Skip to main content
sharethis

 

28 พ.ค.56 ที่ไบเทค บางนา มีการจัดเวที สานงาน เสริมพลัง ร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หลังจากที่มีการดำเนินงานมาครบ 12 ปี โดยในเวทีนี้เป็นการรวมทุกภาคีเครือข่ายทั่วประเทศที่ทำงานสุขภาพในประเด็นต่างๆ มีผู้เข้าร่วมกว่า 3,000 คน และมีการจัดเวทีอภิปรายหลายสิบเวทีตลอดวันที่ 28-29 พ.ค.นี้

ในการอภิปราย ‘การเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่องบนพื้นฐานของการติดตามประเมินผล 1 ทศวรรษของ สสส.’ ศ.นพ.ไกรสิทธิ ตันติศิรินทร์ ประธานกรรมการประเมินผล สสส. กล่าวว่า เรื่องแรกๆ ที่ทำการประเมิน คือวัตถุประสงค์ ความคุ้มค่าคุ้มทุน และธรรมาภิบาล รวมทั้งเรื่องไอทีในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งผลการประเมินเมื่อ 5 ปีที่แล้วโดยองค์การอนามัยโลกได้แสดงความชื่นชมมา พอทำงานถึงปีที่  9 จึงคิดว่าน่าจะต้องมีการประเมิน 10 ปีในระดับนานาชาติ ในที่สุดก็ออกมาเป็นรายงาน 10 ปี ซึ่งผลการประเมินออกมาค่อนข้างบวก

“เราประเมินเพื่อการเรียนรู้ไปสู่การพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ การประเมินนี้จะเป็นเกราะป้องกัน สสส. ต่อไป การทำงานโดยคนดีก็เป็นสิ่งดี แต่ต้องมีธรรมาภิบาล เราต้องเห็นประโยชน์ของการประเมินว่า ไม่ใช่การจับผิด แต่จะนำไปสู่ประโยชน์ที่ยั่งยืนมากขึ้น”ศ.นพ.ไกรสิทธิ กล่าว  

ด้าน Dr. Mustaque Chowdury จากองค์กรด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ ในบังคลาเทศ (BRAC)  หนึ่งในทีมผู้ประเมิน 10 ปีการทำงานของ สสส. กล่าวถึงรายงานดังกล่าวว่ามาจากทีมนานาชาติ 6 ทีมที่ลงไปพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง การทำงานของ สสส.ได้กลายเป็นรูปแบบที่ทั่วโลกกำลังมอง ในฐานะที่เป็นแบบอย่างเพื่อส่งเสริมพัฒนาสุขภาพในประเทศตนเอง โมเดลนี้ในระดับอาเซียนอย่างเวียดนามและฟิลิปปินส์ก็เริ่มมีขึ้นแล้ว ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคพร้อมกับการมี สสส. ก้าวต่อไปจึงอยากให้กลไกเหล่านี้เข้มแข็งมากขึ้น การประเมินยังชี้ให้เห็นว่า การใช้งบประมาณจากภาษีเหล้าและบุหรี่ได้ช่วยพัฒนาด้านสุขภาพในไทยให้ดีขึ้น ส่งเสริมองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านสุขภาพ รวมทั้งทฤษฎี ‘สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา’ ของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ก็ใช้ยึดโยงทำงานได้อย่างเหมาะสม

เขากล่าวอีกว่า ผลที่ออกมาบ่งบอกความสำเร็จทั้งการลดการสูบบุหรี่และควันบุหรี่มือ 2 ในช่วง 10 ปี จากสัดส่วน 34% เหลือ 11% การรณรงค์ ‘ให้เหล้าเท่ากับแช่ง’ ก็ลดการซื้อเหล้าลงไปได้มาก ในเรื่องการลดอุบัติเหตุ พบว่าตั้งแต่ ปี 2547–2551 สถิติลดลงจากประมาณ 140,000 ครั้งเหลือราว 80,000 ครั้ง ซึ่งส่งผลในการลดค่าใช้จ่ายรัฐได้ถึงประมาณ 9,000 ล้านบาทต่อปี โดย สสส. ใช้งบประมาณทำงานไปราว 600 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการส่งเสริมการออกกำลังกายดูเหมือนจะยังไม่ชัดเจนนัก

ในส่วนข้อแนะนำ  Dr. Mustaque  กล่าวว่า นอกจากให้เงินทุนแล้ว อยากให้เสริมสร้างศักยภาพแก่ภาคี โดยน่าจะมีวิธีการหาทุนแบบอื่นๆ ด้วย เช่น หาผู้บริจาคเพิ่มหรือลงทุนในองค์กรเพื่อสังคมมากขึ้น รวมถึงการหาภาคีและหน่วยงานข้างนอกเพิ่มเติม นอกจากนี้ควรต้องมีระบบการตรวจสอบดูแลเป็นหน่วยวิจัยอิสระที่ทำงานไปพร้อมกับ สสส.ตั้งแต่แรก 

ด้าน ศ.(เกียรติคุณ) นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า  94% ในการให้ทุนของ สสส. คืองบประมาณที่ลงไปที่ภาคี ดังนั้น ผลการประเมิน สสส. ก็คือประเมินภาคีด้วย  นอกจากนี้ สสส. จะต้องบูรณาการภายในให้สำเร็จเสียก่อน หากไม่สามารถบูรณาการภายในได้ก็บูรณาการระดับพื้นที่ไม่ได้  ส่วนสิ่งที่ต้องทำงานตามการประเมินผลนี้คือ ต้องคิดให้ละเอียด และต้องมีคณะกรรมการติดตามการดำเนินการตามรายงานด้วย

 

ถอดประสบการณ์ 10 รณรงค์ “ลด เหล้า บุหรี่ อุบัติเหตุ”

สำหรับการเสวนาย่อยเรื่องถอดรหัสปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ : 10 ปีแห่งประสบการณ์ “ลดเหล้า บุหรี่ อุบัติเหตุ” นั้นเริ่มต้นด้วยการถอดประสบการณ์การทำงาน “ลดบุหรี่” ดร.ทพญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฎ์ ผอ.ศูนย์วิจัยและการจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)   กล่าวถึงสถานการณ์การสูบบุหรี่ว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมามีการลดการสูบบุหรี่ลงประมาณ 10%  อย่างไรก็ตามในช่วง 2 ปีล่าสุดนั้นสถิติไม่ลดลงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักสูบหน้าใหม่

ในอดีตมาตรการควบคุมของไทยก้าวหน้าจนถูกนำไปบรรจุในกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบ (FCTC) ขององค์การอนามัยโลกในปี 2546 โดยเพิ่มประเด็นการป้องกันการแทรกแซงนโยบายสาธารณะของอุตสาหกรรมยาสูบด้วย แต่ก็ยังมีสิ่งที่เป็นปัญหาท้ายทายคือ การบังคับใช้กฎหมายยังอ่อน, การค้าเสรีเปิดให้บุหรี่ถูกเข้าประเทศ, นโยบายไปไม่ถึงชาวชนบทซึ่งสูบบุหรี่มวนเอง

ส่วนตัวอย่างการทำงานในพื้นที่ เช่น การที่ภาคีตกลงทำเรื่อง 3 ลด (ลดนักสูบหน้าใหม่, ลดผู้สูบในชนบท, ลดควันบุหรี่มือสอง) 3 เพิ่ม (เพิ่มกลไกการป้องกันการแทรกแซงของอุตสาหกรรมยาสูบ, เพิ่มผู้ขับเคลื่อนมาตรการทางสังคม, เพิ่มนวัตกรรมควบคุม) รวมถึงโครงการ “จังหวัดปลอดบุหรี่” นำร่อง 15 จังหวัด โดยสร้างกลไกระดับพื้นที่ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเป็นจุดจัดการเชื่อมโยงโครงข่ายในพื้นที่ 

น.ส.แสงเดือน สุวรรณรัศมี ผู้จัดการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ (มสพ.) กล่าวว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมขับเคลื่อนโดยเน้นเรื่องนโยบาย เพราะใช้เงินน้อยที่สุดและส่งผลเปลี่ยนแปลงมาก กระทั่งเกิด สสส. ในปี 2545 ทำให้สามารถเคลื่อนงานลงสู่ภูมิภาคได้มากขึ้นควบคู่การผลักดันนโยบาย นอกจากนี้ยังมีงานเปลี่ยนค่านิยมของสังคมไทยซึ่งเป็นงานหนักที่ต้อง “ทำสงคราม” กับบรรษัทบุหรี่ซึ่งทำ CSR หนักมากภายใต้แนวคิด “เยาวชนในวันนี้ คือ ลูกค้าคนสำคัญในวันพรุ่งนี้”

วงต่อมาเป็นการถอดประสบการณ์ “ลดเหล้า” ผศ.ดร.สุรศักดิ์ ไชยสงค์ รองผอ.ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวในภาพรวมว่า แอลกอฮอล์ก่อปัญหาภาระโรคในสังคมไทยคิดเป็นร้อยละ10 และส่งผลกระทบอื่นด้วยเช่นปัญหาอุบัติเหตุ ความรุนแรงในครัวเรือน ด้านการบริโภคก็พบว่าคนไทยบริโภคแอลกอฮอล์สูงมากไม่ต่างจากยุโรป สถิติทรงตัวไม่มีแนวโน้มปรับลดอย่างเด่นชัด เฉลี่ยแล้วคนไทยดื่มปีละ 24 ลิตรต่อคน(ที่ดื่ม) และยังซื้อหาได้ง่ายมาก

การดำเนินงานที่ผ่านมาใช้แนวคิดพื้นฐาน “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา”  ประสานงานระหว่างหน่วยวิชาการ ภาครัฐ และเครือข่ายองค์กรงดเหล้า และพบว่ามาตรการเชิงนโยบายที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือมาตรการด้านอุปทาน เช่น มาตรการทางภาษี การจำกัดการเข้าถึง

นายธีระ วัชรปราณี  ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคส.) กล่าวว่า เครือข่ายเริ่มทำงานปี 2546 พร้อมกับการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา ปัจจุบันมีศูนย์ประสานงานภูมิภาค 8 แห่งเป็นกลไกบริหารจัดการ มีประชาคมงดเหล้าทุกจังหวัด ทำงานร่วมกับเอ็นจีโอและหน่วยด้านนโยบาย ที่ผ่านมามีบทบาทสำคัญในการรวบรวมรายชื่อสนับสนุนกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งประกาศใช้ปี 51 หลังจากนั้นก็มีบทบาทในการผลักให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่มีผ่านการร้องเรียน สิ่งที่น่าห่วงคือ การค้าเสรีและการท่องเที่ยวเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล แต่เป็นความยากลำบากของเครือข่ายในการผลักดันการลดเหล้า

วงสุดท้ายคือประสบการณ์ “ลดอุบัติเหตุ” นพ.ธนะพงษ์ จินวงษ์  ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า โดยภาพรวมไทยยังสอบตกเรื่องมาตรการต่างๆ เช่น การจำกัดความเร็ว การดื่มแล้วขับ ฯ ที่ผ่านมาอุบัติเหตุถูกมองเป็นปัญหาของปัจเจก และไม่ค่อยมีการพูดถึงปัจจัยเสี่ยงเชิงโครงสร้าง วัฒนธรรม วิธีคิด ปัจจุบันยูเอ็นเริ่มรณรงค์ให้จับตาปัจจัยเสี่ยง 5 เสาหลัก ได้แก่ แผนงานลดอุบัติเหตุ,มาตรฐานโครงสร้างพื้นฐาน,มาตรฐานยานพาหนะ, การเตรียมความพร้อมคนขับรถ, มาตรการรองรับเมื่อเกิดอุบัติเหตุ 

สิ่งที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งของปัญหาคือ ทัศนคติเรื่องอุบัติเหตุ โพลล์สำรวจพบว่าประชาชนร้อยละ 26 เห็นว่าอุบัติเหตุเป็นเรื่องเวรกรรม นอกจากนี้ยังเห็นว่าพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เป็นเรื่องเล็ก  ประกอบกับท้องถิ่นเองก็พยายามอำนวยความสะดวกด้วยการขยายถนนและยุบฟุตบาท สุดท้ายคือสื่อมวลชนที่ไม่ตระหนักถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง

นพ.วิวัฒน์ คีตมโนชญ์ แผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด(สอจร.)กล่าวว่า โครงสร้างการจัดการปัญหาอุบัติเหตุเป็นโครงสร้างแนวตั้งซึ่งไม่ค่อยเคลื่อนอะไรได้มาก เช่น พ.ร.บ.จราจรทางบก ปี 2522 กว่าจะออกกฎกระทรวงกำหนดเรื่องหมวกนิรภัยใช้เวลา 13 ปี ดังนั้น หากไม่มีภาควิชาการ ประชาสังคมช่วยขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ก็จะไปไม่ถึงไหน สสส.จึงเป็นนวัตกรรมที่สำคัญมากในการหนุนหน่วยนโยบายต่างๆ และ เครือข่ายในพื้นที่ ตัวอย่างของจังหวัดภูเก็ตพบว่าการทำงานแนวราบกับภาคีต่างๆ สร้างความก้าวหน้าได้มาก โดยหัวใจสำคัญคือ การใช้ข้อมูลเพื่อเห็นปัญหา พัฒนาคนและเครือข่าย หานวัตกรรมในการทำงาน ปัจจุบันภาคีในภูเก็ตตั้งเป้าหมายร่วมกันว่าจะลดอุบัติเหตุลง 4 เท่าภายใน 2 ปี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net