เรื่องเล่าจากฮ่องกง: Domestic helpers in Hong Kong

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หากใครเคยเดินไปแถวเขต Central ที่เกาะฮ่องกง เดินออกมาจากMTR exit A ในวันอาทิตย์ แม้ว่าอากาศจะเหน็บหนาวสักเพียงใด จะเห็นคนจำนวนมากที่ไม่น่าจะใช่คนฮ่องกงนั่งพูดคุยบ้าง ล้อมวงทานข้าวบ้าง บางคนมีกล่องลังกระดาษมากั้นลมหนาว ภาพเหล่านี้เป็นภาพที่ชินตาสำหรับคนฮ่องกง ไม่ใช่เฉพาะที่นี่เท่านั้น ตามสวนสาธารณะต่างๆ เราก็จะพบเห็นคนเหล่านี้เช่นกัน ฉันมาทราบภายหลังว่า คนเหล่านี้เป็นแรงงานต่างด้าวประเภทที่เรียกว่า “Domestic helpers” หรือจะเรียกในภาษาไทยว่า “ผู้ช่วยแม่บ้าน”

ผู้ช่วยแม่บ้านในฮ่องกงจำนวนมากมาจากประเทศฟิลิปปินส์ รองลงมาคืออินโดนีเซีย และลำดับสามคือประเทศไทย

ฉันได้มีโอกาสคุยกับคุณ Rey Asis เจ้าหน้าที่จาก APMM  (Asia-Pacific Mission for Migrants) Rey เล่าให้ฉันฟังว่าคนฟิลิปปินส์มาเป็นผู้ช่วยแม่บ้านที่นี่เยอะมาก เป็นหลักแสน เนื่องจากนายจ้างพอใจที่คนฟิลิปปินส์พูดภาษาอังกฤษได้ ซึ่งแรงงานในฮ่องกงนั้นจะเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมายทั้งหมด จะไม่มีแรงงานนอกระบบเลย และนายจ้างก็ไม่กล้าจ้างแรงงานผิดกฎหมาย เพราะค่าปรับที่ฮ่องกงสูงมาก ไม่คุ้มกับความเสี่ยง แรงงานจะเดินทางเข้ามาโดยมีหนังสือเดินทางและวีซ่าตามประเภทงานที่ทำ ใบอนุญาตทำงาน (work permit) และอยู่ได้ตามระยะเวลาในสัญญาจ้าง หากใครอยู่เกินกำหนดเวลาที่อนุญาตไว้ ก็จะถูกกักขังและส่งออก

Rey แนะนำฉันให้ไปคุยกับพี่บังอร สอนธรรม ซึ่งเป็นประธาน สมาคมรวมไทยในฮ่องกง Thai Regional Alliance in Hong Kong และแล้วบ่ายวันอาทิตย์ฉันมาพบพี่บังอรที่โรงเรียนแห่งหนึ่งที่เก๋าหล่งเซ่ง หรือ Kowloon city ที่แห่งนี้ฉันได้พบเจอผู้ช่วยแม่บ้านคนไทยจำนวนมาก ทางเครือข่ายฯ จะมีกิจกรรมทุกวันอาทิตย์ มีสอนภาษาอังกฤษ ภาษาจีนกวางตุ้ง และบางทีก็มีกิจกรรมอื่นๆ บ้างตามโอกาส และที่สวนเล็ก Rose Garden มีจุดนัดพบกับอาสาสมัครแรงงานไทยในฮ่องกง เพื่อติดต่อสอบถาม และติดตามข่าวสาร ซึ่งเป็นบริการของสำนักงานแรงงาน ณ เมืองฮ่องกง จะมีแรงงานไทยนั่งล้อมวงพูดคุย ทานข้าว ขายของจากเมืองไทย เช่น น้ำพริก ข้าวเหนียว วัตถุดิบทำอาหาร และรายรอบไปด้วยร้านอาหารไทยจำนวนมาก ทั้งร้านเล็กร้านใหญ่ ป้ายชื่อร้านเป็นภาษาไทย สำหรับคนอยู่ไกลบ้านห่างเมืองแบบนี้ การได้มาพบปะพูดคุยภาษาเดียวกัน หัวอกเดียวกัน กับเพื่อนร่วมชาติเสียงพูดคุย ปนเสียงหัวเราะ รอยยิ้ม แค่นี้คงทำให้เพิ่มพลังที่จะทำงานและอาศัยอยู่ต่างแดนต่อไป

แรงงานไทยในฮ่องกงมีประมาณ สองหมื่นกว่าคน แบ่งประเภทได้เป็น 3 ประเภท คือ

1.  แรงงานผู้เชี่ยวชาญ (Employment as Professional)

2.  การนําเข้าแรงงานต่างชาติ (Employment as Imported Workers) ภายใต้โครงการเสริมด้านแรงงาน (Supplementary Labour Scheme) (SLS)

3.  แรงงานผู้ช่วยแม่บ้าน (Employment as Domestic Helpers from Abroad) มีกําหนดระยะเวลาการจ้างงานคราวละ 2 ปีและนายจ้างสามารถต่อสัญญาจ้างต่อไปได้อีกโดยไม่จํากัดระยะเวลา อัตราค่าจ้างเดือนละ 3,740 เหรียญฮ่องกง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2554 โดยนายจ้างต้องจัดที่พักและอาหารให้กับลูกจ้าง หากไม่จัดอาหารให้ ต้องจ่ายค่าอาหารให้แก่ลูกจ้างไม่ต่ำกว่าเดือนละ 775 เหรียญฮ่องกง[2]

สำหรับผู้ช่วยแม่บ้านที่มาจากเมืองไทย ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะแรงงานไทยไม่สามารถสื่อสารกับนายจ้างได้ พูดกวางตุ้งไม่ได้ พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ทำให้มีปัญหาในการสื่อสาร แม้ว่านิสัยของแรงงานไทยจะเป็นที่พอใจของนายจ้างก็ตาม คนที่ทำงานอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่อยู่ที่นี่มานาน พูดภาษากวางตุ้งได้แล้ว ต่อสัญญากับนายจ้างเรื่อยๆ โดยปัจจุบันสัญญาจ้างผู้ช่วยแม่บ้าน มีระยะเวลา 2 ปี โดยหากทำงานกับนายจ้างคนเดิมเกิน 5 ปีติดต่อกันแล้วนายจ้างให้ออก ผู้ช่วยแม่บ้านคนนั้นมีสิทธิได้รับเงินที่เรียกว่า long service และหากถูกเลิกสัญญาแล้วสามารถอยู่ในฮ่องกงต่อได้เพียง 14 วันเท่านั้น แม้ว่าจะเหลือระยะเวลาที่อนุญาตไว้ในวีซ่ามากกว่านี้ แต่ถ้าหากเป็นแรงงานอาชีพอื่น หากถูกเลิกจ้าง แต่ระยะเวลาที่อนุญาตในวีซ่ายังเหลือ สามารถอยู่ได้จนสิ้นสุดการอนุญาต

สวัสดิการอื่นๆ ของผู้ช่วยแม่บ้าน เช่น ในเรื่องการรักษาพยาบาล นายจ้างจะเป็นผู้รับผิดชอบในค่ารักษาพยาบาลของผู้ช่วยแม่บ้าน ซึ่งแตกต่างจากแรงงานประเภทอื่น ที่สามารถซื้อประกันด้วยตัวเอง และมีกองทุนที่เรียกว่า Mandatory provident fund (MPF)

หรือในกรณีที่แม้จะอาศัยอยู่ในฮ่องกงต่อเนื่องเกิน 7 ปี ผู้ช่วยแม่บ้านก็ไม่สามารถมีสิทธิยื่นคำร้องขอสิทธิอาศัยถาวร Hong Kong Permanent Residence ได้ เพราะเป็นอาชีพที่อยู่ในข้อยกเว้นตาม Section 2(4) of the Immigration Ordinance[3]ข้อกฎหมายและทางปฏิบัตินี้ได้ถูกยืนยันอีกครั้งโดยคำพิพากษาในคดี FACV Nos 19&20 of 2012 in the court of final appeal of the Hong Kong Special Administrative Region

ชีวิตแรงงานไทยในต่างแดน ไม่ได้สุขสบาย ทั้งยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากปัญหาการสื่อสาร วัฒนธรรม ในการใช้ชีวิตในต่างแดน แต่ก็ต้องอดทน เพราะแบกภาระทางบ้านไว้เยอะ เหมือนกับที่ชาวบ้านชอบพูดว่า “มาตกทอง” แต่ถ้าใครไม่ได้มายืนอยู่ ณ จุดนี้คงไม่รู้ว่า กว่าจะได้เงินมานั้นลำบากเพียงใด

 



[1] บทความนี้เขียนขึ้นในขณะที่เป็นนักกฎหมายฝึกงานที่ Asian Human Rights Commission-AHRC เมื่อ 11 มกราคม – 10 พฤษภาคม 2556

[2] http://www.thai-consulate.org.hk/internet/attachments/640.pdf

[3]http://www.legislation.gov.hk/blis_pdf.nsf/6799165D2FEE3FA94825755E0033E532/ED717360D64A043E482575EE003DBF1A/$FILE/CAP_115_e_b5.pdf

 

 

ติดตามข้อมูลข่าวสารโครงการได้ที่ 
              www.statelesswatch.org
Blog1 ; https://statelesswatch.wordpress.com
Blog2 ; https://gotoknow.org/portal/statelesswatch-swit

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท