Skip to main content
sharethis

สายส่งเชื่อมไฟฟ้าภาคกลางสู่ภาคใต้ขัดข้อง ทำให้เกิดไฟฟ้าดับในภาคใต้หัวค่ำนี้ ด้านผู้ว่าฯ กฟผ. ระบุภาคใต้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงถึง 2,500 เมกะวัตต์ ขณะที่ผลิตได้เองในพื้นที่ 2,000 เมกะสัตต์ จึงต้องนำไฟฟ้ามาจากภาคกลาง เสนอเตรียมรองรับปัญหาในอนาคต ด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม

จากกรณีไฟฟ้าดับที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่เวลาประมาณ 18.52 น. นั้น ล่าสุด สำนักข่าวไทย รายงานคำให้สัมภาษณ์ของนายธนา พุทธรังษี รองผู้ว่าการระบบส่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. เปิดเผยว่า ขณะนี้เร่งแก้ปัญหาไฟฟ้าดับใน  14  จังหวัดภาคใต้ ที่เกิดไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้างหลายพื้นที่ ตั้งแต่เวลา 18.52 น. ที่ผ่านมา  โดยเหตุผลเกิดจากสายส่งขนาด 500 KV ซึ่งเป็นสายส่งจอมบึง- ประจวบ ซึ่งเป็นสายส่งหลักที่ส่งไฟฟ้าจากภาคกลางไปภาคใต้ เกิดขัดข้อง โดยขณะนี้กำลังเร่งแก้ไขด่วน จึงยังไม่สามารถระบุได้ว่ากลับมาใช้งานในช่วงเวลาใด
 
โดยสายส่งไฟฟ้าของ กฟผ.ไปยังภาคใต้ มี 2 วงจร ขณะนี้ 1 วงจรอยู่ระหว่างการปรับปรุงซ่อมแซม จึงปลดออกจากระบบ และ อีก 1 วงจร ขัดข้อง จึงเกิดไฟดับ ซึ่งตามปกติโรงไฟฟ้าใต้มีการจ่ายไฟฟ้าไม่เพียงพอกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภาคที่ขยายตัวสูง จึงส่งจากไฟฟ้าจากภาคกลางไปหล่อเลี้ยง

ทั้งนี้ข่าวประชาสัมพันธ์ของ กฟผ. ระบุด้วยว่า "เวลา 18.52 น. เกิดเหตุไฟฟ้าดับทางภาคใต้ เนื่องจากสายส่งเชื่อมโยงภาคกลางและภาคใต้ขัดข้อง ทำให้การจ่ายไฟเสริมระบบภาคใต้ดับทั้งภาค สาเหตุยังไม่ระบุแน่ชัด แต่ในขณะนี้ เริ่มทะยอยจ่ายไฟได้แล้วเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้คาดว่าเวลาประมาณ 21.00 น. จะสามารถจ่ายไฟได้ทั้งหมด"

 

 
ผู้ว่าฯ กฟผ. ระบุไฟดับภาคใต้ต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม

นอกจากนี้ประชาชาติธุรกิจ ได้อ้างคำให้สัมภาษณ์ของนายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่า กฟผ. ซึ่งให้สัมภาษณ์ผ่านสถานีวิทยุเอฟ.เอ็ม 100.5 ถึงปัญหาไฟฟ้าดับภาคใต้ 14 จังหวัด ซึ่งให้ข้อมูลว่าภาคใต้มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น โดยมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นปีละ 10% อีกส่วนหนึ่งมาจากการสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นไม่ทัน จึงต้องอาศัยไฟฟ้าเชื่อมโยงมาจากภาคกลาง อย่างก็ตามสายส่งดังกล่าวมีปัญหา เมื่อเส้นสายส่งไฟฟ้าที่มาเลี้ยงตลอดเวลามาไม่ได้ ทำให้ระบบรักษาความสมดุลไม่ได้จึงเกิดเหตุไฟดับ

ผู้ว่าฯ กฟผ. ระบุว่า แผนการเตรียมการรองรับในอนาคตป้องกันปัญหาไฟดับ ต้องมีโรงไฟฟ้าที่พอเพียงและมีไฟในระบบเชื่อมต่อหล่อเลี้ยงได้ แต่เหตุที่เกิดขึ้น เริ่มจะไม่สมดุลมากขึ้นเพราะในภาคใต้การใช้กระแสไฟฟ้าพีค สุดที่ 2,500 เมกะวัตต์ แต่ กฟผ. สามารถผลิตและมีเครื่องมือรองรับที่ 2,000 เมกะวัตต์ เกินสภาพที่จะรับ เมื่อการใช้ไฟแบบพีคเกิดขึ้นกระทันระบบจะรับการเปลี่ยนแปลงขนาดนี้ไม่ได้ ดังนั้นระยะยาวต้องวางแผนให้มีโรงไฟฟ้าพอเพียง นอกจากขณะนี้ที่ใช้สายส่งภาคกลางลงไปช่วย

นายสุทัศน์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามยังมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่กระบี่และที่จะนะ 2 ซึ่งส่วนนี้จะทำให้ผลิตไฟฟ้าได้ขึ้นอีกในภาคใต้ 800 เมกะวัตต์ โดยรวมการใช้ไฟในภาคใต้ก็น่าจะดีขึ้น ส่วนแผนที่ต้องดูแลเฉพาะหน้าชั่วคราวขณะนี้ คือดูแลระบบส่งและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องให้เป็นพิเศษ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net