Skip to main content
sharethis

“พวกเราพี่น้องที่ทุกข์ยาก ไม่อยากถูกดำเนินคดีอีก และไม่อยากกลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัย เป็นคนตกขอบของแผ่นดิน...” นายเด่น คำแหล่ จำเลยคดีบุกรุกที่ดินของตัวเอง เดินหน้าปักหลักร่วมต่อสู้กับ ‘พีมูฟ’ หลังคืนสู่อิสรภาพ (ชั่วคราว) อีกครั้ง

 
ตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 พ.ค.56 ที่ประชาชนในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟจากทั่วประเทศกว่า 2,000 คนได้เดินทางมารวมตัวที่ข้างรั้วทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงถามและติดตามการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ตามที่รัฐบาลเคยสัญญาไว้  
 
วันแต่ละวันผ่านไป จนมีการเคลื่อนย้ายที่ชุมนุมไปบริเวณริมคลอง ข้างกระทรวงศึกษา เพื่อหลีกทางให้กับงานพระราชพิธี ถึงขณะนี้ ยังไม่มีทีท่าของความกระตือรือร้นในการแก้ปัญหาจากคนในฝากฝั่งของรัฐบาล ขณะที่กำหนดวันเวลายุติการชุมนุมก็เคลื่อนออกไปเรื่อยๆ
 
อย่างไรก็ตาม ในที่ชุมนุมก็ยังมีกิจกรรมเคลื่อนไหวไม่เคยขาด เพื่อสร้างบรรยากาศของการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม
 
ล่าสุดวันนี้ (16 พ.ค.56) ในที่ชุมนุมพีมูฟ มีการจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญ นายเด่น คำแหล่ วัย 62 ปี ประธานโฉนดชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ซึ่งเพิ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หลังจากต้องถูกจองจำจากคดีบุกรุกที่ป่า ในพื้นที่สวนป่าโคกยาว เขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม 
 
 
000
 
เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา นายเด่น ในฐานะแกนนำคนหนึ่งของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ได้นำสมาชิกในเครือข่าย กว่า 30 ชีวิต เดินทางเข้าสมทบกับสมาชิก คปอ. ซึ่งร่วมชุมนุมกับพีมูฟ
 
“เมื่อเกิดความไม่เท่าเทียม ถูกกดขี่ ข่มแหง พวกเราจึงเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน และจัดสรรที่ดินให้อย่างเป็นธรรม” นายเด่นกล่าว
 
ก่อนหน้านี้ กลุ่มชาวบ้านฟีมูฟได้ร่วมกันเดินรณรงค์จากที่ชุมนุมไปยังศาลฎีกา บริเวณฝั่งตรงข้ามสนามหลวง เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมถึงประธานศาลฎีกา กรณีที่นายเด่น คำแหล้ และภรรยา ซึ่งศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา สั่งจำคุกทั้งสองเป็นเวลา 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และไม่ให้ประกันตัว 
 
ในวันเดียวกันนั้นเอง ศาลฎีกาก็ได้มีคำสั่ง อนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยทั้งสองชั่วคราวในระหว่างฎีกา โดยได้เพิ่มหลักทรัพย์จากรายละ 200,000 บาท เป็นรายละ 300,000 บาท
 
“ชาวบ้านโดนจับกุมฐานบุกรุกในที่ดินของตัวเอง” นี่คือคำอธิบายต่อกรณีที่เกิดขึ้น ตามความเห็นของชาวบ้าน
 
000
 
นายเด่น เล่าถึงประสบการณ์ชีวิตให้ฟังว่า เดิมเป็นคน ภุมภวาปี จ.อุดรธานี และได้เข้าร่วมเป็นทหารแนวหน้าตามป่าเขา ในเขตงาน 196 พื้นที่ภูเขียวร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศ (พคท.)
 
ประสบการณ์ชีวิตในช่วงหนึ่ง เขาต้องลุกขึ้นมาถือปืนต่อสู้ ด้วยเหตุจากความเห็นต่างทางการเมือง และต้องการเรียกร้องความเป็นธรรม เนื่องจากโครงสร้างสังคมขณะนั้นประชาชนถูกผู้มีอำนาจเอาเปรียบเรื่อยมา กระทั่งเกิดเหตุการณ์นองเลือด เมื่อ 6 ต.ค.19 นักศึกษา ประชาชนที่ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย หลายพันคนต้องสังเวยชีวิต
 
ภายหลังออกจากป่า นายเด่น เล่าว่า เข้ามายึดอาชีพรับจ้างเป็นจับกังแบกหามข้าวโพด ที่ ต.ทุ่งลุยลาย กระทั่งมาพบรักกับนางสุภาพ สนิทนิตย์ จากนั้นปี 2527 จึงได้จดทะเบียนสมรส และยึดอาชีพเกษตรกร บนพื้นที่ของพ่อตา และแม่ยายที่มอบเป็นมรดกตกทอดนับแต่นั้นเรื่อยมา
 
แต่ชีวิตที่ดูจะราบรื่นต้องกลับเข้ามาสู่วังวนแห่งการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมอีกครั้ง เมื่อสิทธิในการทำกินทำกินบนผืนแผ่นดินของครอบครัวถูกลิดรอนจากกฎหมายของรัฐ  
 
 
000
 
กรณีพื้นที่พิพาทสวนป่าโคกยาวของนายเด่นและชาวบ้านในชุมชนโคกยาว ต้องนับย้อนไปถึงความขัดแย้งตั้งแต่เมื่อครั้งพื้นที่ดังกล่าวถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ครอบคลุมพื้นที่ ต.ทุ่งลุยลาย ต.ทุ่งพระ ต.ทุ่งนาเลา ต.ห้วยยาง ต.ดงกลาง อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ประมาณกว่า 290,000 ไร่ เมื่อปี 2516
 
ต่อมา มีโครงการปลูกสวนป่าโคกยาว ทดแทนพื้นที่สัมปทาน ด้วยการนำไม้ยูคาลิปตัสมาปลูกในพื้นที่ เมื่อปี 2528 ซึ่งขณะนั้นเจ้าหน้าที่ป่าไม้และกองกำลังทหารพรานได้อพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ทำกินเดิม โดยสัญญาว่าจะจัดสรรที่ดินแห่งใหม่ให้รายละ 15 ไร่
 
แต่เมื่อชาวบ้านบางส่วนออกจากพื้นที่ เพื่อเตรียมการจะเข้ามาอยู่ตามพื้นที่จัดสรร กลับปรากฏว่าเป็นที่ดินผืนนั้นมีเจ้าของเป็นผู้ครอบครองอยู่แล้ว ทำให้ชาวบ้านจึงเสมือนตกอยู่ในสภาพถูกลอยแพ กลายเป็นคนไร้ที่ดิน
 
ดังนั้น ชาวบ้านบางส่วนจึงลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องต่อสู้เพื่อนำที่ดินทำกินของตนเองกลับคืนมา โดยหนึ่งในวิธีการคือการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ทำกินเดิม
 
000
 
นายเด่น เล่าว่า ผลจากการต่อสู้ชีวิตเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม สุดท้ายตนเองกับภรรยาและชาวบ้านรวม 10 ราย กลับต้องตกเป็นจำเลยในคดีความของศาล
 
จากเหตุการณ์เมื่อเช้ามืดของวันที่ 1 ก.ค.54 นายประทีป ศิลปะเทศ นายอำเภอคอนสาร ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ และอาสาสมัคร กว่า 200 นาย บุกเข้าจับกุมชาวบ้าน หิ้วขึ้นสถานีตำรวจภูธรห้วยยาง แจ้งข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนฯ และส่งฟ้องชาวบ้านโดยแยกออกเป็น 4 คดี
 
กระทั่ง คดีเดินหน้าผ่านศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ซึ่งล้วนตัดสินว่าชาวบ้านมีความผิด โดยอ้างอิง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 
 
“โดยส่วนตัว แม้ศาลฎีกามีคำสั่งให้ประกันชั่วคราว ในกระบวนการยุติธรรมนั้นจะต้องมีจิตสำนึกที่แน่วแน่ในการวินิจฉัย ตัดสินคดีความด้วยความเป็นธรรม โดยเท่าเทียม ด้วยว่าผู้ถูกคดีและผู้ถูกกล่าวหาเป็นเพียงเกษตรกรคนยากจน ทำประโยชน์ในพื้นที่มาก่อนที่จะมีการประกาศเขตป่าฯ ชาวบ้านมีสิทธิในพื้นที่มามากกว่าที่จะเอากฎหมายมาเล่นงาน ที่สำคัญเขามีวิถีการดำเนินชีวิตด้วยการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเพียงเลี้ยงชีวิตไปวันๆ” นายเด่นให้ความเห็น
 
ในส่วนรัฐบาล นายเด่นกล่าวว่า ควรต้องมีการวางแนวทางและนโยบาย โดยสิ่งที่เก่าและล้าสมัยควรนำมาปรับลดให้สอดคล้อง สมดุล เพื่อความถูกต้องและเป็นธรรมอย่างถึงที่สุด ไม่ว่าจะในแง่ของกฎหมาย หรือการจัดสรรปฏิรูปที่ดินให้ครบถ้วนรอบด้าน
 
“พวกเราพี่น้องที่ทุกข์ยาก ไม่อยากถูกดำเนินคดีอีก และไม่อยากกลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัย เป็นคนตกขอบของแผ่นดิน เพราะเราต่างเป็นคนไทยที่มีสิทธิ์บนผืนแผ่นดินนี้โดยเท่าเทียมกัน พวกเราจึงต้องมาชุมนุม เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่ได้รับความเดือดร้อน” ประธานโฉนดชุมชนโคกยาวเน้นย้ำ
 
 
000
 
ช่วงเวลาที่ผ่านมา นโยบายของรัฐ ทั้งการประกาศพื้นที่ป่าทับที่ทำกินเดิม และการไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ ได้ก่อปัญหา จนทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้อง กระทั่งเกิดเป็นคดีความกับประชาชนมากมาย และบทสรุปสุดท้ายในกระบวนการยุติธรรม ชาวบ้านซึ่งเป็นเพียงเกษตรกรคนจนๆ ธรรมดา มักจะถูกตัดสินโดยเป็นผู้ตกเป็นฝ่ายผิดโดยเสมอ บางรายถูกกุมขังอยู่ในเรือนจำ
 
ดังกรณี ของสมาชิก คปอ. 6 จังหวัด ซึ่งถูกดำเนินคดีในข้อหา ‘บุกรุก’ ที่ทำกินตัวเอง กว่า 90 ราย ทั้งในพื้นที่ทับซ้อนเขตป่า ตัวย่าง กรณีเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าภูผาแดง จ.เพชรบูรณ์ กรณีสวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ กรณีเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าผาผึ้ง ต.ห้วยยาง อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ กรณีสวนป่าคอนสาร ต.ทุ่งพระ (บ้านบ่อแก้ว) อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ และพื้นที่พิพาทที่ดินสาธารณะประโยชน์ ชุมชนดอนฮังเกลือ ต.บึงเกลือ จ.ร้อยเอ็ด
 
รวมถึงอีกหลายกรณีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ
 
แน่นอนว่า ปัญหาที่สั่งสมมายาวนานย่อมไม่สามารถแก้ไขในเวลาเพียงข้ามคืน และสำหรับชาวบ้านความต้องการคงไม่ให้แค่เพียงการประชุม แต่คือรูปธรรมของของการแก้ปัญหาที่ต้องเดินหน้าไปพร้อมๆ กับการมีส่วนร่วมของพวกเขา
 
“ที่ผ่านมารัฐบาลรับปากชาวบ้านมาหลายครั้ง แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ดำเนินการใดๆ ครั้งนี้พวกเราทุกเครือข่ายต่างปักหลักร่วมกันแล้วว่า หากครั้งนี้คำสัญญาที่รัฐเคยให้ไว้ หากไม่มีความชัดเจน ไม่สามารถแตะต้องได้ พวกเราจะไม่กลับ จะคงยืนหยัดจนกว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไข ตามที่รัฐบาลได้มีข้อตกลงร่วมกันไว้” นายเด่นกล่าวย้ำ
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net