'แอมเนสตี้' เผยยุคโลกไร้พรมแดน กลับอันตรายขึ้นสำหรับผู้ลี้ภัย-ผู้พลัดถิ่น


คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดเผยในงานแถลงรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ประจำปี 2556 ว่า โลกใบนี้กำลังเป็นพื้นที่ที่อันตรายมากขึ้นสำหรับผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่น อันเนื่องมาจากการเพิกเฉยต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนของประชาคมโลก

นอกจากนั้นยังเปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีการละเมิดสิทธิของประชาชนหลายล้านคน ที่หลบหนีลี้ภัยจากความขัดแย้งและการถูกคุกคาม หรืออพยพไปหางานทำเพื่อชีวิตที่ดีกว่าสำหรับตนเองและครอบครัว พวกเขากล่าวหาว่ารัฐบาลทั่วโลกสนใจแต่จะปกป้องพรมแดนของประเทศมากกว่าที่จะใส่ใจสิทธิของพลเมืองของตน รวมทั้งสิทธิของผู้ที่แสวงหาที่พักพิง หรือการแสวงหาโอกาสอื่นๆ ในพรมแดนประเทศของตน

นายซาลิล เช็ตติ (Salil Shetty) เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวถึงความล้มเหลวในการแก้ไขความขัดแย้ง ส่งผลให้เกิดพลเมืองชั้นสองในโลก ที่เราไม่ได้ให้ความคุ้มครองสิทธิของคนที่หลบหนีภัยความขัดแย้งเลย รัฐบาลหลายประเทศกำลังละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยอ้างว่าปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมการเข้าเมือง ทั้งๆ ที่เป็นมาตรการควบคุมด้านพรมแดนที่ไม่ชอบธรรม
 
“มาตรการเหล่านี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผู้ที่หลบหนีลี้ภัยจากความขัดแย้ง แต่ยังเป็นเหตุให้ผู้ลี้ภัยหลายล้านคนตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกละเมิดสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นการถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงานหรือการถูกล่วงละเมิดทางเพศ และสืบเนื่องจากนโยบายต่อต้านการอพยพเข้าเมือง เป็นเหตุให้บุคคลเหล่านี้ตกเป็นเหยื่อโดยที่ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ นอกจากนี้ยังมีการใช้วาทศิลป์เพื่อจูงใจประชาชนให้สนับสนุนการละเมิดสิทธิของผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่น โดยอ้างว่าบุคคลเหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาในประเทศ” นายซาลิลกล่าว

ในปี 2555 ประชาคมโลกได้เห็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสิทธิมนุษยชนมากมาย ซึ่งผลักดันให้ประชาชนจำนวนมากหลบหนีไปยังที่ปลอดภัยในประเทศของตนเองหรือข้ามพรมแดน ตั้งแต่ประเทศเกาหลีเหนือถึงมาลี ซูดานและสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ประชาชนต้องอพยพหลบหนีจากบ้านเกิดของตนเพื่อแสวงหาที่พักพิงอันปลอดภัย

สำหรับชาวซีเรียนับว่าเป็นการปล่อยเวลาให้สูญเปล่าไปอีกหนึ่งปี เพราะแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ยกเว้นจำนวนของผู้เสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และจำนวนของประชาชนนับล้านคนที่ต้องอพยพพลัดถิ่นเพราะความขัดแย้ง ทั่วทั้งโลกกำลังเฝ้ามองดูอย่างเฉยๆ ในขณะที่กองทัพซีเรียปฏิบัติการโจมตีพลเรือนอย่างไม่เลือกหน้าและอย่างเฉพาะเจาะจงต่อไป มีทั้งการบังคับบุคคลให้สูญหาย การควบคุมตัวโดยพลการ การทรมาน และการสังหารนอกกระบวนการกฎหมายต่อผู้ที่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐ ในขณะเดียวกันกลุ่มติดอาวุธเองก็จับคนเป็นตัวประกัน และทำการสังหารอย่างรวบรัดและมีการทรมานบุคคลแม้จะมีระดับความรุนแรงน้อยกว่าก็ตาม

ข้ออ้างที่ว่าสิทธิมนุษยชนเป็น “ปัญหาในประเทศ” ได้ถูกใช้เพื่อสกัดกั้นปฏิบัติการระดับสากลในแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิ อย่างเช่นในกรณีของซีเรีย คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN Security Council) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลความมั่นคงและเป็นผู้นำในประเด็นปัญหาระดับโลก ยังคงล้มเหลวที่จะทำให้เกิดมาตรการทางการเมืองอย่างเป็นเอกภาพและไปในทิศทางเดียวกัน

“เราไม่สามารถอ้างการเคารพต่ออธิปไตยของประเทศเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการเพิกเฉย คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติต้องยืนหยัดอย่างชัดเจนเพื่อต่อต้านการละเมิดสิทธิที่ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต และทำให้ประชาชนต้องหลบหนีจากบ้านเกิดของตน และยังหมายถึงการปฏิเสธความเชื่อในเชิงศีลธรรมแบบเดิมๆ ที่ว่า การสังหารหมู่ การทรมาน และการปล่อยให้ขาดอาหารเป็นเรื่องภายในประเทศไม่เกี่ยวกับคนอื่น” นายซาลิลกล่าว

คนที่พยายามหนีภัยจากความขัดแย้งและการคุกคาม มักต้องเผชิญอุปสรรคสำคัญในการหนีข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ กลายเป็นว่าการลี้ภัยข้ามพรมแดนเป็นสิ่งที่ทำได้ยากกว่าการขนย้ายปืนและอาวุธสงครามข้ามพรมแดน เพื่อนำไปใช้ก่อความรุนแรงอันเป็นเหตุให้ผู้คนต้องหลบหนีจากบ้านเกิด อย่างไรก็ตาม การที่องค์การสหประชาชาติให้ความเห็นชอบต่อสนธิสัญญาควบคุมการค้าอาวุธ (Arms Trade Treaty - ATT) เมื่อเดือนมีนาคม 2556 ทำให้เกิดความหวังว่าจะสามารถยุติการส่งมอบอาวุธสงครามที่อาจถูกใช้เพื่อกระทำการอันทารุณดังกล่าว

“เราจะต้องไม่ปล่อยให้ปัญหาผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นกลายเป็นเรื่องที่ “ถูกเพิกเฉย” เราทุกคนมีความรับผิดชอบในการให้ความคุ้มครองบุคคลเหล่านี้ โลกสมัยใหม่กับการสื่อสารที่ไร้พรมแดนทำให้การปกปิดข้อมูลการละเมิดสิทธิในประเทศ ทำได้ยากยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นโอกาสที่ไม่เคยมีมาก่อนที่ทุกคนจะสามารถยืนหยัดเรียกร้องสิทธิของคนที่ถูกบังคับให้ต้องอพยพหลบหนีจากบ้านเกิดได้” นายซาลิลกล่าว

ในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ ผู้ลี้ภัยที่หลบหนีไปยังประเทศอื่นเพื่อแสวงหาที่พักพิงมักถูกปฏิบัติในลักษณะเดียวกับคนที่อพยพจากประเทศตนเอง เพื่อไปแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าสำหรับตนเองและครอบครัว พวกเขาจำนวนมากถูกผลักให้อยู่ชายขอบของสังคม ไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายและนโยบายที่ไม่เป็นผล ตกเป็นเหยื่อของการใช้วาทศิลป์เพื่อปลุกเร้าความรู้สึกชาตินิยมและประชานิยม เป็นการกระพือความเกลียดชังด้านเชื้อชาติ และทำให้พวกเขาเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

สหภาพยุโรปนำมาตรการควบคุมพรมแดนมาใช้ เป็นเหตุให้ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเข้าเมืองเกิดความเสี่ยงภัย ทั้งยังไม่ช่วยคุ้มครองความปลอดภัยให้กับคนที่หลบหนีจากภัยความขัดแย้งและการคุกคามได้ ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเข้าเมืองทั่วโลกถูกคุมขังในสถานที่ต่าง ๆ เป็นประจำ และในกรณีที่เลวร้าย บางคนอาจถูกขังไว้ในกรงหรือถูกขังไว้ในตู้คอนเทนเนอร์

สิทธิของผู้พลัดถิ่นกว่า 214 ล้านคนในโลกไม่ได้รับการคุ้มครองทั้งในประเทศของตนเองและประเทศที่ตนไปอาศัยอยู่ ผู้พลัดถิ่นหลายล้านคนทำงานในสภาพที่ถูกเกณฑ์แรงงาน หรือเหมือนแรงงานทาส เนื่องจากรัฐบาลปฏิบัติกับพวกเขาเหมือนเป็นอาชญากร และเนื่องจากบรรษัทการค้าสนใจผลกำไรมากกว่าสิทธิของคนงาน เป็นเหตุให้คนงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารเสี่ยงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้น

“ผู้ที่อาศัยอยู่นอกประเทศตนเอง โดยไม่มีทรัพย์สินหรือสถานภาพใดๆ เป็นประชากรที่ถูกเอาเปรียบมากสุดในโลก พวกเขามักต้องดำรงชีวิตอย่างยากลำบากเพราะต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ อนาคตที่เป็นธรรมมากขึ้นเกิดขึ้นได้ ถ้ารัฐบาลเคารพสิทธิมนุษยชนของคนทุกคน โดยไม่คำนึงถึงสัญชาติของพวกเขา โลกไม่อาจปล่อยให้เกิดพื้นที่ที่ห้ามคนอื่นเข้าได้หากต้องการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนระดับโลกอย่างแท้จริง เนื่องจากการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติเสมอเหมือนกันสำหรับมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ใดก็ตาม” นายซาลิลกล่าว
 

พัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ที่สำคัญในรายงานประจำปีแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล 2556 มีดังนี้

  • แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเสนอข้อมูลการจำกัดสิทธิในการพูดอย่างเสรีในอย่างน้อย 101 ประเทศ และการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายในอย่างน้อย 112 ประเทศ
     
  • ครึ่งหนึ่งของประชากรโลกยังตกเป็นพลเมืองชั้นสองเนื่องจากไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิเนื่องจากเหตุทางเพศสภาพได้ ทั้งกองทัพของรัฐบาลและกลุ่มติดอาวุธยังคงข่มขืนกระทำชำเราในมาลี ชาด ซูดาน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงยังคงเสียชีวิตจากการลงโทษในลักษณะเดียวกับการประหารชีวิต ภายใต้คำสั่งของกลุ่มฏอลีบันในอัฟกานิสถานและปากีสถาน ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงที่ตั้งครรภ์เนื่องจากถูกข่มขืน หรือผู้หญิงและเด็กผู้หญิงที่ตั้งครรภ์และเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เสี่ยงต่อสุขภาพหรือชีวิต ยังไม่ได้รับอนุญาตให้สามารถทำแท้งได้อย่างปลอดภัยและถูกกฎหมายในประเทศต่าง ๆ อย่างเช่น ชิลี เอลซัลวาดอร์ นิการากัว และสาธารณรัฐโดมินิกัน
     
  • ตลอดทั่วทวีปแอฟริกา ความขัดแย้ง ความยากจนและการละเมิดสิทธิที่เป็นผลมาจากกองทัพและกลุ่มติดอาวุธ เผยให้เห็นความอ่อนแอของกลไกสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ แม้ว่ากำลังมีการเตรียมเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 50 ปีของสหภาพแอฟริกา (African Union) โดยจะมีการประชุมสุดยอดที่ประเทศเอธิโอเปียในสัปดาห์นี้ (19-27 พฤษภาคม 2556)
     
  • ในทวีปอเมริกา การฟ้องคดีในประเทศอาร์เจนตินา บราซิล กัวเตมาลา และอุรุกวัย เป็นก้าวย่างสำคัญที่นำไปสู่ความยุติธรรมและไปพ้นจากการละเมิดสิทธิ แต่ระบบสิทธิมนุษยชนแห่งทวีปอเมริกาก็กำลังตกเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์ของรัฐบาลหลายแห่ง
     
  • เสรีภาพในการแสดงออกได้ถูกโจมตีอย่างมากตลอดทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีทั้งกรณีที่รัฐกดขี่ปราบปรามอย่างเช่น กัมพูชา อินเดีย ศรีลังกา และมัลดีฟส์ ในขณะที่การขัดแย้งกันด้วยอาวุธส่งผลกระทบต่อประชาชนหลายหมื่นคนในอัฟกานิสถาน พม่า ปากีสถาน และไทย แม้ว่าทางการพม่าจะปล่อยตัวนักโทษการเมืองหลายร้อยคน แต่ก็ยังมีอีกหลายร้อยคนที่ถูกจับกุมตัวอยู่
     
  • ในทวีปยุโรปและเอเชียกลาง การเรียกร้องความรับผิดต่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้นในยุโรปอันเนื่องมาจากโครงการจับตัวผู้ต้องสงสัยส่งผ่านยุโรปไปสหรัฐฯ (renditions) ยังไม่ได้รับการแก้ไข ในคาบสมุทรบอลข่าน มีความเป็นไปได้น้อยลงที่เหยื่อของอาชญากรรมสงครามในช่วงทศวรรษ 1990 จะได้รับความยุติธรรม ในขณะที่การเลือกตั้งทั่วไปในจอร์เจียเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของการผ่องถ่ายอำนาจตามระบอบประชาธิปไตยในอดีตประเทศสหภาพโซเวียต เนื่องจากประเทศกลุ่มดังกล่าวมักมีระบอบปกครองเผด็จการรวบอำนาจ
     
  • ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ในประเทศที่มีการขับไล่ผู้นำเผด็จการออกไปแล้ว จะมีเสรีภาพของสื่อเพิ่มมากขึ้นและภาคประชาสังคมก็มีบทบาทมากขึ้น แต่ก็มีความถดถอยเช่นกัน เนื่องจากยังมีการอ้างเหตุผลด้านศาสนาหรือศีลธรรมเพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก ตลอดทั่วภูมิภาค นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและการเมืองยังคงต้องเผชิญการปราบปรามต่อไป รวมทั้งถูกคุมขังและถูกทรมาน ในเดือนพฤศจิกายนได้เกิดเหตุความขัดแย้งรอบใหม่ในเขตฉนวนกาซา/พรมแดนอิสราเอล
     
  • ในระดับโลก การใช้โทษประหารชีวิตมีแนวโน้มลดลงต่อไป แม้จะมีส่วนที่ถดถอยอยู่บ้าง อย่างกรณีการประหารชีวิตเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปีของประเทศแกมเบีย และการประหารชีวิตผู้หญิงเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปีของญี่ปุ่น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท