Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เกริ่นนำ

 การถูกกดบังคับเป็นกิจกรรมตามปกติของอำนาจที่ดำเนินไปในกรอบพื้นที่และช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์  ประโยคนี้เป็นข้อเสนอหลังสมัยใหม่ (Post Modern Trend) ซึ่งท้าทายมโนทัศน์ของนักคิดสมัยใหม่ (Modern Trend) เป็นอย่างมาก เพราะการกดบังคับแง่ที่ทำให้เกิดประโยชน์ในด้านระเบียบวิธี (Method) เช่น แบบแผนของจารีตที่ชำระใหม่ หรือกฎหมายที่ถูกแก้ ก็ล้วนแต่น่าเชื่อว่าจะนำสังคมไปสู่ความมีระบบระเบียบอันเป็นภาพลักษณ์เบื้องต้นของความสงบสุขในสังคมได้ทั้งสิ้น? กระนั้น ระเบียบวิธีแบบที่ว่า ยังรวมถึงนวัตกรรมที่เป็นมรดกจากยุคโครงสร้างนิยมอย่าง สายพานการผลิตของสังคมโรงงาน ระบบเงินกู้และตลาดหุ้น อีกด้วย และพวกนี้เองก็เป็นผลโดยตรงให้เกิดความยากดีมีจนในโลกอย่างที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกวันนี้ความแตกต่างทางรายได้ของผู้ที่ร่ำรวยและเต็มเปี่ยมไปด้วยโอกาส กับ คนยากจนซึ่งด้อยโอกาส จะมีสูงกว่าที่เคยเป็นมาในประวัติศาสตร์หลายเท่าตัว ฉะนั้น เมื่อนักคิดหลังสมัยใหม่ตั้งคำถามกับ “การถูกกดบังคับ” จึงกลายเป็นการศึกษาที่ซับซ้อนและเต็มไปด้วยคำอธิบายที่คลุมเครือ และแน่นอน ในรัฐไทยมีนักคิดมากมายพยายามพูดถึงการถูกกดบังคับเนื่องมาจากอำนาจต่างๆโดยพยายามสร้างระเบียบวิธีในการอธิบาย (Method)? ทว่า ปฏิบัติการของอำนาจและวาทกรรมที่เลื่อนไหลไปตามวิธีตีความแบบหลังใหม่กลับมีความเฉพาะตัวสูง และไม่จำเป็นต้องมีระเบียบวิธีทุกครั้งไป (Anti-method) จึงการทบทวนการตีความหลังสมัยพอสังเขปเกี่ยวกับการถูกกดบังคับ อาจช่วยทำให้เกิดการเลื่อนไหลทางภาษาที่เป็นประโยชน์ต่อการ “ถอดรื้อ-รื้อสร้าง” (De/Re-Construct) ของนักคิดผู้สนใจเกี่ยวกับการกดบังคับในประเทศไทยได้บ้าง

 

เนื้อหา

1. “อำนาจ” นามธรรมซึ่งถูกตีความใหม่โดยหลังสมัยใหม่

 “อำนาจ” (Power, Authority) ให้ภาพพจน์ (image) ที่หลากหลายแตกต่างกันไปตามประสบการณ์เฉพาะของแต่ละสังคม เช่นถ้าเราพูดว่า นักการเมืองคนนี้มีอำนาจ กับ หลวงปู่รูปนี้มีอำนาจ เราจะเห็นว่าภาพพจน์ของทั้งสองวลีนี้ไม่เหมือนกัน แบบแรกอาจเป็นอำนาจที่กดบังคับสิ่งที่มองเห็น เช่น ลูกน้อง ข้าราชการชั้นผู้น้อย และแบบหลังอาจเป็นอำนาจที่กดบังคับสิ่งที่มองไม่เห็น เช่น ภูตผีปีศาจ แต่ทว่าคำว่า “อำนาจ” ในรัฐไทยบ่อยครั้งมักใช้ในความหมายเดียวกัน เช่น ท่านผู้นำเปี่ยมไปด้วยอำนาจ(และบารมี) นั่นหมายถึง ผู้ที่ถูกพูดถึงมีทั้งอำนาจที่มองเห็น (Authority) และเทวสิทธิ์ (Divinity) ในระดับขั้นต่างๆ ซึ่งลักษณะแบบนี้จะกระจัดกระจายอยู่เป็นปกติในประวัติศาสตร์ของชนชาติทั่วโลก แต่เมื่อ “รัฐ” ในฐานะสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาราวกับจะแทนที่อำนาจเก่า เพื่อความอยู่รอดของ “แบบแผนเดิมหรือจารีต” ฉะนั้น การประนีประนอม (Compromise/Syncretism) ต้องเกิดขึ้น เพื่อให้อำนาจมีความต่อเนื่อง (และหวังว่าจะมีอำนาจตลอดไป) ทีนี้ ปัญหาทั่วไปของอำนาจมีผู้สรุปไว้ว่า “ที่ใดมีอำนาจ ที่นั่นย่อมต่อต้านการกดบังคับ” (Foucault,1978:95-96) สมมติว่า เราเห็นด้วยกับข้อสรุปนี้ จะได้ว่า อำนาจไม่ใช่แต่การกดบังคับเท่านั้น ยังมีภาพพจน์ของการครอบงำและการต่อต้านเกิดขึ้นพร้อมๆกันในขณะที่เราพูดถึงอำนาจอีกด้วย


2. หลังสมัยใหม่อธิบายการมีอยู่ของอำนาจอย่างไร?

อำนาจจะมีอยู่ (Exist, Appear) ถ้ามีการเคลื่อนไหว (Exercise) ซึ่งในการเคลื่อนไหวนี้ คือ การเปลี่ยนผ่าน (Tran) นั่นคือ กระบวนการผลิตซ้ำการให้ความหมายโดยภาษาและสัญลักษณ์ ซึ่งปรากฏตัวในรูปแบบที่เรียกว่า เรื่องเล่าหลักของสังคม (Grand Narrative) คือ มีการปรากฏอยู่ของเรื่องเล่านี้ทั่วไปตามสื่อมวลชน สื่อสิ่งพิมพ์ และถ้ามีการต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยกับเรื่องเล่าจะเป็นฝ่ายที่ถูกมองว่าผิดไว้ก่อน เหตุผลที่ถูกมองว่าผิดโดยอัตโนมัติ เนื่องจาก โครงสร้างของการผลิตซ้ำที่มุ่งครอบงำอย่างเข้มข้นในลักษณะที่ชวนให้รู้สึกว่า สิ่งที่ตรงข้ามกับเรื่องเล่านี้เป็นความชั่วร้าย ฉะนั้น กลายเป็นว่า อำนาจใดก็ตามจะยืนอยู่อย่างมีตัวตนบนเรื่องเล่าที่ประกอบสร้างขึ้น เพื่อจุดประสงค์อะไรบางอย่างเสมอ และมีความเข้มข้นของการครอบงำแตกต่างกันตามลักษณะการสื่อสาร เช่น เรื่องเล่าเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตที่มักมีอนุภาคเกี่ยวกับความทุจริตมาเป็นเนื้อเรื่องเปรียบเทียบ ลักษณะเช่นนี้ปรากฏพร้อมกับอำนาจ (และการเถลิงอำนาจ) จนนักคิดหลังสมัยใหม่เห็นว่า การมีอยู่ของอำนาจที่กล่าวอ้างก็เป็นการบอกถึงสิ่งที่อำนาจนั้นจะปฏิเสธด้วย เช่น อำนาจของการปกครองโดยชอบธรรมย่อมเน้นสิ่งที่อำนาจของการปกครองโดยชอบธรรมปฏิเสธ (คือการปกครองที่ไม่ชอบธรรม)


3. เมื่ออำนาจมีอยู่นักคิดหลังสมัยใหม่อธิบายคุณลักษณะของอำนาจอย่างไร?

เนื่องจากอำนาจเป็นสิ่งที่มีลักษณะเกี่ยวพันอย่างไม่อาจแยกออกกับทุกสิ่ง (Intertwine) นักคิดหลังสมัยใหม่จึงชี้ให้เห็นว่า ความพยายามในการหาจุดต้นชนปลายและสร้างคำอธิบายของนักคิดสมัยใหม่ในรูปแบบข้อสรุปและสูตรสำเร็จ (ตามอิทธิพลวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์) อาจไร้ประโยชน์และไม่นำไปสู่วิธีการแก้ปัญหา เพราะเมื่อถึงที่สุดแล้ว ก็จะไม่มีใครอ้างได้อย่างชอบด้วยเหตุผลว่า “อำนาจมาจากที่ใด?” แต่จะมีสิ่งที่ปรากฏเป็นเนื้อเดียวกันกับอำนาจซึ่งสังเกตเห็นได้ง่ายกว่า คือ “วาทกรรม” (Discourse) อันเป็นภาคปฏิบัติการของอำนาจ (และผู้ต่อต้าน) ซึ่งมิตินี้เสนอให้เห็นในรูปแบบการสื่อความที่พยายามโน้มน้าวให้เชื่อ (Convince) ว่า “สิ่งใดเป็นอำนาจที่กดบังคับ” เพื่อที่จะ “ปลดปล่อยการถูกกดบังคับนั้น” นั่นคือ การสร้างวาทกรรมใหม่ขึ้นมาเพื่อแทนที่อำนาจที่กดบังคับอยู่ เช่น กระแสการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของเพศที่สาม เนื่องจาก เพศที่สามในแง่หนึ่งเป็นผู้ถูกอำนาจกดบังคับ เพื่อที่จะปลดปล่อยการถูกกดบังคับนั้นต้องเรียกร้องพื้นที่ของตน เพื่อการันตี (Guarantee) ว่า จะไม่มีอำนาจใดมากดบังคับตนอีกต่อไป (ในขณะที่วาทกรรมของผู้เรียกร้องเองจะกลายเป็นอำนาจใหม่ที่เถลิงขึ้นและเข้ามาเทียบเคียงหรือแทนที่การกดบังคับเดิม)


4.เสรีภาพไม่มีอยู่จริงและอำนาจก็กดบังคับอยู่ตลอดเวลา

มโนทัศน์แบบสมัยใหม่มักแสวงหาข้อสรุป ซึ่งเรียกร้องกระบวนการจัดจำแนกหรือกำหนดตำแหน่งแห่งที่ของนิยามแบบวิทยาศาสตร์ และจะไม่ยอมให้เลื่อนไหลด้วย ตัวอย่างคือ อำนาจทุนของระบบทุนนิยมซึ่งควบคุม (Control) มนุษย์ให้ต้องอยู่ในสถานที่จำกัดจำเขี่ยภายใต้กฎกติกาของสถานที่นั้น เช่น ระบบการศึกษา นั่นคือ การเลือกที่จะอยู่ภายใต้กฎกติกาของสถานที่นั้น และในกรณีที่สถานศึกษานั้นมีกฎห้ามละเมิดกติกาบางอย่าง เช่น ทุจริตข้อสอบ อาจกล่าวได้ว่า “ไม่มีเสรีภาพในเรื่องที่กติกานั้นได้ห้าม” (แต่อาจจะมีเสรีภาพเรื่องอื่น) อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปมนุษย์ไม่มีเสรีภาพที่แท้จริง (สัมบูรณ์) อยู่แล้ว เสรีภาพโดยมากเป็นการพรรณนาเชิงอุดมคติของมนุษย์ที่ถูกกดบังคับจากอำนาจที่ดำเนินไปในกรอบพื้นที่และช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ เช่น ความเป็นทาสเมื่อสองร้อยปีที่แล้ว กับความเป็นทาสในปัจจุบัน แตกต่างสิ้นเชิงเรื่องพื้นที่และเวลา เราสามารถกล่าวได้ว่า การกักขังร่างกายตามภาพพจน์ทาสในอดีตนั้นไม่มีอยู่แต่การสมัครใจให้ถูกกักขังกลายๆ ในสภาพของมนุษย์เงินเดือนนั้นมีอยู่จริง หารู้ไม่ว่า ในแง่หนึ่งทาสแบบแรกสามารถอยู่อย่างสำมะเลเทเมาได้คล่องแคล่วกว่ามนุษย์เงินเดือนเนื่องจากใช้กฎเกณฑ์คนละชุดกัน นั่นคือ ความจริงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงและปฏิบัติการทางอำนาจที่เคลื่อนไหวผลักดันเพื่อที่ท้ายที่สุดเราต้องจ่ายบางอย่างเป็นค่าเถลิงอำนาจใหม่

5. การเถลิงอำนาจเพื่อสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ นั่นคือ การยอมให้กดบังคับใหม่

ในเมื่อเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีการกดบังคับจากอำนาจ ฉะนั้น เมื่อเคลื่อนไหวให้เกิดการอภิวัฒน์อำนาจ สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นคือ การเถลิงอำนาจใหม่ เช่น การรุกคืบเข้ามาของอำนาจทุนจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งเข้ามาแทนที่ระบบทาสในเรือนเบี้ย เราสามารถทดสอบพลังการกดบังคับของอำนาจได้ ด้วยการตั้งคำถามว่า ลองมีสินค้าที่กลายเป็นของจำเป็นไปแล้วชิ้นหนึ่ง เช่น ถ้าธุรกิจขายผ้าอนามัยเกิดไม่ยอมขายขึ้นมา สิ่งแรกที่จะเกิดขึ้น ปฏิกิริยาจากผู้หญิงที่มีประจำเดือนทั่วโลก จากนั้น จะมีใคร (หรือธุรกิจใด) เถลิงอำนาจขึ้นมาเพื่อแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เห็นได้ชัดเจนว่า โรงงานผลิตผ้าอนามัยมีอำนาจกดบังคับที่มองไม่เห็นอยู่ เป็นการควบคุมรูปแบบใหม่ที่ไม่สิ้นเปลือง คือ ไม่ได้กักขังร่างกายแบบทาสเหมือนสมัยก่อน มากไปกว่านั้น ปฏิบัติการของอำนาจในยุคใหม่ยังก้าวไกลเกินกว่าเรื่องของสินค้าที่จับต้องได้ ก็คือการเล่นกับความผันผวนของมูลค่าที่อุปโลกน์ขึ้นมา เช่น เงิน และจากประวัติศาสตร์ก็มีนักคิดพยายามจะปฏิวัติเพื่อโค่นล้มอำนาจของสิ่งเหล่านี้หลายครั้งอย่างที่รู้กัน เช่น ระบบคอมมิวนิสต์ ประเด็น คือ หากจะโค่นล้มอำนาจเก่า แล้วอะไรเป็นอำนาจใหม่ที่เรายอมให้กดบังคับได้?


6. ลักษณะการกดบังคับที่ทับซ้อนของรัฐไทย

เป็นไปไม่ได้ที่การกดบังคับจะมาจากแหล่งเดียวหรือวาทกรรมเดียว เพราะ การต่อต้านอำนาจ (Résistance) เป็นว่าที่หรือทางเลือกของการกดบังคับแบบใหม่ที่กำลังจะมาถึง ฉะนั้น ในสังคมทั่วโลกจะมีลักษณะเฉพาะของการกดบังคับที่แตกต่างกัน(ดังนั้น ย่อมต่อต้านแตกต่างกันด้วย) เป็นต้น ในรัฐไทย ควรพิจารณาวาทกรรมซึ่งพยายามเบียดแทรกแข่งขันเพื่อเถลิงอำนาจหรือชิงความเป็นกระแสหลัก (จากเดิมในประวัติศาสตร์ที่มีอัตราการแข่งขันต่ำ) และบางวาทกรรมก็มีลักษณะผสมกันอย่างแยกไม่ออก เช่น วาทกรรมเชิงอำมาตยาธิปไตย (เชื่อมั่นในระบบแบบแผนลักษณะขุนนางหรือทหาร) วาทกรรมแบบธุรกิจ (เชื่อมั่นในการสานประโยชน์แบบไม่ใส่ใจวิธีการ) วาทกรรมแบบเหนือธรรมชาติ (เชื่อมั่นในการดลบันดาลจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์) ซึ่งแต่ละวาทกรรมก็ใช้การตีความของตนเองในการนิยามว่า “สิ่งที่ดีกับผู้ฟัง คือ อะไร?” เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ฟังรู้สึกยอมรับได้หากถูกกดบังคับโดยอำนาจที่นำเสนอนั้น จะเห็นว่า ปัญหาจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าการกดบังคับเหล่านั้น ไม่มีผลกระทบต่อร่างกาย (คุณภาพชีวิต) ของผู้สมัครใจให้กดบังคับ เช่น การสมัครใจให้วาทกรรมเชิงอำมาตยาธิปไตยกดบังคับทำให้เกิดคำถามว่าคุณภาพชีวิตจะดีขึ้นจริงหรือ? เมื่อเทียบกับวาทกรรมแบบธุรกิจ ซึ่งในความเป็นจริงลักษณะของความเป็นทาสอาจแตกต่างกันเพียง เป็นทาสในความรู้สึก (ลูกน้อง,คนรับใช้,ผู้ต่ำกว่า) กับ ทาสเงิน เหตุผลหลักของการขบวนการปลดปล่อยคือเพื่อความรู้สึกว่าจะได้รับเสรีภาพแบบรูปธรรม เริ่มจากร่างกาย เช่น ปาก (การพูด) มือ(การเขียน) และหวังว่าจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป

แต่การผลิตซ้ำอย่างน่าตกใจของรัฐไทยเกี่ยวกับวาทกรรมต่างๆ ทำให้เห็นภาพของการแข่งขันที่ล้นเกิน น่ากลัว (ภาพพจน์ของมนุษย์ที่ถูกวาทกรรมครอบงำ) และทำให้เข้าใจได้ว่า คนไทยในฐานะผู้ช่วยวาทกรรมปฏิบัติการ ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับชุดคำอธิบายปรากฏการณ์ซึ่งใช้เครื่องมือจากแนวคิดหลังสมัยใหม่ที่ว่า “ไม่มีเสรีภาพ(สัมบูรณ์)ที่แท้จริง การกดบังคับยังมีอยู่เสมอ เพียงแต่คุณต้องใช้เจตจำนงในการเลือก และเสรีภาพในการโน้มน้าวให้เพื่อนคุณเชื่อได้ว่า การยอมให้ถูกกดบังคับแบบใหม่ดีกว่าแบบเก่าด้วยกฎเกณฑ์ที่ไม่ขัดกับระบบที่คุณเชื่อ”


7. แนวโน้มของความเลื่อนไหลและเลื่อนเปื้อนในรัฐไทย

ความเลื่อนไหลของการตีความว่าด้วยอำนาจและการกดบังคับทำให้เกิดมุมมองและแนวคิดแห่งการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ อาจนำมาซึ่งการประนีประนอมระหว่างรัฐกับอำนาจเทวสิทธิ์ในแบบแผนที่ชัดเจนขึ้น (เช่นเดียวกับระบบคิดเรื่องเวอร์ชั่นของคอมพิวเตอร์ที่จะมีการปรับปรุงอยู่เสมอ) ในขณะเดียวกันความเลื่อนเปื้อน (การเลื่อนไหลของการตีความที่น่าสงสัย) จะนำมาซึ่งความยุ่งยากที่จะเกิดขึ้นกับคุณภาพชีวิตของตนเองและผู้อื่น เพราะการปลดปล่อยทางแนวคิดที่ว่า “จะตีความตัวบทอย่างไรก็ได้” ของนักคิดหลังสมัยใหม่ ย่อมทำให้เกิดความเลื่อนเปื้อนในลักษณะ “ตีความอย่างไรก็ได้” โดยไม่เกี่ยวข้องหรือพิสูจน์ไม่ได้ว่าเชื่อมโยงกับตัวบทเลย เป็นต้น การกล่าวอ้างอำนาจเหนือธรรมชาติขึ้นมาอย่างลอยๆ โดยไม่มีจุดเชื่อมโยงที่พอรับฟังได้กับตัวบท เช่น การอ้าง (หรือคิด) ว่า “สวรรค์สั่งมา เบื้องบนสั่งไป” โดยไม่สามารถตอบจุดประสงค์ หรือวิเคราะห์เป้าหมายในพฤติกรรมได้ นั่นอาจเป็นผลมาจากการกดบังคับที่ทับซ้อนจนทำให้พฤติกรรมมีความผิดปกติ (การถูกครอบงำเนื่องจากเสพการผลิตซ้ำของวาทกรรม) นี่เป็นลักษณะที่พบมากในรัฐไทย นั่นอาจไม่เรียกว่าเป็นความเลื่อนไหล แต่ควรยิ่งที่จะต้องพิจารณาเป้าหมายที่แท้จริงของผู้พูด หรือไม่ก็ควรพิสูจน์ว่าเป็นไปได้ที่จะเกิดความผิดปกติในจิตใจ (Mental Illness) เช่น โรคเครียด หรือ โรคซึมเศร้า


สรุป

ในเมื่อการถูกกดบังคับเป็นเรื่องปกติของอำนาจซึ่งแสดงให้เห็นถึงการขับเคี่ยวกันระหว่างการต่อต้านและสนับสนุน ซึ่งในพื้นที่หลังสมัยใหม่ (หรือหลังไปกว่านั้น) ความหมายของคำนี้ได้รับสิทธิ์ให้เลื่อนไหลไปได้อย่างอิสระ เนื่องจากอำนาจไม่สามารถแยกออกจากชีวิตประจำวันของมนุษย์ได้เลย เฉพาะอย่างยิ่งในระบบทุนนิยม นั่นทำให้มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกกดบังคับอยู่ในอำนาจต่างๆตลอดเวลา ไม่มีเสรีภาพสัมบูรณ์ แต่ทั้งนี้ มนุษย์มีสิทธิ์และเสรีภาพส่วนหนึ่งซึ่งเพียงพอที่จะเลือกได้ว่า จะสมัครใจอยู่ภายใต้สภาพการกดบังคับแบบใด และกระบวนการเปลี่ยนแปลงอำนาจเก่าเพื่อประนีประนอมกับอำนาจใหม่ที่ต้องการนี้ ที่จริงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติของอำนาจ และจะค่อยๆเป็นค่อยๆไปตามทิศทางของผู้ร่วมสร้างสรรค์อำนาจนั้น แต่ปัญหาซึ่งมีอยู่ตลอดในประวัติศาสตร์อยู่ตรงที่ การถูกครอบงำเนื่องจากเสพการผลิตซ้ำของวาทกรรมมากจนเกินไป ซึ่งทำให้เกิดการบ่อนทำลายคุณภาพชีวิตกันระหว่างผู้สนับสนุนและต่อต้าน อาศัยความไม่มีเสถียรภาพทางจิตใจ ทั้งที่ทั้งสองฝ่ายต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีก็เริ่มต้นขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ การเถลิงอำนาจอย่างเด็ดขาดและปัจจุบันทันด่วนมักเข้ามาฉวยโอกาสแต่ก็ไม่เคยได้ผลลัพธ์ที่ดีกับมนุษย์ผู้ถูกกดบังคับเลยสักครั้ง โลกนี้จึงต้องมีการเรียนวิชาทูตและเจรจา คือ การเรียนรู้ที่จะสื่อสารแบบสานประโยชน์ แล้วตกลงกันที่จะละเว้นการทำลายคุณภาพชีวิตของกันและกัน ซึ่งที่จริงน่าจะเป็นเรื่องของสามัญสำนึกด้วยซ้ำไป กระนั้น ประวัติศาสตร์ได้บอกเราอีกเช่นกันว่าการพัฒนาดังกล่าวยังไม่เคยสำเร็จ เพราะ มักจะมีบางอย่างกดบังคับเข้าแทรกแซงอยู่นั่นเอง สำคัญที่ว่า ผู้ถูกกดบังคับจะกล้าตอบหรือไม่ว่า อะไรที่กดบังคับคุณอยู่?

 

 

หมายเหตุ

เกี่ยวกับการตีความหลังสมัยใหม่ (Post-Modern) ซึ่งที่จริงเป็นเรื่องเก่าไปแล้วในสังคมโลก มีนักคิดเสนอความเห็นแย้งวิธีวิทยาของหลังสมัยใหม่อย่างกว้างขวาง หรือแม้แต่พัฒนาการของความคิดหลังสมัยใหม่เองก็ยังมีคำเรียกเล่นๆกันต่อไปว่า ยุคหลังของหลังสมัยใหม่ (Post-Postmodern) ด้วยซ้ำ แต่สำหรับรัฐไทยแล้ว คนไทยกลับไม่รู้จักนักคิดหลังสมัยใหม่ (ที่จริงนักคิดสมัยใหม่ด้วย) ด้วย เช่น Sartre หรือ Foucault กลับกันการเคลื่อนไหวเชิงปลดปล่อยของสังคมไทยสมัยใหม่กลับมีอิทธิพลสำคัญมาจากนักคิดเหล่านี้  ผู้เขียนพยายามเสนอบางแง่ของการให้ความหมายตามวิธีการหลังสมัยใหม่ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการเลื่อนไหลของผู้อ่านในลำดับถัดไป

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net