Skip to main content
sharethis
 
 
หลังการชุมนุมมายาวนาน 18 วัน ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟก็ได้ประกาศยุติการชุมนุมครั้งที่ 8 ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ลงในวันที่ 23 พ.ค.56 โดยประเด็นหลักที่ชาวบ้านราว 2,000 คนได้รับ คือ (1) กรณีโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน 5 พื้นที่ ภาคเหนือ ครม.เห็นชอบให้เดินหน้า โดยอนุมัติงบประมาณ 167 ล้าน ให้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.ดำเนินการ
 
เรื่องดังกล่าวเป็น 1 ใน 4 เรื่องที่พีมูฟผลักดันให้ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 21 พ.ค.56 มีมติอนุมัติ หลังจากที่การประชุม ครม.ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 14 พ.ค.56 กรณีปัญหาทั้ง 4 เรื่องที่มีข้อยุติแล้ว ประกอบด้วย 1.การแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล 2.โครงการนำร่องธนาคารที่ดิน 5 พื้นที่ ภาคเหนือ 3.การคุ้มครองพื้นที่โฉนดชุมชน และ 4.การก่อสร้างบ้านในโครงการบ้านมั่นคง ไม่ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาในการประชุม
 
(2) ประเด็นเรื่องการขออนุญาตก่อสร้างอาคารในโครงการบ้านมั่นคง สำนักงานกฤษฎีกามีความเห็นว่าโครงการบ้านมั่นคงเป็นโครงการของรัฐ สามารถก่อสร้างและให้ทะเบียนบ้านได้เลย โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของ ครม. เรื่องนี้จึงมีข้อสรุปโดยไม่ต้องเข้าที่ประชุม ครม.แล้ว
 
(3) การจัดทำบันทึกข้อตกลง หรือ MOU ร่วมกันซึ่งสำหรับผู้ชุมนุมถือเป็นหลักประกันว่า รัฐบาลจะแก้ปัญหาตามข้อเรียกร้องอย่างแน่นอน โดยเนื้อหาในบันทึกข้อตกลง มี 5 ข้อ ดังนี้ 1.เร่งรัดเสนอเรื่องโฉนดชุมชน และกรณีเขื่อนปากมูล ให้ยกเลิกมติ ครม.ก่อนหน้านี้ และแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลขึ้นใหม่ ให้ ครม.พิจารณาในวันที่ 28 พ.ค.56

2.เร่งรัดคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการนโยบายเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิต และแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล และคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาของพีมูฟที่มีการดำเนินการจนได้ข้อยุติแล้วหรือไม่สามารถหาข้อยุติได้ รวมทั้งอยู่ระหว่างการพิจารณาหาข้อยุติร่วมกัน ให้นำเสนอในการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมพิจารณาในวันที่ 28 พ.ค.56

3.รัฐบาลเร่งรัดดำเนินการตามนโยบายด้านที่ดินและทรัพยากร อย่างเป็นรูปธรรม โดยในระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหา ขอให้รัฐบาลแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ชะลอการดำเนินการใดๆ ที่อาจเป็นมูลเหตุให้เกิดความขัดแย้ง หรืออาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิตตามปกติสุข และให้สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐตามวิถีปกติไปพลางก่อน จนกว่ากระบวนการพิจารณาจะมีผลเป็นที่ยุติ

4.ขอให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จัดประชุมคณะกรรมการอย่างน้อย 3 เดือน/ครั้ง และคณะอนุกรรมการกับคณะทำงานจัดประชุมอย่างน้อย 2 เดือน/ครั้ง

5.แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานกรรมการ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองเป็นรองประธานกรรมการ และตัวแทนพีมูฟร่วมเป็นกรรมการ
 
 
ในช่วงเวลาเย็นซึ่งเป็นกำหนดเดินทางกลับของผู้ชุมนุม นายประชา ประสพดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง และนายสิทธิชัย กิตติธเนศวร ผู้ช่วยเลขาธิการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เดินทางมาที่บริเวณที่ชุมนุมพีมูฟข้างกระทรวงศึกษาธิการเพื่อส่งผู้ชุมนุมพีมูฟขึ้นรถ
 
นายประชา กล่าวบนเวทีปราศรัยของผู้ชุมนุมว่า รัฐบาลยอมรับว่ากลุ่มพีมูฟเป็นประชาชนที่มีบทบาท และได้รับความเดือดร้อนอย่างแท้จริง และขอยืนยันว่า นายกฯ และคณะรัฐมนตรีจะดูแลประชาชนให้มีชีวิตดีขึ้น ส่วนกรณีข้อเรียกร้องนั้น หากไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไข พร้อมที่จะลงไปดูปัญหาในพื้นที่ด้วยตัวเอง
 
ด้านนายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และแกนนำกลุ่มพีมูฟ กล่าวว่า ผู้ชุมนุมพึงพอใจในการแก้ปัญหาของรัฐบาล เพราะมั่นใจว่าจากนี้ประชาชนจะไม่โดนข่มขู่ เนื่องจากนายประชาได้ประสานไปยังผู้ว่าราชการทุกจังหวัดให้บูรณาการงานไม่ให้ประชาชนโดนคุกคามอีก แต่อย่างไรก็ตาม หากไม่มีความคืบหน้าภายใน 60 วัน จะเดินทางกลับมาชุมนุมอีกครั้ง
 
หลังจากนั้น ผู้ชุมนุมจึงทยอยขึ้นรถบัสที่ทางรัฐบาลจัดเตรียมไว้ให้เพื่อกลับภูมิลำเนา
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net