Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ในระยะ 6 ปีที่ผ่านมา องค์กรอิสระหนึ่งที่เป็นเครื่องมือสำคัญของฝ่ายอำมาตย์ในการต่อต้านประชาธิปไตย ก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ประเด็นปัญหามีหลายครั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้ข้อวินิจฉัยอันแปลกประหลาด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของฝ่ายอนุรักษ์นิยม รักษาอำนาจของฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ และทำลายขบวนการประชาธิปไตย ดังนั้น ภาพพจน์ของศาลรัฐธรรมนูญ จึงย่ำแย่ในสายตาของประชาชนคนเสื้อแดงเสมอมา การชุมนุมต่อต้านคัดค้านศาลรัฐธรรมนูญโดยมวลชนคนเสื้อแดงในระยะสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นจึงเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ และเป็นเรื่องที่จะต้องได้รับการสนับสนุน

รากฐานความเป็นมาของศาลรัฐธรรมนูญ คือองค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2540 เพื่อให้เป็นองค์กรที่ทำหน้าวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาอรรถคดีทั่วไป ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญยึดโยงกับวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ต่อมา เมื่อเกิดรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 หลังจากการรัฐประหาร ก็ยังคงระบุให้มีศาลรัฐธรรมนูญ แต่ได้ปรับเปลี่ยนองค์ประกอบและที่มาเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญรับใช้ฝ่ายอำมาตย์ชัดเจนมากขึ้น

องค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน มี 9 คน โดยพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากบุคคลต่อไปนี้ คือ ให้เลือกมาจากศาลฎีกา 3 คน จากศาลปกครองสูงสุด 2 คน และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ที่ศาลเป็นคนเลือกอีก 4 คน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าปัญหาแรกสุดของศาลรัฐธรรมนูญทั้งชุดก็มาจากศาล โดยไม่มีการรองรับจากอำนาจของประชาชนเลย

ต่อมา ในทางปฏิบัติศาลรัฐธรรมนูญได้กระทำการอันไม่ถูกต้องชอบธรรมจำนวนมาก ดังตัวอย่างเช่น ตั้งแต่เมื่อยังเป็นคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ตามการแต่งตั้งของคณะทหารก็ได้ใช้อำนาจยุบพรรคไทยรักไทย และพรรคเล็ก 3 พรรค เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2550 และถอนสิทธิทางการเมืองของคณะกรรมการพรรคทั้ง 4 พรรคเป็นเวลา 5 ปี โดยลงโทษแบบเหมาเข่งและใช้โทษย้อนหลัง ซึ่งขัดกับหลักยุติธรรมสากล

ต่อมา ในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2551 เมื่อตั้งขึ้นเป็นศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 แล้ว ก็ได้ใช้อำนาจในการวินิจฉัยให้นายสมัคร สุนทรเวช พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะจัดรายการโทรทัศน์ชิมไปบ่นไป ในกรณีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญหาข้อกฎหมายเอาผิดนายสมัครไม่ได้ ก็ใช้พจนานุกรมเป็นหลักในการวินิจฉัย ซึ่งกลายเป็นมลทินอันสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญมาจนถึงปัจจุบัน

วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2551 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน พรรคมัชฌิมา และ พรรคชาติไทย แล้วตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารทั้ง 3 พรรค 5 ปี ในครั้งนี้ ศาลรีบร้อนทำคำวินิจฉัยถึงขนาดใส่ชื่อพรรคที่ถูกยุบสลับกัน ผลจากการวินิจฉัยของศาล ทำให้รัฐบาลของนานสมชาย วงศ์สวัสดิ์สิ้นสภาพ และเปิดทางให้พรรคประชาธิปัตย์ที่มีเสียงข้างน้อยในสภา ได้จัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเป็นอีกครั้งที่ชี้ให้เห็นว่าการดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญ ไปในทิศทางเดียวกับฝ่ายพันธมิตร และพรรคประชาธิปัตย์

จากนั้น วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2553 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยกคำร้องในกรณียุบพรรคประชาธิปัตย์ โดยไม่มีการวินิจฉัยความผิด ศาลรัฐธรรมูญอ้างว้าคณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.)ยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลเกินเวลา 15 วันตามที่กฎหมายกำหนด จึงไม่อาจรับคำร้องมาพิจารณา ซึ่งกรณีนี้แสดงถึงการปกป้องรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์อย่างชัดเจน

การปกป้องพรรคประชาธิปัตย์ของศาลรัฐธรรมนูญได้รับการยืนยันจากการที่มีการเผยแพร่คลิปการหารือและต่อรองที่จะช่วยเหลือ ในเรื่องคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งแสดงให้เห็นการเกี่ยวข้องของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกับพรรคประชาธิปัตย์ ปรากฏว่าเรื่องนี้ แทนที่ศาลจะสืบสวนหาข้อเท็จจริง กลับไปหาเรื่องเล่นงานคนเผยแพร่คลิป

ที่กลายเป็นเรื่องใหญ่คือวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2555 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติให้รับคำร้องในกรณีที่มีพรรคประชาธิปัตย์ฝ่ายพันธมิตร และ กลุ่ม สว.สรรหา ได้ยื่นฟ้องว่า การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาที่ผ่านวาระที่ 2 ในขณะนั้นขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เพราะ”ได้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีผลทำให้เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”  ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งให้รัฐสภาระงับการพิจารณาจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย ทำให้รัฐสภาต้องระงับการลงมติในวาระที่ 3 และญัตตินี้ยังคงค้างมาถึงปัจจุบัน กรณีนี้ได้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญอย่างมาก ในกรณีที่ใช้อำนาจเข้าแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติของรัฐสภา ยิ่งกว่านั้น ในมาตรา 68 เองได้ระบุไว้ว่า  ผู้ร้องตามมาตรานี้ ต้องเสนอต่อคณะอัยการสูงสุดให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องร้องเรียนเองได้ โดย วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ อ้างว่า ให้ดูจากคำแปลภาษาอังกฤษจะตีความได้ตามที่ศาลดำเนินการ

ล่าสุดในวันที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติรับคำร้องที่นายสมชาย แสวงการ สว.สรรหา เพื่อให้ยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ของรัฐสภา โดยอ้างว่า เป็นการจำกัดสิทธิของประชาชน ซึ่งหมายถึงว่า ศาลรัฐธรรมนูญสามารถที่จะเข้ามาแทรกแซงการพิจารณากฎหมายของรัฐสภาได้ตามอำเภอใจ กรณีนี้น่าจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้พรรคเพื่อไทยมีมติปฏิเสธอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ และนำมาซึ่งการที่ประชาชนคนเสื่อแดงตัดสินใจมาชุมนุมต่อต้านศาลรัฐธรรมนูญ

การชุมนุมของประชาชนคนเสื้อแดงที่หน้าศาลรัฐธรรมนูญเริ่มต้นในวันที่ 21 เมษายน นำโดยกลุ่มวิทยุชุมชน ที่ชุมนุมท้าทายความชอบธรรมของศาลรัฐธรรมนูญ โดยตั้งข้อเรียกร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลาออกหรือยุติการทำหน้าที่ การชุมนุมยังคงยืดเยื้อมาอีกหลายวัน และมีประชาชนเข้าร่วมนับหมื่นคน และได้มีการล่ารายชื่อเพื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคณะนี้ด้วย

ขณะที่เขียนบทความนี้ การชุมนุมของประชาชนยังคงดำเนินอยู่ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ที่มีการชุมนุมของประชาชนเพื่อต่อต้านศาล บทความนี้ขอจบด้วยบทกวีของยังวัน ชื่อ “ศาลธนญชัย” มีข้อความว่า

มุ่งแต่เอา ชนะ จนละหลัก                   ตีความชัก พจนานุกรม ล้มหลักฐาน

เอาถ้อยอ้าง เอาข้างแถ แท้สันดาน       ล้วนเล่ห์เหลี่ยม วิชามาร ศาลธนญชัย.

 

 

 

ที่มา: โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 409  วันที่ 4 พฤษภาคม 2556

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net