผู้เสพสัญญะจาก “การคิดด้วยตัวเอง” เพราะที่จริง ลึกๆแล้วอาจเป็นไปได้ว่า ผู้เคลื่อนไหวมีความสับสนในตนเองอยู่ลึกๆ ว่า การแสดงออกหรือสื่อสารไปอย่างง่ายดายในที่สาธารณะนั้น เพื่อประโยชน์ของเพื่อนร่วมสังคม หรือเพื่อบอกต่อสังคมว่า ฉันยังอยู่ตรงนี้ โปรดสนใจฉัน? หรือไม่ก็เป็นเพียงแต่การร่วมกระแสในฐานะผู้บริโภคสัญญะคนหนึ่งเท่านั้น (เพื่อให้สังคมมองตนเองในทางที่ดี โดยไม่จำเป็นต้องเป็นทางที่จริง)
 

7.เสรีภาพในศตวรรษที่ 21 ย่อมซับซ้อนกว่านิยามในศตวรรษที่ 17
ทั้งที่ผู้บริโภคกระตือรือร้นที่จะใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารและรับบริการที่สะดวกสบายขึ้น ในขณะเดียวกันความรู้เกี่ยวกับพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ แม้กระทั่งเรื่องสิทธิเสรีภาพยังจำกัดวงอยู่แต่ในศตวรรษอดีต ด้วยเหตุที่ไม่ติดตามและจะติดตามในฐานะ “ลูกศิษย์ของสาขาวิชา” (Disciple of Discipline) เท่านั้น ซึ่งสำหรับหลังสมัยใหม่นั้นไม่จำเป็น เนื่องจาก ความรู้สามารถเรียบเรียงและสื่อสารออกมาแบบเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยได้ โครงสร้างไม่จำเป็นต้องเป็นโครงสร้างระดับมหึมาอีกต่อไป แต่เป็นอิสระต่อกันในระดับท้องถิ่นหรือหน่วยที่ย่อยไปกว่านั้นได้ แต่ในเชิงปรัชญาแล้ว ถ้าเรายังรู้จักแต่แนวคิดซึ่งอาจเหมาะสมมากๆ กับบริบทของศตวรรษนั้น แต่มีบางอย่างไม่เหมาะสมแล้วกับศตวรรษนี้ ก็อาจจะทำให้เกิดภาวะย้อนแย้งของระบบคิดดังกล่าว เพราะที่จริง วิธีการแก้ไขปัญหาที่นิยมมากหรือมักนำมาใช้เป็นตัวแบบในปัจจุบัน คือ การบูรณาการศาสตร์ ซึ่งควรจะเป็นการสร้างสรรค์การตั้งคำถามและตอบด้วยวิธีวิทยาที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ศึกษามากที่สุด ฉะนั้น เราคงหยุดอยู่ที่ ฮอบส์ (Hobbes) แล้วปวารณาตนเป็นศิษย์ของเขาแต่เพียงผู้เดียวก็คงไม่เหมาะ แม้กระทั่งจะมาหยุดที่ ฟูโกต์ (Foucault) และทำแบบเดียวกันนั้นก็คงไม่เหมาะ เพราะเป้าหมายคือการผลิตตัวแบบที่ใช้แก้ปัญหาสำหรับศตวรรษนี้ ในบริบทที่มีความซับซ้อน เชื่อมโยงที่สูงในสัดส่วนเดียวกันกับเทคโนโลยี นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ตัวแบบที่หนาแน่นด้วยความคิดแบบเก่า-ผูกขาดอำนาจหรืออนุรักษ์นิยมนับวันยิ่งบังคับใช้ไม่สำเร็จในสากลโลก เป็นต้น รัฐประหารในประเทศไทย ระบอบเผด็จการทหารของพม่า หรือแม้กระทั่งคอมมิวนิสต์ของประเทศจีน ที่จริงแม้กระทั่ง การสร้างเรื่องเสมือนจริงของอเมริกาด้วย อาจกล่าวได้ว่า วิธีเดิมๆใช้แก้ปัญหาไม่ได้ผลกับคนรุ่นใหม่อีกต่อไป

สรุป
ปรากฏการณ์ไทยกายฟอกซ์สะท้อนให้เห็นความผิดปกติเกี่ยวกับการผลิตซ้ำของชาวไทย ซึ่งเป็นร่องรอยของความไม่รอบคอบด้านข้อมูลจนทำให้เกิดความลักลั่นย้อนแย้ง มีบางสถิติซึ่งชาวไทยเป็นผู้ครอบครองเป็นต้น จำนวนประชากรชาวไทยผู้ใช้เฟซบุ๊ก นั่นย่อมหมายถึงประสิทธิภาพในการผลิตซ้ำ บิดเบือนความหมาย และการแสดงให้เห็นถึงภาวะขาดความรู้ความเข้าใจในกระบวนของเทคโนโลยีอีกด้วย (ดังที่เป็นมาโดยตลอดในฐานะผู้บริโภคเทคโนโลยี มิใช่ผู้ประกอบสร้างเทคโนโลยี) นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราจึงถูกกดบังคับด้วยทุนจากผู้ปกครองหรือผู้มีอำนาจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราจึงไม่รู้ตนเองเลยว่ากำลังถูกกดบังคับอยู่ นั่นเพราะสายตาของเราเสพอยู่กับแต่สัญญะภายนอก และล่องลอยไปตามกระแสที่ตอบสนองปัจจัยทางจิตวิทยาของตนเอง โดยที่ไม่เคยผ่านกระบวนแบบ “อีวี่” ซึ่งจะนำไปสู่การถูกบีบบังคับให้คิดด้วยตนเอง เช่นนั้นเราก็ไม่ควรพูดถึงเสรีภาพ และเช่นนั้นก็ไม่ควรพูดว่าได้ดูและเข้าใจภาพยนตร์เรื่อง วี ฟอร์ เวนเด็ตตา จนนำมาเป็นสัญลักษณ์จะดีกว่า

               

การอ้างอิง
http://www.thaisubtitle.com/manage/view_subtitle.php?mid=2691&start=1
http://en.wikiquote.org/wiki/V_for_Vendetta_(film)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท