Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมเห็นกรุงเทพมหานครว่าจะเพิ่มเส้นทางรถ BRT (Bus Rapid Transit) แล้ว บอกได้คำเดียวว่า "อย่า" หมายถึงอย่าขยายเลย BRT ไม่ใช่สรณะในการแก้ปัญหาจราจรเลย ผมจึงขออนุญาตนำบทเรียนของรถ Busway หรือ Transjakarta ซึ่งเป็น BRT ของอินโดนีเซียมาเล่าให้ฟังครับ

ผมไปกรุงจาการ์ตาครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2526 และแวะเวียนไปเป็นระยะ ๆ ผมเคยไปทำงานในโครงการที่ปรึกษาของกระทรวงการคลัง อินโดนีเซีย และยังเคยไปศึกษาการวางแผนพัฒนาสาธารณูปโภคของธนาคารโลก ณ กรุงจาการ์ตาอีกด้วย  นอกจากนั้นยังไปสำรวจโครงการตลาดที่อยู่อาศัยที่นั่นมาตั้งแต่ พ.ศ.2549 ซึ่งเป็นการสำรวจที่ได้ข้อมูลที่มากและครอบคลุมมากที่สุดโดยศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

ทุกครั้งที่ผมไป หลังเสร็จจากภารกิจที่มี 'ราชรถมาเกย' แล้ว  ผมจะพยายามไปใช้บริการรถ BRT เพื่อศึกษา ตลอดจนนั่งรถสองแถวบ้าง สามล้อบ้าง จักรยานยนต์รับจ้างบ้าง แท็กซี่บ้าง เพื่อศึกษาดูการจราจรภาคปฏิบัติ  ผมพบอย่างหนึ่งว่า สำหรับคนที่พอมีพอกิน หรือชนชั้นกลางระดับกลางบน เช่น ระดับ C+ หรือ B- ขึ้นไป ไม่ค่อยนั่งรถ Busway อาจเป็นเพราะไม่สะดวกสบายเช่นรถ BRT บ้านเรา  ต่างใช้รถจักรยานส่วนตัวหรือไม่ก็รถยนต์เท่าที่ฐานะจะอำนวย

Busway ของอินโดนีเซียสายแรก เกิดขึ้นเมื่อปี 2547 หรือ ก่อนไทย 6 ปี ปัจจุบันนี้มีประมาณ 14 เส้นทาง จากที่วางแผนไว้ 15 เส้นทาง โดยมีสถานีหยุดรถ 200 จุด มีรถอยู่ราว 600 คัน รวมระยะทางบริการเกือบ 200 กิโลเมตร ซึ่งนับว่าเป็นระบบที่มีความยาวมากที่สุดในโลก มากกว่าที่กรุงโบโกตา เมืองต้นตำรับของ BRT เสียอีก

แต่ละวันมีผู้โดยสาร Busway ประมาณ 350,000 คน โดยคิดค่าโดยสารประมาณ 11 บาท แต่ทั้งนี้รัฐบาลต้องจ่ายเงินอุดหนุนให้กับบริษัทที่ให้บริการอีกประมาณหัวละ 6.3 บาท ทั้งนี้เพื่อตรึงราคาค่าโดยสารให้ถูกเข้าไว้ โดยถือเป็นบริการสาธารณะสำหรับประชาชนและลดปัญหาการจราจรอีกด้วย

การที่ Busway สามารถขยายตัวได้มากในกรุงจาการ์ตาก็เพราะที่นี่ไม่มีรถไฟฟ้า หรืออีกนัยหนึ่งไม่มีเงินเพียงพอที่จะสร้างรถไฟฟ้าเช่นมหานครอื่น ๆ หรือมีเงิน แต่เพื่อเอื้ออำนวยกับบริษัท Busway ก็เลยไม่สร้าง ซื้อเวลาไปเรื่อย  ซึ่งก็คล้ายกับพวกแพขนานยนต์ที่ต่อต้านสะพานข้ามแม่น้ำ หรือชาวบ้านที่ถูกเวนคืนเพียงหยิบมือเดียวก็ต่อต้านการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเพื่อคนนับล้านๆ เป็นต้น

กรุงจาการ์ตาก็เคยคิดจะสร้างรถไฟฟ้าเหมือนกัน แต่พับไปในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ทุกวันนี้ยังมี 'อนุสรณ์สถาน' ให้เห็นเป็นแท่งหิน  แต่ของไทยคงโกงกินกันน้อยกว่า จึงยังมีเหลือซากเป็น 'Stonehenge' หรือโครงการรถไฟฟ้า Hopewell คือนอกจากมีเสาแล้ว ยังมีคานพานไว้เพิ่มเติม  และของไทยยังมีรถไฟฟ้าเสร็จสามารถใช้งานได้อีก 2 สายคือ BTS และMRT  ขณะนี้กรุงจาการ์ตาก็กำลังก่อสร้างรถไฟฟ้า โดยคาดว่าจะสามารถใช้งานสายแรกได้ในปี 2559 สายต่อมาจะเสร็จในปี 2561 ส่วนสายที่ 3 จะเสร็จในราวปี 2567-2570  ผมก็หวังว่าผมคงจะอยู่ถึงตอนเปิดใช้!

ปัญหาของรถ Busway ในกรุงจาการ์ตาก็คือ เลนที่มีไว้ตลอด 24 ชั่วโมง มันเกินความจำเป็น น่าจะมีเฉพาะในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน  ขณะเดียวกันในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ก็มีรถส่วนบุคคลหรือรถอื่น ๆ วิ่งเข้ามาใช้เส้นทางรถ Busway ทำให้รถ Busway ขับไปไม่ได้  จึงทำให้ไม่อาจแก้ไขปัญหาการจราจรโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วนได้จริง

หากวิเคราะห์ถึงจำนวนผู้โดยสารจะพบว่า ในแต่ละวันมีผู้โดยสารรถ Busway ของกรุงจาการ์ตา 350,000 คน หรือราวครึ่งหนึ่งของรถ BTS ของไทย ณ วันละ 550,000 - 600,000 คน ทั้งที่ BTS มีระยะทางเพียง 33 กิโลเมตร และมีสถานีรวมเพียง 33 สถานี  ขณะที่รถ BRT ของไทยมีผู้ใช้บริการวันละ 20,000 คน เท่านั้น และรถประจำทางในกรุงเทพมหานครทั้งระบบมีผู้ใช้บริการ 1 ล้านคน

จะเห็นได้ว่าการมี BRT ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาจราจรแต่อย่างใด แต่กลับยิ่งทำให้การจราจรบนถนนพระรามที่ 3 และถนนนราธิวาส ติดขัดหนักกว่าเดิม    ผมจึงเคยเสนอให้มีBus Lane (โดยไม่ต้องมี BRT ให้เป็นภาระ) เฉพาะในช่วงเร่งด่วน  จับปรับคนที่ฝ่าฝืน และหลังจากเวลาดังกล่าว ก็ให้คืนช่องทางจราจรให้กับรถอื่่น ๆ ไปเสีย

อนึ่งตั้งแต่หลังเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นต้นมา ท่านผู้ว่าฯ ก็มีนโยบายลดค่าโดยสารจาก 10  บาท เป็น 5 บาท ซึ่งสร้างความแปลกใจให้กับผู้ใช้บริการเป็นอย่างมาก  ทั้งนี้เพราะไม่ได้มีผู้โดยสารใดเรียกร้องว่าค่าโดยสารนี้แพงแต่อย่างใด  การสั่งลดนี้ก็คงยิ่งเพิ่มการขาดทุนให้กับ BRT  การให้ในสิ่งที่ไม่ได้เป็นความต้องการจำเป็น อาจไม่ได้ความนิยมดังหวัง แต่อาจเกิดคำถามจากประชาชนถึงความสามารถในการวางแผนและการบริหารก็ได้

นี่แหละครับเราจึงเรียนรู้โลกเพื่อเปลี่ยนแปลงไทยให้ดีกว่าเดิมโดยมีกรณี Busway / BRT เป็นอาทิ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net