อวัตถุศึกษากับอธิป: เจรจา ‘ทีพีพี’ ด้านลิขสิทธิ์ที่เปรูยังไม่คืบ

ประมวลข่าวสารด้านทรัพย์สินทางปัญญากับ ‘อธิป จิตตฤกษ์’ นำเสนอข่าวการเจรจาข้อตกลง TPP ส่วนลิขสิทธิ์ยังติดขัด, กูเกิลเตรียมบุกตลาดแอฟริกา-อุษาคเนย์, สหรัฐเตรียมขยายกลไกสอดส่องไปอินเทอร์เน็ต

Immaterial Property Research Center ตั้งขึ้นในวันที่ 18 มกราคม หรือ "วันเสรีภาพอินเทอร์เน็ต" เพื่อเป็นศูนย์ข่าว ศูนย์ข้อมูล และศูนย์วิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุ (หรือที่เป็นที่รู้จักทั่วไปว่าทรัพย์สินทางปัญญา) ต่างๆ อย่างสัมพันธ์กับระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ และระบบการเมืองในโลก ทางศูนย์ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานของศูนย์ฯ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุที่เอื้อให้เกิดเสรีภาพในเชิงบวกไปจนถึงความเท่าเทียมกันของผู้คนในโลก

 

21-05-2013

ชาติที่เข้าร่วมการเจรจาการค้า TPP ที่กรุงลิมา เปรูไม่สามารถตกลงในส่วนของทรัพย์สินทางปัญญาได้

ในระหว่างการเจรจาส่วนทรัพย์สินทางปัญญาของข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ ทีพีพี (Trans-Pacific Partnership - TPP) รอบที่ 18 ที่กรุงลิมา ประเทศเปรูนั้น แม้จะยืดยาวไปกว่า 80 หน้าแล้วก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้

สหรัฐเองก็ถูกตั้งคำถามมากว่าตัวสหรัฐเองจะทำตามข้อเรียกร้องหลายๆ อย่างที่ตัวเองได้อย่างไร เพราะคำตัดสินของศาลสูงอเมริกาไปจนถึงข้อเรียกร้องการปฏิรูปของสำนักงานลิขสิทธิ์ที่ทางทำเนียบขาวสนับสนุน และเตรียมจะร่างกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ก็ล้วนดูจะขัดกับข้อเรียกร้องหลายๆ อย่าง

ทั้งนี้ การเจรจาข้อตกลงทีพีพี มีคู่เจรจาจากหลายประเทศในหลายทวีป อาทิ ออสเตรเลีย บรูไน ชิลี แคนาดา มาเลเซีย สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา เปรู และเวียดนาม เป็นต้น  โดยล่าสุดการเจรจาดำเนินเป็นรอบที่ 18 ระหว่างวันที่ 15-24 พ.ค. ที่ผ่านมา ในกรุงลิมา ประเทศเปรู มีรายงานว่า นอกจากที่ประชุมจะประสบปัญหาไม่สามารถตกลงได้ในส่วนของทรัพย์สินทางปัญญา ด้านธุรกิจเภสัชกรรมก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้เช่นกัน

ข้อตกลงทีพีพี ถูกวิจารณ์จากองค์กรภาคประชาสังคมว่า เป็นการบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ที่อาจนำไปสู่การละเมิดเสรีภาพอินเทอร์เน็ต และเป็นอุปสรรคการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ นอกจากนี้ ยังถูกวิจารณ์ด้วยว่ากระบวนการเจรจาเป็นไปอย่างปิดลับ และขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน

News Source:  http://infojustice.org/archives/29657 , http://www.ip-watch.org/2013/05/20/infojustice-trans-pacific-partnership-ip-chapter-stalled/

 

Pāvels Jurs ครูชาวลัตเวียผู้สแกนหนังสือประวัติศาสตร์ขึ้นเว็บไซต์การเรียนรู้ส่วนตัวเพื่อให้เด็กยากจนโหลดไปอ่านได้โดนตำรวจบุกจับถึงบ้านฐานละเมิดลิขสิทธิ์

ข้อมูลยังไม่ชัดเจนนักว่าใครเป็นผู้แจ้ง "ตำรวจคดีเศรษฐกิจ" ของลัตเวียให้บุกจับ Jurs ถึงบ้าน แต่เขาก็เคยพูดคุยกับผู้เขียนแล้ว (มีความเป็นไปได้ว่าผู้แจ้งดำเนินคดีคือสำนักพิมพ์)

Jurs บอกว่าการทำเว็บไซต์นี้ก็ไม่ได้สร้างเงินสร้างทองอะไรให้เขา แต่มัน "เข้าเนื้อ" เขาด้วยซ้ำเพราะเขาต้องใช้เงินส่วนตัวมาเป็นค่าดูแลเว็บไซต์ ซึ่งสำหรับคดี เขาคิดว่าการดำเนินการทางแพ่งก็น่าจะเพียงพอแล้ว การดำเนินคดีอาญา (ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี) ที่ถึงกับให้ตำรวจบุกจับเขาถึงบ้านและยึดคอมพิวเตอร์ไปอย่างนี้ดูจะเลยเถิดไปมากๆ

ทั้งนี้ ล่าสุดทางตำรวจก็ได้ปิดเว็บไซต์ของเขาแล้ว ส่งผลให้นักเรียนของเขาไม่สามารถเข้าถึงเอกสารต่างๆ ได้ทั้งๆ ที่เป็นช่วงใกล้ช่วงสอบของนักเรียนด้วย

News Source:  http://torrentfreak.com/police-raid-school-teacher-for-uploading-history-book-for-students-130520/

 

22-05-2013

Amazon เปิดตัวเว็บ Kindle Worlds ที่ให้นักเขียนมาขาย "แฟนฟิค" อย่างถูกต้องตามลิขสิทธิ์

ทั้งนี้เว็บนี้เป็นเว็บที่อเมซอนได้ "เคลียร์ลิขสิทธิ์" โดยการซื้อใบอนุญาตมาจากนักเขียนหลายๆ เรื่องอย่าง Gossip Girl, Pretty Little Liars และ Vampire Diaries มาแล้ว ซึ่งจะทำให้สถานะของแฟนฟิคบนเว็บนี้มีความถูกต้องตามลิขสิทธิ์อย่างชัดเจน ไม่คลุมเครือแบบแฟนฟิค Twilight ที่กลายมาเป็นนิยายเรื่องดังเองแบบ 50 Shades of Grey

เว็บนี้จะทำการแบ่งค่าลิขสิทธิ์จากยอดขายให้นักเขียนแฟนฟิค 20% สำหรับแฟนฟิคที่ยาว 5,000-10,000 คำ และจะแบ่งให้ 35% ถ้าแฟนฟิคยาวกว่า 10,000 คำ อย่างไรก็ดี Amazon ก็ไม่ได้เปิดเผยว่าจะแบ่งค่าลิขสิทธิ์ให้นักเขียนอย่างไร

ทั้งนี้ แฟนฟิค หรือ fan-fiction/ fanfic คืองานเขียนของแฟนคลับของนักเขียนที่หยิบเรื่องราวของตัวละครและฉากที่มีอยู่แล้วมาเขียนเพิ่มเติมในแบบฉบับของตัวเอง เพื่อความพึงพอใจมากกว่าในเชิงพาณิชย์ โดยทั่วไปแล้วแฟนฟิคมักไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าของงานดั้งเดิม

News Source:  http://paidcontent.org/2013/05/22/amazons-new-kindle-worlds-gives-authors-a-way-to-sell-fan-fiction-without-legal-hassles/

 

25-05-2013

กลุ่มต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ในอังกฤษนำตำรวจนอกเครื่อง 10 นายในรถ 5 คันบุกเข้าจับผู้ต้องหาแอบอัดวีดีโอ Fast & Furious 6 ในโรง

อย่างไรก็ดีหลังจากโดนไต่สวนอยู่กว่า 3 ชั่วโมง ชายผู้โชคร้ายผู้นี้ก็ได้รับการประกันตัวออกมา เขาจะเข้าโรงหนังไม่ได้จนกว่าการสืบสวนจะเสร็จวันที่ 23 กันยายน 2013

ทั้งนี้กลุ่มต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ในอังกฤษก็เสนอเงินรางวัลให้ผู้สามารถพบผู้ที่แอบอัดภาพยนตร์ในโรง อย่างไรก็ดีจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด

News Source:  http://torrentfreak.com/five-undercover-police-cars-sent-to-arrest-single-alleged-movie-pirate-130525/

 

Google เตรียมบุก "ตลาดเกิดใหม่" ทั้งหลายที่อินเทอร์เน็ตยังไม่โตด้วยเครือข่ายไร้สายของตนเอง

โดยตลาดที่ Google เตรียมบุกคือตลาดในแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา แถบอุษาคเนย์ ไปจนถึงบริชานเมืองของเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกที่อินเทอร์เน็ตเข้าไม่ถึง

ทั้งนี้ Google วางแผนที่จะใช้ย่านความถี่ที่สงวนไว้ให้โทรทัศน์ในแต่ละประเทศเป็นฐานของเครือข่ายนี้และก็ได้มีการพูดคุยกับผู้มีอำนาจจัดสรรความถี่ในบางประเทศมาบ้างแล้ว

Google วางแผนว่าถ้าได้เครือข่ายดังกล่าวมา จะใช้พวกบอลลูนหรือเรือเหาะบินสูงเป็นตัวส่งสัญญาณ

นี่นับเป็นก้าวสำคัญก้าวหนึ่งของ Google ที่จะแย่งอำนาจมาจากบรรดาผู้ให้บริการเครือข่ายผ่านเคเบิล

News Source:  http://www.businessinsider.com/google-is-planning-to-build-its-own-wireless-network-2013-5, http://online.wsj.com/article/SB10001424127887323975004578503350402434918.html?mod=djemalertNEWS

 

Twitter โดนฟ้องฐานยึดบัญชีผู้ใช้คืนอย่างไม่ชอบธรรม

หลังจาก Twitter ได้ทำการยึดบัญชี @SunValley ของเจ้าของเก่าแล้วนำไปให้รีสอร์ตชื่อ Sun Valley ทางเจ้าของเก่าก็โกรธมากและฟ้อง Twitter ฐานละเมิดเงื่อนไขการให้บริการ และอ้างกว่าเขาไม่ได้ละเมิดเครื่องหมายการค้าของ Sun Valley Resort ตามที่ Twitter อ้างว่าการที่เขาใช้ชื่อบัญชีนี้แล้วใช้โลโกเป็นรูปพระอาทิตย์นั้นดูจะละม้ายกับเครื่องหมายการค้าของ Sun Valley Resort เกินไป ซึ่งทำให้การกระทำของเขาเป็นการเป็นการ "ปลอมตัวแบบที่ไม่ใช่การล้อเลียน" ซึ่งละเมิดเงื่อนไขการให้บริการ

อย่างไรก็ดีในสำนวนฟ้องของเขาก็ดูจะอ่อนไป เพราะเขาอ้างว่าโลโกของ Sun Valley Resort บนเว็บไม่มีสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ทั้งๆ ที่การคุ้มครองเครื่องหมายการค้าตามกฎหมายจารีตประเพณีนั้นก็ดูจะเพียงพอแล้วในการคุ้มครอง Sun Valley Resort

News Source:  http://www.techdirt.com/articles/20130523/12122823187/guy-sues-twitter-taking-away-his-twitter-handle.shtml

 

ประเทศ 186 ประเทศกำลังจะมีการเจรจาสนธิสัญญาที่โมรอคโคเพื่อให้ทำการ "อัดแปลง" เอกสารให้คนตาบอดอ่านได้โดยไม่ละเมิดลิขสิทธิ์

หลายๆ ฝ่ายคาดว่าฝ่ายอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์ในอเมริกาจะล็อบบี้ขัดขวางเต็มที่ดังที่ได้แสดงท่าที่มาก่อนหน้านี้แล้ว และก็มีการล่ารายชื่อในเว็บไซต์ทำเนียบขาวเพื่อให้ประธานาธิบดีโอบามาสนับสนุนสนธิสัญญาฉบับนี้

News Source:  https://petitions.whitehouse.gov/petition/side-blind-over-obstructionist-companies-secure-treaty-blind-makes-books-accessible-globally/ZJtgcVph , http://infojustice.org/archives/29744 , http://www.techdirt.com/articles/20130523/12283223188/petition-asks-obama-to-support-treaty-blind-rather-than-siding-with-hollywood.shtml

 

ทำเนียบขาวกำลังจะสนับสนุนการขยายอำนาจของกฎหมายดักฟังโทรศัพท์ให้มีไปถึงอินเทอร์เน็ตด้วยตามคำขอของ FBI

ทั้งนี้อำนาจดั้งเดิมในการสอดส่องของ FBI ก็จัดว่าสูงมากอยู่แล้ว หลายๆ ฝ่ายถึงไม่เห็นด้วยที่รัฐจะให้ไฟเขียวการสร้างกลไกในการสอดส่องให้ง่ายขึ้นไปอีก

อนึ่ง กฎหมายนี้มีนามว่า Communications Assistance for Law Enforcement Act หรือ CALEA ซึ่งผ่านออกมาในปี 1994 เพื่อให้ผู้ผลิตอุปกรณ์และเครือข่ายการสื่อสารออกแบบโครงสร้างการสื่อสารโดยแทรกอุปกรณ์การสอดส่องฝังลงไปเพื่อให้รัฐสามารถสอดส่องการสื่อสารอุปกรณ์ทุกเครื่องได้ในทันที

การพยายามขยายกฎหมายนี้มาใช้กับอินเทอร์เน็ตก็คือการให้บรรดาผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและผู้ขายอุปกรณ์เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตฝังอุปกรณ์สอดส่องและออกแบบระบบใหม่ให้รัฐนั้นสอดส่องอินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลานั่นเอง

News Source:  https://www.eff.org/deeplinks/2013/05/caleatwo

 

เว็บสมาคมอุตสาหกรรมบันทึกเสียงอเมริกันถูกทำให้เป็นผู้ปล่อยหนังโป๊ให้โหลดทางทอร์เรนต์

จากการสืบสวนของทาง TorrentFreak พบการดาวน์โหลด/อัฟโหลดทอร์เรนต์หนังโป๊จากทาง IP ของเว็บไซต์ของทางสมาคมอุตสาหกรรมบันทึกเสียง (RIAA)

อย่างไรก็ดีจากการค้นไปกลับพบว่ามีคนบางคนใส่ IP เข้าไปในระบบ Webseeding ของบรรดาทอร์เรนต์หนังโป๊ ผลคือเวลาตรวจสอบการดาวน์โหลดทอร์เรนต์จะพบว่าทาง IP มีส่วนในการดาวน์โหลด/อัปโหลดด้วย แม้ว่าทาง IP จะไม่เกี่ยวข้องหรือไม่รู้เรื่องใดๆ เลยก็ตาม ซึ่งในกรณีนี้การตรวบสอบเพิ่มเติมก็พบว่าไม่มีการดาวน์โหลดจาก IP ของทาง RIAA

ความน่ากลัวของข้อมูลทั้งหมดนี้ชี้ว่าจริงๆ แล้วบรรดา "เกรียนลิขสิทธิ์" (copyright trolls) ทั้งหลายนั้นอาจใช้กลยุทธเดียวกันในการ "ใส่ความ" บรรดาผู้คนทั่วไปที่เป็นเจ้าของ IP แล้วก็ฟ้องว่าพวกเขาดาวน์โหลดทอร์เรนต์เพื่อเอาค่ายอมความก็ได้

News Source:  http://torrentfreak.com/someones-trying-to-nail-the-riaa-for-downloading-porn-130526/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท