Skip to main content
sharethis

พีมูฟติดตามการพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาลหลังลงนาม MOU ดันประเด็น เขื่อนปากมูล-คุ้มครองพื้นที่โฉนดชุมชนเข้า ครม. ด้านปัญหาที่ดินกระทรวงทรัพย์ฯ ทั้ง ที่ดินทับซ้อนเขตป่า-คดีโลกร้อน-ตรวจสอบข้อมูลนายทุนถือครองที่ป่า ต้องรอ ‘เฉลิม’ เคาะ

 
วันนี้ (28 พ.ค.56) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ แจ้งข่าว เวลา 10.00 น.พีมูฟจะมีการแถลงข่าวเพื่อติดตามการพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาลตามที่ลงนามข้อตกลง (MOU) ร่วมกัน เมื่อวันที่ 22 พ.ค.56 ไว้ในข้อที่ 1 ว่าจะนำเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล และการคุ้มครองพื้นที่โฉนดชุมชนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีหรือไม่ ณ ประตูทำเนียบรัฐบาล (ประตูน้ำพุ)
 
หลังจากนั้นเวลา 13.30 น. ตัวแทนพีมูฟจะได้มีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อ
สังคมที่เป็นธรรม ครั้งที่ 2/2556 ณ ห้องประชุม 501 ชั้น 5 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล โดยมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่
บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในที่ประชุม เพื่อเป็นการติดตามความคืบหน้าและหาแนวทางการ
แก้ไขปัญหาของพีมูฟ
 
ด้าน นายสุรพล สงฆ์รักษ์ ผู้ประสานงานสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) หนึ่งในเครือข่ายสมาชิกขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟกล่าวถึงการประชุมอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า การประชุมมีนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน เริ่มต้นตั้งแต่เวลาประมาณ 9.00 น.ใช้เวลากว่า 8 ชั่วโมงจึงสามารถจัดทำข้อเสนอแล้วเสร็จ
 
การประชุมดังกล่าว เป็นหนึ่งในการเร่งรัดการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 10 ชุด เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ ซึ่งมี ร.ต.อ.เฉลิม เป็นประธาน
 
“นายทุนอยู่ในพื้นป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต” นายสุรพล กล่าวถึงประเด็นที่ สกต.พุ่งเป้าหารือ
 
ผู้ประสานงาน สกต.กล่าวด้วยว่า ทาง สกต.ได้นำเสนอใหม่มีการแต่งตั้งคณะทำงานศึกษานโยบายและข้อมูลการอนุญาตให้บริษัท หรือนักธุรกิจ เข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศ เนื่องจากชาวบ้านประสบปัญหาความขัดแย้งกับบริษัทเอกชนที่เข้าใช้ประโยชน์ในที่ สปก.และมีเอกชนที่หมดสัญญาเช่าทำประโยชน์แต่ไม่ยอมออกจากพื้นที่จำนวนมาก ซึ่งนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่าเห็นด้วย แต่ขอให้นำเรื่องนี้เข้าเสนอในที่ประชุมให้ ร.ต.อ.เฉลิม เป็นผู้ตัดสิน
 
นายสุรพล กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวต้องลุ้นกันต่อไปว่าฝั่งการเมืองจะตัดสินใจเช่นไร เพราะเกี่ยวข้องกับฐานเสียงและเครือข่ายของนักการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล แต่สำหรับชาวบ้านต้องการให้ข้อมูลที่ตรงนี้มีความชัดเจน
 
ทั้งนี้ สรุปประชุมอนุกรรมการทรัพยากรฯ มีกรณีเห็นชอบและเสนอให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณา ดังนี้
 
ทส.ไม่รับดำเนินการ ให้เสนอให้ชุดใหญ่ตัดสินใจ หรือให้หน่วยงานดำเนินการ
 
1. เสนอให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม รองนายกรัฐมนตรี (ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง) พิจารณาดำเนินการ
 
1.1 การแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาการฟ้องร้องคดีโลกร้อนกับคนจน และหาทางเยียวยาแก้ไขปัญหาราษฎร ทั้งที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี และคดีสิ้นสุดแล้ว
 
1.2 การแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบนโยบาย และข้อมูลการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ
 
1.3 การแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ ที่เกี่ยว ข้องกับการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ให้สอดคล้องกับการดำเนิน งานโฉนดชุมชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2555 ตามนัยมติ ครม.เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2554
 
1.4 การคุ้มครองพื้นที่ของชุมชนที่เป็นสมาชิกของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ให้สามารถอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่เดิมได้โดยไม่มีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่ม ในระหว่างรอการแก้ไขปัญหาตามนโยบายของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2. เสนอให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พิจาณาดำเนินการเป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาและยกร่างกฎหมายรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร
 
ทส.เห็นชอบ และรับดำเนินการ
 
1. กรณีแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี ของ ทส.เพื่อรองรับนโยบายของคณะรัฐมนตรี ที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา

1.1 การปรับปรุงกฎหมายป่าไม้ 5 ฉบับ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ...ให้กรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลฯ เสนอทบทวนให้ ทส.บรรจุเรื่องนี้เข้าในแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี

1.2 การแก้ไขปัญหาการดำเนินคดีโลกร้อนกับคนจน ทส.เห็นชอบตามบันทึกข้อตกลงระหว่างขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม กับตัวแทนรัฐบาล เมื่อวันพุธที่ 22 พ.ค.56 (ในระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาตามกลไกและแนวทางที่มีอยู่ ขอให้ประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ชะลอการดำเนินการใดๆ ที่อาจเป็นมูลเหตุให้เกิดความขัดแย้ง หรืออาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิตตามปกติสุข และให้สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐตามวิถีปกติไปพลางก่อน จนกว่ากระบวนการพิจารณาของส่วนราชการ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ตามแต่กรณีจะมีผลเป็นที่ยุติต่อไป)

ทส. เห็นชอบที่จะสนับสนุนให้ชุมชนร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ มาตรา 1:4,000 ปี พ.ศ. 2545 ร่องรอยการทำประโยชน์ และประวัติศาสตร์ชุมชน ในการสำรวจ และจัดทำขอบเขต ตรวจสอบ การเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของชุมชน เพื่อใช้ประกอบคำขอในการจัดให้มีโฉนดชุมชน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 และแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2

ให้ ทส. สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการ เพื่อหา (model) ที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนให้ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสมดุล และยั่งยืน โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการศึกษาวิจัยให้ครอบคลุมชุมชนในพื้นทีป่าสงวนแห่งชาติ และป่าอนุรักษ์ทุกประเภท
 
2. การดำเนินการกรณีพื้นที่โฉนดชุมชนที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทส.ซึ่งผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) 13 พื้นที่ ให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาความเหมาะสมในการตรวจสอบพื้นที่ร่วมกัน 13 พื้นที่ 13 ชุด โดยมีหัวหน้าเขตอุทยาน หรือหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์ เป็นประธาน ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน (หากจำเป็นที่จะอนุญาตให้ดำเนินงานโฉนดชุมชน จะต้องมีการเพิกถอนพื้นที่ดังกล่าว ตามข้อบัญญัติของกฎหมาย หรือแก้ไขกฎหมาย)

3. แนวทางการพิสูจน์สิทธิในพื้นที่ป่าไม้ตามมติ ครม. 30 มิ.ย.41 เรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ ให้คณะอนุกรรมการฯ แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาปัญหาอุปสรรค และแนวทางการปรับปรุงกระบวนการพิสูจน์สิทธิตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิ.ย.41 ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา และข้อเท็จจริง เพื่อให้ชุมชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าได้รับความเป็นธรรมมากที่สุด โดยคณะทำงานดังกล่าว ให้ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม

4. ให้แต่งตั้งคณะทำงาน แก้ไขปัญหารายกรณี ดังนี้

4.1. คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) เข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าทุ่งทับควาย ท้องที่ ต.วังหิน อ.บางขัน จ.นครศรีธรรมราช
 
4.2. คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี บริษัท สหไทยน้ำมันพืช จำกัด ขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าไม้ เพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน ท้องที่ จ.ชุมพร
 
4.3. คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีบริษัท ไทยบุญทอง จำกัด อำเภอชัยบุรี และบริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด อ.พระแสง เข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าไม้ และบริเวณที่เคยอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าบ้านนา - ท่าเรือ- เคียนซา ต.บ้านนาสาร อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี 
 
4.4. คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีบริษัท จิตรธวัชสวนปาล์ม จำกัด ขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าไม้ ท้องที่ จ.กระบี่
 
4.5. คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการครอบครองพื้นที่ ที่มีการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ และการอนุญาตได้สิ้นสุดแล้ว ในท้องที่ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์
 
4.6. คณะทำงานศึกษาการดำเนินงานตามแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ตามติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553
 
4.7. คณะทำงานศึกษาการดำเนินงานตามแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ตามติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553
 
4.8. คณะทำงานตรวจสอบแนวเขตอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท จ.ลำปาง อุทยานแห่งชาติสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน และอุทยานแห่งชาติออบขาน จ.เชียงใหม่
 
4.9. คณะทำงานตรวจสอบเขตอุทยานแห่งชาติ ท้องที่ อ.คุระบุรี จ.พังงา
 
4.10. คณะทำงานแก้ไขปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดิน กรณีเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าภูผาแดง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์
 
4.11. คณะทำงานแก้ไขปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดิน กรณีสวนป่าคอนสาร จ.ชัยภูมิ
 
4.12. คณะทำงานแก้ไขปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดิน กรณีสวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ

4.13. คณะทำงานแก้ไขปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดิน กรณีป่าไม้ถาวรป่าหมายเลข 10 แปลง 1 ต.ถ้ำวัวแดง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ
 
5. ให้มีการตั้งคณะทำงานติดตามและพิจารณาประเด็นปัญหาเพื่อให้ได้ข้อสรุปหรือแนวทางการแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net